Garden of Ideas งานบ้านและสวนแฟร์ 2021

Garden of Ideas

เพราะช่วงเวลาที่ทุกคนต้อง Stay Home ได้เกิดปรากฎการณ์คนรักต้นไม้ฟีเวอร์จนกลายเป็นเทรนด์ฮิตที่ทุกบ้านจะต้องมี ไม่ต่างจากคนรักสวนที่ลงแรงทุ่มกำลังปลุกปั้นแต่ละมุมในบ้านให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวส่วนตัว และบางคนเริ่มหันมาสร้างแหล่งอาหารเองด้วยการปลูกพืชผัก ทำฟาร์มขนาดเล็ก ลดค่าใช้จ่ายและได้อาหารที่ปลอดภัย

สวนดูแลง่าย Easy Garden จึงเกิดเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบโซน Garden of Ideas ที่ประกอบด้วยโซนสวนสวยที่มาพร้อม 6 ไอเดียในการทำสวนให้เป็นเรื่องง่าย พร้อมด้วยมุมสวนครัวสำหรับ Urbarn Farming สำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัดแต่ต้องการปลูกผัก และอยากมีสวนครัวดูแลง่ายในพื้นที่หลังบ้าน ปิดท้ายด้วยไอเดียจัดสวนที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ให้สวนรอบบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับน้องหมาน้องแมว สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราด้วย

มิกซ์ต้นไม้ในสวนอย่างไรให้รอด

Plant Combination จัดอย่างไรให้สวย

การจัดสวนแบบ Plant Combination คือการปลูกต้นไม้ผสมผสานในแปลง หรือในกระถางเดียวกัน หัวใจสำคัญคือชนิดของพรรณไม้ที่จะต้องเลือกที่มีความต้องการดิน น้ำ และแสงแดด คล้ายๆ กัน เพื่อให้ดูแลได้ง่าย และดูสวยงามยาวนาน โดยมีข้อควรคำนึงในการจัดวางคือ

ความกลมกลืน สีสันและผิวสัมผัสของใบไม้แม้จะมีความแตกต่าง แต่เมื่อมาอยู่ในกระถางเดียวกันต้องสอดคล้องไปกับรูปแบบของกระถาง
สร้างจุดสนใจ ในกลุ่มของต้นไม้ควรมีความต่างของสีสัน รูปทรง เพื่อสร้างจุดสนใจ
วางสัดส่วน ควรวางต้นไม้ให้ดูสมดุลและมีสัดส่วนที่พอเหมาะ ควรเว้นระยะไม่ให้แน่นเกินไปและกระจายอยู่ในจุดต่างๆ อย่างเหมาะสม
• สร้างจังหวะ การเรียงต้นไม้ควรมีจังหวะของการจัดวางที่ดูไม่น่าเบื่อ ไม่ว่าจะเป็นการวางเรียงแบบเท่ากัน เล่นระดับกัน หรือกระจายตัวกัน
• รักษาสมดุล ในการจัดต้นไม้ที่อยู่ด้วยกันควรมีการถ่วงดุลน้ำหนักของการจัดองค์ประกอบนั้นให้มีความเท่าเทียมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องสมมาตรกัน

แสงครึ่งวัน | น้ำปานกลาง | มีเวลาดูแล

สมุนไพรฝรั่ง ก็สามารถจัดเป็นสวนจิ๋วในภาชนะเดียวกันได้ เทคนิคในการดูแลคือดินและน้ำ พืชเหล่านี้ชอบสภาพดินระบายน้ำดี ไม่ควรรดน้ำมากจนแฉะ สังเกตว่าเมื่อดินปลูกแห้งจึงค่อยรด หลีกเลี่ยงไม่ให้ต้นโดนน้ำฝนโดยตรง จะทำให้เน่าง่าย หากปลูกลงกระถางควรใช้เครื่องปลูกที่มีส่วนผสมของดินใบก้ามปู กาบมะพร้าวสับชิ้นเล็ก ทราย และมูลไส้เดือน หรือใส่ปุ๋ยคอกเก่าลงไปด้วย ควรหนุนก้นกระถางให้สูงขึ้น เพื่อให้ระบายอากาศและน้ำได้ดี ช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องปลูกแฉะ แสง ไม่ควรให้ต้นโดนแสงแดดโดยตรง อาจตั้งไว้ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ให้ได้แสง เพียงครึ่งวันก็พอ และไม่ควรเลี้ยงในที่ร่มเกินไปเพราะจะทำให้กลิ่นจางลง หากพบแมลงศัตรูพืชควรกำจัดด้วยสารชีวภาพ เพราะเน้นการนำไปใช้ประกอบอาหาร จึงควรระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ

แสงน้อย | รดน้ำน้อย | ไม่ค่อยมีเวลา 

• สภาพพื้นที่มีแสงแดดส่องเข้ามาในเวลาจำกัด ต้นไม้ที่เลือกใช้ควรจะเป็นประเภทที่ต้องการแสงครึ่งวันจนถึงร่มรำไร
• การให้น้ำ หากคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลารดน้ำ ควรเลือกใช้พืชที่ต้องการน้ำน้อย กระถางที่เลือกใช้ควรเป็นประเภทที่ระบายน้ำได้ดี
• เลือกใช้ปริกหางกระรอกจัดวางเป็นต้นสูงอยู่ด้านหลัง และให้กุหลาบหินเป็นจุดเด่นโชว์ดอกอยู่ที่ขอบกระถาง ใช้หลิวไต้หวัน กับดาดตะกั่วเป็นไม้แซมให้ภาพรวมของกระถางสมดุล

 

แสงน้อย | น้ำปานกลาง | มีเวลาดูแล

• สภาพพื้นที่ค่อนข้างร่มถึงมีแดดอาจได้รับแสงเพียง 2 – 3 ชั่วโมงจึงควรใช้ไม้ที่ชอบแสงแดดรำไรทรงพุ่มไม่เกะกะ เพราะมีคนเดินผ่านตลอดเวลา
• การให้น้ำควรเลือกพรรณไม้ที่มีลักษณะวิสัยคล้ายกัน เนื่องจากต้องปลูกรวมกันในกระถางเดียวเน้นใช้ไม้ที่ต้องการน้ำปานกลาง เพราะตามมุมบ้านหากมีน้ำขังจะทำให้กำแพงเกิดตะไคร่และขึ้นราได้
• พยายามใช้ต้นไม้โทนสีเดียวกัน โดยใช้สีม่วงจากอาจูก้าเป็นไม้ทรงสูงใบสีแดงจากบีโกเนีย และดอกสีชมพูจากแอฟริกันไวโอเลต แซมด้วยเฟินเจ้าฟ้าเพื่อช่วยเบรกสีลง

 

แดดจัด | น้ำมาก | มีเวลาดูแล

• สภาพพื้นที่มีแสงแดดส่องเต็มวัน ควรระวังเรื่องใบไหม้ สีดอกที่เลือกใช้ควรดูให้ดี คู่สีที่เข้ากันได้อย่างขาว ส้ม แดง เหลือง น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี
• การให้น้ำ เนื่องจากไม้แดด ต้องการน้ำมาก ควรขยันรดน้ำเช้า – เย็น และกระถางต้องระบายน้ำได้ดี
• ใช้ไม้ทรงสูงเป็นแวววิเชียรมีพุ่มกลุ่มเล็กๆ อย่างแอสเตอร์ และแพงพวยฝรั่ง ไม้ด้านหน้าเป็นผกากรองสีสด ลดความแข็งของกระถางอีกนิดด้วยลิปสติก

 


เทคนิควางต้นไม้ตามแสงในห้อง

โดยหลักเกณฑ์ในการเลือกปลูกต้นไม้ในบ้านคือ บริเวณนั้นต้องมีอากาศถ่ายเท มีแสงส่องถึง เเละเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับแสงในบริเวณนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะวิสัยของต้นไม้ชนิดนั้น ๆ

จะปลูกต้นไม้ในห้องต้องพิจารณาธรรมชาติของต้นไม้ร่วมด้วย ทั่วไปแล้วต้นไม้ทุกชนิดฟอกอากาศได้ ขณะเดียวกันก็มีหลายชนิดที่มีศักยภาพช่วยดูดซับสารพิษอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะสารปนเปื้อนที่ปะปนมากับสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ ไซลีน โทลูอีน เบนซิน แอมโมเนีย เเละแอลกอฮอล์ โดยสิ่งของที่มีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้ ได้แก่ วอลล์เปเปอร์ ผ้าม่าน หน้าจอคอมพิวเตอร์ หมอนใยสังเคราะห์ สีทาบ้าน น้ำยาทำความสะอาด ไม้อัด เเละกระดาษทิชชู การวางต้นไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับสารพิษเหล่านี้ จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้เเถมยังสร้างบรรยากาศให้สวยงาม ร่มรื่น ดูผ่อนคลายไปในตัว

เเต่หากยังเลือกไม่ถูกว่า จะวางต้นไม้ชนิดไหนในห้องอะไรดี ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณวางต้นไม้ฟอกอากาศในห้องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น


15 Garden Tips จัดสวนอย่างไรให้ลดภาระในการดูแล

1.การจัดสวนให้ดูแลง่ายควรเลือกใช้ฮาร์ดสเคปเป็นหลัก และปูพื้นแข็งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้ ไม้เทียม กรวด แผ่นพื้นสำเร็จต่างๆ แล้วจึงแซมต้นไม้ในแต่ละจุดแทน มีทางเดินที่เชื่อมต่อและเข้าถึงได้ทุกจุดในสวน เพื่อให้สามารถเข้าไปดูแลสวนและต้นไม้ได้สะดวก

