สวนครัวดาดฟ้า และการทำเกษตรในเมืองเป็นทั้งงานอดิเรกและเป็นแหล่งอาหารที่สะอาดปลอดภัย โดยพื้นที่ที่เหมาะสำหรับทำเกษตรในเมืองหรือบ้านที่มีพื้นดินจำกัด คือ ดาดฟ้าหรือระเบียงที่ได้รับแสงแดดตลอดวัน มาดูวิธีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำสวนครัวดาดฟ้ากัน
อ่าน : THE RED ROOF บ้านเวียดนามที่มุงหลังคาบ้านด้วยแปลงผักสวนครัว
สวนครัวดาดฟ้า และรูปแบบการปลูกผักสวนครัว
แปลงผักที่ดีควรวางในแนวเหนือใต้ พืชจะได้รับแสงแดดมากกว่าการปลูกในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งสามารถปลูกได้หลายรูปแบบตามลักษณะพื้นที่และประเภทของพืช เช่น สวนครัวแบบแปลงผัก สวนครัวเลื้อย สวนครัวแนวตั้ง สวนครัวแบบโรงเรือน
วางแผนแบ่งโซน
ตำแหน่งที่แข็งแรงที่สุดของพื้นดาดฟ้าคือ ตรงตำแหน่งเสาอาคาร รองลงมาคือแนวคานโครงสร้าง ดังนี้ถ้าจะวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากและไม้พุ่มสูงควรวางตามแนวเสาและคาน บริเวณใกล้แนวคานเหมาะกับการรับน้ำหนักปานกลาง เช่น ไม้พุ่มเตี้ยที่ใช้ดินลึก 30-50 เซนติเมตร ส่วนบริเวณพื้นดาดฟ้าควรวางวัตถุที่มีน้ำหนักน้อย ทำเป็นทางเดินหรือปูวัสดุปูพื้นเป็นพื้นที่พักผ่อน
ตรวจสอบสภาพอาคาร
หากวางแผนจัดสวนและปลูกผักสวนครัวเป็นพื้นที่กว้างซึ่งมีการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารเดิมมาก ควรให้วิศวกรมาตรวจสอบสภาพและการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร รวมถึงตรวจสภาพการแตกร้าวและการรั่วซึม โดยมี 2 จุดที่มักพบ คือ
-รอยต่อผนัง พื้นดาดฟ้ากับผนังมักจะทำแยกชิ้นกัน ทำให้เนื้อคอนกรีตพื้นและผนังไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน จึงเกิดการแตกร้าวบริเวณรอยต่อนี้ได้ง่าย
-พื้นดาดฟ้า การใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน การเทหรือการบ่มคอนกรีตไม่ดี และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเป็นสาเหตุให้เกิดการแตกร้าวเป็นเส้นตรงและรูปตีนกา ซึ่งมีทั้งร้าวที่ผิวและร้าวลึกลงในเนื้อคอนกรีต
การซ่อมแซมรอยแตก
สามารถซ่อมแซมรอยแตกหรือรอยต่อด้วยซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้างด้วยวิธีการดังนี้
- ทำความสะอาดพื้นผิว สกัดพื้นผิวที่หลุดล่อนออกจนถึงผิวที่แน่น
- ถ้าเสียหายจนถึงเหล็กเสริม ให้ทำความสะอาดเหล็กเสริม ทาน้ำยากันสนิม แล้วผสมซีเมนต์ซ่อมแซมโครงสร้าง กับน้ำยาประสานคอนกรีต ทาบนผิวเหล็กเสริมเพื่อป้องกันการกัดกร่อนและเพิ่มแรงยึดเกาะในการฉาบ
- บ่มน้ำบนพื้นผิวที่จะทำการซ่อมให้หมาดก่อนทำงาน
- ฉาบด้วยเกรียง กดให้แน่น อาจทำการฉาบแต่ง 1 ถึง 2 ชั้น โดยทิ้งช่วงห่างในแต่ละชั้นราว 2-2.5 ชั่วโมง
การทาวัสดุกันซึม
1.ทำความสะอาดพื้นผิวและปล่อยให้แห้งสนิท จากนั้นใช้แปรงหรือลูกกลิ้งทาลงบนพื้นผิวแล้วปล่อยให้แห้งตามคำแนะนำของผู้ผลิต ก่อนทารอบสอง
2.เสริมแรงด้วยตาข่ายไฟเบอร์ในจุดที่แตกร้าว และบริเวณรอยต่อพื้นกับผนัง โดยปูในขณะที่ชั้นแรกยังไม่แห้ง
3.ทารอบที่สองในทิศทางตั้งฉากกับรอบแรก โดยให้เนื้อฟิล์มกลบแผ่นตาข่ายไฟเบอร์ได้สนิท แล้วปกป้องพื้นผิวไม่ให้โดนน้ำ 3 วัน หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิต
การทำกระบะปลูก
กระบะปลูกแบบที่ 1 สำหรับการปลูกพื้นที่กว้าง
1.พื้นคอนกรีตผสมน้ำยากันซึม
2.ทาวัสดุกันซึม
3.รางระบายน้ำ
4.ตะแกรงระบายน้ำสำหรับหลังคา
5.แผ่นตะแกรงระบายน้ำใต้ดินสำเร็จรูป หรือแผ่นโซล่าสเลป
6.ตาข่ายไนลอน หรือแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์
7.เปลือกมะพร้าว
8.อิฐหัก
9.ทรายหยาบ
10.ดินปลูก หญ้าควรมีความสูงของชั้นดินไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ไม้พุ่มไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร
กระบะปลูกแบบที่ 2 สำหรับการก่อเป็นแถว
1.พื้นคอนกรีตที่ทาวัสดุกันซึมแล้ว
2.ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว ผ่าครึ่ง ใช้สว่างเจาะรูระบายน้ำ
3.ตาข่ายพลาสติก
4.หินเกล็ด
5.เศษกระถางหรืออิฐหัก
6.กาบมะพร้าวสับ
7.ดินปลูก
8.ผนังก่ออิฐฉาบปูนผสมน้ำยากันซึม
กระบะปลูกแบบที่ 3 กระบะลอยตัวยกสูง ลดความชื้นที่พื้นดาดฟ้า
1.ดินปลูก
2.แผ่นพลาสติกเจาะรูหรือแผ่นจีโอเท็กไทล์
3.แผ่นตะแกรง
4.ก้นกระบะปูแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์
5.กระบะโครงไม้หรือเหล็ก
กระบะปลูกแบบที่ 4 กระบะลอยตัวจากวัสดุเหลือใช้
นำวัสดุเหลือใช้และหาง่ายมาทำแปลงที่สามารถวางบนพื้นคอนกรีตได้ โดยนำกิ่งไม้หรือไม้รวกมาประกอบให้เป็นแปลงสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ สูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มัดด้วยลวดให้แน่น แล้วปูด้วยผ้าใบพลาสติกหรือกระสอบปุ๋ยเย็บติดกัน อาจใช้วัสดุแผ่นเหลือใช้ เช่น แผ่นป้ายหาเสียง ไม้อัด นำมาตัดและกรุขอบด้านในโดยรอบ ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของโครงไม้หรือไม้ลวก
ไอเดียการวางแปลนสวนครัวบนดาดฟ้า
หลักการทำสวนบนดาดฟ้าคือ ควรทำระบบกันซึมและการระบายน้ำให้ดี วางสิ่งของตามแนวเสาคาน รวมถึงใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา โดยไอเดียนี้ยกตัวอย่างดาดฟ้าของตึกแถวหนึ่งคูหาซึ่งมีขนาด 4×12 เมตร
1.ทำหลังคาโครงเหล็กในบริเวณพื้นที่เก็บของและเตรียมปลูก
2.หลังคาโปร่งแสงบริเวณที่ตากผ้า
3.ทำรางน้ำและต่อท่อมายังถังพักน้ำฝนสำหรับใช้รดน้ำผัก
4.เคาน์เตอร์อ่างล้างมือ
5.ถังเก็บน้ำ
6.ที่เก็บอุปกรณ์
7.พื้นที่วางราวตากผ้า
8.ชั้นปลูกผักแบบขั้นบันได
9.กระบะปลูกไม้เลื้อย
10.กระบะปลูกผักที่ทำขาสูงระดับโต๊ะ จึงไม่ต้องก้ม และระบายน้ำได้ดี
11.โรงเรือน
12.ปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงอย่างน้อย 1 : 200 เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง
13.ทาวัสดุกันซึม
14.ทำทางระบายน้ำช่วยให้ระบายได้เร็ว
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
รับชม บ้าน และ สวน ที่น่าสนใจ พร้อมข่าวสารใหม่ๆเกี่ยวกับเรื่องบ้านได้ทาง แฟนเพจบ้านและสวน