แมวเป็นหวัด หายเองได้ หรือไม่

แมวเป็นหวัด และไม่สบาย ได้เหมือนกับมนุษย์ แล้วน้องหายเองได้ไหมนะ หรือต้องพาไปพบสัตวแพทย์ คำตอบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสุขภาพแมว ชนิดของเชื้อก่อโรค และปริมาณเชื้อที่ได้รับ

แมวเป็นหวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจของแมว เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เนื่องจากการเปลี่ยนฤดูกาล

สาเหตุที่ทำให้น้องแมวเป็นหวัด

โรคหวัดแมวเกิดจากเชื้อไวรัส Feline herpes virus (FHV-1) และ Feline calicivirus (FCV) นอกจากนี้ยังมีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เช่น Bordetella bronchiseptica, Chlamydia spp., Mycoplasma spp. และเชื้อไวรัสกลุ่มอื่นที่ทำให้ก่อโรคได้ เช่น Reovirus และ Cowpox เป็นต้น โดยปกติแล้วมักพบการติดเชื้อที่ร่วมกันมากกว่า 1 ชนิดและก่อให้เกิดอาการที่แสดงออกของโรค

แมวเป็นหวัด, หายเองได้ไหม, ทำอย่างไร, ต้องไปหาหมอ, โรคติดเชื้อในแมว
ภาพถ่าย Malek Dridi on Unsplash

อาการของโรคหวัดแมว

อาการโรคหวัดของน้องแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของเชื้อ ปริมาณเชื้อที่ได้รับ ระดับภูมิคุ้มกันของแมวแต่ละตัว รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูเป็นต้น

สำหรับน้องแมวที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายในระดับดี หากติดเชื้อไม่รุนแรงจะไม่แสดงอาการเลย หรือแสดงอาการน้อย และสามารถหายเองได้

ส่วนน้องแมวที่แสดงอาการของโรคอย่างชัดเจน ผู้ปกครองควรนำน้องไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง

น้องแมวเป็นหวัดจะแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้ มีน้ำมูก ไอ จาม หายใจติดขัด ตาอักเสบ มีแผลหลุมในช่องปาก ช่องปากอักเสบ มีไข้ ซึม และเบื่ออาหาร เป็นต้น

แมวเป็นหวัด, หายเองได้ไหม, ทำอย่างไร, ต้องไปหาหมอ, โรคติดเชื้อในแมว
ภาพถ่าย Malek Dridi on Unsplash

โดยเชื้อก่อโรคแต่ละชนิดส่งผลให้อาการของน้องแมวแตกต่างกันออกไป หากแมวติดเชื้อ Feline herpes virus (FHV-1) จะทำให้แมวเกิดอาการตาอักเสบ มีแผลที่กระจกตา ลักษณะเป็น dendritic ulcer มีแผลหลุมที่บริเวณปลายจมูก มีน้ำมูกและเสมหะ มีไข้ เบื่ออาหาร มีภาวะน้ำลายไหลมาก (hypersalivation) มีการติดเชื้อที่ปอด และเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้ หากการติดเชื้อ FHV-1 เกิดในลูกแมว จะแสดงอาการผิดปกติรุนแรงจนอาจทำให้ตาบอดทั้งสองข้าง หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ส่วนการติดเชื้อ Feline Calicivirus (FCV) ทำให้แมวเกิดอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม สำหรับอาการที่เด่นชัดที่สุดคือ แผลหลุมบนลิ้น ช่องปากอักเสบ แผลในช่องปากจะทำให้แมวกินอาหารลำบาก ความอยากอาหารลดลง และอาการเดินกระเผลกแบบเฉียบพลันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ (Limping syndrome) เป็นต้น

สำหรับไวรัส FCV มีรายงานว่า เชื้อไวรัสในกลุ่มนี้มีสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรง ชื่อ virulent systemic feline calicivirus ซึ่งทำให้ร่างกายของน้องแมวเกิดความผิดปกติรุนแรง มีการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคหวัดแมว อาการส่วนใหญ่ที่พบ เช่น ซึม ไอ จาม มีน้ำมูก เบื่ออาหาร มีเยื่อบุตาอักเสบบวม เชื้อแบคทีเรียบางชนิดยังสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างของแมวได้

แมวเป็นหวัด, หายเองได้ไหม, ทำอย่างไร, ต้องไปหาหมอ, โรคติดเชื้อในแมว
ภาพถ่าย Alexander Possingham on Unsplash

แนวทางการป้องกันโรคหวัดแมว

การป้องกันโรคหวัดแมวสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มทำวัคซีนป้องกันโรคหวัดแมวได้ เมื่ออายุครบ 8 สัปดาห์ กระตุ้นทุก 3-4 สัปดาห์ จนครบ 3 เข็ม จากนั้นทำวัคซีนเป็นประจำทุกปี

ผู้ปกครองควรจัดสภาพแวดล้อมเลี้ยงดูให้ไม่หนาแน่นจนเกินไป ซึ่งอาจก่อความแออัด และเป็นสาเหตุของความเครียด หากนำน้องแมวตัวใหม่เข้าบ้าน ผู้ปกครองควรแยกเลี้ยงจากแมวตัวเดิมก่อน เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 7-14 วัน

สำหรับในบ้านที่มีแมวหลายตัว และแมวแสดงอาการเจ็บป่วย ผู้ปกครองควรแยกเลี้ยงจากแมวที่ไม่ป่วย ดูแลทำความสะอาดบริเวณสิ่งแวดล้อม และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่แมวอาศัยอยู่

โรคหวัดแมวเป็นโรคที่พบได้บ่อยแต่ก็สามารถป้องกันและดูแลน้องแมวของเราให้ปลอดภัยได้ เพื่อลดโอกาสความรุนแรงการเกิดโรคได้ค่ะ

เรื่อง สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ แมวซึมและอาเจียน อาการเบื้องต้นของโรคไข้หัดแมว