ไม้ไผ่

ไผ่ ทางเลือกในการใช้ไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ไม้ไผ่
ไม้ไผ่

ประเภทของสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจาก “เรือนเครื่องสับ” ที่ทำมาจากไม้จริง , “เรือนเครื่องก่อ” ที่ทำมาจากการก่ออิฐถือปูนแล้ว ยังมี “เรือนเครื่องผูก” ที่ทำมาจาก “ ไผ่ ” (ฺBamboo) วัสดุธรรมชาติหาง่ายพบเจอได้แทบทุกท้องถิ่น

ด้วยคุณสมบัติของ ไผ่ ที่เป็นพืชโตเร็ว มีความแข็งแรงเทียบเท่าไม้หรือมากกว่า หาได้ง่าย มีราคาถูก ปลูกเพียง 3-5 ปี ก็สามารถนำมาใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างเป็นบ้านเรือนสำหรับพักอาศัย ประกอบกับสถานการณ์ป่าไม้ในเมืองไทยที่ทำให้ทรัพยากรไม้ลดจำนวนลง “ไผ่” จึงกลายเป็นทางเลือกในการใช้ไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ไม้ไผ่

โครงสร้างไม้ไผ่ 

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในศักยภาพของไม้ไผ่ที่มีความยืดหยุ่นสูง แข็งแรง มีความสามารถในการดัดโค้ง ปัจจุบันจึงมีการออกแบบโดยอาศัยองค์ความรู้ทางวิศวกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้ไผ่สามารถนำมาใช้งานได้ในทุกองค์ประกอบของอาคาร โดยนิยมเลือกไผ่พันธุ์ที่มีเนื้อไม้หนาขนาดใหญ่ เช่น ไผ่ตง ไผ่บง มาใช้ทำโครงสร้างหลัก อย่างเสา และคาน ส่วนพันธุ์ที่มีลำเล็ก ตรง เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่รวก นิยมนำมากรุผนัง หรือใช้กับงานตกแต่งที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก

โครงสร้างไม้ไผ่
PANYADEN INTERNATIONAL SCHOOL ศูนย์กีฬาสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ออกแบบโดย Chiangmai Life Architects (CLA) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ดอกบัว” อ่านต่อ ที่นี่ (ภาพ: ภาพ : markus roselieb (CLA) และ alberto cosi)

อาคารที่ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมดมักเป็นอาคารเปิดโล่งจำพวกศาลา ศูนย์กีฬา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการปิดล้อมเหมือนอาคารทั่วไป เหตุมาจากข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้ร่วมกับวัสดุชนิดอื่นอย่างกระจก เพราะธรรมชาติของไม้ไผ่มีขนาดไม่เสมอกันตลอดทั้งลำ อีกทั้งยังมีการยืดหดตัวของไม้ แต่หากต้องการนำมาใช้สร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวร ควรเลือกช่างผู้มีความเชี่ยวชาญหรือสามารถเลือกใช้ไม้ไผ่ลามิเนตที่ในปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทุกองค์ประกอบ เช่น เสา คาน พื้น ผนัง

Bamboo Playhouse โดย Eleena Jamil

การผสมผสานไม้ไผ่กับวัสดุอื่น 

การเลือกใช้ไม้ไผ่มาประยุกต์เข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ของที่พักอาศัยก็เพื่อช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของโครงสร้าง และสร้างความเป็นธรรมชาติให้อาคาร โดยสามารถนำมาผสมผสานร่วมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น เหล็ก คอนกรีต และไม้จริงได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบในส่วนของหลังคาและผนัง หรือส่วนประกอบย่อยอย่างประตูและหน้าต่าง

บ้านคอนเทนเนอร์
ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคุณสาริน นิลสนธิ จาก D Kwa Architect

ความท้าทายของการผสมผสานไม้ไผ่กับวัสดุอื่นนั้นอยู่ที่รอยต่อระหว่างวัสดุ (Joint) ที่ต้องผ่านการคำนวณทางวิศวกรรม ผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้วัสดุทางธรรมชาติและวัสดุอุตสาหกรรมสามารถทำงานร่วมกันได้ จนทำให้เกิดงานสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่มีความยูนีก กลายเป็นส่วนผสมของความทันสมัยเข้ากับธรรมชาติและบริบทได้อย่างลงตัว

การใช้ไม้ไผ่ในงานตกแต่ง 

ไม้ไผ่สามารถใช้ตกแต่งได้ทั้งงานภายในและภายนอก ส่วนใหญ่นิยมใช้ไผ่พันธุ์ที่มีลำต้นขนาดเล็ก ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก อีกทั้งยังช่วยให้เกิดผิวสัมผัสและแพตเทิร์นที่น่าสนใจมากกว่าไม้ไผ่ลำใหญ่ โดยแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้

บ้านไม้ไผ่
บ้านของคุณนพรัตน์ บิดจันทึก และคุณกัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ อ่านต่อ ที่นี่
  • เปลือกอาคาร (Façade) เพิ่มระนาบด้วยแผงไม้ไผ่ที่ห่อหุ้มตัวอาคารเอาไว้ โดยใช้ลักษณะการเรียงลำไม้แบบแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดแพตเทิร์นที่หลากหลาย สามารถใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ หรือผ่าออกให้เป็นซีกแล้วสานขัดกันขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ ก็ได้ นอกจากจะสวยงามแล้วยังช่วยเป็นแผงบังแดดที่ระบายอากาศได้แบบไม่กลัวร้อน
บ้านไม้ไผ่
บ้านของคุณนพรัตน์ บิดจันทึก และคุณกัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์
  • งานตกแต่งภายใน (Interior) ด้วยลักษณะลำไม้ที่ยาวสูงชะลูดจึงสามารถนำไปตกแต่งภายในได้ตามแนวตั้งสูงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน และยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นราวบันได พาร์ทิชั่น หรือใช้ตกแต่งผนังให้มีลูกเล่น สร้างความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
  • พื้นไม้ไผ่ลามิเนต (Bamboo Laminate) อีกหนึ่งนวัตกรรมในการนำไม้ไผ่ไปบดอัดจนได้แผ่นไม้พื้นที่มีความแข็งแรง สวยงามไม่แพ้ไม้จริง โดยสามารถเลือกสีไม้ได้ตามใจชอบ
รั้วไม้ไผ่
ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคุณสาริน นิลสนธิ จาก D Kwa Architect
  • รั้ว (Fence) โดดเด่นตั้งแต่ภายนอกด้วยรั้วบ้านไม้ไผ่ที่เรียงชิดกัน หรือแบบเว้นช่องว่างก็ให้ความรู้สึกสวยงามได้ไม่แพ้กัน โดยคุณสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความต้องการ

DID YOU KNOW?

ไผ่ เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลหญ้า มีมากกว่า 1,600 สายพันธุ์ทั่วโลก เฉพาะในทวีปเอเชียมีพันธุ์ไผ่คิดเป็นร้อยละ 67 ของทั้งโลก ส่วนในประเทศไทยมีพันธุ์ไผ่ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด 28 พันธุ์ และด้วยความที่ไผ่เป็นไม้ที่ไม่มีวงปีจึงทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าไม้ และผิวไม้ไผ่ยังสามารถรับแรงดึงได้มากกว่าเนื้อไม้ถึง 2 เท่า

การจะได้ไผ่ที่ดีควรตัดในช่วงหลังฤดูฝนหรือฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงที่ไผ่ลำเลียงแป้งไปเลี้ยงหน่อที่กำลังเกิด ทำให้ลำไผ่มีแป้งน้อย เนื่องจากแป้งเป็นตัวดึงดูดมอดและปลวกที่จะมากินเนื้อไม้ เมื่อตัดลำต้นแล้วไผ่ยังสามารถแตกหน่อใหม่ได้โดยไม่ต้องปลูกใหม่ จึงจัดเป็นไม้ที่มีวงจรยั่งยืนขยายพันธุ์ง่ายต่างจากไม้เนื้อแข็งทั่วไป

ความเข้าใจที่ว่าไผ่เป็นไม้ที่ไม่ทนทานนั้น จริง ๆ แล้วสำหรับงานภายในไผ่มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี งานกึ่งเอ๊าต์ดอร์ มีอายุการใช้งานประมาณ 10-30 ปี และงานภายนอกมีอายุการใช้งาน 5-10 ปี ทั้งนี้ไม้ไผ่ที่นำมาใช้งานควรผ่านกระบวนการรักษาเนื้อไม้มาเป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นการแช่น้ำ การใช้สารเคมี ฯลฯ  หากคุณไปซื้อให้สังเกตว่าไม้ที่ผ่านกระบวนการรักษาเนื้อไม้แล้วนั้นจะมีรูที่ถูกเจาะให้ทะลุทุกปล้อง เพื่อให้น้ำยาเข้าซึมถึงเนื้อไม้ทั่วทั้งลำนั่นเอง

มีงบหนึ่งล้านก็มีบ้านตู้คอนเทนเนอร์กลางสวนป่า ที่จับคู่วัสดุหาง่ายในท้องถิ่นอย่างเหล็ก ปูน อิฐบล็อก ไม้ไผ่ กระเบื้องลอนโปร่งแสง ออกมาดิบเท่ได้

ธ.ไก่ชน
คุยกับ ธนพัฒน์ บุญสนาน แห่ง ธ.ไก่ชน ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ใน ROOM DESIGN ISLAND งานบ้านและสวนแฟร์ MIDYEAR 2019

วัสดุทดแทนไม้
รู้จัก “วัสดุไม้แผ่น” และ “วัสดุทดแทนไม้” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

ไม้แปรรูป
รู้จัก “ไม้แปรรูป” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ


เนื้อหาบางส่วนจาก room ฉบับที่ 179 (มี.ค-เม.ย. 2561)

เรื่อง  foryeah!
ภาพ  แฟ้มภาพนิตยสาร room,บ้านและสวน,my home,เอกสารประชาสัมพันธ์