การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา
การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง เป็นเรื่องพื้นฐานที่สัตว์เลี้ยงทุกตัวจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง และความเข้าใจจากเจ้าของ

แน่นอนครับว่าเราทุกคนย่อมต้องการทางเลือกในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างเลือกอาชีพ การงาน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ อย่างเลือกที่จะกินอะไร คุยกับใคร ไปไหน ไปยังไง เป็นต้น สัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง เป็นวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะได้แสดงออกตามสัญชาตญาณ

ลองคิดดูเล่นๆ ครับ ว่าถ้าชีวิตเราปราศจากทางเลือกอย่างสิ้นเชิง เราจะรู้สึกยังไง?

ทางเลือกเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การมีทางเลือกจะทำให้เรามีความรู้สึกว่าสามารถที่จะควบคุมชีวิตตัวเองได้ (sense of control) ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือก จะมีสุขภาพที่แข็งแรง และหายป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ ได้เร็วกว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองเลือกอะไรไม่ได้เลย

นอกจากนี้ยังพบว่า ในคนที่รู้สึกว่าตัวเองเลือกอะไรไม่ได้จะมีโอกาสเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่มีทางเลือกในชีวิต ปัจจุบัน ความรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้มากน้อยเพียงใด จึงมักถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

สำหรับการศึกษาพฤติกรรมสัตว์พบว่า ถ้าสัตว์เลี้ยงไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเองได้ จะส่งผลเชิงลบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก และถ้าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ สัตว์เลี้ยงอาจเกิดสภาวะที่คล้ายคลึงกับอาการซึมเศร้าในมนุษย์ และอาจถึงขั้นไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถแย่งกินอาหารกับตัวอื่น หรือมีปัญหาในการเข้าสังคม เป็นต้น

ดังนั้น การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยงของเราจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ โดยเจ้าของสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ทางเลือกกับน้องหมาน้องแมวของเรา

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา

ยกตัวอย่างเช่น

ลองสังเกตเมื่อเราจะเข้าไปเล่นกับพวกเขา โดยหากเราเดินเข้าหาแล้วสัตว์เลี้ยงของเราเดินหนี นั่นก็แสดงว่า ณ เวลานั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการจะเล่นกับเรา เราก็ควรจะเข้าใจ และเคารพการตัดสินใจ และอย่าไปฝืนใจ หรือบังคับให้พวกเขาต้องมาเล่นกับเรา เพราะนั่นเป็นหนทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ใช้เวลาเล่นด้วยกัน เราควรเปิดโอกาสให้สัตว์เลี้ยงมีทางเลือกที่จะหยุดเล่น หรือเดินหนีไปได้ทุกเมื่อ ไม่ควรไปบังคับ ล็อกตัว หรือจับอุ้มขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการทำให้สัตว์ไม่สามารถเดินหนีจากเราไปได้

ในสุนัขและแมวหลาย ๆ ตัว ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเวลาถูกอุ้ม ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากสาเหตุนี้ นั่นคือคือความรู้สึกไร้ทางเลือก ไม่มีทางหนี ไม่สามารถเดินออกจากเราได้ สัตว์จึงต้องใช้พฤติกรรมอื่น ๆ เท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น นั่นคือ การเห่า ขู่ แยกเขี้ยว ตบ ไปจนถึงการกัดเจ้าของ

การให้ทางเลือกแก่สัตว์เลี้ยง สามารถนำไปใช้ได้ในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นการพาสัตว์เลี้ยงไปทำกิจวัตรประจำวัน เช่น พาสุนัขไปเดินเล่น การอาบน้ำสุนัข และแปรงขนแมว เป็นต้น รวมไปถึงการเล่นสนุก และฝึกฝนสัตว์เลี้ยง

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา

การบังคับสัตว์เลี้ยงในกระบวนการฝึก

การฝึกสุนัขหรือแมวโดยใช้การบังคับให้ทำตามสิ่งที่เราต้องการ ไม่ได้หมายความว่าสัตว์เรียนรู้และยินดีที่จะทำตามเสมอไป แต่เป็นเพราะเค้าไม่มีทางเลือก จึงต้องยอมทำสิ่งที่เราต้องการ

ความรู้สึกสิ้นหวังเช่นนั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจ และคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง เป็นอย่างมาก ดังนั้น ไม่ว่าจะฝึกอะไรก็ตาม เราควรจะต้องมีทางเลือกให้สัตว์เสมอ

หากเราต้องการฝึกสัตว์เลี้ยง เราสามารถใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจให้สัตว์อยากได้ การฝึกในลักษณะนี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดการเรียนรู้ และเกิดความรู้สึกว่า เขาสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเขามีสุขภาพใจที่แข็งแรง เชื่อใจ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของ ปัญหาพฤติกรรรมต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง, การฝึกสุนัข, การฝึกน้องหมา

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้ทางเลือกแก่สัตว์เลี้ยง

การให้ทางเลือกกับสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่การตามใจสัตว์เลี้ยงมาเกินไป เช่น สุนัขเดินผ่านสระน้ำในสวน แล้วอยากกระโดดลงน้ำ เจ้าของก็ปล่อยให้ลงน้ำเลย หรือเจ้าของกำลังนั่งรับประทานอาหารอาหารอยู่ แล้วสุนัขกระโดดขึ้นมาบนโต๊ะเพื่อกินอาหารของเรา เจ้าของก็ปล่อยให้สุนัขสามารถทำได้ตามที่ต้องการ ตัวอย่างเหล่านี้คือการตามใจสัตว์เลี้ยงมากเกินไป

ในทางกลับกัน การให้ทางเลือกสัตว์เลี้ยง เป็นการกำหนดทางเลือกที่สัตว์เลี้ยงสามารถเลือกได้ โดยเป็นทางเลือกที่ผ่านการพิจารณามาแล้วว่า เราสามารถควบคุมได้ และไม่ส่งผลเสียต่อสัตว์เลี้ยง เช่น การเรียกให้สัตว์มาเล่นกับเรา ซึ่งไม่ว่าสัตว์จะมาหรือไม่มา ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียกับตัวสัตว์แต่อย่างใด เป็นต้น

ดังนั้น การให้ทางเลือกจึงไม่ใช่การตามใจสัตว์เลี้ยง หรือสปอยล์ แต่เป็นการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์เลี้ยงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของพยายามฝึกฝนด้วยการใช้แรงจูงใจเชิงบวกแล้ว แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือสุขภาพของตัวสัตว์เลี้ยง เจ้าของควรปรึกษาสัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมสัตว์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างแรงจูงใจ ที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงของเราให้ความร่วมมือกับการทำสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นเหล่านั้น ด้วยความเต็มใจ

บทความโดย อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การฝีกสุนัขด้วยการให้รางวัล