ไม้แปรรูป

Wood Introduction 01 : รู้จัก “ไม้แปรรูป” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

ไม้แปรรูป
ไม้แปรรูป

ด้วยเสน่ห์ของผิวสัมผัสที่ให้ความเป็นธรรมชาติ  รู้สึกอบอุ่นทุกขณะที่ได้อยู่อาศัย รวมถึงลักษณะตามธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันเลยสักชิ้นจนราวกับเป็นงานแฮนด์เมด นี่จึงเป็นเหตุผลให้ “ไม้” ยังคงเป็นวัสดุยอดนิยมสำหรับใช้ก่อสร้างที่พักอาศัยและงานตกแต่งเสมอมา  เราจึงได้รวบรวมประเภทของ “ไม้” แต่ละชนิดมาฝาก ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างเหมาะสม ได้เนื้อไม้ที่ถูกใจ รวมไปถึงวัสดุทดแทนไม้หลากหลายประเภทที่ได้รับการผลิตขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ของไม้จริง

1.ไม้แปรรูป (LUMBER) หรือไม้ที่นำลำต้นของต้นไม้ชนิดต่างๆ หรือ ซุง มาเลื่อยแปรรูปเป็นแผ่นให้สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ง่าย แบ่งประเภทตามค่าความแข็งแรงดังนี้

1.1.ไม้เนื้อแกร่ง เช่น ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้มะค่า มีค่าความแข็งแรงมากกว่า 1,000 กก./ลบ.ซ. มีความทนทานมากกว่า 6 ปี เป็นไม้เจริญเติบโตช้า จึงทำให้มีวงปีที่ถี่และมีลายไม้ละเอียดสวยงาม เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง เหมาะนำไปใช้ทำโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ อย่าง เสา คาน และตง

-ไม้แดง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง เนื้อไม้แน่น  และมีความแข็งแรง ด้วยลักษณะของเนื้อไม้ที่มีสีสันสวยงามจึงนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างที่ต้องการโชว์สีและลายไม้ เช่น บันได พื้น และวงกบประตูหน้าต่าง แต่ไม่เหมาะทำเป็นเฟอร์นิเจอร์เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง ตัดเจาะตกแต่งได้ลำบาก

-ไม้มะค่า เนื้อไม้มีสีน้ำตาลเข้มอมส้ม ลายเรียงตัวเป็นเส้นตรงชัดเจนดูสวยงาม เนื้อไม้มีความแข็งแรงมาก จึงเหมาะนำไปใช้กับงานหนัก ๆ เช่นใช้เป็นไม้พื้น และไม้บันได ยิ่งโดนแดดสีของไม้ก็จะยิ่งเข้มขึ้น แต่ในปัจจุบันเป็นไม้หายากและมีราคาสูง

1.2.ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ และไม้มะเกลือ มีค่าความแข็งแรงมากกว่า 600-1,000 กก./ลบ.ซ. มีความทนทาน 2-6 ปี เป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า มีลายไม้ที่ละเอียดกว่าไม้เนื้ออ่อน น้ำหนักเยอะ ไสหรือตกแต่งยาก สีเข้ม เนื้อมัน แน่น นิยมนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และงานตกแต่งภายในที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก

-ไม้สัก เนื้อไม้มีสีน้ำตาลทอง ลายเรียงเป็นเส้นชัดเจนสวยงาม บิดงอโก่งตัวได้ยาก และเมื่อต้นสักมีอายุมากจะผลิตน้ำมันธรรมชาติออกมาซึ่งเป็นกลิ่นที่ปลวกไม่ชอบจึงปลอดจากแมลงต่าง ๆ นับเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุด เหมาะนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ประตู และหน้าต่าง

-ไม้ตะแบก เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เนื้อละเอียด ใส มีลวดลายชัดเจน ถ้าขัดและลงเงาแล้วจะมีลักษณะสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก  แถมมีราคาที่ถูกกว่า แต่มีข้อเสียคือมักบิดตัวและโก่งงอง่ายหากโดนความร้อนหรือความชื้นนาน ๆ  จึงนิยมใช้กับงานภายใน เช่น ไม้พื้น และวงกบประตู

1.3.ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยาง ไม้กระท้อน ไม้มะม่วง ไม้ฉำฉา และไม้กระบาก มีค่าความแข็งแรงน้อยกว่า 600 กก./ลบ.ซ. มีความทนทานน้อยกว่า 2 ปี เป็นไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว ทำให้มีวงปีกว้าง ลายไม้มีน้อยและไม่ละเอียด เนื้อไม้สีจางหรือค่อนข้างซีด เหมาะใช้ในงานตกแต่งแบบชั่วคราว หรือเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก

-ไม้ยาง เนื้อไม้มีสีอ่อน สามารถนำไปทำสีและตกแต่งได้ง่าย เป็นไม้โตเร็ว หาได้ง่าย และมีราคาถูก เหมาะกับงานภายในเป็นหลัก เช่น ไม้ฝา ไม้คร่าว และไม้เพดาน

-ไม้ฉำฉา  หรือไม้จามจุรี เนื้อไม้มีสีสวยงาม ส่วนของกระพี้มีสีขาวเหลือง และส่วนของแก่นมีสีน้ำตาลเข้มทำให้มีลาดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้ตกแต่งพื้นและเพดาน

1.4.ไม้จากต่างประเทศ เช่น ไม้ตระกูลสน (Conifers) ไม้บีช (Beech)  ไม้แอช (Ash) ไม้โอ๊ก (Oak) ไม้เชอร์รี่ (Cherry) ไม้วอลนัท (Walnut) และไม้มะฮอกกานี (Mahogany)  ด้วยสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศจึงทำให้ไม้นำเข้าส่วนใหญ่เหล่านี้ เป็นไม้เนื้ออ่อน  มีสีไม่เข้มมากนัก แถมยังมีลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้กับงานตกแต่งภายใน เครื่องเรือน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ

-ไม้แอช (Ash) เนื้อไม้สีเหลืองอ่อนจนเกือบขาว เส้นรัศมีเด่นชัด สลับลวดลายและสีสันกันอย่างสวยงาม

-ไม้วอลนัท (Walnut) เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนไล่ไปจนถึงน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้แข็งและเหนียว มีลวดลายสวยงาม

อ่านต่อ : Wood Introduction 02 : รู้จัก “วัสดุไม้แผ่น” และ “วัสดุทดแทนไม้” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

เรื่อง  foryeah!
ภาพ  นันทิยา บุษบงค์