จามจุรี

จามจุรี
จามจุรี

ก้ามปู/ฉำฉา/ตุ๊ดตู่/Rain tree/East Indian walnut/Monkey pod
ชื่อวิทยาศาสตร์: Albizia saman (Jacq.) Merr.
วงศ์: FABACEAE
ประเภท: ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ
ความสูง: 15-20 ม.
ทรงพุ่ม: เรือนยอดรูปร่มแผ่กว้าง กิ่งก้านขนาดใหญ่ ทรงพุ่มทึบ
ลำต้น: โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย เปลือกลำต้นสีเทาดำ หนา ขรุขระแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็กใหญ่ไม่เป็นระเบียบ ระหว่างร่องเปลือกที่แตกมีสีขาวขุ่นนุ่มคล้ายไม้ก๊อก
ใบ: ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีใบย่อย 4-6 คู่ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยรูปไข่ รูปรีหรือขอบขนาน บ้างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบด้านหลัง ใบเรียบสีเขียวเข้ม ด้านท้องใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม ก้านใบและใบอ่อนมีขนนุ่มปกคลุมทั่วไป
ดอก: ออกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาว 3-7 ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกวงนอกของช่อเล็กกว่าดอกวงใน กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมชมพูติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 6-8 แฉก มีขนอ่อนปกคลุม กลีบดอกสีขาวอมชมพูโคนติดกันเป็นรูปปากแตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีก้านชูเกสรสีชมพูจำนวนมากอยู่กลางดอก ออกดอกตลอดปี แต่จะดกในเดือน ก.ย.-ก.พ.
ผล: ฝักรูปขอบขนานบิดโค้งเล็กน้อย ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล โป่งและคอดเป็นตอนๆ ตามตำแหน่ง เมล็ดภายในฝักมีเนื้อนุ่มเหนียว และเมล็ดจำนวนมาก
อัตราการเจริญเติบโต: เร็ว
ดิน: ดินร่วน
น้ำ/ความชื้น: ปานกลาง-สูง
แสงแดด: เต็มวัน
ขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
โรคและแมลงศัตรูพืช: มักมีปัญหาหนอนเจาะกิ่งทำให้เปราะหักง่าย
การใช้งานและอื่นๆ: เป็นไม้ต้นให้ร่มเงาขนาดใหญ่ รูปทรงสวยงาม ไม่ควรใช้ในพื้นที่ขนาดเล็ก เนื่องจากทรงพุ่มแผ่กว้าง ระยะปลูกเพื่อจัดสวน ถี่ 5-10 ม. ห่าง 15-20 ม. ทนน้ำท่วมขังแฉะได้ นอกจากใช้ในงานจัดสวนแล้ว ยังนิยมนำใบไปทำปุ๋ยหมักและวัสดุปลูกหรือใช้เพาะครั่งได้ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย