รวมวิธีการ ล้างกระบอกน้ำ ให้สะอาดทุกซอกทุกมุม ไร้กลิ่นอับไกลคราบด้วยของในครัว
ล้างกระบอกน้ำ คู่ใจที่ใช้อยู่ทุกวัน แต่บางครั้ง ก็ยังไม่วายเจอทั้งกลิ่นบูด และราดำเลอะติดฝาอีกต่างหาก มาขจัดคราบ และ สารพัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ในกระบอกน้ำ บ้านและสวน ได้รวบรวมวิธีต่าง ๆ ในการล้างกระบอกน้ำ เพราะกระบอกน้ำนั้นต้องใส่เครื่องดื่มปิดฝาทิ้งไว้ทั้งวัน บางครั้งแค่การใช้น้ำยาล้างจาน ล้างกระบอกน้ำ อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีตัวช่วยเพิ่มเติม รวมไปถึงวิธีการล้าง และตากก็มีผลเช่นกัน
1.น้ำส้มสายชูและเบกกิ้งโซดา

ทั้งเบกกิ้งโซดาและน้ำส้มสายชูเป็นตัวช่วยที่สามารถผสมกับน้ำอุ่นและเติมลงไปในขวดน้ำเพื่อแช่ทิ้งไว้ข้ามคืนได้ ถ้าเป็นเป็นน้ำส้มสายชูก็จะใช้ประมาณ ⅕ ของปริมาณขวดน้ำ ส่วนเบกกิ้งโซดาก็อยู่ที่ 1 – 3 ช้อนชา ตามขนาดของขวด หลังจากเติมส่วนผสมลงในขวดเรียบร้อยแล้ว ก็ค่อยเทน้ำอุ่นตามลงไปจนเต็ม และแช่ทิ้งไว้ข้ามคืน แต่ถ้าหากต้องการทำความสะอาดแบบเร่งด่วนแช่ทิ้งไว้สัก 10 นาที ส่วนผสมจะช่วยขจัดกลิ่น และสิ่งสกปรกทั่วไป ในการใช้งานไม่ให้สะสม และทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
2 . ล้างกระบอกน้ำ ด้วยการเขย่าโดยใช้เกลือหยาบและน้ำส้มสายชู

เมื่อนำขวดน้ำไปใส่เครื่องดื่มข้น ๆ อย่างโกโก้หรือน้ำปั่นสารพัดเมนู ก็มักจะมีคราบเลอะติดอยู่ด้านในเยอะเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องใช้ส่วนผสม อย่างเกลือหยาบมาช่วยขัด โดยให้เติมเกลือหยาบลงไปประมาณ ⅕ ของขวดน้ำและเทน้ำส้มสายชูตามลงไปให้พอเขย่าได้ หลังจากนั้นจึงปิดฝา และเขย่าไปมาให้ส่วนผสมได้ทำความสะอาดอย่างทั่วถึง เม็ดเกลือหยาบนั้นจะช่วยดูดซับสิ่งสกปรก รวมทั้งขัดคราบเลอะได้ไปในตัว ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงไม่เกิน 1-2 นาที ก็สามารถเทออกมาและล้างออกด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำยาล้างจานอีกรอบได้ เท่านี้ขวดน้ำก็จะกลับมาสะอาดพร้อมใช้ โดยไม่มีคราบเลอะติดแล้ว
3.ดับกลิ่นในขวดด้วยน้ำยาบ้วนปาก
วันไหนที่เผลอลืมล้างขวดน้ำ จนกลิ่นไม่พึงประสงค์อย่างกลิ่นบูด หรือกลิ่นอับมาเยือน ก็สามารถใช้น้ำยาบ้วนปาก มาล้างทำความสะอาดได้ โดยให้ผสมน้ำยาบ้วนปาก และน้ำสะอาดในอัตราส่วน ¼ นำมาแช่ขวดน้ำทิ้งไว้ ได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมง จนถึงข้ามคืน และนำไปล้างด้วยน้ำยาล้างจานให้สะอาดอีกครั้ง ก็จะช่วยขจัดกลิ่นภายในขวดน้ำ ที่ใส่กาแฟหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้น้ำยาบ้วนปาก ทำความสะอาดขวดน้ำเป็นประจำได้ ด้วยการเติมลงไปเล็กน้อย และออกแรงเขย่าสักพัก ก่อนจะล้างออกด้วยน้ำเปล่า เพื่อขจัดกลิ่น และสิ่งสกปรกในแต่ละวัน
4 . ขัดปากขวดด้วยเปลือกมะนาว

ส่วนที่มีคราบมากที่สุดนั้น อาจไม่ใช่ภายในขวดน้ำ แต่เป็นบริเวณปากขวด ที่ต้องสัมผัสกับปากโดยตรง เพราะนอกจากเครื่องดื่มในขวดแล้ว ก็อาจมีทั้งคราบมัน รวมทั้งคราบจากอาหารประเภทอื่น ๆ ที่ปะปนมากับน้ำลายด้วย หลังจากใช้ฟองน้ำมาขัดเป็นประจำแล้ว ก็อาจนำเปลือกมะนาว มาช่วยขัดทำความสะอาดเพิ่มเติม ในวันที่มีเหลือใช้จากการปรุงอาหารได้ เพราะเปลือกมะนาวนั้น สามารถขัดคราบที่แห้ง ติดอยู่บนปากขวดได้ดีกว่าการใช้ฟองน้ำนุ่ม ๆ แต่ก็ไม่ทำลายพื้นผิวเหมือนการใช้แปรง หรือใยขัดอเนกประสงค์ ที่สำคัญยังช่วยขจัดกลิ่นไปในตัวได้ด้วย
5 . ล้างกระบอกน้ำทันใจด้วยการใช้เม็ดฟู่

วันไหนที่ไม่ค่อยมีเวลาทำความสะอาด หรืออยากประหยัดเวลา ก็สามารถใช้ทางลัดอย่างเม็ดฟู่ ทำความสะอาดฟันปลอมมาช่วยได้ เพียงแค่เติมน้ำอุ่น และใส่เม็ดฟู่สัก 2-3 เม็ด ตามลงไป จากนั้นทิ้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงค่อยนำมาเขย่า และล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้สะอาดอีกครั้ง เม็ดฟู่จะช่วยทำความสะอาดภายในขวดน้ำได้ โดยไม่ต้องออกแรงขัด สามารถช่วยขจัดได้ทั้งแบคทีเรีย กลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมทั้งคราบต่าง ๆ ที่อาจเลอะติดอยู่ให้หลุดออกไปได้
6.ดูแลชิ้นส่วนซิลิโคนไม่ให้ขึ้นราด้วยน้ำส้มสายชู

ชิ้นส่วนยางซิลิโคนบริเวณฝาขวดน้ำนั้น เป็นส่วนที่ต้องคอยดูแล และทำความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดราดำ จนกลายเป็นคราบที่สายเกินกว่าจะขัดออกได้ โดยสิ่งที่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ ก็คือการนำชิ้นส่วนซิลิโคนออกมา เช็ด หรือตากให้แห้ง หลังทำความสะอาด นอกจากนี้ ก็อาจนำไปแช่ในน้ำอุ่น ที่ผสมน้ำส้มสายชู เพื่อช่วยป้องกันราขึ้นได้อีกทาง สำหรับอัตราส่วนนั้น ก็จะใช้น้ำส้มสายชู 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมลงในน้ำอุ่นประมาณ 1 ถ้วยตวง แต่ถ้าหากรู้สึกว่าขั้นตอนต่าง ๆ นั้นยุ่งยากเกินไป อย่างน้อยก็ควรเปิดฝาขวดน้ำทิ้งไว้ หลังใช้เสร็จหรือดื่มน้ำจนหมด แทนที่จะปิดฝาทิ้งไว้ตลอด เพื่อไม่ให้ขวดน้ำอับชื้นมากเกินไป
7.วางกระบอกน้ำอย่างไร ให้แห้งไว

หลายครั้งที่ล้างขวดน้ำเสร็จแล้ว ก็แค่วางคว่ำไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้ใส่ใจมากนัก ทำให้ขวดน้ำแห้งช้า และเผลอหยิบมาปิดฝาเก็บทั้งที่ยังไม่แห้งสนิท แต่ถ้าหากลองเปลี่ยนจากการวางคว่ำธรรมดามา เป็นการวางเอียงในแนว 45 องศา บนตะแกรง หรือพื้นที่โปร่งก็จะช่วยให้ขวดน้ำแห้งสนิทได้เร็วขึ้น เมื่อขวดน้ำแห้งไว ก็จะสามารถหยิบไปใช้ หรือปิดฝาเก็บเข้าที่โดยไม่ต้องเจอปัญหาเชื้อรา หรือกลิ่นอับกวนใจ ในระยะยาวนั่นเอง
ขวดน้ำพลาสติกใช้ซ้ำ อันตรายจริงหรือไม่ ?