จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง

8 ข้อควรรู้ เพื่อการออกแบบ-จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง

จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง
จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง

จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง คนส่วนใหญ่ สวนเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน จัดกิจกรรมต่าง ๆ และแต่งเติมความสวยงามให้กับสถานที่ มีไว้ชื่นชมพอให้ชื่นใจ แต่สำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อคู่ใจไว้ในบ้าน สวนอาจเป็นสถานที่พิเศษให้ได้ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เมื่อจะ การออกแบบ จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง ผู้ร่วมใช้พื้นที่คือ การศึกษาและทำความเข้าใจสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็น สายพันธุ์ ลักษณะ และอุปนิสัย รวมถึงไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมร่วมด้วย ดังนั้น ข้อมูล ความรู้ ข้อแนะนำที่รวบรวมมานี้ จึงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นสำหรับ หากบ้านใครหรือสวนไหนมีเพื่อนรักหลายตัวหลายชนิด ก็อาจทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบสวนที่ลงตัว และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

1.สำรวจพื้นที่และความต้องการ расчетно кассовое обслуживание

หัวใจของการออกแบบสวน จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง คือ ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดและสายพันธุ์ให้ดี เช่น สุนัขสายพันธุ์เกรย์ฮาวนด์ และซาลูกิ เป็นสายพันธุ์สุนัขที่ชอบวิ่งและวิ่งได้เร็ว สวนที่เหมาะสมจึงต้องมีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอ หรือสุนัขสายพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ อาจจะต้องเตรียมบ่อน้ำไว้ให้ว่ายออกกำลังกาย ส่วนสายพันธุ์ยอดนักขุด อย่าง บีเกิ้ล บัสเซตฮาวนด์ อาจจะออกแบบให้เป็นสวนแนวธรรมชาติ เพราะ เมื่อถูกขุดคุ้ยจะได้แก้ไขได้ง่ายและยังคงรูปแบบเดิมอยู่ แต่สำหรับแมวถึงแม้จะเลี้ยงไว้ในห้องหรืออาคารได้ การมีสวนไว้ให้แมวได้วิ่งเล่นออกกำลังกายก็เป็นวิธีสร้างความบันเทิง ปลุกสัญชาตญาณความเป็นนักล่า และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้เป็นอย่างดี

2.รั้วและอาณาเขต

ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ในในการออกแบบสวน การออกแบบรั้วของบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงจึงต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์ เพื่อนบ้านข้างเคียง ระยะห่างระหว่างสวนถึงถนนด้วย ซึ่งสำหรับบ้านที่มีรั้วอยู่แล้ว ก่อนนำสัตว์มาเลี้ยงควรสำรวจกำแพงหรือรั้วบ้านเสียก่อนว่า มีรู มีช่องหรือไม่ ความสูงของรั้วเพียงพอที่จะกั้นไม่ให้สัตว์เลี้ยงกระโดดหรือปีนหรือเปล่า

ขอบคุณภาพจาก : hubpages.com / immobiliaresoresinese.it

สุนัข : ในกรณีที่สุนัขได้รับการฝึกแล้ว ความสูงของรั้วอาจอยู่ที่ระยะ 1.20-1.50 เมตร ถ้าเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ที่ใช้ในการกีฬาก็ควรเพิ่มความสูงเป็น 1.50-1.80 เมตร แต่ถ้าเลี้ยงสุนัขตัวใหญ่มาก ต้องเพิ่มความสูงเป็น 2 เมตร ซึ่งรูปแบบการทำรั้วแบบผสมผสานน่าจะดูเข้าท่าที่สุด คือ ตอนล่างเป็นรั้วทึบก่ออิฐ หิน หรือคอนกรีต สูงประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนตอนบนก็ออกแบบเป็นระแนงปลูกไม้เลื้อย หรือทำแผงรั้วโลหะ และสำหรับสุนัขจอมขุด เช่น บีเกิ้ล หรือสายพันธุ์เทอร์เรียร์ ควรเพิ่มกำแพงกันดินใต้แนวรั้ว เพื่อป้องกันการขุดดินใต้รั้วแล้วมุดหนี

Tips 5 ไอเดีย ประตูสัตว์เลี้ยงแสนเก๋ เข้า-ออก-สอดส่อง ได้ตามใจ

แมว : แมวเป็นนักปีนป่ายและทำตัวลีบเล็กได้มากกว่าที่เราคิด อีกทั้งยังรักความเป็นอิสระ ดังนั้นหากตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไม่ยอมให้แมวออกนอกบริเวณบ้าน การออกแบบรั้วเพื่อป้องกันแมวหนีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ โดยเริ่มจากการปรับย้ายตำแหน่งหรือป้องกันการปีนป่ายในแต่ละจุด ติดตั้งวัสดุผิวลื่นไว้ในตำแหน่งที่แมวกระโจนถึง ทำส่วนบนสุดของรั้วให้เอียงกลับเข้ามาในบ้านประมาณ 30-40 องศา แล้วขึงลวดหรือสะลิง หรือหากไม่สามารถทำรั้วกั้นแมวได้ตลอดแนว อาจเลือกจัดบริเวณเพียงบางส่วนของสวนสำหรับแมวโดยเฉพาะ

Tips อาจติดตั้งประตูสุนัขและแมวที่ผนังหรือประตูระหว่างภายในกับภายนอกบ้าน เพื่อให้สามารถเดินเข้า-ออกเองได้ โดยสามารถเลือกรูปแบบที่ลงมือทำเองได้ไม่ยาก หรือใช้แบบสำเร็จรูป ซึ่งมี 3 ชนิด คือ สำหรับติดกับผนัง สำหรับติดกับประตู และสำหรับติดกับกระจก นอกจากนี้ ประตูบางรุ่นยังมีระบบล็อกอัตโนมัติทำงานสัมพันธ์กับปลอกคอดิจิทัล หรือบางรุ่นสามารถทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นและกล้องวงจรปิด ทำให้ควบคุมการเปิด-ปิดประตูได้ เหมาะกับกรณีที่เจ้าของบ้านกลัวขโมยจะเข้ามาทางช่องนี้

3.พื้นที่ส่วนตัวของสัตว์เลี้ยง

การกั้นพื้นที่ส่วนตัวของสัตว์เลี้ยงสำหรับปล่อยให้อยู่ตามลำพังได้เวลาที่เจ้าของไม่อยู่ ควรมีพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอเพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เดินหรือวิ่งเล่น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและไม่ต้องนอนซึมตลอดเวลา โดยควรตั้งคอกให้ห่างจากถนนหรือแนวรั้วเพื่อป้องกันการรบกวน แต่มีมุมมองให้เห็นบรรยากาศภายนอก จัดและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวไว้ให้พร้อม เช่น ชามน้ำ ชามอาหาร ของเล่น รวมถึงสถานที่ขับถ่าย ซึ่งอาจเตรียมพื้นที่ไว้โดยเฉพาะ อย่าง การปูพื้นด้วยทรายหยาบ กรวด หรือหินแม่น้ำขนาดเล็ก

ขอบคุณภาพจาก : www.housebeautiful.com / katzenworld.co.uk

สุนัข : สำหรับห้องน้ำสุนัขควรจัดไว้ในบริเวณใต้ลม แสงแดดส่องถึง และสามารถเก็บล้างได้ง่าย หากให้ขับถ่ายบนพื้นดินให้โรยด้วยทรายหยาบหรือกรวดแม่น้ำขนาดเล็ก และสามารถกำจัดมูลสุนัขด้วยวิธีธรรมชาติ อย่าง การฝังกลบ หรือใช้ถังบำบัดมูลสุนัข (Dog Loo) ที่จะย่อยมูลสัตว์ให้กลายเป็นของเหลวและเป็นปุ๋ยกับต้นไม้

