ใส่ปุ๋ยข้าว ควรใส่ตอนไหน ใส่เท่าไหร่ถึงจะพอดี

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเหมือนเป็นสัญญาณบ่งชี้ของฤดูทำนา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่างเตรียมตัวจัดหาปัจจัยในการผลิต โดยเฉพาะ ปุ๋ยใส่ข้าว เพื่อบำรุงให้ต้นข้าวได้เติบโตออกรวงสมบูรณ์

แต่รู้หรือไม่ การ ใส่ปุ๋ยข้าว สามารถควบคุมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการให้ปุ๋ยเกินความจำเป็น โดยมีหลักการใส่ปุ๋ยในนาข้าวคือ

ใส่ปุ๋ยข้าว

หลักการ ใส่ปุ๋ยข้าว ให้ได้ผลผลิตสูงสุด

1.ชนิดของปุ๋ย ที่จะใช้ควรพิจารณาว่าปุ๋ยที่ต้องการใช้เป็นปุ๋ยอะไรเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยวหรือปุ๋ยเชิงประกอบ  

-ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดี่ยว ได้แก่ ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปุ๋ยฟอสเฟต (P) และปุ๋ยโพแทส (K) ในทำนามีปุ๋ยเชิงเดี่ยว 2 ชนิดที่ควรรู้จักคือ

  • ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 เป็นแม่ปุ๋ยที่ให้แร่ธาตุอาหารหลักไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่พืชทุกชนิดมีความต้องการในปริมาณมาก โดยทั่วไปไนโตรเจนเป็นแร่ธาตุอาหารในดินที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่ม เพื่อให้พืชเจริญเติบโตงอกงามและได้ผลผลิตที่ดี การใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 จะมีส่วนช่วยส่งเสริมกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโต ทั้งความสูงของลำต้น ใบมีขนาดใหญ่ ใบดกหนา ใบสีเขียวเข้ม และช่วยเพิ่มโปรตีนในผลผลิต
  • ปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต หรือปุ๋ยสูตร 21-0-0 หรือ ปุ๋ยน้ำตาล นับเป็นแม่ปุ๋ยไนโตรเจนด้วยเช่นกัน แต่ให้ธาตุไนโตรเจนต่ำกว่าปุ๋ยยูเรีย แต่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตจะให้กำมะถันที่เป็นธาตุอาหารรองที่พืชต้องการในการเจริญเติบโตด้วย  

-ปุ๋ยเชิงประกอบ หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี และมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อย 2 ธาตุขึ้นไป เช่น สูตร 16-16-8

ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0

2.ชนิดพันธุ์ข้าวที่จะปลูก ควรตัดสินใจว่าจะใช้พันธุ์ข้าวอะไรปลูก เช่น ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งตอบสนองต่อปุ๋ยสูง ให้ผลผลิตสูงและปลูกได้ตลอดปี หรือข้าวไวต่อช่วงแสงซึ่งตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ ให้ผลผลิตปานกลาง และปลูกได้เพียงปีละครั้งในฤดูฝน

  • ข้าวไวต่อช่วงแสง  (Photoperiod sensitivity Rice) หรือ ข้าวนาปี เป็นข้าวที่ออกดอกเฉพาะเมื่อช่วงเวลากลางวันสั้นกว่า 12 ชั่วโมง แบ่งเป็น ข้าวที่มีความไวต่อช่วงแสงน้อย (less sensitive to photoperiod) ออกดอกในเดือนที่มีความยาว ของกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 40 นาที หรือสั้นกว่านี้ และ พันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสงมาก (strongly sensitive to photoperiod) ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 10-20 นาที พันธุ์ข้าวประเภทนี้จึงปลูกได้ปีละหนึ่งครั้ง หรือปลูกได้เฉพาะในฤดูนาปี  ซึ่งพันธุ์ข้าวในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสง
  • ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง (Non-photoperiod sensitivity Rice) หรือข้าวนาปรัง เป็นข้าวที่ออกดอกเมื่อมีระยะเวลาการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามอายุ ปลูกได้ตลอดทั้งปี หรือปลูกได้ในฤดูนาปรัง

3.ดินที่ปลูกข้าว ปัจจัยสำคัญในการใส่ปุ๋ย เบื้องต้นจะจำแนกได้ง่ายๆ เป็นดิน 3 ลักษณะ คือ

  • ดินเหนียว ประเมินได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์สูงกว่าดินลักษณะอื่นๆ เหมาะสำหรับปลูกข้าวมากที่สุด
  • ดินร่วน ประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำกว่าดินเหนียว แต่คงสูงกว่าดินทราย
  • ดินทราย หรือ ดินร่วนปนทราย ประเมินเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำสุด

จะรู้ได้อย่างไรว่าดิน สมบูรณ์มากน้อยเพียงใด สามารถเก็บตัวอย่างดินหลังการเก็บเกี่ยวส่งตรวจวิเคาระห์ได้ที่หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 1-12 และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ หรือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน โทร 1760

4.ระยะเวลาที่ใส่ปุ๋ย ต้องรู้ระยะเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยข้าว ข้าวไวต่อช่วงแสงควรใส่ 2 ครั้ง คือระยะแรกในช่วงปักดำ/ในนาหว่าน 15-20 วันหลังข้าวงอก และระยะที่ข้าวแตกกอสูงสุด ส่วนในข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ควรใส่ 3 ระยะคือระยะแรก ในช่วงปักดำ/ในนาหว่าน 15-20 วันหลังข้าวงอก ระยะที่ข้าวแตกกอสูงสุด และระยะที่ข้าวกำลังเริ่มสร้างช่อดอก

5.วิธีการใส่ปุ๋ยใช้ วิธีที่เหมาะสมเพื่อให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพ เช่น หว่านปุ๋ยแล้วคราดกลบก่อนปักดำ หรือหว่านข้าวเริ่มเจริญเติบโต ระยะข้าวเจริญเติบโตเต็มที่ และระยะสร้างรวงอ่อน

6. วิธีปลูก มีหลายวิธี เช่น หว่านข้าวแห้ง หว่านน้ำตม ปักดำ วิธีเหมาะสม เหล่านี้เป็นเครื่องกำเนิดของปุ๋ย เวลาในการใส่ รวมทั้งอัตราการใส่ให้เหมาะสม

7. อัตราปุ๋ยที่ใช้ โดยพิจารณาจากค่าวิเคราะห์ดินเพื่อให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุดปีละครั้งในฤดูฝน

ใส่ปุ๋ยข้าว

ระยะการใส่ปุ๋ยในนาข้าว

แบ่งระยะตามความไวต่อช่วงแสงของข้าวได้ดังนี้

1. ข้าวไวต่อช่วงแสง (นาปี) แบ่งใส่ 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ใส่ในช่วงปักดำหรือหลังปักดำ ใน 1 สัปดาห์ หรือที่ระยะ 15-20 วัน หลังข้าวงอกในนาหว่าน

ครั้งที่ 2 ใส่ระยะกำเนิดช่อดอก (ก่อนข้าวออกดอก 30 วัน)

2. ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง (นาปัง) แบ่งใส่ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ใส่ ช่วงปักดำ หรือหลังปักดำ ใน 1 สัปดาห์ หรือที่ระยะ 15-20 วัน หลังข้าวงอกในนาหว่าน

ครั้งที่ 2 ใส่ระยะข้าวแตกกอ (30 วันหลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก)

ครั้งที่ 3 ใส่หลังจากครั้งที่ 2 ระหว่าง 15-20 วัน

ใส่ปุ๋ยข้าว

อัตราการ ใส่ปุ๋ยข้าว นาดำ

หว่านปุ๋ยแปลงกล้าข้าว ทั้งข้าวไวต่อช่วงแสงและไม่ไวต่อช่วงแสง  

การใส่ปุ๋ยแปลงกล้าข้าว ในแปลงกล้าข้าว ควรใช้มูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกในอัตรา 500 กรัม (น้ำหนักแห้ง) ร่วมกับปุ๋ย 16-16-8 อัตรา 10 กรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หว่านรองพื้นก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ 1 วัน หรืออาจแยกหว่านปุ๋ย 16-16-8 ที่ 10–15 วันหลังหว่านเมล็ดก็ได้ แต่ในช่วง 7 วันก่อนถอนกล้าไม่ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน

ใส่ปุ๋ยข้าวปักดำ ดินร่วนทรายหรือดินทราย

การใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 1 (อายุ 20-25 วัน)

ข้าวไวต่อช่วงแสงใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อัตรา 30-35 กิโลกรัมต่อไร่) ในวันปักดำหรือก่อนปักดำ 1 วัน แล้วคราดกลบ หรือใส่ปุ๋ยหลังจากปักดำไม่เกิน 15 วัน เมื่อต้นข้าวตั้งตัวได้แล้ว หากไม่มีปุ๋ย 16-16-8 ให้ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟตสูตรต่างๆ เช่น 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 และ 18-46-0 แทนได้โดยใส่อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อัตรา 30-35 กิโลกรัมต่อไร่) ใส่ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่

การใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 (อายุ 45-50 วัน) หรือใส่หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกแล้ว 30 วัน

ข้าวไวต่อช่วงแสงใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ) หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงใส่อัตรา อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่) ที่ระยะกำเนิดช่อดอกหรือ 30 วันก่อนข้าวออกดอก

ใส่ปุ๋ยข้าว

อัตราการใส่ปุ๋ยข้าวปักดำ ดินร่วนเหนียวหรือดินเหนียว

การใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 1 ระยะแตกกอ (อายุ 15-20 วัน)

ข้าวไวต่อช่วงแสงใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟตสูตรต่างๆ เช่น 16-20-0, 18-22-0, 20-20-0 และ 18-46-0 อัตรา 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงใส่อัตรา 30-35 กิโลกรัมต่อไร่) ในวันปักดำหรือก่อนปักดำ 1 วัน แล้วคราดกลบ (หรือใส่ปุ๋ยหลังจากปักดำไม่เกิน 15 วัน เมื่อต้นข้าวตั้งตัวได้แล้ว)

การใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 ระยะข้าวตั้งท้อง (อายุ 45-50 วัน) หรือใส่หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรกแล้ว 30 วัน

ข้าวไวต่อช่วงแสงใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่) หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่) ที่ระยะกำเนิดช่อดอก หรือ 30 วันก่อนข้าวออกดอก

สำหรับนาหยอด นาหว่านข้าวแห้ง นาหว่านน้ำตมและนาข้าวขึ้นน้ำใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 ที่ระยะ 20 – 30 วัน หลังข้าวงอก จากนั้นใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรก 30 วัน เฉพาะนาข้าวขึ้นน้ำอาจจะใส่ที่ระยะน้ำในนาลึกประมาณ 30 เซ็นติเมตร หรือก่อนที่น้ำจะลึกเกินกว่า 30 เซ็นติเมตร ก็ได้

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เกษตรกรไม่ควรมองข้ามคืออัตราการใส่ปุ๋ย ที่จะต้องพิจารณาตามความสมบูรณ์ของต้นข้าวประกอบด้วย หากเห็นว่าต้นข้าวในนามีความสมบูรณ์อยู่แล้วอาจจะพิจารณาใส่ปุ๋ยแต่เพียงเล็กน้อย หรือเพิ่มขั้นตอนการฟื้นฟูดินก่อนถึงฤดูทำนาให้ดินมีธาตุอาหารเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนราคาค่าปุ๋ยในการทำนาได้อีกทางด้วย

ข้อมูลจาก

องค์ความรู้เรื่องข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

-คำแนะนำในการใส่ปุ๋ยในนาข้าวตามค่าวิเคราะห์ของดิน สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการการเกษตร

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm