ทำระบบสมาร์ทโฮม

ทำระบบสมาร์ทโฮม ให้เหมาะกับบ้าน

ทำระบบสมาร์ทโฮม
ทำระบบสมาร์ทโฮม

ทำความเข้าใจสมาร์ทโฮมรูปแบบต่างๆ เพื่อ ทำระบบสมาร์มโฮม ให้เหมาะสมกับบ้าน และการใช้งานของเรา ให้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น

เลือกระบบสมาร์ทโฮม

ทำระบบสมาร์ทโฮม

สมาร์ทโฮมคืออะไร

สมาร์ทโฮม (Smart Home) คือ บ้านที่มีการนำเทคโนโลยีเครือข่ายต่างๆ มาควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในบ้าน ซึ่งสามารถสั่งการได้จากทั้งภายในและ ภายนอกบ้าน ด้วยการทำงานประสานกันระหว่าง 3 ส่วน ดังนี้

ทำระบบสมาร์ทโฮม

Smart Home Network

คือเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานระหว่างอุปกรณ์ ซึ่งอาจเป็นแบบเดินสายสัญญาณหรือไร้สายก็ได้ แล้วแต่อุปกรณ์ที่เลือกใช้และความสะดวกในการเดินระบบสายไฟสัญญาณของแต่ละบ้าน มีสองรูปแบบหลักๆ ดังนี้

  • Cloud Server ระบบจะส่งคำสั่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ของแบรนด์ผู้ผลิต ซึ่งอาจอยู่ที่ประเทศใดก็ได้ เมื่อประมวลผลแล้วจึงส่งคำสั่งกลับมายังอุปกรณ์ โดยสื่อสารผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต
    • จุดเด่น : ใช้งานและเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ ทั้งนอกบ้านและในบ้าน เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ง่าย มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และมีราคาย่อมเยา เนื่องจากบ้านส่วนมากในปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตรองรับการใช้งานได้อย่างสะดวก
    • ข้อจำกัด : ไม่สามารถใช้งานได้หากไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากเชื่อมต่ออุปกรณ์มากเกินไปจะทำให้สัญญาณอ่อน ส่งผลให้ตอบสนองได้ช้าลง และหากถูกแฮกเกอร์แทรกแซงระบบ อาจมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูลทางออนไลน์ได้
  • Local Server ระบบรับส่งข้อมูลภายในบ้าน ประมวลผลด้วยเซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งภายในบ้านแล้วสั่งการไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง โดยสื่อสารผ่านคลื่นสัญญาณระยะทางสั้น เช่น คลื่น Zigbee หรือคลื่นวิทยุ
    • จุดเด่น : มีความเสถียรของสัญญาณ สามารถใช้งานได้แม้ไร้อินเทอร์เน็ต
    • ข้อจำกัด : ใช้งานได้ในระยะสัญญาณเท่านั้น จึงไม่สามารถสั่งการจากนอกบ้านไกลๆได้ โดยหากต้องการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือกับโทรศัพท์มือถือ ต้องใช้เกตเวย์เชื่อมสัญญาณจึงจะสามารถใช้งานได้
ทำระบบสมาร์ทโฮม

Intelligent Control System

คือการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในเครือข่ายให้ทำงานได้ตาม ที่กำหนดไว้ ซึ่ง Home Automation ก็เป็นระบบหนึ่งที่เน้นให้อุปกรณ์ในบ้านทำงานเองได้อัตโนมัติ ในรูปแบบคำสั่งต่างๆ เช่น

  • Script Control สั่งการเพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานโดยตรง เช่น การเปิด-ปิดประตู เลื่อนอัตโนมัติด้วยรีโมต
  • Scene Control สั่งการทำงานอุปกรณ์ต่างๆ ได้พร้อมกันโดยกดปุ่มเพียงครั้งเดียว เช่น การตั้งบริเวณนอกบ้านให้ระบบกันโขมยทำงาน พร้อมกับการปรับระบบไฟแสงสว่างที่เปิด-ปิดเอง โดยอัตโนมัติผ่านเซนเซอร์วัดแสง
  • Automation ตั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆ  ไว้ล่วงหน้าให้ทำงานได้อัตโนมัติตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น เครื่องปรับอากาศที่ปรับการทำงานให้เย็นสบายได้ตามที่เซนเซอร์ตรวจสอบคุณภาพอากาศ

Smart Device

คืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสมาร์ทโฮมได้ ทั้งในรูปแบบการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันและการตั้งค่าให้ทำงานเองอัตโนมัติ แยกตามกลุ่มอุปกรณ์ได้ 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

  • IoT Device คืออุปกรณ์ที่ทำงานผ่านเทคโนโลยี IoT (Internet of Think) โดยจะเชื่อมโยงการทำงานระหว่างอุปกรณ์และจัดเก็บข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • non-IoT Device คือกลุ่มอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่อาศัยการส่งสัญญาณประเภทอื่นๆ สั่งการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงาน โดยมากเป็นสัญญาณระยะใกล้ เช่น สัญญาณรีโมตเซนเซอร์ คลื่น Blutooth คลื่น Z-Wave หรือคลื่น Zigbee
  • Gateway Device คือตัวแปลงสัญญาณเพื่อให้อุปกรณ์นั้นๆ เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากอุปกรณ์ในบางแบรนด์อาจใช้คลื่นสัญญาณอื่นๆ ที่ไม่ใช่คลื่นไวไฟในการสื่อสาร จึงต้องติดตั้งตัวแปลงสัญญาณไว้ในบ้าน เพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง และกับอุปกรณ์ที่ใช้สัญญาณไวไฟ เช่น โทรศัพท์มือถือ จึงจะสามารถสั่งการจากนอกบ้านได้
เลือกระบบสมาร์ทโฮม

ทำระบบสมาร์ทโฮม ให้เหมาะกับการใช้งาน

สมาร์ทโฮมอยู่รอบตัวเรามานานโดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากเราใช้งานจนแทบจะมองว่าคือสิ่งธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกริ่งบ้าน รีโมตแอร์ รีโมตทีวี หรือการเชื่อมหูฟังจากบลูทูธ ดังนั้นการทำบ้านให้เป็นสมาร์ทโฮมอาจเป็นการเลือกซื้ออุปกรณ์มาอำนวยความสะดวกในบางจุด หรือผสมผสานกับการวางระบบด้วยก็ได้ โดยทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้

สมาร์ทในบางจุด เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต

เป็น Smart Home แบบที่นำอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกเฉพาะจุด สั่งงานและสื่อสารโดยตรง ระหว่างเจ้าของบ้านกับอุปกรณ์ในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน เช่น เปิด-ปิดด้วยสัญญาณรีโมต สั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือใช้เซนเซอร์ส่งสัญญาณเตือน อุปกรณ์เหล่านี้มีทั้งรูปแบบสื่อสารผ่าน Cloud Server หรือสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงใช้งานง่าย เพียงซื้ออุปกรณ์ไปติดไว้ในจุดที่เหมาะสม เชื่อมระบบตามขั้นตอนก็สามารถใช้ได้เลย เหมาะกับบ้านที่ไม่สะดวกเดินสายงานระบบ หรือบ้านที่ต้องการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมจำนวนไม่มากนัก ซึ่งอาจจะเป็นการเริ่มทดลองใช้งานจากอุปกรณ์ไม่กี่ชิ้น ก่อนต่อยอดเป็นรูปแบบที่ใหญ่ขึ้นก็ได้

  • ข้อดี
    • มีอุปกรณ์ให้เลือกหลากหลายแบรนด์ หลากหลายราคา
    • สะดวกต่อการเปลี่ยน / เพิ่มอุปกรณ์
    • ทำความเข้าใจอุปกรณ์ได้ง่าย สามารถเลือกซื้อไปติดตั้งใช้งานได้เอง
    • ไม่ต้องติดตั้งแผงควบคุมในบ้าน จึงไม่ต้องรื้อบ้านเดินสายใหม่
  • ข้อจำกัด
    • ทำงานได้เฉพาะบางอย่างที่ไม่ซับซ้อน เช่น เปิด – ปิดตามคำสั่ง ตั้งเวลาอัตโนมัติ
    • จำนวนอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ขึ้นอยู่กับขนาดเราเตอร์ หากอุปกรณ์มีจำนวนมากเกินไปอาจทำให้อุปกรณ์ตอบสนองช้า

ข้อแนะนำในการตัดสินใจ เลือกใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมจากแบรนด์เดียวกัน ช่วยให้มีความสะดวกในเรื่องการสั่งงานโดยไม่ต้องใช้หลายแอปพลิเคชัน หรือเชื่อมต่อข้ามแบรนด์ โดยศึกษาสินค้าของแต่ละแบรนด์ว่ามีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานมากน้อยเพียงใด เผื่อไว้สำหรับการขยายระบบให้เป็น Home Automation ในอนาคต

สมาร์ททั้งบ้าน ด้วยการออกแบบ Home Automation

Home Automation เป็นการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในรูปแบบอัตโนมัติ  จากการตั้งเงื่อนไขต่างๆ ให้อุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโหมดงาน หรืออุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ให้ทำงานเชื่อมต่อกันเป็นระบบ เช่น เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับการมาถึงของเจ้าของบ้าน โคมไฟก็ปรับเพิ่มความสว่าง เร่งการทำงานของเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ได้คุณภาพอากาศที่เหมาะกับอุณหภูมิร่างกายคนในห้อง รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เปิดมาอยู่ในโหมดพร้อมใช้งาน สามารถสั่งการด้วยเสียงโดยที่ไม่ต้องกดปุ่มใดๆ

ส่วนมากเป็นการเชื่อมต่อรูปแบบ Local Server โดยมีการเสริมระบบ Cloud ในบางชิ้น เพื่อสั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่ออยู่นอกบ้าน รูปแบบนี้เหมาะสำหรับบ้านที่มีการใช้อุปกรณ์หลายชิ้นในห้อง หรือบ้านที่มีแผนใช้ระบบ Home Automation ให้ทำงานเชื่อมต่อกันได้ทั้งหลัง

  • ข้อดี
    • ตั้งเงื่อนไขต่างๆ ให้อุปกรณ์บ้านดูแลและสั่งงานกันเองได้ ทำให้ไม่ต้องคอยตรวจเช็กบ่อยๆ
    • สามารถตั้งชุดคำสั่งของหลายๆ อุปกรณ์รวมไว้ใน Scene และสามารถเปิดใช้งานทุกอุปกรณ์ได้ในการสั่งเปิด Scene เดียว โดยที่ไม่ต้องไล่เปิด – ปิดทีละอุปกรณ์
    • สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต
    • ระบบมีความปลอดภัย เนื่องจากอุปกรณ์ทำงานในระบบปิด ไม่สามารถแทรกแซงจากภายนอกได้
    • รับส่งข้อมูลในระยะใกล้ (ภายในบ้าน) ทำให้ระบบมีความเสถียรและทำงานได้อย่างราบรื่น
  • ข้อจำกัด
    • ต้องติดตั้งเกตเวย์เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หากอุปกรณ์ในบางแบรนด์ใช้คลื่นสัญญาณอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ไวไฟในการสื่อสาร
    • การตั้งค่ามีรายละเอียดมาก อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบ
    • ไม่เหมาะกับบ้านที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวบ้านได้ เนื่องจากบางระบบต้องใช้การเดินสายในผนังหรือเดินบนฝ้า เช่น Smart Switch และ Smart Lighting

ข้อแนะนำในการตัดสินใจ เลือกใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมจากแบรนด์เดียวกัน จะมีความสะดวกที่สุดในเชิงการเชื่อมต่อระบบ ก่อนการตัดสินใจติดตั้งจึงควรศึกษาแต่ละแบรนด์ว่าอุปกรณ์ครอบคลุมการใช้งานของบ้านมากน้อยเพียงใด

หากมีแผนที่จะทำระบบ Home Automation ในหลายๆ ส่วนของบ้านพร้อมกันในทีเดียว และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ควรนำโจทย์ที่ต้องการไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ทราบแนวทางในการปรับระบบบ้าน


Tips เชื่อมการทำงานของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างแบรนด์ด้วย Home Assistance

หากต้องการให้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างแบรนด์ทำงานร่วมกันได้จะต้องใช้ Home Assistance คือโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างแบรนด์หรือต่างระบบให้สามารถทำงาน ร่วมกันได้แบบ Local Server ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ก็ยังสามารถใช้งานได้ (แต่จะสั่งการจากนอกบ้านไม่ได้) ยกตัวอย่าง Home Assistance ที่เป็นที่นิยมและน่าจะคุ้นหู เช่น Google Assistant , Amazon Alexa หรือ Apple HomeKit

ทำระบบสมาร์ทโฮม ให้ใช้งานได้ทุกวัย

การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่มองตัวอักษรไม่ค่อยเห็น และลูกเล่นต่างๆ ที่ต้องปรับเยอะเเยะ อาจทำให้ระบบสมาร์ทโฮมกลายเป็นสิ่งยุ่งยากแทนที่ จะช่วยอำนวยความสะดวก ให้ชีวิตง่ายขึ้น มีข้อแนะนำสำหรับการออกแบบระบบเพื่อให้ทุกคนในบ้านสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ดังนี้

สั่งการด้วยเสียงผ่าน Smart Speaker

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าสนใจจากแบรนด์ผู้ผลิต Home Assistance ก็คือ Smart Speaker ลำโพงที่ช่วย ในการสื่อสารกับเครื่องใช้ไฟฟ้าแทนการกดสั่งงานผ่านโปรแกรม ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในบ้าน ที่มีสมาชิกหลายคน แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่สะดวกสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ การสั่งงาน อุปกรณ์ด้วยเสียงจึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อช่วยให้คนในบ้านใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมร่วมกันได้ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่คล้ายเพื่อนในบ้านคอยตอบคำถามต่างๆ ได้ด้วย

ปรับบ้านให้เป็นระบบ Manual บางเวลา เพื่อการใช้งานที่คุ้นเคย

ในบ้านที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์แบบอัตโนมัติ  แนะนำให้ออกแบบ Scene Setting ที่ปิด Home Automation ในบางระบบ เช่น ระบบไฟแสงสว่าง เพื่อให้คนในบ้านเปิด-ปิดสวิตช์ ด้วยตัวเอง ตามกิจวัตรประจำวันที่เคยชิน และกลับมาเปิดระบบอีกครั้งเพื่อตรวจเช็กความเรียบร้อยในเวลาก่อนนอน


อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ Home Expert มี.ค. 67

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : เอกรินทร์ พันธุ์นิล และคลังภาพบ้านและสวน


บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น อุ่นด้วยงานไม้ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี

บ้านโมเดิร์นสีขาว เปิดด้วยผนังระแนงด้านข้าง

ติดตามบ้านและสวน