“เทียนทยา” พืชชนิดใหม่ของโลก ค้นพบโดย 2 นักพฤกษศาสตร์ชาวไทย

การค้นพบ” เทียนทยา ” พืชชนิดใหม่ของโลก  เป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่เป็นเครื่องยืนยันว่าในป่าเมืองไทยเต็มไปด้วยพรรณไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และซึ่งบางชนิดค้นพบเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น

โดยผู้ค้นพบ เทียนทยา ครั้งนี้คือ 2 นักพฤกษศาสตร์ชาวไทยได้แก่ ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤกษศาสตร์ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์เทียนของไทย

เทียนทยา
ภาพโดย ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

เทียนทยา (Impatiens jenjittikuliae Ruchis. & Suksathan) เป็นไม้เฉพาะถิ่นของไทย ออกดอกสะพรั่งในช่วงฤดูฝนและช่วงปลายฝนต้นหนาว กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ป่าลึกในเขตจังหวัดตาก คุณสาโรจน์เล่าว่า พืชดังกล่าวถูกพบเมื่อปี พ.ศ. 2561 ซึ่งตนได้เห็นรูปผ่านทางโซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกสนใจ จึงเดินทางเข้าป่าไปยังบริเวณที่พบเพื่อเก็บข้อมูลศึกษา ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อเป็นทางการ เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนจึงพบว่าเป็นพืชในตระกูลเทียน จึงได้ตั้งชื่อว่า เทียนทยาเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร. ทยา เจนจิตติกุล นักพฤกษศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในเมืองไทยมีพืชตระกูลเทียนมากกว่า 60 ชนิดด้วยกันและเทียนทยาเป็นชนิดใหม่ล่าสุดที่ค้นพบ”

เทียนทยา
ภาพโดย ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

เทียนทยาเป็นพืชสกุลเทียนที่มีลักษณะดอกที่สวยงาม ออกดอกสีม่วงอมชมพู มักจะขึ้นเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ในพื้นที่อาศัย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด สามารถปลูกในกระถางได้ แต่ต้องเป็นบริเวณที่มีความชื้นเหมาะสมและมีความชำนาญในการปลูกเทียน เหมาะแก่การอนุรักษ์และใช้เป็นพืชเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสวยงามไม่แพ้ “เทียนนกแก้ว (Impatiens psittacina Hook.f.)” แห่งดอยหลวงเชียงดาว “เทียนปีกผีเสื้อ Impatiens patula Craib” แห่งดอยหัวหมด “เทียนหินหรือเหยื่อกุรัม Impatiens mirabilis Hook. f.” เทียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งพบทางภาคใต้ของไทย

เทียนทยา
ภาพโดย ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

การศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการโครงการ พรรณพฤกษชาติของไทย หรือ Flora of Thailand ซึ่งเป็นการจัดทำคู่มือพรรณไม้มีท่อลำเลียงทุกชนิดที่พบในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2513 และจะสิ้นสุดโครงการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการนี้ทำให้เกิดคลังข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในป่าของเมืองไทย ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

 

ข้อมูลจาก ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

เรียบเรียง JOMM YB

ภาพโดย ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

 


ลิ้นมังกร …เลี้ยงง่าย ช่วยลดมลภาวะ

บีโกเนีย ต้นไม้ใบสวยนิยมปลูกเพิ่มความชุ่มชื้นในสวน

” เครือเทพรัตน์ ” หนึ่งในบรรดาดอกไม้ฤดูร้อน