แมว : แม้ว่าแมวจะดูเรียบร้อย มีการฝังกลบที่ดี แต่หากขาดการจัดการที่ดีก็อาจทำให้สวนเต็มไปด้วยกองดิน กลิ่น หรือพืชพรรณสนามหญ้าเฉาตายได้ ดังนั้น อาจหามุมเล็กๆ สักมุม ก่อกระบะหรือทำขอบด้วยวัสดุที่เข้ากับสวน รองพื้นด้วยกรวดหรือเศษอิฐหัก แล้วกองทรายไว้หนาประมาณ 4-5 นิ้ว เป็นห้องน้ำแบบแห้งในสวนให้ขับถ่ายตามธรรมชาติ หรืออาจเลือกใช้ภาชนะสำเร็จรูปมาวาง ซึ่งควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ไม่ให้เกิดการหมักหมมหรือเฉอะแฉะ

Tips ไอเดียพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์แบบใกล้ชิดธรรมชาติ สำหรับการเลี้ยงแมวระบบปิด

Tips หากเห็นแมวขับถ่ายในจุดที่ไม่ต้องการ ให้รีบล้างทำความสะอาด โดยอาจใช้น้ำสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเป็นไปได้ให้ใช้น้ำส้มสายชูราดทับ เพื่อป้องกันการกลับมาใช้สถานที่ซ้ำ หรือปรับพื้นที่นั้นให้เป็นที่ทานอาหารว่างของแมวก็จะสามารถช่วยลดปัญหาไปได้

4.สนามหญ้า

สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักรักความเป็นอิสระ การมีพื้นที่อย่างสนามหญ้าโล่งโปร่งให้ได้วิ่งเล่น จึงเป็นการช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้พักผ่อน ปลดปล่อยพลังงาน ทำให้ไม่รู้สึกเครียดหรือเกิดอารมณ์ซึมเศร้า อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าหญ้าสามารถช่วยปรับระบบย่อยอาหารให้กับสัตว์เลี้ยง และสารอาหารบางอย่างในหญ้าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

ขอบคุณภาพจาก : petlifetoday.com / wagwalking.com

สุนัข : สนามหญ้าไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่วิ่งเล่นเท่านั้น ยังเป็นพื้นที่แสนสบายให้สุนัขได้นอนพักและเกลือกกลิ้ง แต่หนึ่งพฤติกรรมที่สุนัขมักจะทำเพื่อประกาศอาณาเขตคือการใช้ขาตะกุยพื้นดิน เพื่อทิ้งกลิ่นจากต่อมเหงื่อบริเวณง่ามเท้าให้ติดไว้ที่ดินและแน่นอนว่าสนามหญ้ามักตกเป็นเหยื่อของเจ้าสี่ขา ทำให้พื้นที่สนามอาจเป็นหลุมเป็นบ่อได้ รวมถึงสนามหญ้าอาจมีรอยด่างหรือเฉา เนื่องจากปัสสาวะของสุนัข การฝึกสุนัขให้ปัสสาวะในที่ที่จัดเตรียมไว้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างยั่งยืนกว่าการล้างทำความสะอาดทั่วไป

แมว : ธรรมชาติของแมวนิยมแทะเล็มหญ้า แม้ว่าจะมีสนามหญ้าอยู่แล้ว แต่หญ้าสนามทั่วไป เช่น หญ้านวลน้อยหรือหญ้ามาเลเซีย ดูเหมือนจะไม่ใช่หญ้าที่แมวโปรดปรานนัก ดังนั้นควรหาหญ้าชนิดที่แมวชอบ อย่าง หญ้าใบไผ่ หญ้าแพรก หญ้าแห้วหมู แม้กระทั่งต้นอ่อนของธัญพืชจำพวกข้าวชนิดต่าง ๆ หรือ ไผ่ต้นเล็ก ๆ มาปลูกใส่กระถางหรือปลูกเป็นแปลงเล็กๆ ไว้ให้คุณแมวได้เล็มกิน

5.พรรณไม้

พืชพรรณนานาชนิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศความสวยงามและร่มรื่น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง จึงควรเลี่ยงไม้มีพิษต่าง ๆ เช่น ยี่โถ ราตรี บานบุรี รำเพย ชวนชม รวมทั้งไม้ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทางเดินอาหาร และดวงตา นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงไม้ที่มีหนามแหลมคม เช่น หีบไม้งาม ระกำ โป๊ยเซียน และปรง รวมถึงควรตัดแต่งสวนให้โปร่ง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุดด้วย

จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก : www.petsecure.com.au / davidsuzuki.org

Tips 15 ต้นไม้ที่ไม่ควรปลูก สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง

สุนัข : การเลือกชนิดพืชสำหรับปลูกในสวน นอกจากต้องเลือกชนิดที่ปลอดภัยแล้ว ยังต้องทนทานต่อการเหยียบย่ำของสุนัข และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว อย่างพืชจำพวกแตกกอ แต่ควรหลีกเลี่ยงต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสะเปะสะปะ และมีกิ่งที่เปราะบาง นอกจากนี้ สุนัขส่วนใหญ่มักมีนิสัยชอบขุดหลุมบนพื้นดิน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สวนเป็นหลุมบ่อ ควรปลูกพืชคลุมดินประเภทไม่ผลัดใบคลุมไว้เสมอ

Tips บริเวณที่เพาะพันธุ์ไม้และแปลงผักสวนครัว อาจทำรั้ว คลุมด้วยตะแกรงลวดกรงไก่ไว้ชั่วคราว หรือทำกระบะต้นไม้ยกสูงขึ้นประมาณ 40-45 เซนติเมตร โดยเฉพาะสำหรับสวนที่มีระดับพื้นราบเท่ากันหมด เพื่อช่วยแบ่งอาณาเขต และป้องกันไม่ให้สุนัขทำลายต้นไม้

แมว : นิสัยเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งของแมวคือการฝนเล็บ ซึ่งแมวอาจไปเลือกลับเล็บในบริเวณที่ไม่ควร เช่น ตามลำต้นของต้นไม้ วิธีแก้ปัญหาคือพยายามติดตั้งวัสดุอื่นๆ แทนต้นไม้ให้แมวใช้ฝนเล็บหรือเป็นหลักสำหรับให้แมวปัสสาวะแสดงอาณาเขต นอกจากนี้ ยังอาจป้องกันโคนต้นไม้ได้ด้วยการพันลวดกรงไก่ หรือยกต้นไม้ให้แมว โดยการมองหาต้นไม้ที่มีกิ่งก้านแผ่ปีนป่ายได้ง่าย ไม่สูงใหญ่จนเกินไป ไว้เป็นที่วิ่งเล่นออกกำลังหรือใช้เป็นที่พักผ่อนนอนกลางวัน เช่น มะเฟือง กาหลง เสลา และสะเดา

6.วัสดุปูพื้น

วัสดุพื้นผิวในสวนซึ่งเป็นพื้นที่นอกอาคาร ควรให้ความใส่ใจกับการป้องกันการลื่นล้มทั้งคนและสัตว์ วัสดุผิวหยาบและด้านจึงช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงวัสดุที่มีเหลี่ยมมุมแหลมคม ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บ ส่วนวัสดุที่สามารถฟุ้งกระจาย เช่น ทรายแห้ง ขี้เลื่อย หรือเปลือกมะพร้าว ควรเลือกใช้ในจุดที่ไม่เปิดรับลมเต็มที่หรือใช้ในจุดที่ห่างจากอาคาร รวมถึงวัสดุที่เก็บกักความชื้นได้ดี ควรใช้ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมและสะสมของเชื้อรา

จัดสวนสำหรับสัตว์เลี้ยง
ขอบคุณภาพจาก : germandogshepherd.com / globalstonepaving.co.uk

สุนัข : สุนัขเป็นสัตว์สังคม มักจะใช้พื้นที่กิจกรรมร่วมกับมนุษย์ อย่าง ลาน ระเบียง หรือชานบ้าน ดังนั้น หากออกแบบให้มีพื้นที่ดาดแข็งแล้ว ให้พึงระลึกไว้เสมอว่าตราบใดที่ใช้วัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ก็จะไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค ซึ่งวัสดุส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันคือ พื้นกรวดแม่น้ำและกรวดจากทะเลที่มีขนาดไม่ใหญ่ พื้นไม้ พื้นอิฐและกระเบื้องดินเผา สำหรับสวนที่ต้องการบรรยากาศแบบธรรมชาติ รวมถึงพื้นคอนกรีตหยาบ พื้นกรวดล้างและทรายล้าง

Tips สุนัขบางตัวชอบคาบก้อนหินหรืออิฐมาแทะหรือเตะเป็นของเล่น อย่าแสดงความสนใจหรือสนุกไปด้วย แต่ให้นำหินหรืออิฐนั้นกลับไปคืนที่เดิม แล้วนำของเล่นอื่นมาให้เล่นแทน เพื่อให้สุนัขเข้าใจว่าไม่ใช่ของเล่น เพราะ อิฐ หิน หรือกรวดก้อนเล็กๆ อาจติดคอ ทำให้สุนัขฟันบิ่น หรือได้รับบาดเจ็บได้

แมว : ยามว่างหรือช่วงพักผ่อนจากการสำรวจพื้นที่และไล่ล่าเหยื่อ แมวมักจะชอบหาที่สงบนอนพักอาบแดด ซึ่งแสงแดดมีประโยชน์ช่วยให้อบอุ่นและแข็งแรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็นแมวนอนตามลานคอนกรีต ถนน บนรั้ว หรือบนหลังคา วัสดุต่างๆ ที่เลือกใช้จึงควรมีความแข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ดี โดยเฉพาะพื้นไม้ที่อาจเป็นรอยได้ง่าย ควรทาน้ำยาเคลือบไม้ เพื่อป้องกันและถนอมเนื้อไม้ให้สวยงามอยู่เสมอ

7.ขั้นบันไดและพื้นยกระดับ

หากสวนมีพื้นต่างระดับกัน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีขั้นบันได บางสวนอาจมีขั้นบันไดแค่ขั้นหรือสองขั้นจากบริเวณนอกบ้านสู่ประตูบ้านและระเบียงหรือสนามหญ้า ในขณะที่บางสวนโดยเฉพาะสวนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง จำนวนขั้นบันไดและชานพักอาจจะมีมาก ดังนั้นทุกครั้งที่ก่อสร้างขั้นบันได ควรคำนึงถึงลักษณะสรีระและปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขด้วย

ขอบคุณภาพจาก : www.bosshunting.com.au / unsplash.com

สุนัข :  ขั้นบันไดโดยทั่วไปสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร แต่บันไดในสวนอาจมีขั้นที่เตี้ยและกว้างกว่านี้ ยิ่งถ้ามีสัตว์เลี้ยงอาจเพิ่มทางลาด หรือลดความสูงของขั้นบันได และเพิ่มความกว้างลูกตั้งลูกนอนให้พอที่สุนัขหรือสัตว์เลี้ยงจะยืนได้ด้วยทั้งสี่ขาอย่างมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อสุนัขเริ่มสูงอายุ อาจมีอาการของโรคไขข้ออักเสบเรื้อรังได้ หรือสุนัขสายพันธุ์ที่มีช่วงหลังยาวส่วนใหญ่ เช่น ดัชชุนและบัสเซตฮาวนด์ มักเสี่ยงต่อโรคกระดูกกร่อนบริเวณสันหลัง ในขณะที่สุนัขอื่นๆ เช่น เยอรมัน เชพเพิร์ด มักเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับสะโพก ทำให้อาจมีผลต่อการเดินและรูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคตได้

แมว : สำหรับแมวแล้ว ขั้นบันไดและพื้นยกระดับอาจไม่เป็นปัญหาในการเคลื่อนไหวหรือการใช้ชีวิต อีกทั้งแมวส่วนใหญ่ยังชื่นชอบที่จะปีนป่ายขึ้นสู่ที่สูง เนื่องด้วยสัญชาตญาณความเป็นนักล่า เพื่อให้รู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัว ธรรมชาติจึงได้ออกแบบสรีระร่างกายของแมวให้มีความคล่องแคล่ว ปราดเปรียว มีน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างเบา รวมถึงมีกล้ามเนื้อขาหลังที่แข็งแรง ยืดหยุ่นได้ดี เพื่อให้แมวสามารถกระโดดได้สูงและไกลกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่เจ้าเหมียวลืมตัว เผลอปีนหรือกระโดดขึ้นไปอยู่บนที่สูงจนเกินไป ก็ช่วยพาน้องลงมาด้วยนะคะ เพราะ เล็บโค้ง ๆ ของแมว ยังไม่เอื้อต่อการปีนลงจากต้นไม้หรือที่สูง

8.บ่อน้ำหรือสระน้ำ

แหล่งน้ำในสวน ไม่ว่าจะเป็น สระว่ายน้ำ สระน้ำ บ่อน้ำ หรือคูน้ำ แม้ว่าจะเป็นองค์ประกอบที่สร้างความสวยงามให้แก่สวนได้ดี แต่ก็อาจเป็นพื้นที่อันตรายได้ จึงควรระวังเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในบริเวณโดยรอบ คำนึงถึงทางขึ้นและความลึกของบ่อ รวมถึงวัสดุปูพื้นและขอบบ่อ

ขอบคุณภาพจาก : www.gardenpondforum.com / Xiedubbel

สุนัข : สุนัขหลายตัวชอบว่ายน้ำหรือเล่นน้ำ เพราะนอกจากจะได้รับความสนุกแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะการดูแลเรื่องระบบหัวใจ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดปัญหาที่เกี่ยวกับไขข้อและข้อสะโพก หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “วารีบำบัด (Aqua Therapy or Hydro Therapy)” ซึ่งการสร้างบ่อน้ำหรือสระว่ายน้ำสำหรับสุนัขอาจไม่จำเป็นต้องสร้างให้เต็มรูปแบบ แต่ไม่ควรสร้างให้ลึกหรือชันมากจนเกินไป ระดับน้ำควรสูงประมาณไหล่สุนัข ควรมีทางให้สุนัขขึ้นได้สะดวก ปูด้วยวัสดุพื้นผิวที่ไม่ลื่น และอาจปลูกไม้พุ่มคลุมขอบบ่อบางส่วน เพื่อให้สระดูสวยงามและกลมกลืนกับสวน

แมว : แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ได้ชื่นชอบการว่ายน้ำหรือกระโดดลงสระเช่นเดียวกับสุนัข แต่ปลาที่อยู่ในบ่ออาจกลายเป็นที่หมายตาและเป้าหมายของแมวได้มากกว่า ดังนั้นหากสวนไหนที่ต้องสร้างสร้างบ่อปลา ควรลดระดับน้ำให้ต่ำกว่าขอบบ่อประมาณ 25 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะสุดเอื้อมของแมว เพื่อไม่ให้แมวจับปลาได้ แต่หากปลาที่เลี้ยงเป็นปลาที่ไม่ชอบอยู่บนผิวน้ำ อาจปรับระดับขอบบ่อให้น้อยลงได้อีก โดยเผื่อความลึกของระดับน้ำลงไป เพื่อให้ปลามีพื้นที่ดำหนีกรงเล็บมัจจุราช

เรียบเรียง Sarida
ข้อมูลจาก หนังสือ สวนรักสัตว์เลี้ยง โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน