ทาวน์โฮมในเมือง กับเฟอร์นิเจอร์ที่เล่าเรื่องชีวิต
เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นใน ทาวน์โฮมในเมือง หลังนี้ไม่ได้อยู่เพียงเพื่อเติมเต็มพื้นที่ แต่ยังช่วยเชื่อมโยงความทรงจำ ความรู้สึก และสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงความเป็นบ้านได้ในทุกๆวัน เมื่อชีวิตไม่เคยหยุดนิ่ง บ้านจึงควรยืดหยุ่นพอจะเปลี่ยนไปตามจังหวะของแต่ละช่วงเวลา

ทาวน์โฮมในเมือง
เมื่อบ้านไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัยแต่เป็นพื้นที่ที่ต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตในทุกวัน บ้านหลังนี้สะท้อนแนวคิดการออกแบบของ คุณนาว–อัคราวุฒิ รัชต์บริรักษ์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง TOFF studio ที่มองว่าบ้านที่ดีไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ควรรองรับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา จึงได้ออกแบบพื้นที่ภายในโดยจัดวางอย่างมีเหตุผลและคำนึงถึงบรรยากาศของแต่ละจุด เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นเป็นผลงานจากนักออกแบบระดับโลกที่ชื่นชอบ
หลังจากอยู่บ้านเดิมมานานกว่า 10 ปี และใช้อาคารใกล้กันเป็นออฟฟิศ คุณนาวเริ่มวางแผนครั้งใหม่เมื่อสัญญาเช่าใกล้หมด พร้อมกับที่บ้านใหม่ใกล้แล้วเสร็จพอดี คุณนาวและภรรยาใช้เวลาร่วมครึ่งปีมองหาที่ดินที่ตอบโจทย์ชีวิตทุกด้าน ทั้งระยะทางที่สะดวก ใกล้บ้านพ่อแม่ และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตในเมือง เมื่อพบบ้านทาวน์โฮมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เดินทางง่าย ไม่ไกลจากออฟฟิศ บรรยากาศสงบ ร่มรื่น และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี จึงตัดสินใจเลือกบ้านหลังนี้





บ้านที่ยืดหยุ่นได้ตามชีวิต
บ้านทาวน์โฮมสูง 4 ชั้น พื้นที่ภายใน 333 ตารางเมตรหลังนี้ออกแบบภายในด้วยแนวคิดสำคัญที่ว่า บ้านควรเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นส่วนพักอาศัย หรือพื้นที่สำหรับครอบครัวที่อาจขยายในอนาคต ทุกตารางเมตรในบ้านหลังนี้จึงไม่ถูกกำหนดหน้าที่แบบตายตัว แต่เปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนไป
การวางแปลนแบบโอเพ่นแปลนในชั้นล่าง เพื่อเปิดมุมมองให้บ้านดูโปร่งโล่ง โดยจัดให้มีโถงทางเข้า พื้นที่รับแขก ส่วนรับประทานอาหาร ครัว และโต๊ะเตรียมอาหารในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด ขณะเดียวกันบริเวณกลางบ้านยังออกแบบให้เป็นโถงสูงดับเบิลวอลุ่ม เพิ่มความโปร่งสบาย และเปิดการเชื่อมโยงพื้นที่ระหว่างชั้น ชั้น 2 เป็นห้องนั่งเล่นของครอบครัว แต่ก็ออกแบบไว้ให้สามารถปรับเป็นห้องนอนของเจ้าของบ้านได้หากความต้องการในการใช้งานเปลี่ยนไปในอนาคต ส่วนชั้น 3 และชั้น 4 เตรียมไว้ให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูก ๆ แต่ละคน โดยแบ่งฟังก์ชันไว้อย่างครบถ้วน ทั้งห้องนอน ห้องแต่งตัว พื้นที่ทำงาน และห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วน




ทาวน์โฮมในเมือง
คุณนาวรับหน้าที่ออกแบบภายในทั้งหมด ตั้งแต่ระบบไฟฟ้า สุขาภิบาล ไปจนถึงการเลือกวัสดุปูพื้น สุขภัณฑ์ และระบบแอร์แบบเดินท่อลม (Duct Type) ซึ่งซ่อนเครื่องไว้บนฝ้าเพดานอย่างเรียบร้อย นอกจากนี้ยังวางระบบท่อน้ำและปลั๊กไฟเผื่อไว้ทุกชั้น เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้ในอนาคตโดยไม่ต้องรื้อระบบเดิม รายละเอียดเล็ก ๆ อย่างการจัดวางห้องนอนในตำแหน่งที่ลึกและเงียบที่สุดของบ้าน โดยมีวอล์กอินคลอเซตและห้องน้ำทำหน้าที่เป็น Buffer Zone ช่วยเสริมความเป็นส่วนตัว ขณะที่การเลือกใช้วัสดุในห้องน้ำเป็นสีโมโนโทน ช่วยให้ดูสะอาดตาและไม่ล้าสมัย

บ้านคือห้องทดลองของแนวคิดสร้างสรรค์
ในบ้านหลังนี้ ทุกการตัดสินใจด้านการออกแบบล้วนเกิดจากการตั้งคำถาม เช่น จะจัดแสงอย่างไรให้ไม่จำเจ จะเลือกวัสดุแบบไหนให้ตอบสนองทั้งการใช้งานและสร้างบรรยากาศของพื้นที่ บ้านจึงกลายเป็นเหมือนสนามทดลองเล็ก ๆ ที่คุณนาวใช้ทดสอบทั้งความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ในฐานะสถาปนิก




หนึ่งในจุดที่เปิดให้ทดลองแนวคิดด้านบรรยากาศได้ชัดเจนที่สุดคือพื้นที่โถงเปิดโล่งตรงกลาง โดยมองว่าไม่ใช่เพียงช่องว่างระหว่างชั้น แต่คือจังหวะของบ้านที่ควรเติมเต็มด้วยแสง จึงออกแบบแสงสว่างร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ENDO lighting ด้วยระบบแสงแบบอัพไลต์ที่สาดแสงนุ่ม ๆ ขึ้นไปบนฝ้าเพดาน แทนการใช้ดาวน์ไลต์ทั่วไปที่มักติดตั้งตรงกลาง วิธีนี้ช่วยให้แสงกระจายตัวได้ดีขึ้น โดยไม่แยงตาและช่วยเลี่ยงปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหลอดไฟในพื้นที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องไม่สะดวกนักในชีวิตจริง แสงจากด้านล่างที่สะท้อนขึ้นไปยังเพดานช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นและนุ่มนวลตลอดวัน นอกจากนี้ยังติดตั้งสปอตไลต์เฉพาะจุด สำหรับเน้นงานศิลปะบางชิ้น วิธีการจัดแสงนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในแกลเลอรีเล็ก ๆ ภายในบ้าน

เช่นเดียวกับพื้นไม้ที่ออกแบบร่วมกับทางบริษัท Champaca ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทดลองที่ผ่านการคิดมาอย่างตั้งใจ โดยคุณนาวเลือกใช้ลวดลายและผิวสัมผัสที่แตกต่างกันในแต่ละชั้น เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานและบรรยากาศของพื้นที่นั้น ๆ การเปลี่ยนลายไม้ในแต่ละชั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นการจัดจังหวะให้บ้านมีชีวิต มีจุดสังเกต และไม่จำเจ ชั้นล่างใช้ไม้สัก Solid Plank สีธรรมชาติลาย Natural Freeform เคลือบด้านให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเอง เหมาะสำหรับต้อนรับแขก ชั้น 2 ใช้ไม้โอ๊กสีเข้มกราไฟต์ลายเรขาคณิตที่ดูทันสมัย ส่วนห้องนอนหลักเลือกใช้ไม้โอ๊กสีน้ำตาลลาย Modular Freeform เพื่อสร้างความต่อเนื่องไปถึงส่วนวอล์กอินคลอเซตที่ใช้งานได้สะดวก ขณะที่ชั้นบนสุดปูด้วยไม้สักสีวอลนัทลายหกเหลี่ยมสานโดยรอบตัว เพื่อเพิ่มความเรียบร้อยและนิยามขอบเขตของพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งของการทดลองคือการเปลี่ยนข้อจำกัดให้กลายเป็นจุดเด่น เช่น เสากลางในห้องนั่งเล่นที่มักเป็นจุดอับในการออกแบบ แต่กลับถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการวางพรมลายเรขาคณิตจาก Ronan & Erwan Bouroullec พิงไว้กับชั้นวางของช่วยลดความแข็งของเสา และสร้างจุดนำสายตาให้ห้องดูมีจังหวะและน้ำหนักทางสายตาอย่างน่าสนใจ
ศิลปะที่ใช้งานได้จริงในทุกวัน
การเลือกใช้ผนังสีขาวเรียบคล้ายผืนผ้าใบว่าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้เฟอร์นิเจอร์ งานศิลป์ และของตกแต่งแต่ละชิ้นได้แสดงตัวตนของตัวเองอ
ย่างเต็มที่ ภายในบ้านจึงเต็มไปด้วยชิ้นงานจากนักออกแบบที่ชื่นชอบ ตั้งแต่งานยุค Mid-century ไปจนถึงงานร่วมสมัย คุณนาวเล่าว่า “เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นในบ้านเป็นผลงานของนักออกแบบระดับตำนานที่ชื่นชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนสถาปัตย์ การได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผลงานเหล่านี้ จึงเหมือนได้ใกล้ชิดกับครูที่เคยเรียนรู้จากระยะไกล และยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ในทุก ๆ วัน”

เมื่อเปิดประตูเข้ามาในบ้าน สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ Ligne Roset Togo in Tiger Mountain with Dedar Fabric by Michel Ducaroy ซึ่งวางอยู่ในตำแหน่งรับแขกอย่างโดดเด่น เป็นหนึ่งในโซฟาที่คุณนาวชอบนั่ง เพราะรูปทรงที่โอบรับร่างกายได้ดี และให้อารมณ์ผ่อนคลายแบบไร้กรอบ บริเวณมุมห้องรับแขกจัดวาง LC4 Chaise Lounge จาก Cassina ผลงานของ Le Corbusier ที่คุณนาวชื่นชอบเป็นพิเศษ รูปทรงที่สะท้อนความกล้าในเชิงออกแบบ ทำให้ตัวนี้ไม่ใช่แค่เก้าอี้นั่ง แต่เปรียบเสมือนประติมากรรมที่มีชีวิตอยู่ในบ้าน ถัดมาในโซนนั่งเล่นวางโซฟา Groundpiece Sectional จาก Flexform ออกแบบโดย Antonio Citterio คู่กับ Barcelona Daybed จาก Knoll ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe ที่กลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในครอบครัว ขนาบด้วยโต๊ะอาหาร Nomos Table จาก Tecno ออกแบบโดย Sir Norman Foster และพรมทอมือด้วย Ancient Kilim Technique ของ Nanimarquina ที่ใช้ขนแกะจากอัฟกานิสถานนำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติแบบดั้งเดิม ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ยังคงสอดคล้องกับแนวคิดศิลปะที่ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น Red and Blue Chair โดย Gerrit Thomas Rietveld หรือ The Egg Chair โดย Arne Jacobsen ซึ่งจัดวางในจุดที่นั่งสบายและรับวิวได้ดี ส่วนในครัวเลือกใช้ Jerry Bar Stool จาก Magis ที่ปรับความสูงได้ เพิ่มลูกเล่นให้พื้นที่เตรียมอาหารอย่างพอดี
เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในบ้านหลังนี้จึงไม่ได้อยู่เพียงเพื่อเติมเต็มพื้นที่ แต่ยังช่วยเชื่อมโยงความทรงจำ ความรู้สึก และสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงความเป็นบ้านได้ในทุกๆวัน เมื่อชีวิตไม่เคยหยุดนิ่ง บ้านจึงควรยืดหยุ่นพอจะเปลี่ยนไปตามจังหวะของแต่ละช่วงเวลา พร้อมเปิดรับความคิดใหม่ และเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ จากงานศิลปะไว้เป็นแรงบันดาลใจในทุกวัน บ้านทาวน์โฮมหลังนี้จึงเป็นห้องทดลองที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และใช้งานได้จริงในแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ
เจ้าของ – ออกแบบตกแต่งภายใน : คุณอัคราวุฒิ รัชต์บริรักษ์
เรื่อง : ปาราเมศ เมนะเนตร
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, ธนากรณ์ วงษ์ละคร
สไตล์ : Suntreeya