EE House บ้านชั้นเดียว วัยเกษียณในขนาดน่ารักกำลังพอดีของอาอี๊ - บ้านและสวน

บ้าน EE House สถาปัตยกรรมที่เข้าใจชีวิตของผู้อยู่อาศัยในวัยเกษียณ

บ้านชั้นเดียว วัยเกษียณ โดดเด่นด้วยประตูสีแดง ที่ออกแบบคำนึงมากกว่าความปลอดภัย แต่ตั้งใจแบ่งพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นส่วนกลางครอบครัวอีกด้วย

Design Directory : สถาปนิก WOS Architects

“บ้านประตูสีแดง” คือภาพจำที่ทำให้เราต้องนึกถึงบ้าน EE House หรือ “บ้านอี๊” บ้านชั้นเดียว สำหรับวัยเกษียณที่ คุณฝ้าย – อรไพลิน ลีลาศิริวงศ์ และคุณพฤกษ์ – พฤกษคุณ กรอุดม สถาปนิกแห่ง  WOS Architects ออกแบบไว้อย่างลงตัว ที่เรียกว่าบ้านอี๊ เพราะคุณฝ้ายเป็นหลานสาวแท้ๆ และตั้งใจออกแบบบ้านหลังนี้ให้กับอาอี๊สาวโสด เตรียมพร้อมวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ คุณเล็ก คุณแม่ของคุณฝ้ายเล่าเท้าความว่า “ครอบครัวของเราเปิดร้านและอาศัยอยู่ตึกแถวในเมือง พื้นที่น้อยและค่อนข้างแออัด เมื่อพี่น้องและตัวเราเริ่มแก่ตัว ประกอบกับพื้นที่เช่าดังกล่าวใกล้เวนคืน แผนการสร้างบ้านจึงเกิดขึ้น”

บ้านหลังนี้คือบ้านที่เคยซื้อไว้ และอยู่ติดกับบ้านของน้องสาว คั่นด้วยถนนซอยเล็กๆ เดินไม่กี่ก้าวก็ถึง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่เพียงตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังแฝงแนวคิดสนุกๆ ที่ต้องการเชื่อมโยงบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่แน่นแฟ้นและอบอุ่น ซึ่งคุณฝ้ายและคุณพฤกษ์ ก็นำโจทย์ดังกล่าวมาคลี่คลายแนวคิดการออกแบบที่ทำให้บ้านหลังนี้เรียบง่ายแต่พิเศษได้อย่างไม่น่าเชื่อ

บ้านที่มอบความสุขไซซ์พอดีสำหรับวัยเกษียณ 

เมื่อเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัยคนเดียว สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ในขนาดกะทัดรัดเพียงพอต่อความต้องการพื้นฐาน ฟังก์ชันต่างๆ ในบ้านจึงก่อตัวอย่างเรียบง่าย ประกอบไปด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำส่วนตัว ห้องน้ำแขก ห้องเก็บของ และพื้นที่ส่วนกลางซึ่งออกแบบเป็นกึ่งเอาต์ดอร์ พร้อมบรรจุฟังก์ชันอย่างครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร ครบครันในขนาดเพียง 160 ตารางเมตร โดยทุกส่วนในบ้านไม่ลืมที่จะออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ระดับพื้นต่างๆ ภายในบ้านจึงเสมอเท่ากันทุกห้อง รวมไปถึงห้องน้ำก็ออกแบบให้มีอุปกรณ์ราวจับ ติดตั้งในระยะการใช้งานที่ปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องกังวล

“เราออกแบบให้บ้านดูแลรักษาได้ง่าย จึงไม่ติดตั้งฝ้าเพดาน เพราะกังวลปัญหาเรื่องหนูด้วย” ห้องนอนและห้องนั่งเล่นวางตัวอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน เพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า ส่วนฝั่งทิศใต้ซึ่งติดกับบ้านญาติเป็นที่จับจองของสวนหย่อม ซึ่งเชื่อมต่อกับครัวและพื้นที่รับประทานอาหารกึ่งเอาต์ดอร์ ภายใต้หลังคาคลุมที่ลาดยาว ป้องกันทั้งแสงแดดและฝน คุณฝ้ายกล่าวว่า สำหรับครอบครัวแล้ว พื้นที่ตรงนี้คือส่วนกลางของทั้งครอบครัว ทุกคนจะมาพบปะพูดคุย ทานอาหารด้วยกัน หรือกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้เลยก็ว่าได้

“บ้านหลังนี้ไม่ใช่แค่การออกแบบบ้านขนาดเล็กที่เหมาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงอีกแง่มุมสำคัญของชีวิตผู้สูงอายุ นั่นคือการมีครอบครัวอยู่ใกล้ชิด คอยดูแล เอาใส่ใจ จึงวางตำแหน่งพื้นที่รับประทานอาหารอยู่ติดกับบ้านญาติ เพื่อให้ทุกคนสามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้ง่าย ตะโกนคุยกันยังได้เลย” คุณฝ้ายเล่าถึงแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดผ่านบ้านหลังนี้

ภายในห้องนั่งเล่นเน้นดีไซน์เรียบง่าย และได้แสงธรรมชาติเข้ามาอย่างเต็มที่ โดยไม่ร้อนจนเกินไป
มีเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินตลอดแนวผนังฝั่งหนึ่ง นอกนั้นใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งาน
จากห้องนั่งเล่น สามารถมองเห็นภายนอกบ้านได้ทะลุปรุโปร่ง สร้างความเชื่อมต่อของพื้นที่ผ่านทางสายตา
ทำร่องระบายน้ำแทนการยกระดับพื้น โดยเซาะร่องพื้นโรยหินกรวด กว้างประมาณ 2 นิ้ว

เชื่อมต่อความสุขด้วยพื้นที่ส่วนกลาง

แม้ตัวบ้านจะมีขนาดกะทัดรัด แต่การมีพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมต่อกลับสวนช่วยให้รู้สึกกว้างขวางขึ้น และกว้างขึ้นไปอีก เมื่อพื้นที่ซอยรกร้างระหว่างบ้านทั้งสองหลังถูกปรับให้กลายเป็นสวนหย่อม บ้าน EE House หลังนี้จึงโอบล้อมด้วยสวนภายในและภายนอก สวนภายในปลูกต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา และภายนอกปลูกไม้กระถาง พืชผักสวนครัว ซึ่งล่าสุดคุณแม่เล็ก ปลูกบวบมาทำกับข้าวให้คนในบ้านรับประทาน ทั้งสองสวนช่วยเชื่อมบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน พร้อมสร้างบรรยากาศร่มรื่นให้พื้นที่ส่วนกลาง ที่สมาชิกในครอบครัวมักมาใช้เวลาร่วมกันอย่างอบอุ่น

พื้นที่รับประทานอาหารเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นด้านใน เนื่องจากออกแบบบานประตูห้องนั่งเล่นเป็นบานเลื่อนกระจกที่เปิดกว้างได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ สถาปนิกยังออกแบบให้ขนาดของพื้นที่ในบ้านดูกว้างขึ้นด้วยการต่อขยายแนวผนังจากด้านในไปรับพื้นที่กึ่งภายนอก “เราตั้งใจให้พื้นที่กึ่งภายนอกและสวนเป็นสวนหนึ่งในบ้าน จึงออกแบบให้ผนังสีขาวยื่นออกไปโอบล้อมพื้นที่นี้ทั้งสองฝั่ง ทำให้รู้สึกเหมือนบ้านขยายใหญ่ขึ้น มีสเปซมากขึ้น” คุณพฤกษ์กล่าว

ด้วยพื้นที่บ้านที่มากขึ้นและตั้งใจเชื่อมต่อกับบ้านน้องสาว นำไปสู่หน้าตาของสถาปัตยกรรมที่ตรงไปตรงมา อย่างการทำหน้าต่างบานเลื่อนหรือช่องเปิดยาวตลอดแนวผนัง เปิดมุมมองไปยังบ้านอีกฝั่ง ทำให้สามารถมองเห็นกันได้ พูดคุยกันได้ ช่องเปิดดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ทั้งยังใช้วัสดุเป็นตะแกรงเหล็กฉีกที่มีความโปร่ง ช่วยอำพรางสายตาเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว และยังนำพาลมพัดผ่านเข้ามาในบ้านได้อีกด้วย

ออกแบบหน้าต่างบานเลื่อนกึ่งรั้ว ติดตั้งยาวตลอดแนวผนัง โดยใช้วัสดุตะแกรงเหล็กฉีก จึงยังสามารถมองเห็นภายนอกได้และลมพัดผ่านได้ดี

แต่งแต้มสีสันบนความเรียบง่าย

“เรียบง่าย อยู่ง่าย อยู่สบาย และมีสีสัน” เป็นความคิดแวบแรกที่เราย่างก้าวเข้ามาในบ้าน EE House หลังนี้
มุมมองจากภายนอกตัวบ้านดูเรียบง่ายถ่อมตน ผังบ้านไม่มีอะไรซับซ้อนเลย ใช้งานพื้นที่ได้ง่าย และเดินลื่นไหลถึงกัน บนความเรียบง่ายนั้น ได้เติมสีสันไว้ตามจุดทีละเล็กทีละน้อย ไปตามองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่าง บานหน้าต่าง ประตู เสา และคาน ด้วยสีแดงเข้มที่ชัดเจนเพียงหนึ่งสี ชวนให้นึกถึงงานศิลปะชั้นดี ที่จัดวางคอมโพสเรียบง่าย แต่ขอแอบมีกิมมิกเอาไว้ เช่นเดียวกันกับตัวบ้านสีขาวเรียบ แต่ตัดสีสันของประตูทางเข้าและบานเลื่อนหน้าต่างสีแดง จัดวางแล้วดูสัดส่วนน่ารัก พอดิบพอดี บนผืนผนังสีขาวสบายตา ตรงไปตรงมาตามฟังก์ชันที่ควรจะเป็น 

ที่สะดุดตาเป็นอย่างมากก็คือคานสีแดงที่ล้อมรอบทั้งในบ้านและนอกบ้านเอาไว้ ซึ่งคานดังกล่าวพาดอยู่บนโครงสร้างคานปูนของบ้านอีกที ด้วยสีสันที่สด ตัวคานจึงโดดเด่นออกมาเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของบ้าน ชวนให้เราตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีคานแยกออกมา คานดังกล่าวนั้นทำหน้าที่อะไร คุณฝ้ายและคุณพฤกษ์เล่าถึงแนวคิดการออกแบบนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “คานสีแดงที่เปรียบเสมือนเลเยอร์อีกชั้นหนึ่ง จึงออกแบบให้เป็นคาน I-beam สำหรับวางงานระบบทั้งหมด ทั้งดวงโคม กล้องวงจรปิด และพัดลมแขวนฝ้าเพดาน ข้อดีคือสายไฟไม่ต้องซ่อนไว้ใต้ฝ้าเพดาน ทำให้เราสามารถซ่อมแซมดวงโคมได้สะดวกยิ่งขึ้น” คานสีแดงที่โอบล้อมบ้านยังขยายยื่นออกไปนอกตัวบ้าน เพื่อรองรับการติดตั้งดวงโคมให้แสงสว่างบริเวณถนนหน้าบ้าน เรียกได้ว่าเป็นการใช้ภาษาการออกแบบเดียวกันอย่างต่อเนื่องและกลมกลืนทั่วทั้งพื้นที่

ส่วนการตกแต่งภายในก็เรียบง่ายไม่แพ้ภายนอก บิลท์อินเน้นโทนสีไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น แสงธรรมชาติที่ตกกระทบลงบนพื้นผิวไม้ยิ่งขับบรรยากาศให้ดูอ่อนโยน เหมาะสำหรับการพักผ่อนอย่างแท้จริง

ห้องนอนออกแบบมูดโทนให้อบอุ่นกว่าห้องไหนๆ ด้วยการกรุผนังทั้งสองฝั่งด้วยไม้
และเปิดมุมมองไปพื้นที่สีเขียวหลังบบ้าน ได้ทั้งแสงธรรมชาติและวิวสวน
นอกจากจะสร้างบรรยากาศพักผ่อนด้วยการเลือกใช้ไม้กับทั้งผนังและเฟอร์นิเจอร์แล้ว 
โคมไฟรูปทรงเพรียวบางที่ส่องไฟขึ้นด้านบน (uplight) ยังช่วยกระจายแสงที่ตกกระทบลงมาอย่างนุ่มนวล

แน่นอนว่าการออกแบบคือการคำนึงถึงความสวยงามพร้อมกับประโยชน์ใช้สอย สถาปนิกก็คลี่คลายให้เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของการออกแบบบ้านหลังนี้ได้อย่างดี การใช้สี และความสวยงามต่างๆ ทั้งหมดนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพียงเพราะดูเท่ห์ แต่ทุกองค์ประกอบมีเหตุและผลของมัน

“บ้านหลังนี้กลายเป็นพื้นที่รวมกลุ่มครอบครัวไปแล้ว” คุณแม่กล่าวด้วยความยิ้มแย้ม
ให้ภาพเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวว่าบ้านนี้หลังนี้น่าอยู่มากแค่ไหน ความสุขของผู้อยู่อาศัยแสดงให้เห็นว่าบ้านหลังนี้จึงตอบโจทย์ในหลากหลายมิติ ทั้งขนาดพื้นที่เหมาะสม ใช้งานสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องใหญ่โตแต่อย่างใด แต่กลับเต็มไปด้วยความเข้าใจลึกซึ้งในพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยและคนในครอบครัว โดยที่การออกแบบสถาปัตยกรรมไม่ได้แทรกแซงวิถีชีวิตของผู้อาศัยเลย แต่กลับเอื้ออำนวยให้พื้นที่ลื่นไหลไปกับชีวิต จะนั่งเล่นในบ้าน นอกบ้าน หรือนั่งเล่นริมรั้วก็สามารถทำได้ บ้านหลังนี้จึงยืดหยุ่น เรียบง่าย และมีชีวิตชีวา เป็นบ้านที่น่าประทับใจมากหลังหนึ่ง

ในยามค่ำคืนบ้านหลังนี้ก็เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นกล่องไฟ ที่สว่างไสวออกมายังภายนอก

เจ้าของ : คุณจินตนา พงศ์ทิพากร

สถาปนิก : WOS Architects โดยคุณพฤกษคุณ กรอุดม และ คุณอรไพลิน ลีลาศิริวงศ์ 

เรื่อง : Nantagan

ภาพ : ธนายุต วิลาทัน, กรานต์ชนก บุญบำรุง

สไตล์ : Suntreeya

ที่ตั้ง : จังหวัดบุรีรัมย์


ทาวน์โฮมในเมือง กับเฟอร์นิเจอร์ที่เล่าเรื่องชีวิต

รวม แบบบ้านชั้นเดียวเพื่อวัยเกษียณ อยู่สบายทุกมิติ