โครงการจัดทำพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาสวน 15 นาที

ปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง หรือที่ทำกิจกรรมออกกำลังหรือพักผ่อนหย่อนใจได้มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบาย “สวน 15 นาที” ทำให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ สวนสาธารณะขนาดเล็กรอบกรุงเทพฯ ได้ด้วยการเดิน 

โดยกำหนดเป้าหมายการเข้าถึง สวนสาธารณะขนาดเล็กรอบกรุงเทพฯ ของประชาชนภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Pop-up Park คืออะไร ?

การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (Pop-up Park) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพัฒนาสวน 15 นาทีผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Park Coaching & Park Clinic) ที่ดำเนินการโดยกลุ่ม we!park (we!park แพลทฟอร์มที่ชวนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสวนในเมือง) และโครงการเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance) โดยได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร

ผลจากการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ออกมาเป็นแผนการพัฒนาสวน 15 นาที 50 เขต 50 พื้นที่ จากนั้นจึงได้มีการนำแผนดังกล่าวมาคัดเลือกตามความพร้อมของพื้นที่และบุคลากรเกิดเป็น “โครงการจัดทำพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาสวน 15 นาที” ทั้งหมด 24 พื้นที่ เพื่อให้ผลงานการออกแบบได้ถูกนำมาทดสอบการใช้งานโดยผู้ใช้งานจริงในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างจริง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการรับรู้ถึงพื้นที่ สวนสาธารณะขนาดเล็กรอบกรุงเทพฯ แห่งใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดย 24 พื้นที่จะถูกแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นให้เหมาะสมกับศักยภาพ และบริบทของพื้นที่ที่จะถูกนำมาจัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. กลุ่มการพัฒนาชุมชนสุขภาวะ (Community & Well-being)

เป็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างสุขภาวะที่ดีให้ชุมชน โดยมี สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนา ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตสาทร เขตบางกะปิ และเขตบางซื่อ

พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกศรีกรีฑา เขตบางกะปิ ขนาด 10 ไร่

2. กลุ่มการพัฒนาเส้นทางสัญจร (Mobility & Connectivity)

เน้นการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการสัญจรภายในเมือง และการส่งเสริมการเดินเท้าและจักรยาน โดยมี Healthy Space Forum เป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตธนบุรี และเขตลาดกระบัง

ลู่วิ่งสีสันสดใสใต้ทางยกระดับ ถนนราชพฤกษ์ แยกตากสิน

3. กลุ่มการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว (Blue-Green Infrastructure)

เป็นการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายคูคลองให้เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การแก้ปัญหามลภาวะทางน้ำควบคู่กับการฟื้นฟูวิถีชีวิต “ชาวน้ำ”ที่เหมาะสม กับบริบทของเมืองในปัจจุบัน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณิศา บุญค้ำ จากสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตคันนายาว เขตตลิ่งชัน เขตหนองจอก และเขตคลองเตย

กิจกรรมพายเรือ เรียนรู้วิถีชีวิตริมน้ำ ในพื้นที่เขตคันนายาว

4. กลุ่มการพัฒนาเชิงนิเวศวิทยา (Biodiversity Values)

เน้นการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาต้นแบบกลไกแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ภูมิทัศน์เมือง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตบางบอน เขตจอมทอง เขตบึงกุ่ม และเขตบางเขน

กิจกรรม Eco walk นำโดยคุณปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักธรรมชาติวิทยา Ari Around พร้อมคนในชุมชนเขตบางบอน

5. กลุ่มการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแหล่งอาหาร (Urban Agriculture)

เน้นการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกษตร พื้นที่สีเขียวกินได้ทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เมือง  โดยคุณโชคชัย หลาบหนองแสง ผู้จัดการโครงการ g Garden และคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence (UDDC) เป็นที่ปรึกษาเชิงประเด็นในหมวดงานนี้ ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตลาดพร้าว เขตวัฒนา เขตดอนเมือง และเขตสายไหม

ส่วนหนึ่งของกิจกรรมสาธิตเมนูอาหารจากพืชพรรณในสวนเขตลาดพร้าว

6. กลุ่มการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Activity)

เน้นการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย การนำกิจกรรมสร้างสรรค์มากระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานในพื้นที่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตพระนคร เขตยานนาวา และเขตบางกอกน้อย

กิจกรรมออกกำลังกาย โดยงานสร้างเสริมสุขภาพศิริราช (Siriraj Fitness Center) ในสวนจิ๋ว เขตบางกอกน้อย
พื้นที่สวนริมคลองคูเมืองเดิม ย่นปากคลองตลาด เขตพระนคร

นิตยสาร บ้านและสวน ปี 2566 ฉบับที่ 568
เรื่อง : we!park
ภาพ : we!park, คลังภาพบ้านและสวน