บ้านกล่อง หลังนี้เก็บรวมไว้ซึ่งความสุข ของคนที่มีชีวิตและทำงานอยู่ที่บ้าน ได้เพลินใจไปกับการเเต่งบ้านในเเบบที่ตัวเองชอบ กลายเป็นเรื่องราวที่เจ้าของอยากบอกเล่าและพูดคุยเเลกเปลี่ยนในเพจ อยู่ที่บ้าน yu.t.baan
Design Directory : สถาปนิก Kraisit Bhokasawat
การมีไลฟ์สไตล์ในการทำงานอยู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการออกแบบ บ้านกล่อง หลังนี้ บ้านจึงต้องมีบรรยากาศโปร่งโล่ง ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะห้องทำงานที่ต้องการแสงสว่างที่เพียงพอในการทำงาน ห้องทำงานแยกออกจากส่วนพักผ่อนเพราะทำงานอยู่บ้านไม่อยากให้ปะปนกัน
ทุกตารางเมตรของบ้านกล่องหลังนี้ที่เต็มไปด้วยร่องรอยของความสุขความทรงจำ ความคลาสสิกที่สัมผัสได้จากสีและผิวของเฟอร์นิเจอร์เก่าบ้างใหม่บ้างสะสมไว้ปะปนกันไป เสียงเห่าทักทายของ “คุนชง” สมาชิกใหม่ตัวน้อยทำให้เรารับรู้ได้ว่ามาถึงแล้ว บ้านทรงกล่องสีขาวรูปทรงโมเดิร์นหลังนี้ มีการออกแบบในบางจุดอย่างฟาซาดบล็อกช่องลมและครีบกันแดดที่ชวนให้นึกถึงบ้านเก่ายุค 70 เจ้าของบ้านหลังนี้คือ คุณอาร์ม-คุณตั๊ก สองสามีภรรยาที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ทั้งคู่เล่าว่า “เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่บ้านของครอบครัวจึงตัดสินใจซื้อที่ข้างๆที่ประกาศขายและสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา” บ้านมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดกว่า 300ตารางเมตร โดยมีสถาปนิกคือ คุณเจี๊ยบ – ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์ พี่เขย เป็นผู้ดูแลการออกแบบทั้งหมด
การมีไลฟ์สไตล์ในการทำงานอยู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการออกแบบบ้านหลังนี้ บ้านจึงต้องมีบรรยากาศโปร่งโล่ง ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะห้องทำงานที่ต้องการแสงสว่างที่เพียงพอในการทำงาน ห้องทำงานแยกออกจากส่วนพักผ่อนเพราะทำงานอยู่บ้านไม่อยากให้ปะปนกัน
สวนคอร์ตกลางบ้านปลูกต้นซิลเวอร์โอ๊กทรงสูงและแซมด้วยสวนกระถางปลูกไม้ใบให้ความเขียวชุ่มชื่น สวนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในหรือช่วยระบายอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นวิวสวนส่วนตัว เพราะไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของบ้านก็สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวที่สดชื่นได้ตลอด
แต่งเติมสะสมสุข ใน บ้านกล่อง
รูปทรงภายนอกเรียบง่ายโมเดิร์น ดูเผินๆเหมือนจะทึบตัน แต่ภายในกลับโปร่งโล่ง เมื่อลองเปิดประตูเข้าไปด้านในเหมือนเดินผ่านอุโมงค์กาลเวลา ด้านข้างบิลท์อินเป็นตู้โชว์ของสะสม เปิดสเปซที่โถงบันไดทำให้รู้สึกโปร่งสบาย ผู้ออกแบบเล่าว่า “ตั้งใจให้ค่อยๆเปลี่ยนอารมณ์ด้วยแสงน้อยไปสว่างเหมือนออกจากถ้ำ”
การเป็นนักสะสม จึงมีของวินเทจและเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อเก็บไว้เยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องบอกกับสถาปนิกไว้แต่เนิ่นๆ เพราะจะได้ออกแบบให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะเก็บและโชว์ของได้อย่างเหมาะสม “ทุกอย่างต้องใช้เวลา ค่อยๆสะสม ค่อยๆแต่ง ค่อยๆเติม” เป็นคำที่มักได้ยินจากคุณอาร์มและคุณตั๊กเจ้าของบ้านแต่งเองหลังนี้ ของบางชิ้นเก็บความทรงจำเรื่องราวในอดีต ของบางชิ้นทำให้นึกถึงคนคนหนึ่ง และของบางชิ้นก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดไอเดียต่างๆ สิ่งเหล่านี้กระจายอยู่ตามมุมต่างๆในบ้าน เพียงแค่ได้มองหรือเดินไปหยิบจับก็ได้นึกถึงเรื่องราวดังกล่าว “ไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ตายตัวในการแต่งบ้าน ขอให้ทำแล้วมีความสุข บางครั้งเราชอบแต่งแบบหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะชอบอีกแบบ เป็นการแต่งบ้านที่เติบโตไปพร้อมกับเรา”
ความสุขจากสิ่งเล็กๆ
หากได้ลองเข้าไปอ่านโพสต์ของเพจ อยู่ที่บ้าน yu.t.baan ที่คุณตั๊กและคุณอาร์มเป็นเจ้าของเพจ ก็จะพบว่ามีความอบอวลของมวลความสุขจากการทำอะไรที่เรียบง่าย การได้อยู่ที่บ้านเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของธรรมชาติ หรือแม้แต่ความงามของแสงและเงาที่ตกกระทบผนังในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งยังมีการแบ่งบันเรื่องราวการแต่งบ้านและการใช้ชีวิต คุณตั๊กเล่าว่า “บ้านนี้เริ่มทำในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เรามีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ได้ทำบ้านหลังใหม่ มีความสนุกกับการแต่งบ้านมากและเริ่มทำเพจหลังจากอยู่ได้ปีกว่า เพื่อบันทึกภาพและเรื่องราวเก็บไว้”
บางครั้งความสุขก็มาในรูปแบบของสี่ขา สมาชิกใหม่ของบ้านแม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่เพียงสองเดือน เสียงเห่าของคุนชงก็ทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ชื่อ “คุนชง”มาจากชื่อพระเอกในละครเรื่อง ยามเมื่อลมพัดหวน ซึ่งเป็นละครเรื่องโปรดของคุณตั๊กและคุณอาร์ม
ความสุขของการได้อยู่บ้านคืออะไร การได้อยู่กับคนที่เรารัก การได้อยู่กับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด การได้เฝ้าสังเกตธรรมชาติรอบตัว สำหรับบ้านหลังนี้หนึ่งในความสุขนั้นคือการได้แต่งบ้านด้วยตนเอง ค่อยๆเติม ค่อยๆจัดวาง จากความชอบของวินเทจเริ่มสะสมมาเรื่อยๆ จนเมื่อมีบ้านเป็นของตัวเอง สิ่งที่รักและสิ่งที่ชอบจึงถูกบรรจุไว้ในบ้านหลังนี้
เจ้าของ : คุณอาร์ม-คุณตั๊ก
สถาปนิก : โดยคุณไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์
เรื่อง : Pakaho
ภาพ : ธนายุต วิลาทัน, กรานต์ชนก บุญบำรุง
สไตล์ : TBPK