Fullstop House บ้านเสาบาง ที่รับน้ำหนักหลังคาคอนกรีตได้
บ้านเสาบาง ที่มีเสาอยู่ 27 ต้น เชื่อมต่อพื้นและหลังคาคอนกรีตบาง ๆ แต่ไม่มีผนัง เกิดเป็นพื้นที่ตรงกลางเพื่อใช้เป็นฟังก์ชันหลากหลายภายในบ้าน
Design Directory : Mooof
บ้านเสาบาง ที่ดูไม่ธรรมดาหลังนี้ไม่ได้มีดีแค่ความสวยงาม แต่ยังผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดมาแล้วได้อย่างปลอดภัย ภายใต้โครงเสาเหล็กที่ดูผอม ๆ คลุมด้วยหลังคาคอนกรีตแผ่นบางกับผนังที่เปิดโล่งหลายจุด การออกแบบที่ดูแปลกตานี้เกิดขึ้นมาได้เพราะแนวคิดอิสระที่ คุณคิด – สมคิด เปี่ยมปิยชาติ เจ้าของบ้านผู้มีอาชีพเป็นช่างภาพจาก Art4d และเจ้าของสำนักพิมพ์ Fullstop ซึ่งผลิตหนังสือภาพประกอบสุดน่ารัก ได้เปิดโอกาสให้สถาปนิกผู้เป็นรุ่นน้องมาช่วยออกแบบ โดยมีโจทย์ง่าย ๆ เพียงแค่อยากได้บ้านที่ไม่มีฝ้าและต้องการแสงภายในบ้าน เพราะนอกจากอาชีพช่างภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมที่ต้องใช้แสงเป็นเหมือนพู่กันเพื่อสร้างภาพถ่ายให้ตัวอาคารแล้ว การอยู่ในบ้านทาวน์เฮาส์ที่จำกัดด้วยแสงมาก่อนนั้นยิ่งทำให้เขาให้ความสำคัญกับแสงมากเป็นพิเศษ


เปิดรับแสงให้ บ้านเสาบาง ที่ไม่มีผนัง
จากโจทย์สั้น ๆ ได้กลายเป็นความท้าทายที่น่าลองสำหรับ คุณหน่อย-บุษดี งามภักดีพานิช สถาปนิกจาก Mooof ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดด้วยการออกแบบบ้านที่ไม่มีผนัง เพื่อเปิดให้แสงเข้าถึงได้มากตามความต้องการ
“เราทำแบบ Conceptual ง่าย ๆ ขึ้นมา 4 แบบ และทุกแบบมีคอร์ตอยู่ภายในหมดเลย เพื่อบดบังมุมมองจากภายนอกซึ่งเป็นบ้านจัดสรรที่ไม่ได้มีวิวธรรมชาติอะไร และพี่คิดก็เลือกแบบนี้ ซึ่งเป็นบ้านที่มีเสาบาง ๆ เชื่อมต่อพื้นและหลังคา แต่ไม่มีผนัง ความยากก็คือการทำหลังคาคอนกรีตบาง ๆ ให้ได้ นี่จึงเป็นงานแรกและงานเดียวที่ต้องหาวิศวกรให้ได้ก่อนจะทำอย่างอื่น และโชคดีที่วิศวกรก็ไม่ตกใจกับแบบของเรา แถมยังสนุกที่จะทำงานไปด้วยกัน”
ด้วยแบบบ้านที่มีส่วนของพื้น ชาน และระเบียงเป็นเหมือนแพลตฟอร์มแผ่นใหญ่ผืนเดียวอยู่ด้านล่าง ขนานไปกับแผ่นของหลังคาคอนกรีตขนาดบางด้านบน โดยทั้งสองชิ้นนี้เชื่อมต่อกันด้วยกลุ่มเสาเล็ก ๆ จำนวน 27 ต้น เพื่อให้เกิดพื้นที่ตรงกลางสำหรับเป็นฟังก์ชันต่าง ๆ ของบ้าน