2. ก่อนจัดสวนอย่าลืมดูแนวท่อประปา ท่อสายไฟ ถัง SAT บ่อเกรอะ บ่อซึม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการวางตำแหน่งใช้สอยหรือปลูกต้นไม้ที่ทำให้จัดการงานระบบเหล่านี้ได้ยาก

3. หลีกเลี่ยงการทำบ่อปลาในสวนขนาดเล็กเพราะไม่เพียงแต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ยังมีปัญหาเรื่องงานระบบและการดูแลค่อนข้างมาก หากชอบสวนน้ำแนะนำให้ทำน้ำตกหรือน้ำล้นขนาดเล็กที่มีงานระบบง่าย ๆ หรือหากต้องการเลี้ยงปลา แนะนำเป็นอ่างบัวเลี้ยงปลาชนิดเล็ก ๆ แทน

4. ใช้วัสดุทดแทน วัสดุสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนการใช้ไม้จริงอย่างไม้เทียมหรือไม้สังเคราะห์ มีหลากหลายรูปแบบทำเลียนแบบให้มีสีสัน รูปร่างหน้าตา หรือคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้ เพื่อให้นำมาใช้งานทดแทนไม้จริงได้ ทั้งแผ่นไม้ ไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้รั้ว ไม้ฝา ฯลฯ ลดข้อจำกัดบางอย่างของไม้จริงคือ มีอัตราการยืด – หดตัวต่ำกว่าไม้ ปลวกไม่กิน มีขนาดเป็นมาตรฐานสะดวกในการใช้งาน

5. จัดสวนในกระบะต้นไม้ การยกกระบะต้นไม้สูงขึ้นมาเล็กน้อยช่วยให้จัดการต้นไม้ในแปลงได้ง่าย กั้นพื้นที่ปลูกต้นไม้ได้เป็นระเบียบ สะดวกต่อการตัดแต่งต้นไม้ ช่วยให้กรวดไม่ปะปนกับแปลงต้นไม้ กระบะต้นไม้อาจจะใช้ก่ออิฐโชว์แนว ก่ออิฐฉาบปูนและกรุผิวด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น กระเบื้อง หินประดับหรือใช้กระถางใบใหญ่แทนกระบะต้นไม้ก็ได้เช่นกัน

6. สวนกระถางคือรูปแบบสวนที่จัดง่าย ปรับเปลี่ยนได้ง่าย และเหมาะสำหรับตกแต่งในพื้นที่เล็กๆ เช่น มุมต่างๆ ในบ้าน บริเวณที่เป็นพื้นแข็งไม่สามารถปลูกต้นไม้ลงดินได้อย่างระเบียง ลานหลังบ้าน การจัดสวนกระถางมีข้อดีคือ สามารถเลือกรูปแบบกระถางสวยๆ ได้หลากหลายตามความต้องการ โยกย้ายปรับเปลี่ยนได้ง่าย ปลูกต้นไม้ได้หลากหลายชนิด

7. การทำที่นั่งบิลท์อินในสวน ไม่ว่าจะเป็นก่อคอนกรีตขึ้นมาเป็นที่นั่งหรือใช้โครงเหล็กปิดทับไม้เทียม เป็นต้น ที่นั่งลักษณะนี้ช่วยให้พื้นที่สวนเล็กๆ ดูเป็นสัดส่วนน่าเข้าไปใช้ ทั้งยังดูแลง่ายในระยะยาว

8. ติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติ เป็นอีกตัวช่วยในการดูแลสวนที่ช่วยลดภาระอย่างเห็นได้ชัดการติดตั้งระบบให้น้ำในสวนขนาดเล็กนิยมใช้มินิสปริงเกลอร์ที่สามารถซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันยังมีแบบชุดสำเร็จรูปสำหรับแปลงต้นไม้ขนาดเล็กจำหน่ายด้วย อาจจะติดตั้งไทเมอร์หรือไม่ก็ได้โดยทั่วไปการติดตั้งระบน้ำเปิดวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็นก็เพียงพอ และสามารถปิดระบบได้ในช่วงหน้าฝน

9. เลือกใช้พรรณไม้ที่เจริญเติบโตช้า ดูแลรักษาน้อยใบไม่ร่วงมากนัก ทนแล้ง ไม่มีโรคแมลงรบกวนรูปทรงไม่เก้งก้างเกะกะทางเดิน

10. ไม้ยืนต้นในสวนควรเลือกใช้ไม้ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบน้อย เพื่อไม่ให้สร้างปัญหาต้องมาคอยเก็บกวาดในภายหลัง รวมทั้งต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่เก็บกวาดง่าย หรือใบขนาดเล็กละเอียดที่ใบร่วงน้อยและดูกลมกลืนไปกับสวน ได้แก่ ศรีตรัง สนฉัตร สนเกรวิลเลีย น้ำเต้า ตีนเป็ดฝรั่ง แก้ว หูกระจงแดง หลิว พุดกุหลาบ เชอร์รี่แคระ เป็นต้น

11. หลีกเลี่ยงการปลูกหญ้า เพราะต้องการการดูแลรักษาสูง ต้องตัดทุก 15 วัน หากต้องการพื้นสีเขียวจริงๆ แนะนำให้ใช้ไม้คลุมดินชนิดที่เหยียบย่ำได้ ได้แก่ ใบต่างเหรียญ หนวดปลาดุกแคระ ถั่วบราซิล เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ไม่ต้องการให้เหยียบย่ำอาจปลูกไม้คลุมดินแทรกไปกับพื้นแข็งหรือ แผ่นทางเดินก็ได้

12. กลุ่มแคคตัสและไม้อวบน้ำ ดูแลง่ายไม่ต้องรดน้ำบ่อยแล้วยังมีรูปทรงสวยงาม จะวางเพียงไม่กี่ต้เด่นๆ เน้นโชว์ฟอร์มหรือจัดเป็นสวนกระถางวางรวมกันก็สวย

14. ก่อนปลูกจัดสวนควรสังเกตว่าบริเวณนั้นได้รับแสงมากน้อยเพียงใด เพื่อให้สามารถเลือกใช้พรรณไม้ได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

15. ปลูกต้นไม้ให้น้อยชนิดเข้าไว้เพื่อลดภาระการดูแลรักษา และหมั่นตัดแต่งต้นไม้เพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มไม่ให้กว้างเกินไป ควรปลูกต้นไม้โดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นเพื่อให้มีพื้นที่ในการเจริญเติบโตและตัดแต่ง จะทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น

ตามหาไอเดียจัดสวนเล็กดูแลง่ายได้จากหนังสือ Easy Little Garden สวนเล็ก ดูแลง่าย

ไอเดียจัดสวนให้เหมือนมีคาเฟ่ส่วนตัว

สวนในคาเฟ่นั่นมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ ตามแต่รสนิยมความชอบ คอนเซ็ปต์และดีไซน์ที่สอดคล้องไปกับตัวอาคาร แต่จะทำอย่างไรให้สวนที่บ้านเหมือนเป็นคาเฟ่ส่วนตัวนั้น มีเทคนิคง่ายๆ คือ

1 สร้างฉากหลัง สร้างฉากหลังหรือสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้มุมนั่งเล่นในสวน ด้วยต้นไม้เหล่านี้ ได้แก่ หมากเขียว หมากเหลือง จั๋งจีน โมก ไทรเกาหลี ชาข่อย คริสติน่า หรืออาจจะใช้ไม้เลื้อยไต่ผนัง หรือทำฉากหลังในแบบที่ชอบก็เพิ่มความสวยแปลกตาได้เช่นกัน

2 สร้างมุมนำสายตา เป็นการสร้างจุดเด่นในสวนเพื่อเป็นจุดไฮไลท์โดยมีต้นไม้นำสายตาไปสู่มุมนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นมุมนั่งจิบกาแฟ หรือมุมโชว์ไม้กระถาง ของตกแต่งสวน ก็ได้เช่นกัน

3 สร้างซุ้มให้มีมุมอบอุ่น ซุ้มไม้เลื้อยนอกจากจะสร้างร่มเงาในพื้นที่สวนแล้ว ยังเป็นอีกมุมที่ช่วยให้การถ่ายรูปมีเส้นำสาย ยิ่งหากเป็นฤดูที่ไม้เลื้อยออกดอกจะทำให้ดูเหมือนเป็นคาเฟ่มากยิ่งขึ้น

4 มีชั้นไล่ระดับสายตา การเลือกใช้ต้นไม้ในกระถางก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะสามารถปรับเปลี่ยน ตำแหน่งให้ต้นไม้สามารถหนีแสงหรือเข้าหาแสงได้ตลอดเวลา อาจจะจัดวางบนชั้นติดผนัง เล่นระดับกับสายตา และวางเก้าอี้เซตสนาม ก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในคาเฟ่ส่วนตัว

5 ของตกแต่งเพิ่มความน่ารัก ขาดไม่ได้คือพร๊อพตกแต่งสวนในแบบที่ชื่นชอบ อาจจะเป็นตุ๊กตารูปปั้น กระถางดีไซน์สวย หรือถ้วยกาแฟลวดลายน่ารักๆ มาเติมให้มุมสวนธรรมดาดูน่ามองขึ้น

6 น้ำทำให้ผ่อนคลาย นอกจากสีเขียวๆ ของต้นไม้ที่ปลูกในสวน การเลือกใช้น้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เช่นวางน้ำพุ มีบ่อปลาเล็กๆ สร้างมุมน้ำตก หรือวางแค่อ่างนกน้ำ ก็สร้างความเคลื่อนไหวในสวนได้

7 มีพื้นที่สำหรับพักผ่อน อยากมีสวนสไตล์คาเฟ่ อย่าลืมสร้างมุมนั่งพัก สำหรับจิบกาแฟหรือนั่งชมสวน ซึ่งอาจจะเลือกเป็นเซตเก้าอี้วางในมุมสวน หรือตั้งโรงเรือนกระจก ก็ให้บรรยากาศดูเหมือนอยู่ในคาเฟ่ได้เช่นกัน

ตามหาไอเดียจัดสวนในคาเฟ่ได้จากหนังสือ Outdoor Cafe 


GARDEN&FARM

แจกแบบโต๊ะปลูกผัก ทำเองได้ ประหยัดพื้นที่

โต๊ะปลูกแบบที่ 1

สำหรับขนาดแปลงผักยกสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร กว้าง 1.2 เมตร ระยะพอดีมือเอื้อมได้จากทั้งสองฝั่ง และยาว 8 เมตรตามความยาวของเหล็กพอดีโดยไม่ต้องตัด วิธีทำแปลงผักมีดังนี้

  1. ขุดหลุมตำแหน่งฝังเสาคอนกรีต ลึก 20 เซนติเมตร เทคอนกรีตเพื่อฝังเสาลงไป จะช่วยให้มั่นคงแข็งแรงกว่าฝังดินโดยตรงเพราะดินอาจจะยุบตัวทำให้แปลงผักพังลงมาได้
  2. วางเหล็กฉากยาว 8 เมตร ยึดเข้ากับเสาคอนกรีตรองรับกระบะต้นไม้ จากนั้นใช้เหล็กเส้น ตัดยาว 1.20 เมตร วางพาดแนวขวางทุกระยะ 1.20 เมตร ป้องกันกระบะตกท้องช้าง
  3. วางตะแกรงเหล็กรองด้านล่าง7และใช้มุ้งตาข่ายรองก้นกระบะอีกชั้นจากนั้นใช้ไม้เก่าตีปิดขอบกระบะรอบทั้ง 4 ด้าน ให้แปลงผักมีความลึก 20 เซนติเมตร
  4. ใส่วัสดุปลูกผักลงไปใช้ ดิน 6 ส่วน แกลบดิบและเศษใบไม้ 3 ส่วน มูลไส้เดือนผสมมูลวัวแห้ง 1 ส่วน รวมทั้งใส่ไส้เดือนลงไปเลี้ยงในแปลงด้วยไส้เดือนจะช่วยย่อยสลายมูลวัวและพรวนดินทำให้รากผักชอนไชได้ดี ดินโปร่งร่วนซุยโดยไม่ต้องพรวน

โต๊ะปลูกแบบที่ 2 

สำหรับทำโต๊ะปลูกผักขนาด 1.20 x 4.0 x 2.6 เมตร สามารถปรับเปลี่ยนความสูงส่วนหลังคาตามเหมาะสมของผู้ใช้งานได้ แต่ระดับความสูงจากพื้นถึงขอบบนแปลงปลูกควรสูง 75- 80 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะในการยืนปลูกโดยไม่ต้องก้มมากเกินไป ส่วนระยะความกว้าง 1.2 เมตร จะทำให้เอื้อมสุดปลายแขนถึงจุดกึ่งกลางโต๊ะปลูกทั้งฝั่งซ้ายและขวา ง่ายต่อการใช้งาน ความลึกของแปลงปลูก 25- 30 เซนติเมตร เหมาะสำหรับปลูกผักที่มีระบบรากสั้น เช่น ผักสลัดต่างๆ คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง เป็นต้น

วัสดุอุปกรณ์

ตัวโครงโต๊ะปลูก
เหล็กกล่อง 1 x 1 นิ้ว ยาว 2.00 ม. จำนวน 22 ชิ้น
ท่อเหล็กกลม 6 หุน ยาว 2.00 ม. จำนวน 10 ชิ้น
เหล็กกล่อง 1 x 1 นิ้ว ยาว 1.20 ม. จำนวน 9 ชิ้น
ท่อเหล็กกลม 6 หุน ยาว 1.20 ม. จำนวน 3 ชิ้น
ท่อเหล็กกลม 6 หุน ยาว 1.10 ม. จำนวน 6 ชิ้น
ท่อเหล็กกลม 6 หุน ยาว 0.60 ม. จำนวน 3 ชิ้น

วัสดุอื่นๆ
กระเบื้องลอนคู่, แผ่นซาแลน, แผ่นพลาสติกมุงหลังคา, ตาข่ายปูโต๊ะปลูกหรือแผ่นจีโอเท็กไทล์, กิ๊บล็อค

ขั้นตอนการทำ
1 ตั้งเสาเหล็กกล่องและเชื่อมคานเหล็กกล่องเข้าด้วยกัน
2 เชื่อมท่อเหล็กกลมเพื่อเป็นตัวยึดตาข่ายพลาสติก
3 เชื่อมท่อเหล็กกลมทำโครงหลังคา
4 วางกระเบื้องลอนคู่
5 ยึดตาข่ายพลาสติกกับท่อกลมทำกระบะปลูกด้วยกิ๊บล็อค ปรับทรงให้เป็นกระบะปลูก
6 มุงหลังคาด้วยแผ่นพลาสติกใสยึดกับโครงหลังคาด้วยกิ๊บล็อค
7 ติดแผ่นตาข่ายรอบๆ โดยใช้กิ๊บล็อคยึดมุมต่างๆ เว้นระยะให้เปิดปิดใช้งานตามความสะดวก


วัสดุทำแปลงผัก เลือกแบบไหนดี

อิฐมอญ

เป็นวัสดุจากดินเหนียวผสมแกลบ ทรายและน้ำ เผาด้วยความร้อนสูง อิฐมอญที่ใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ชนิดทำมือซึ่งมีผิวไม่เรียบ ดูเป็นกันเองจึงนิยมใช้กับสวนครัว ทั้งยังมีหลายขนาด และอีกชนิดใช้เครื่องจึงมีผิวเรียบ เหมาะกับงานที่ต้องการความเนี๊ยบกว่า
ข้อดี สวยงามและทนต่อสภาพอากาศภายนอก ทั้งยังช่วยเก็บความชื้นให้กับดิน สีสันดูคลาสสิกและกลมกลืนกับบรรยากาศสวน ทั้งสวนยุโรปชนบท และสวนธรรมชาติ
ข้อจำกัด อิฐมอญแต่ละก้อนมีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาก่อสร้างค่อนข้างนาน และต้องยึดกันด้วยซีเมนต์เคลื่อนย้ายไม่ได้ จึงควรออกแบบตำแหน่งแปลงให้ลงตัวก่อน
งบประมาณ 300-500 บาท สำหรับอิฐทำมือขนาดเล็ก

บล็อกประสาน

ผลิตจากดินต่างๆ ผสมกับปูนซีเมนต์และน้ำในสัดส่วนที่พอเหมาะ แล้วอัดด้วยเครื่องให้เป็นก้อน บางพื้นที่อาจประยุกต์ใช้วัสดุอื่นๆในท้องถิ่น เช่น ดินลูกรัง ดินเหนียว ผักตบชวาแห้ง ฯลฯ จุดเด่น คือ เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีเดือยและรูบนตัวบล็อกสำหรับยึดกันไว้จึงสะดวกสำหรับนำมาก่อเป็นแปลง
ข้อดี ใช้งานง่าย สามารถติดตั้ง เคลื่อนย้าย หรือปรับเปลี่ยนได้ง่าย ตัวบล็อกมีทั้งแบบทรงเหลี่ยม และแบบโค้งสำหรับต่อเป็นแปลงวงกลม
ข้อจำกัด รูปแบบและขนาดยังไม่หลากหลายนัก
งบประมาณ 250-500 บาท

 

อิฐบล็อก

ผลิตจากปูนซีเมนต์และทราย อัดด้วยเครื่องเป็นก้อนตามขนาดมาตรฐาน นิยมใช้กับงานก่อสร้าง
ข้อดี ทนทาน ก่อสร้างได้เร็ว และราคาประหยัด
ข้อจำกัด น้ำหนักมาก เข้ากับบ้านสไตล์ลอฟท์
งบประมาณ 50-70 บาท

 

ไม้ลัง ไม้พาเลท ไม้สน

เป็นวัสดุหาง่าย ราคาไม่แพง การนำมาทำเป็นขอบแปลง อาจยึดไม้แต่ละด้านเข้าด้วยกันเป็นกรอบสี่เหลี่ยม หรือในกรณีที่ใช้ไม้ด้านละสองแผ่นขึ้นไป ควรมีเสาไม้ทั้งสี่มุมเป็นหลักยึดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
ข้อดี ทำได้เร็ว ราคาประหยัด สามารถขัด ทาสี หรือตกแต่งได้หลากหลาย น้ำหนักเบา ยกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่าย
ข้อจำกัด ไม่คงทน อาจต้องเปลี่ยนทุกปี หรือทาน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อให้ทนต่อความชื้น
งบประมาณ 200-500 บาท

 

ไม้สาน

ไม้ที่มีความยืดหยุ่นสามารถนำมาสานหรือถักทอเป็นขอบแปลงได้ อย่าง เถาวัลย์ ฟากไม้ไผ่ กิ่งไผ่ กิ่งกระถิน ซึ่งแต่ละวัสดุก็มีความเหนียวและคงทน ต่างกัน ซึ่งะราคาก็ผันแปรไปตามกันด้วย
ข้อดี สวยแปลกตา ดูเป็นงานหัตกรรม
ข้อจำกัด ใช้เวลา และความชำนาญในการทำ หากใช้วัสดุคงทนราคาก็จะสูงตาม
งบประมาณ แปลงฟากไม้ไผ่ขนาด 1 ตารางเมตร ไม่เกิน 200 บาท

 

แปลงกรวด-หิน

ตกแต่งโดยใช้ตะแกรงลวดและหมุดยึดเป็นแนวผนังด้านละสองชิ้น จากนำกรวดใส่ระหว่างช่องว่างของตะแกรงทั้งสองแผ่น ตกแต่งลบคมให้สวยงาม
ข้อดี สวยแปลกตา ระบายน้ำง่าย
ข้อจำกัด ควรยึดหมุดให้ผนังขอบแปลงมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งวิธีการทำค่อนข้างซับซ้อน
งบประมาณ 400-550 บาท


หลังคาโรงเรือนเกษตร แบบไหนดี??

การสร้างโรงเรือนส่วนใหญ่มักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้เหมาะกับการปลูกพืช แต่นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนอนุบาลต้นอ่อน ซึ่งอาจมีเพียงแค่การกรองแสงหรือพรางแสงเพื่อรอย้ายปลูก สำหรับโรงเรือนเกษตรที่นิยมสร้างภายในบริเวณบ้าน อาจแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามแบบหลังคาโรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนหลังคาจั่ว โรงเรือนหลังคาจั่ว 2 ชั้น โรงเรือนหลังคาโค้ง และโรงเรือนหลังคาฟันเลื่อยหรือโรงเรือนทรง ก ไก่

โรงเรือนหลังคาจั่ว

เป็นรูปแบบโรงเรือนที่นิยมมากที่สุด เพราะไม่เพียงสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยในการระบายอากาศ เนื่องจากโรงเรือนหลังคาจั่วที่สร้างในบ้านเรานิยมเปิดส่วนหน้าจั่วโล่งให้ความร้อนที่ลอยขึ้นสู่ด้านบนระบายออกไปด้านนอกได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนหลังคาจั่ว 2 ชั้นหรือหลังคาต่างระดับ เพื่อช่วยในการระบายความร้อนได้มากขึ้น แม้ในช่วงฝนตกน้ำฝนก็ไม่สาดเข้ามาในโรงเรือน

โรงเรือนหลังคาโค้ง

เป็นรูปแบบโรงเรือนที่มีราคาถูกกว่ารูปแบบอื่น ทั้งยังสามารถประกอบเองได้ไม่ยาก โดยสร้างโรงเรือนหันไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้แสงแดดส่องต้นพืชได้อย่างทั่วถึง โรงเรือนหลังคาโค้งนี้จะอาศัยลมธรรมชาติช่วยพัดความร้อนให้ไหลออกจากโรงเรือน แต่ข้อเสียคือความร้อนที่ลอยตัวขึ้นด้านบนจะไหลออกจากหลังคาได้ยาก

โรงเรือนหลังคาฟันเลื่อย

หลังคาโรงเรือนรูปแบบนี้ ด้านบนหลังคามีช่องเปิดกว้างทำให้ระบายอากาศดีขึ้น มีราคาสูงกว่าโรงเรือนหลังคาโค้ง โรงเรือนแบบนี้เรียกอีกชื่อว่า โรงเรือนทรง ก ไก่ ตามช่องระบายลมที่เป็นรอยหยัก


ผักควรปลูกใกล้ ผักควรปลูกไกล

เมื่อการปลูกผักก็มีเงื่อนไข เพราะมีผักหลายชนิดที่เป็น ผักคู่อริ  หรือพืชที่เป็นศัตรูต่อกันและกัน จึงควรปลูกให้ห่างกัน เพราะหากอยู่ใกล้กันแล้ว อาจจะทำร้ายกันและกันได้

ผักคู่อริ , พืชคู่อริ (Bad Companion Planting) คือพืชที่ปลูกใกล้กันแล้วจะทำให้พืชอีกชนิดมีการเติบโตที่แย่ลง ผลผลิตน้อยลง เพราะเป็นพืชที่มีศัตรูพืชชนิดเดียวกัน เช่น ปลูกถั่วฝักยาว มะเขือ พริก และแตงกวาในบริเวณเดียวกันจะทำให้ศัตรูพืชเข้ามาทำลายผักได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีแก้ด้วยการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ คั่นกลางพืชเหล่านี้ หรือแยกแปลงปลูกให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 50 เซนติเมตรขึ้นไป

แต่ไม่ได้มีแค่พืชคู่อริเท่านั้น ยังมี ผักคู่หู พืชคู่หู (Good Companion Planting) เป็นทางเลือกในการสร้างระบบนิเวศเพื่อจัดแปลงผักที่ดี เช่น การปลูกต้นหอมและผักชี ร่วมกับสลัด คะน้า กวางตุ้ง และพืชตระกูลกะหล่ำ วิธีนี้จะช่วยขจัดแมลงศัตรูพืชได้ ซึ่งควรปลูกร่วมแปลงเดียวกัน เกื้อกูลกัน ซึ่งผักทั้งสองประเภทมีอะไรต้องปลูกใกล้และปลูกไกล ไปรู้จักกันเลย


PETS CORNER

ข้อควรรู้ในการออกแบบจัดสวนเพื่อสัตว์เลี้ยง

สำหรับคนส่วนใหญ่ สวนเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน จัดกิจกรรมต่าง ๆ และแต่งเติมความสวยงามให้กับสถานที่ มีไว้ชื่นชมพอให้ชื่นใจ แต่สำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อคู่ใจไว้ในบ้าน สวนอาจเป็นสถานที่พิเศษให้ได้ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เมื่อจะ การออกแบบ จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง ผู้ร่วมใช้พื้นที่คือ การศึกษาและทำความเข้าใจสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็น สายพันธุ์ ลักษณะ และอุปนิสัย รวมถึงไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมร่วมด้วย ดังนั้น ข้อมูล ความรู้ ข้อแนะนำที่รวบรวมมานี้ จึงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นสำหรับ หากบ้านใครหรือสวนไหนมีเพื่อนรักหลายตัวหลายชนิด ก็อาจทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบสวนที่ลงตัว และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

1.สำรวจพื้นที่และความต้องการ หัวใจของการออกแบบสวน จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง คือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดและสายพันธุ์ให้ดี

2.รั้วและอาณาเขต ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ในในการออกแบบสวน การออกแบบรั้วของบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงจึงต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์ เพื่อนบ้านข้างเคียง ระยะห่างระหว่างสวนถึงถนนด้วย

3.พื้นที่ส่วนตัวของสัตว์เลี้ยง การกั้นพื้นที่ส่วนตัวของสัตว์เลี้ยงสำหรับปล่อยให้อยู่ตามลำพังได้เวลาที่เจ้าของไม่อยู่ ควรมีพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอเพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เดินหรือวิ่งเล่น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและไม่ต้องนอนซึมตลอดเวลา โดยควรตั้งคอกให้ห่างจากถนนหรือแนวรั้วเพื่อป้องกันการรบกวน แต่มีมุมมองให้เห็นบรรยากาศภายนอก จัดและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวไว้ให้พร้อม

4.สนามหญ้า สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักรักความเป็นอิสระ การมีพื้นที่อย่างสนามหญ้าโล่งโปร่งให้ได้วิ่งเล่น จึงเป็นการช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้พักผ่อน ปลดปล่อยพลังงาน ทำให้ไม่รู้สึกเครียดหรือเกิดอารมณ์ซึมเศร้า

5.พรรณไม้ พืชพรรณนานาชนิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศความสวยงามและร่มรื่น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง จึงควรเลี่ยงไม้มีพิษต่าง ๆ เช่น ยี่โถ ราตรี บานบุรี รำเพย ชวนชม รวมทั้งไม้ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทางเดินอาหาร และดวงตา นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงไม้ที่มีหนามแหลมคม เช่น หีบไม้งาม ระกำ โป๊ยเซียน และปรง รวมถึงควรตัดแต่งสวนให้โปร่ง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุดด้วย

6.วัสดุปูพื้น วัสดุพื้นผิวในสวนซึ่งเป็นพื้นที่นอกอาคาร ควรให้ความใส่ใจกับการป้องกันการลื่นล้มทั้งคนและสัตว์ วัสดุผิวหยาบและด้านจึงช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงวัสดุที่มีเหลี่ยมมุมแหลมคม ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บ

7.ขั้นบันไดและพื้นยกระดับ หากสวนมีพื้นต่างระดับกัน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีขั้นบันได บางสวนอาจมีขั้นบันไดแค่ขั้นหรือสองขั้นจากบริเวณนอกบ้านสู่ประตูบ้านและระเบียงหรือสนามหญ้า

8.บ่อน้ำหรือสระน้ำ แหล่งน้ำในสวน ไม่ว่าจะเป็น สระว่ายน้ำ สระน้ำ บ่อน้ำ หรือคูน้ำ แม้ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่สร้างความสวยงามให้แก่สวนได้ดี แต่ก็อาจเป็นพื้นที่อันตรายได้ จึงควรระวังเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในบริเวณโดยรอบ คำนึงถึงทางขึ้นและความลึกของบ่อ รวมถึงวัสดุปูพื้นและขอบบ่อ

อ่านเพิ่มเติม