แมวไทย โบราณ 5 สายพันธุ์ ที่ยังคงอยู่

“ แมวไทย โบราณ ” เป็นแมวที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยและถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ ว่ามีรูปร่าง ลักษณะและสีสันที่สวยงาม อีกทั้งยังเชื่อว่าหากเลี้ยงแมวไทยมงคลไว้ในบ้านก็จะให้คุณแก่เจ้าของทั้งทรัพย์สิน เงินทอง อำนาจ หรือ บารมี นอกจากนี้แมวไทยยังมีนิสัยอ้อนเก่ง รักบ้าน รักเจ้าของ ฉลาด และ คล่องแคล่วว่องไว

ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้จึงทำให้ แมวไทย กลายเป็นที่รักของทาสแมวทั้งหลายทั้งในและต่างประเทศ วันนี้บ้านและสวน Pets จึงมี 5 แมวไทยโบราณ ที่ยังคงอยู่ จากแมวให้คุณทั้งสิ้น 17 สายพันธุ์ มาแนะนำให้รู้จักกันค่ะ

แมวไทย ศุภลักษณ์มวไทยโบราณ

ชื่อแมวศุภลักษณ์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่าลักษณะที่ดีงาม มีขนสีน้ำตาลสม่ำเสมอทั่วทั้งตัว ไม่มีแต้มเข้มแบบแมววิเชียรมาศ

ภาพเขียนสีในตำราแมวทุกฉบับและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดโพธิ์ระบุตรงกันว่า แมวศุภลักษณ์มีสีน้ำตาลล้วนทั้งตัวไม่มีแต้มเข้ม ในอดีตเคยสูญหายไปจากประเทศไทยแล้วครั้งหนึ่ง และเคยมีผู้เลี้ยงมหาแมวศุภลักษณ์อยู่หลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม พบแมวไทยชนิดหนึ่งที่มีสีคล้ายกันเรียกว่า “แมวเบอร์มีส” ลักษณะคล้ายแมวศุภลักษณ์ แต่มีแต้มเข้ม 9 แห่งแบบแมววิเชียรมาศ จึงสันนิษฐานว่า แมวชนิดนี้อาจเป็นแมวลูกผสมระหว่างแมวเบอร์มีส และแมววิเชียรมาศ

จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เชี่ยวชาญ พบว่า แมวเบอร์มีสไม่ได้เป็นลูกผสมระหว่างแมวศุภลักษณ์ แต่กลับเป็นญาติใกล้ชิดกับแมววิเชียรมาศ มีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายกันคือมียีนหน้ากากแบบแต้มเข้ม ขนสีน้ำตาลของแมวเบอร์มีสมาจากยีนสีดำ แบบเดียวกับแมววิเชียรมาศ แต่ถูกข่มสีขนให้เจือจางจนกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้

ส่วนแมวศุภลักษณ์จะต้องมีสีล้วนทั้งตัวแบบเดียวกับแมวดำ แมวเทา และแมวขาว เมื่อตรวจยีนแล้วพบว่าแมวศุภลักษณ์เป็นแมวที่มียีนสีน้ำตาลจริง ๆ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่าสีช็อกโกแลต

ในตำราแมวไทยโบราณระบุความมงคลของแมวศุภลักษณ์ไว้ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่กล่าวถึงการค้าขายมากกว่า ผู้ใดที่ค้าขายแล้วเลี้ยงแมวศุภลักษณ์จะร่ำรวยเงินทอง ส่วนตำราในวังกล่าวถึงแมวศุภลักษณ์ไว้ว่า เลี้ยงแล้วจะได้ยศฐา ได้เป็นอำมาตย์ และเสนาบดี

วิเชียรมาศ (Siamese)

เป็นแมวไทยโบราณเพียงชนิดเดียวที่มีดวงตาสีฟ้า และเป็นต้นแบบให้แมวทั่วโลกอีกหลายชนิด ที่มีบรรพบุรุษมาจากแมวไทยวิเชียรมาศ

ตำราแมวไทยโบราณสะกดชื่อแมวชนิดนี้ไว้ต่างกัน เช่น มาส ที่หมายถึงพระจันทร์และดวงเดือน และ มาศ ที่หมายถึงทองคำ ดังนั้น คำว่าวิเชียรมาศ หรือวิเชียรมาส จึงสามารถเขียนได้ทั้ง 2 แบบ ส่วนคำว่าวิเชียร แปลว่า เพชร หรือสายฟ้า แต่ตำราแมวที่ถูกคัดลอกไว้มากที่สุดสะกดด้วย “มาศ”

แมววิเชียรมาศในยุคหลังจึงหมายถึงเพชรและทอง แมววิเชียรมาศยังเคยถูกใช้เป็นสัตว์ทูตสันถวไมตรี ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพ และกงสุลอังกฤษได้นำกลับไปกรุงลอนดอนจนกลายเป็นที่โด่งดัง และเรียกแมวชนิดนี้ว่า Siamese cat ตามประเทศที่มา

ในสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 10 แมววิเชียรมาศถูกใช้เป็นเรื่องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณฑลเฑียร หรือพระราชพิธีขึ้นบ้านใหม่ หลังจากทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชย์

แมววิเชียรมาศเมื่อแรกเกิดมีลำตัวสีขาวนวล และค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีครีม หรือสีงาช้างตามอายุที่มากขึ้น มีแต้มสีน้ำตาลไหม้ 9 แห่ง คือ หน้า 1 หูทั้ง 2 ขาทั้ง 4 หาง และอวัยวะเพศ 1 แมววิเชียรมาศเป็นแมวที่ผลัดขนตลอดชีวิต แต่ละช่วงชีวิตของแมววิเชียรมาศจึงมีสีขนที่แตกต่างกันไปตามวัยและฤดูกาล อุณหภูมิก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แมววิเชียรมาศมีสีเข้มหรืออ่อน กล่าวคือ อากาศยิ่งเย็นสีขนยิ่งเข้มขึ้น

ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย “วิเชียรมาศ (Siamese/Wichienmaat)”

สีสวาด หรือ โคราช (Korat)

แมวสีสวาดเป็นชื่อเรียกในภาษาพื้นบ้าน มาจากสีของลูกสวาดที่มีสีเทา หรือมีอีกชื่อคือ แมวสีดอกเลา เป็นพืชตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง

ในตำราสมุดข่อยโบราณสมัยอยุธยาเรียกแมวชนิดนี้ว่า แมวมาเลศ เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มาจากคำว่า มาลา + อีส หมายถึง ดอกไม้ของพระอิศวร

แมวสีสวาดยังเป็นแมวท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมาจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แมวโคราช” และเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักแมวชนิดนี้ด้วยเช่นกันคือ Korat Cat แมวชนิดนี้มีขนสีเทาและดวงตาสีเหลืองไพฑูรย์ ในตำราสมุดข่อยกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเลี้ยงจะนำสุขสวัสดิ์มงคลมาให้ มีคนเมตตา เป็นที่รักใคร่ของผู้คน

ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย “แมวโคราช (Korat Cat)”

ขาวมณี หรือ ขาวปลอด (Khao Manee)

ก่อนหน้านี้ แมวขาวมณีไม่มีบันทึกอยู่ในตำราแมวมงคล 17 ชนิดสมัยอยุธยา แต่ถูกค้นพบเพิ่มเติมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ชื่อเดิมของแมวขาวมณีในตำราสมุดข่อยวัดอรุณฯ คือ “แมวขาวปลอด” ระบุว่า เป็นแมวแก้วหาค่ามิได้ เขียนด้วยภาษาไทยโบราณคล้ายอักษรสมัยอยุธยา ไม่ทราบผู้แต่งและไม่มีคำกลอนเฉพาะเจาะจงแบบแมวมงคล 17 ชนิด เพียงแต่บอกว่า “ให้นรชนผู้มีปัญญาหาเลี้ยงไว้เถิด”

หลักฐานแมวขาวมณีอีกแห่งหนึ่งคือจิตรกรรฝาผนังวัดทองนพคุณฝั่งธนบุรี สันนิฐานว่า แมวขาวมณีพึ่งมาได้รับความนิยมในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เอง แมวขาวมณีเป็นแมวที่มีขนสีขาวล้วนทั้งตัว ตาสีเหลือง 2 ข้าง หรือตาสีฟ้าทั้ง 2 ข้างก็ได้ เมื่อนำทั้ง 2 ชนิดมาผสมกันจะได้แมวตา 2 สี

ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย “ขาวมณี หรือขาวปลอด (Khao Manee)”

อ่านเพิ่มเติม แมวขนสีขาวตาสีฟ้ามักหูหนวกจริงไหม?

โกญจา หรือ โกนจา (Konja)

ในตำราพรหมชาติสะกดว่า “แมวโกญจา” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า นกกระเรียน หรือเสียงร้องที่ดังกึกก้อง

ในตำราที่ใกล้เคียงกันพบชื่อช้างเผือกตระกูลอัคนิพงศ์ชื่อ โกญจศัพท์ ที่แปลว่า เสียงร้องของนกกระเรียนเช่นเดียวกัน และชื่อพระโกญจนาเนศวร์ มีเศียรเป็นช้างมีกายเป็นมนุษย์

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วแมวดำโกนจาจึงไม่ใช่แมวร้ายหรือแมวผีตามที่คนไทยเข้าใจเลย ในทางกลับกันแมวดำโกนจาเป็นแมวมงคลที่มีอำนาจไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป ในตำราโบราณระบุว่าแมวดำโกนจามีตาสีเหลืองดอกบวบ ผู้ใดเลี้ยงไว้จะเพิ่มพูนเงินทอง เหมาะกับผู้ที่ทำการค้าขายเป็นหลัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมแมวไทยนานาชาติ หรือ TIMBA

ภาพถ่าย PP Thai Cattery : บ้านแมวไทยพีพี 


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ปัจจัยในการเลี้ยงสัตว์ มีอะไรบ้าง