ความยินยอม, การให้ความยินยิม, สัตว์เลี้ยง

การทดสอบความยินยอมของสัตว์เลี้ยง

ความยินยอม, การให้ความยินยิม, สัตว์เลี้ยง
ความยินยอม, การให้ความยินยิม, สัตว์เลี้ยง

เมื่อกล่าวถึงคำว่า Consent (ให้ความยินยอม) หลาย ๆ อาจนึกถึงบริบทของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับ ความยินยอม ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล ยินยอมให้มีการผ่าตัด เป็นต้น

แต่ทราบหรือไม่ครับว่า จริง ๆ แล้ว เราก็สามารถนำแนวคิดเรื่องการขอ ความยินยอม หรือ Consent จากสัตว์เลี้ยงได้เช่นกัน โดยเราจะเรียกว่าเป็นการทำ Consent test หรือการทดสอบเพื่อดูว่า สัตว์เลี้ยงยินยอม หรือเต็มใจที่จะให้เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับพวกเขา หรือไม่

ในมนุษย์ การสอบถามความยินยอมเป็นลักษณะการสื่อสารผ่านภาษาที่เข้าใจได้ และลงลายมือชื่อเพื่อแสดงการให้ความยินยอมในเรื่องนั้น ๆ แต่ในสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้สื่อสารด้วยภาษามนุษย์ จึงต้องทำการทดสอบที่ต่างออกไป

ดังนั้น การทำ Consent test ในสัตว์เลี้ยงจึงใช้การสังเกตพฤติกรรมจากตัวสัตว์เป็นหลัก เพื่อแปลความหมายว่า สัตว์เลี้ยงของเรากำลังมีความต้องการสิ่ง ๆ นั้นหรือไม่

ความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสม และตอบสนองความต้องการของสัตว์ ทำให้สัตว์มีทางเลือก เกิดความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต และสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยง โดยตรง

ความยินยอม, การให้ความยินยิม, สัตว์เลี้ยง

การทดสอบความยินยอมของสัตว์เลี้ยง

วิธีการ Consent test กับสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำได้โดยให้เจ้าของทำสิ่งที่ต้องการจะทดสอบกับสัตว์เลี้ยงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหยุด เพื่อดูการตอบสนองของสัตว์

เช่น หากต้องการทดสอบว่า ณ ขณะนี้ แมวของเราอยากให้เกาคาง หรือไม่ เจ้าของควรเริ่มจากการเกาคางแมวสัก 2 – 3 ครั้ง แล้วหยุด หลังจากนั้นสังเกตการตอบสนองของแมว หากพบว่า แมวพยายามเอาหน้าเข้ามาใกล้มือเรา หรือเอาหน้ามาถูไถกับมือเรา หรือบางตัวอาจจะใช้เท้าหน้ามาแตะมือเรา นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ณ ขณะนั้น แมวกำลังต้องการให้เราเกาคางให้ต่อ

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเราหยุดเกาแล้ว แมวกลับนิ่งเฉย ไม่มีการแสดงพฤติกรรมออกมา หรืออาจจะมองไปทางอื่น หันหน้าไปทางอื่น บางตัวอาจจะลุกเดินหนีจากเราไป สัญญาณเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บอกให้เราทราบว่า แมวแมวไม่อยากให้เราเกาคางต่อนั่นเอง

สำหรับกรณีตัวอย่างในสุนัข

หากเราเราต้องการทดสอบว่า ณ ตอนนี้ สุนัขของเราอยากให้ลูบหัว หรือไม่ เจ้าของสามารถลองลูบหัวของสุนัขดูซักประมาณ 2 – 3 ครั้ง จากนั้นหยุด และสังเกตว่าสุนัขตอบสนองต่อสิ่งที่เราทำอย่างไร

หากสุนัขเอาหน้าเข้ามาใกล้มือเรามากขึ้น บางตัวอาจจะหน้ามาถู มาสัมผัสกับมือเรา สิ่งเรานี้เป็นสัญญาณที่บอกเราว่าสุนัขอยากให้เราลูบหัวต่ออีก แต่หากสุนัขยืนนิ่ง ไม่มองมาทางเรา หรือหันหน้าหนี บางตัวอาจจะเดินหนีออกไปเลย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้บอกให้เราทราบอย่างชัดเจนว่า ณ เวลานั้น สุนัขไม่ได้ต้องการให้เราลูบหัวแต่อย่างใด

เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็จะตอบสนองต่อสุนัขได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้สัตว์เกิดความเครียด หรือความกังวล ซึ่งก็จะเป็นการช่วยป้องกันปัญหาพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาได้ อย่างความก้าวร้าว เป็นต้น

ถึงแม้ว่า สัตว์เลี้ยงจะยินยอมตอบสนองตามความต้องการของเรา ไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะตอบสนองเราในรูปแบบเดิมตลอดไป เจ้าของควรทำการทดสอบความยินยอมอยู่เป็นระยะ เนื่องจาก สัตว์เลี้ยงอาจเปลี่ยนความรู้สึกเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น ในระหว่างที่เรากำลังใช้เวลากับพวกเขา ควรหมั่นสังเกตเขาอยู่เป็นระยะ เพื่อเปิดโอกาสให้สุนัขและแมวได้เลือกว่าจะหยุด หรือต้องการให้เราทำกิจกรรมนั้นต่อไป

ที่สำคัญ เมื่อเราเข้าใจพวกเขามากขึ้น สัตว์เลี้ยงก็จะรู้สึกไว้ใจในตัวเรามากยิ่งขึ้นเช่นกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการป้องกันการเกิดปัญหาพฤติกรรมในอนาคตต่อไป

บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง