ไร่กาลเวลา ผืนดินของพ่อ ในอ้อมกอดของแม่

“หลังคุณยายเสีย ครอบครัวเราตัดสินใจจะมาช่วยกันทำฝันของคุณยายให้เป็นจริง ผมก็ไปหาความรู้เกี่ยวกับการทำร้านกาแฟ ไปเรียนวิธีชงกาแฟ ฝึกเป็นบาริสต้า เรียนวิธีการปลูกผัก แล้วก็นำมาทดลองทำที่ไร่ เริ่มต้นจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลย อาศัยใจรัก และลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ

ผมสั่งเมล็ดพันธุ์ผักจากหลาย ๆ ที่ หลาย ๆ บริษัทมาทดลองปลูก เพื่อคัดว่าพันธุ์ไหนของบริษัทไหนที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกในไร่เรา แบบไหนที่ขายได้ ตลาดต้องการ คนกินชอบ ส่วนไอเดียการยกแปลงปลูกมาจากเวลาปลูกผักต้องก้ม ๆ เงย ๆ ทำให้แม่มีปัญหาปวดหลังครับ เลยคิดหาวิธีให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ตอนแรกทำเป็นกระบะไม้ ช่วยกันทำกับพ่อ พอรู้สึกว่าเวิร์คก็หล่อปูนให้แข็งแรงยิ่งขึ้น การยกแปลงปลูกให้สูงจากพื้นดินไม่ได้แค่ช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้น ยังช่วยลดปัญหาเรื่องโรคแมลงไปด้วย เช่น เพลี้ยกระโดดก็โดดไม่ถึง หญ้าไม่ขึ้นในแปลง ไม่ต้องใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง อีกอย่างคือผักสลัดส่วนใหญ่ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ พอรดน้ำแล้วน้ำก็ระบายไหลลงด้านล่าง ไม่ขังแฉะในดินปลูก และผักก็จะได้อากาศ ได้ออกซิเจนทั้งด้านบนและด้านล่าง ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำงานได้ตรงตามกำหนดเวลามที่วางไว้”

จากพื้นที่รกร้างก็ปรับเปลี่ยนเป็นที่ปลูกผักพื้นบ้านนำไปขายที่คาเฟ่และส่งขายที่ท็อปส์ บางแห่งเป็นสวนกล้วย บางแห่งเป็นแปลงดอกไม้สวยงาม ไม่ปล่อยให้พื้นที่ไร้ค่าเปล่าประโยชน์
ผลิตภัณฑ์ของไร่ที่วางขายในท็อปส์ใช้คำว่า “ผักแปลงดิน” เพื่อสื่อให้คนรู้ว่าผักสลัดของไร่กาลเวลาปลูกด้วยดิน
ยอดทานตะวันเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการมาก ใช้เวลาปลูก 7 วันก็ตัดขายได้แล้ว
ท็อปส์จะมารับผักด้วยรถห้องเย็นทุกวันพฤหัสในปริมาณสัปดาห์ละ 200-300 กิโล ซึ่งตอนนี้ยังมีออเดอร์จากเจ้าอื่นๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน

นอกจากจะปลูกผักเพื่อส่งไปใช้ที่คาเฟ่แล้ว ปัจจุบันยังส่งผักไปจำหน่ายที่ห้างเซ็นทรัลกว่า 20 สาขา

“ตอนนั้นเซ็นทรัลจัดงานอีเวนต์เล็ก ๆ ชื่อ ‘ชุมชนของเรา’ ที่ห้างโรบินสัน กาญจนบุรีครับ เรามีสินค้าที่อยากไปเปิดตัว เลยไปออกร้านที่งาน ได้รับความสนใจดีทีเดียวครับ ผู้จัดการของท็อปส์สนใจเลยชวนให้ส่งผักเข้าไปขายที่ท็อปส์ กาญจนบุรี รวมถึงท็อปส์ ราชบุรี จนทุกวันนี้เราส่งผักของเราไปขายที่ท็อปส์ในกรุงเทพฯมากกว่า 20 สาขา ในชื่อ ‘ไร่กาลเวลา ผักแปลงดิน’ เราเป็นแบรนด์แรกในท็อปส์ที่ปลูกผักสลัดลงดิน ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะเป็นผักที่ปลูกด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์กัน เราพยายามขายในเรื่องของรสชาติ ผักของไร่เราจะมีใบหนา สีเข้ม กรอบ อร่อย มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน สามารถเก็บได้เป็นเดือนในตู้เย็น ถอนออกมาแล้วอยู่นอกตู้เย็นได้เป็นวัน เราส่งผักเข้าไปตรวจที่แล็บทุก 3 เดือน เพื่อขอใบรับรองแสดงว่าผักเราปลอดสารพิษ มีภาครัฐเข้ามาตรวจ มีหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มเกษตรกร นักเรียนนักศึกษาขอเข้ามาดูงานที่ไร่เรื่อย ๆ ครับ

“เราทำงานไปทีละวัน ไม่คิดไกล โฟกัสกับปัจจุบันเท่านั้น เราเกิดมากับวิถีเกษตรกร การกลับมาของพวกเราไม่ใช่การเริ่มต้น แต่เป็นการสานต่อ นำสิ่งใหม่ ๆ มาพัฒนาผสมผสานกับวิถีเดิม ลูกค้าที่คาเฟ่ก็อยากขอเข้ามาดูมาเที่ยวที่ไร่กันเยอะครับ แต่ด้วยความที่เราปลูกผักออร์แกนิกเลยต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แต่ไม่แน่ในอนาคตอาจทำเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เล็ก ๆ ตรงด้านหน้าของไร่ กั้นส่วนปลูกผักเป็นโซนปิด ไม่อยากทำไร่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ถ้าเพื่อการศึกษาเรียนรู้ เรายินดีต้อนรับเสมอครับ”  คุณเอกกล่าวทิ้งท้ายอย่างมุ่งมั่น

2 หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ดูแลในส่วนร้านอาหาร คุณตู่-รัติยา ศรีสุขวงค์ บุตรสาวคนที่สาม เป็นเชฟขนมหวาน และคุณนัท-ณัฐพล ศรีสุขวงค์ บุตรชายคนที่ห้า ทำหน้าที่เป็นเชฟอาหารคาวและหัวหน้าทีมร้านฟาร์ม คาเฟ่ เดอ กาลเวลา
ส่วนหนึ่งของผักออร์แกนิกที่ปลูกในไร่ก็นำมาวางขายที่ร้าน ให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไป
บรรยากาศในร้านคาเฟ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เต็มไปด้วยของสะสมและเรื่องเล่าของครอบครัว ฝีมือการออกแบบของคุณเอก ปัจจุบันเป็นร้านที่รู้จักกันดีในโลกโซเชียล

ไร่กาลเวลา 2/1 หมู่ที่ 1 ศาลเจ้าโพรงไม้ ตำบลวังขนาย  อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ร้านฟาร์มคาเฟ่ เดอ กาลเวลา 787/3 หมู่ที่ 2  ซอยเทศบาล 25 ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
Facebook : ไร่กาลเวลา Organic Farm
โทรศัพท์ 08-5333-3414

*ร้านหยุดทุกวันพุธ

ไร่กาลเวลา ผืนดินของพ่อ ในอ้อมกอดของแม่ (สวนสวย สิงหาคม 2562)

เจ้าของ : ครอบครัวศรีสุขวงศ์
ออกแบบ :  คุณพิศิษฐ ศรีสุขวงค์ และคุณสฤษฎ์ แดงจันทร์
ที่ตั้ง : จังหวัดกาญจนบุรี

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข


เรื่องที่น่าสนใจ