“เราเรียกว่า Interval Space ก็คือการเชื่อมต่อจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง คล้าย ๆ กับชื่อบ้าน ‘Fullstop House’ ที่หยุดเพื่อจะเริ่มไปต่อใหม่ โดยใช้เสาเหล็กกลม ๆ เป็นตัวเชื่อม ตอนแรกจะทำเสาขนาดแค่ 2.5 นิ้วเหมือนราวกันตกเลย แต่คุยกับวิศวกรแล้วจบกันที่ 3 นิ้ว ซึ่งการจะทำให้เสาเหล็กบาง ๆ เหล่านี้รับน้ำหนักหลังคาคอนกรีตขนาด 18×18 เมตร หนาประมาณ 17 เซนติเมตรได้นั้น ต้องเท Non-shrink Epoxy เข้าไปข้างใน เป็นวิธีที่ปรับมาจากการเทคอนกรีตแบบ CFT Column เพราะถ้าเทคอนกรีตไปเลยมันอาจจะลงไม่ถึงด้านล่าง ก่อนทำเราได้ทดลองกับท่อพีวีซีแล้วว่าได้ถึงจะมาลงมือทำจริง แต่เราไม่ได้วางเสาเป็นกริด ใช้วางตามเซ้นต์เลยให้มีบางมุมเป็นกลุ่มเสาเพื่อโหลดรับน้ำหนักได้ดีขึ้น ส่วนหลังคาคอนกรีตก็ทำแม่แบบหล่อให้เป็นแพตเทิร์นเพื่อให้แกะออกมาดูสวยโดยไม่ต้องทำอะไรแล้ว และเพิ่มการยึดหลังคากับหัวเสาเหมือนผูกเหล็กอย่างแน่นหนาอีกก้อนเพื่อรับแรงเฉือนและแรงดึงของแผ่นหลังคาทั้งหมดไม่ให้มีการโก่งหรือล้มแม้จะมีแผ่นดินไหวก็ตาม”


วางผังฟังก์ชันแบบโมดูล
เมื่อมีโครงสร้างที่แข็งแรงแล้ว สเปซระหว่างพื้นกับหลังคาคือพื้นที่สำหรับจัดวางฟังก์ชันจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิต โดยสถาปนิกออกแบบแยกพื้นที่เป็นก้อน ๆ เหมือนโมดูลที่เริ่มต้นด้วยขนาดมาตรฐาน 1.20 เมตร
“เราไม่ได้เริ่มจากการวางให้ดูสวย แต่ทุกอย่างเกิดจากการใช้งาน ไม่ได้เกิดจากรูปด้าน เน้นจากพื้นที่เล็กเพื่อให้ดูแลง่ายและใช้งานสะดวก แต่ละก้อนมีขนาดและความสูงต่างกันไป เริ่มที่เล็กสุดเป็นส่วนของห้องครัว กว้าง 2.40×3.20 เมตร อยู่ในมุมรับแสงทิศตะวันตกที่จะช่วยให้ครัวแห้งและไม่อับชื้น ขนาดที่ไม่ต้องสูงมากก็เพื่อให้หยิบของใช้จากตู้ด้านบนได้ง่าย ๆ และบนหลังคาของอาคารครัวยังทำชั้นลอยให้ขึ้นไปนั่งเล่นชมวิวด้วย ก้อนต่อมาเป็นห้องกินข้าวที่เปิดให้สูงขึ้นและขยายพื้นที่เพื่อวางโต๊ะยาวให้สามารถรองรับครอบครัวได้มากถึง 14 คน หรือบางทีเจ้าของบ้านก็ใข้เป็นที่ตรวจปรู๊ฟงานพิมพ์ด้วย ส่วนก้อนของลีฟวิ่งอยู่ไปทางทิศเหนือรับแสงกลาง ๆ ได้ทั้งวัน และด้านในสุดทางทิศตะวันออกและเหนือเป็นห้องนอน 2 ห้องเพื่อรับแสงเช้า อีกทั้งยังได้ความเป็นส่วนตัวที่อบอุ่นใจ มีทางลงไปที่สวนหินซึ่งเป็นพื้นที่หลังบ้านได้ โดยทุกก้อนเหล่านี้อยู่รอบแผ่นชานกว้างเดียวกัน และตรงกลางชานก็ยังมีหลุมนั่งเล่นกับสเปซกว้าง ๆ ให้ได้ออกมารับลมและชมแสงได้ตลอดทั้งวัน”


ยกระดับพื้นให้เลี่ยงน้ำและเปิดช่องลม
พื้นที่นี้เคยผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมหนักมาแล้ว ก่อนสร้างบ้านจึงมีการถมที่เพื่อยกระดับพื้นให้สูงจากถนนหน้าบ้าน แล้วยังยกตัวบ้านให้สูงขึ้นจากพื้นที่ถนนขึ้นไปอีกราว 1.80 เซนติเมตร ตัวบ้านจึงดูสูงโปร่ง อีกทั้งมีลมหมุนเวียนระบายอากาศได้จากใต้ถุน
“เราวางเสาเข็มด้านล่างไว้ค่อนข้างเยอะ เหมือนโต๊ะที่แข็งแรงตัวหนึ่ง และก็สามารถซ่อนงานระบบไว้ด้านล่างให้เข้าไปดูแลซ่อมแซมได้สะดวกด้วย การยกพื้นจึงช่วยเปิดให้ลมหมุนเวียนทำให้บ้านไม่อับชื้น ขณะที่หลังคาด้านบนก็เจาะช่องเปิดโล่งตรงกลางไว้ตรงกับแนวหลุมนั่งเล่นให้เป็นทางระบายออกของลมร้อนที่ลอยขึ้นไปด้านบนด้วย เวลาฝนตกก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศของฝนในบ้าน เพราะตรงชานเราใช้ไม้เทียมและทำช่องระบายน้ำลงใต้ถุนบ้านให้พี่คิดได้มีกิจกรรมกวาดน้ำไปด้วย”


บ้านสีขาวเหมือนเฟรมภาพให้แสง
เมื่อบ้านไม่มีผนังเป็นการเปิดช่องรับแสงเข้าถึงพื้นที่ภายในได้มาก การออกแบบแต่ละก้อนฟังก์ชันให้เป็นกล่องสีขาวจึงเปรียบเสมือนเฟรมภาพที่ขาวสะอาด โดยมีแสงเป็นสิ่งที่คอยสร้างสีสันพาดไล้ไปตามผนังอาคาร เป็นปรากฏการณ์แสงสนุก ๆ ให้เจ้าของบ้านผู้เป็นช่างภาพได้คอยติดตาม
“เพราะแดดจะเปลี่ยนไปตามเวลาในแต่ละวันและก็แตกต่างตามฤดูกาล ทำให้ช่องแสงที่พาดผ่านตัวอาคารและคอร์ตมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดไม่เหมือนกันเลยในแต่ละวัน ตัวอาคารที่เป็นสีขาวทั้งหมดจึงเป็นฉากรับที่ทำให้มองเห็นแสงของฤดูกาลชัดเจนขึ้น อย่างช่วงฤดูร้อนแสงจะมีสีขาวอมเหลือง พอเข้าช่วงปลายฝนต้นหนาวแสงจะออกสีฟ้า เพราะเจ้าของบ้านให้ความสำคัญในเรื่องแสงอยู่แล้ว ทำให้เขาสามารถสนุกกับการถ่ายภาพตัวอาคารหลังนี้ได้เรื่อย ๆ”





เรื่องนี้คุณคิดช่วยยืนยันอีกเสียงว่า “บางคนอยู่บ้านใหม่ 4-5 ปีก็เบื่อ สำหรับเราอยู่บ้านนี้มาปีกว่าแล้ว เหมือนได้ลองปรับพฤติกรรมตัวเองจนกลายเป็นเรื่องสนุกทุกวัน มีเรื่องให้ตื่นเต้นกับแสงและเงาตลอด บางทีก็นั่งมองดูเสา บางทีก็นัดกับภรรยาว่าจะอยู่ห้องไหนกัน กินข้าวตรงไหนดี แค่ดูฝนจากในห้องก็ยังรู้สึกไม่ครบเลย เพราะบางวันฝนเลี้ยวไปตามลม และตอนเย็นก็ยังได้ดูดวงอาทิตย์ตกทุกวัน
“เราชอบที่ทุกอย่างเปิดโล่งหมดแบบนี้ ถ้าน้ำจะรั่วก็เห็นปัญหาได้ก่อนเลย ยุงก็ไม่มี อาจเพราะบ้านสีขาวและโล่งมาก มีลมธรรมชาติหมุนเวียน แล้วสเปซที่วาไรตี้มันทำให้เราสนุกกับการใช้งานหลากหลาย และวางเฟอร์นิเจอร์เจ๋ง ๆ ได้เลย เพราะชอบเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์มาตั้งแต่เรียนแล้ว ซึ่งเก้าอี้สำหรับเราก็เหมือนอาจารย์ เลยพยายามเก็บเงินซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์ แบบที่เห็นแล้วใจสั่น อย่างเก้าอี้ไม้ดัดของ Arne Jacobsen เก้าอี้ไม้ 3 ขาของ Alvar Aalto เก้าอี้ลูกข่าง Spun Chair ของ Magis หรือ Eames Lounge Chair รวม ๆ คือเป็นสีธรรมชาติ อยากนั่งตรงไหนก็เอาเก้าอี้ไปวาง ทำให้อยู่บ้านได้แบบไม่เบื่อ แถมยังสนุกเหมือนได้มาเที่ยวทุกวันเลย”






สถาปนิก : Mooof โดยคุณบุษดี งามภักดีพานิช
เจ้าของ : คุณอรนุช – คุณสมคิด เปี่ยมปิยชาติ
มัณฑนากร : คุณสุนทร กีรตยาคม
วิศวกรโครงสร้าง : TDA Consultants
รับเหมาก่อสร้าง : คุณชลยุทธ์ ขันแสง
ควบคุมงานก่อสร้าง : คุณชนินทร์ ลิมาภรณ์วณิชย์
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์, Nantagan
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : Suntreeya