เคยสงสัยกันไหมคะว่า ภาชนะเข้าไมโครเวฟได้ แบบไหนกันแน่ ชามใบนี้มันเข้าไมโครเวฟได้ไหมนะ แล้วกล่องพลาสติกพวกนี้อีกล่ะ ชามแบบนั้น ถ้วยใบนี้ แล้วหม้อนั้นอีกล่ะ โอ๊ยยย เยอะ !!
เอาละค่ะขอให้เลิกทำคิ้วผูกโบ เก็บเครื่องหมายอะไรเอ่ยที่ผุดขึ้นมาอยู่เต็มไปหมดลงกระเป๋าไปก่อน แล้วหันมาตั้งใจฟัง my home จะบอกให้ว่า ภาชนะเข้าไมโครเวฟได้ มีแบบไหนบ้างนะคะ
เริ่มที่ภาชนะกลุ่มแรกกันค่ะ เป็นภาชนะที่เราสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยแน่นอน เหมาะสำหรับความหิวระดับสิบ!! น้ำย่อยสั่งการให้สมองหยิบชามโดยด่วน!! ขอให้หยิบจานชามในกลุ่มนี้เข้าไมโครเวฟนะคะ
เซรามิก



เป็นภาชนะที่สามารถใช้กับไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยหายห่วงเลยค่ะ จะอุ่นอาหารก็ได้ ปรุงอาหารก็ดี ถึงเนื้อของเซรามิกจะแตกต่างกันออกไปก็ไม่เป็นผลต่อการใช้งานกับไมโครเวฟมากนักค่ะ ยกตัวอย่างเช่นเซรามิกกลุ่ม Earthware นั้นอาจจะใช้เวลาในการอุ่นอาหารให้ร้อนนานกว่ากลุ่ม Stoneware และ Bone china อยู่สักหน่อยค่ะ ก็เจ้า Earthware เค้ามีเนื้อดินที่มีความพรุนตัวมากจึงทำให้ความสามารถในการดูดน้ำสูง เลยต้องใช้เวลากันสักหน่อยกว่าอาหารในภาชนะนั้นจะสุก


ข้อควรระวังของภาชนะในกลุ่มเซรามิกนั้นพอมีอยู่บ้าง ก็คือต้องเป็นภาชนะที่ไม่ตกแต่งลวดลายสีเงิน หรือ สีทองนะคะ เพราะสีเหล่านี้สามารถสะท้อนคลื่นไมโครเวฟได้ ทำให้อุปกรณ์ภายในของไมโครเวฟเกิดความเสียหายได้
แก้ว

นอกจากกลุ่มภาชนะที่ทำจากเซรามิกแล้วก็มี แก้ว นี้แหละค่ะที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้อย่างใสๆเลย เพราะองค์ประกอบสำคัญของแก้วคือ สารอนินทรีย์อย่าง ทราย และเจ้าทรายนี้ ก็มีคุณสมบัติที่ทนต่อความร้อนได้สูงมาก แถมผิวเงาๆมันๆของแก้ว ก็ยังไม่สะท้อนคลื่นไมโครเวฟด้วยค่ะ


ข้อควรระวังของภาชนะที่ทำจากแก้วก็คงเป็นลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนผิวของแก้วนี้แหละค่ะ ถ้าใบไหนมีลายก็ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟนะคะ
มาต่อกันที่กลุ่มที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ แต่ต้องให้ความใส่ใจกับเขาหน่อยค่ะ เป็นกลุ่มภาชนะที่เหมาะสำหรับการหิวในระดับกลาง แบบที่น้ำย่อยยังไม่สร้างความเสียหายต่อการตัดสินใจและอารมณ์มากนัก ภาชนะกลุ่มนี้จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
พลาสติก



กล่องใส่อาหารพร้อมทานส่วนมาก ก็มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหมือนกันหมดเลย แต่พลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ จะต้องเป็นพลาสติกประเภท Polyethylene terephthalate (PET) และ พลาสติกประเภท Polypropylene (PP) เท่านั้นนะคะ เพราะทั้งสองประเภทนี้มีความเหนียว และยืดหยุ่น จึงทนต่อแรงกดกระแทกได้ค่อยข้างสูง ถ้ายังงง ๆ ว่าเจ้าสองตัวนี้คือพลาสติกแบบไหน ลองพลิกด้านดูบริเวณก้นของภาชนะพลาสติก จะมีสัญลักษณ์บอกไว้อย่างชัดเจนค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรใช้เพียงเพื่ออุ่นอาหาร ไม่ควรนำไปปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงนะคะ