” เครือเทพรัตน์ ” หนึ่งในบรรดาดอกไม้ฤดูร้อน

ฤดูร้อนนอกจากเป็นฤดูของผลไม้ยังเป็นช่วงดอกไม้บาน  หนึ่งในบรรดาดอกไม้ฤดูร้อนก็คือ เครือเทพรัตน์ จากข้อมูลหนังสือ ไม้เลื้อยประดับ : Climber บันทึกไว้ว่า เป็นพืชชนิดใหม่ที่ค้นพบขึ้นราวปี พ.ศ. 2548 โดย ดร. ราชันย์ ภู่มา แห่งกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เครือเทพรัตน์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thepparatia  thailandica Phuph. อยู่ในวงศ์เดียวกับชบา (Malvaceae)  เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยที่พบในจังหวัดตาก ใกล้กับชายแดนพม่า  ใกล้ธารน้ำในป่าดิบแล้งที่ความสูงประมาณ 700 เมตรเหนือระดับทะเล โดยขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสกุลว่า Thepparatia และชื่อระบุชนิดว่า thailandica ที่สื่อถึงถิ่นที่พบ

เครือเทพรัตน์

เครือเทพรัตน์

จุดเด่นของพรรณไม้ชนิดนี้คือ เป็น ไม้เลื้อยอายุหลายปี เถาต้นขนาดใหญ่ เลื้อยได้ไกลถึง 20 เมตร  แผ่นใบรูปฝ่ามือ หยักเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก  มีขนปกคลุม  ขอบใบหยักฟันเลื่อย ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งและห้อยลง ยาวถึง 20 เซนติเมตร ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ  6-8 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลืองอ่อนถึงครีม มีแถบสีแดงที่กลางกลีบและโคนกลีบ  มักออกดอกช่วงฤดูร้อน ในบ้านเรายังไม่พบปลูกเป็นไม้ประดับกันมากนัก  เพราะขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก ในธรรมชาติยังพบเพียงไม่กี่ต้น ซึ่งทางนักวิชาการลองนำกิ่งมาปักชำ แต่มีเพียงไม่กี่ต้นที่เติบโตได้

แหล่งข้อมูล : ไม้เลื้อยประดับ : Climber  ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

 เรื่อง : อุไร จิรมงคลการ / ภาพวาดสีน้ำ : สุนิตสรณ์ พิมพะสาลี


เรื่องที่น่าสนใจ