หลังฝ่าการจราจรอันแสนวุ่นวายของย่านสุขุมวิท กระทั่งเลี้ยวเข้าไปในซอยปุณณวิถีจนถึงบ้านหลังย่อมๆ บนเนื้อที่กว้างขวาง เนื่องจากเจ้าของบ้านมีบริษัทที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน รอบบ้านกั้นด้วยรั้วสูงและประตูเหล็กบานใหญ่ เดินผ่านสนามหญ้าหลังบ้านเข้าไปด้านใน ก็มองเห็นประตูเล็กๆ กั้นอยู่ข้างหน้า หูแว่วได้ยินเสียงน้ำไหล
DESIGNER DIRECTORY : จัดสวน :อยู่กับดินทร์ โดยบดินทร์ ปี่เสนาะ โทรศัพท์ 08-4533-0739 FB : youkubdin

เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปก็พบกับ สวนป่าโมเดิร์น ที่ดูร่มรื่น เต็มไปด้วยพรรณไม้เขียวชอุ่ม มีแสงแดดอ่อนๆ ลอดผ่านร่มไม้ใหญ่ และมีไอหมอกลงมากระทบที่ผิวน้ำ บรรยากาศที่เห็นชวนให้รู้สึกเหมือนว่ากำลังเดินเล่นอยู่ริมลำธารกลางป่า ช่างดูสงบต่างจากบริเวณด้านนอกอย่างสิ้นเชิง
“หลังจากที่ทราบว่าภรรยา (คุณรส – พรภัสสร อมตกุลชัย) ตั้งครรภ์ ก็เริ่มวางแผนว่าจะต้องทำอะไรกันบ้างครับ เด็กแรกเกิดต้องดูแลกันเป็นพิเศษ การเดินขึ้นเดินลงจากชั้น 2 ไม่น่าจะสะดวก เลยตัดสินใจทำห้องใหม่แยกออกมาให้เป็นสัดส่วน เพื่อเป็นสถานที่เลี้ยง น้องไอริน โดยเฉพาะ โชคดีมีที่ดินว่างอยู่ข้างบ้าน เนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวา เลยตัดสินใจซื้อ ส่วนตัวอาคารก็เป็นบ้านสำเร็จรูปหรือบ้านน็อกดาวน์ มีสวนอยู่รอบๆ บรรยากาศดีๆ อยากให้น้องเติบโตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ” คุณนัท – ธิติภูมิ อึ้งสกุล เจ้าของบ้านและเพิ่งเป็นคุณพ่อลูกอ่อนเล่าถึงที่มาของสวนสวยแห่งนี้ให้เราฟัง

“ผมเองชอบสวนป่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าอยากได้ใครมาจัดสวนให้ ลองหาข้อมูลจากกูเกิ้ลดูก่อน เสิร์ชคำว่า ‘สวนป่า’ เพจของคุณกิมก็เด้งขึ้นมาเลย ลองเข้าไปดู ชอบผลงานของเขาก็เลยนัดคุยกันครับ ผมไม่ได้กำหนดอะไรเลย ขอแค่เป็นสวนป่าที่ไม่รกจนเกินไป แล้วเพิ่งมีลูกอ่อนก็เลยขอให้ดูแล้วปลอดภัยหน่อย เขาก็ทำแบบมาให้ดูว่าจะมีน้ำตก มีที่นั่งเล่นตรงนั้นตรงนี้ เห็นแล้วก็ชอบเลยครับ”

คุณกิม – บดินทร์ ปี่เสนาะ แห่งอยู่กับดินทร์ พูดถึงการจัดสวนนี้ให้ฟังว่า “เนื้อที่สวนทั้งหมดประมาณ 150 ตารางเมตรครับ ใช้เวลาทำทั้งหมด 2-3 เดือน เดิมเป็นป่ากล้วยเลย คุณนัทลงเสาเข็มไว้ให้เกือบทั้งหมดแล้ว ผมมาลงเพิ่มในส่วนของพื้นที่สวน ลำธาร และน้ำตกเพื่อเพิ่มความแข็งแรง จากนั้นผมก็เริ่มดูทิศทางแสงเป็นหลัก แล้วกำหนดว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน บ้านน็อกดาวน์เลือกให้อยู่ชิดมุมด้านในเพื่อให้เหลือพื้นที่สวนล้อมรอบทางด้านหน้า กำหนดจุดน้ำตกและลำธาร วางตำแหน่งมุมนั่งเล่น แล้วค่อยปลูกไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงา จากนั้นก็เติมไม้ระดับล่างเพื่อให้สวนดูสวยสมบูรณ์มากขึ้น

“ปกติผมไม่ค่อยใช้เส้นตรงหรือเหลี่ยมมุมต่างๆ ในการออกแบบ แต่สำหรับสวนนี้ผมอยากใส่ความเป็นโมเดิร์นที่อยากทำมานานผสมผสานเข้าไป เช่น มุมน้ำตกด้านหลังที่ทำเป็นลิ้นน้ำ มีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยม โชคดีที่คุณนัทเปิดโอกาสให้ผมทำได้เต็มที่ครับ
“ผมเลือกใช้ไม้ใหญ่หลากหลายชนิด และเลือกที่เป็นพุ่มให้ร่มเงาให้มากที่สุด มีทั้งพะยูง หว้า หมากเม่า แก้ว จิกน้ำ เสี้ยว กาหลง กระโดน พุดร้อยมาลัย พุดกังหัน เพื่อให้สวนชุ่มชื้น ช่วยให้พรรณไม้ด้านล่างเจริญเติบโตได้ดี ไม้พุ่มด้านล่างก็เป็นไม้ใบเป็นส่วนใหญ่ เป็นไม้ที่ชอบความชุ่มชื้น ปลูกริมลำธารได้ดี พวกไม้ในกลุ่มเฟิน เช่น เฟินใบมะขาม ทรีเฟินออสเตรเลีย เฟินแก๊ปปืน กนกนารี ที่นี่ไม่ค่อยใช้ไม้ดอกมากนัก เพราะไม้ดอกสวยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้อายุสั้น ต้องเปลี่ยนบ่อย อีกอย่างคือสวนสไตล์นี้ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งไม่เหมาะกับไม้ดอก ผมเลยเลือกใช้พวกไม้ใบที่มีสีสันหรือรูปทรงสวยๆ เข้ามาแทน เช่น ฤๅษีผสม บีโกเนีย เสน่ห์จันทร์แดง หน้าวัวใบ”


สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ แม้ว่าสวนนี้เพิ่งทำเสร็จได้ไม่นาน แต่พรรณไม้ทั้งหลายก็ดูจะแข่งกันเจริญเติบโต กนกนารีที่โตเป็นพุ่มฟูแน่น เฟินที่แตกยอดอ่อนชูเด่นให้เห็นแทบทุกกอ นั่นแสดงถึงความพิถีพิถันในการปลูกและการใส่ใจดูแลอย่างดีของเจ้าของสวน เมื่อสอบถามเพิ่มเติมก็ได้ความว่าสวนนี้ได้วางระบบสปริงเกลอร์และระบบพ่นหมอกไว้ทั้งหมด ซึ่งเดิมทีก็ไม่ได้ตั้งใจจะวางระบบเอาไว้ แต่เพราะความจำเป็นที่สวนป่าลักษณะนี้ต้องการความชื้นสูง

“การได้สวนสวยถูกใจก็ทำให้เราอยากดูแลรดน้ำเอง คอยเก็บพวกเศษใบไม้ทิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากปล่อยให้ใบไม้ร่วงทับถมกันมากๆ ต้นไม้ที่อยู่ด้านล่างก็อาจตายได้ ผมใช้เวลาอยู่ในสวนเกือบทั้งวัน นั่งจิบกาแฟที่ระเบียงหน้าห้องบ้าง นั่งกินข้าวกันที่มุมนั่งเล่นด้านในบ้าง บางทีก็มานั่งทำงานในสวน จะได้มีเวลาดูแลลูกไปด้วย ผมพยายามเอาใจใส่ทั้งลูกสาวและสวน อยากให้เขาเติบโตอย่างสวยงามไปพร้อมๆ กันครับ” คุณนัทเอ่ยในตอนท้าย ก่อนหันไปยิ้มอย่างอบอุ่นให้คุณรสที่อุ้มน้องไอรินอยู่ในอ้อมแขน
Garden of Angel สวนของนางฟ้าน้อยๆ (My Garden ตุลาคม 2562)
เจ้าของ : คุณธิติภูมิ อึ้งสกุล และคุณพรภัสสร อมตกุลชัย
ออกแบบ : อยู่กับดินทร์ โดยคุณบดินทร์ ปี่เสนาะ โทรศัพท์ 08-4533-0739
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