ความสมบูรณ์ของนิเวศเกษตร ในศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง

จังหวัดสระบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรม ด้วยสภาพพื้นที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบชลประทานทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเหมาะสม

แต่ความสมบูรณ์นี้ก็ไม่ต่างกับดาบสองคมเมื่อการทำนาที่สามารถทำได้หลายรอบ มาพร้อมความถี่ของการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ในระยะยาว แต่การทำเกษตรอินทรีย์ จะเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญที่รักษานิเวศทางธรรมชาติให้คงอยู่ได้

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งก่อตั้งโดย Gulf Energy Development คือพื้นที่เกษตรอินทรีย์ต้นแบบที่อยู่ร่วมกับชาวบ้านตำบลหนองกบมานานกว่า 8 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงไฟฟ้าหนองแซงเมื่อปี 2558 จากความตั้งใจสร้างพื้นที่ 42 ไร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรให้กับชุมชนรอบข้างซึ่งล้วนแต่ทำอาชีพเกษตรกรรม โดยมุ่งเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เน้นจัดการพื้นที่และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการพึ่งพาตนเองไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งต่อยอดให้เป็นโครงการต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้านการเกษตร เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และถ่ายทอดไปยังชุมชนในพื้นที่

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต GULF

ผลสำเร็จจากความตั้งใจจริงในการสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ แห่งนี้ ได้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่หมุนเปลี่ยนมาเยือนแปลงนาตามธรรมชาติ แตกต่างในแต่ละฤดู ด้วยการจัดการพื้นที่จนเกิด “นิเวศเกษตร” ที่พึ่งพาจุนเจือกันทางธรรมชาติ

คำนิยามของ ระบบนิเวศเกษตร (Agricultural Ecosystems) คือ ระบบการผลิตพืช สัตว์ ประมง และป่าไม้ ที่มนุษย์ได้กระทำให้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ แลกเปลี่ยนและค้าขาย โดยมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ สิ่งมีชีวิต ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ พืช และอีกองค์ประกอบคือสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ น้ำ ดิน อากาศ และแสงแดด ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมไปถึงปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและการเมือง ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันที่ทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศเกษตร*

*อ้างอิง กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นิเวศเกษตรภายในศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ โรงไฟฟ้าหนองแซง ได้ผลิดอกออกผลเป็นผักปลาอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในทุกฤดูกาลนั้น ล้วนผ่านการจัดสรรให้เกิดการเกื้อกูลทั้งมนุษย์ พืช สัตว์ และธรรมชาติ ด้วยการทำเกษตรผสมผสานและผูกยึดจิตใจด้วยประเพณีดั้งเดิมของชาวนาเข้าไว้ด้วยกัน

เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ด้วยอาหารจากแปลงนา

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี อีกหนึ่งพื้นที่เลี้ยงสัตว์เพื่อเก็บไข่ เป็นแหล่งผลิตอาหารได้เองของศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ ที่นี่เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี หรือ Cage Free เป็นการเลี้ยงอิสระในโรงเรือนแบบปิด มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ปลอดภัย แม่ไก่จะได้อิสระในการดำเนินชีวิต มีพื้นที่ให้คุ้ยเขี่ยคลุกฝุ่น (Dust Bathing) ทำให้แม่ไก่สุขภาพดี ไม่เกิดความเครียด ส่งผลดีต่อปริมาณและคุณภาพของไข่ไก่ 

ที่นี่เลี้ยงแม่ไก่พันธุ์ Hybrid Hy-Line Brown อายุ 6 เดือน จำนวน 50 ตัว โดยจะเริ่มออกไข่เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง ทำให้ได้ไข่ประมาณ 45-50 ฟองต่อวัน อาหารหลักของแม่ไก่คือ หนอนแมลงวันลาย นักย่อยสลายเศษอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ซึ่งมาจากการเพาะเลี้ยงเองในพื้นที่แปลงนา โดยใช้เศษปลายข้าว ข้าวหัก จากการเก็บเกี่ยวข้าว และเศษพืชผักที่ปลูกเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เมื่อเข้าสู่ระยะดักแด้จึงนำมาเป็นอาหารให้อาหารแม่ไก่ได้กิน ต้นทุนอาหารไก่จึงเกือบเป็นศูนย์แต่สามารถผลิตไข่ไก่คุณภาพดีได้ทุกวัน

โรงเรือนเลี้ยงไก่ทำจากไม้ไผ่ที่ปลูกเองเป็นส่วนประกอบ มีโครงสร้างที่แข็งแรงเพื่อให้ทนกับสภาพอากาศในพื้นที่ที่มีลมกระโชกแรง และป้องกันสัตว์ร้ายเข้ามาทำร้ายไก่ได้ มีการดัดแปลงยางรถเก่าวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นรังวางไข่ให้กับแม่ไก่ด้วย

ไส้เดือน นักพรวนดินตัวจิ๋วที่มีประโยชน์มหาศาล

โรงเรือนไส้เดือน เป็นหนึ่งวิธีจัดการฟางข้าวจากแปลงนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก้ปัญหาการเผาฟางอันเป็นสาเหตุของฝุ่น Pm 2.5 โดยคิดค้นสูตรอาหารไส้เดือนที่ใช้ฟางข้าวจากแปลงนาหมักกับ EM (Effective Microorganisms) ทิ้งไว้ 10-14 วัน แล้วนำมาผสมมูลวัวนมก่อนนำมาใช้เป็นอาหารไส้เดือน ทดแทนการใช้มูลวัวนมที่มีราคาสูงและหาได้ยาก

มูลไส้เดือนใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งเป็นปุ๋ยให้ธาตุอาหารกับพืชผักสวนครัวในแปลงผัก ใช้แช่บ่มเมล็ดข้าวและรดต้นกล้าข้าวนาโยนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบรากก่อนโยนต้นกล้าในแปลงนา ทั้งช่วยให้ต้นกล้าข้าวต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น เมื่อต้นข้าวเติบโตถึงระยะเก็บเกี่ยวจะได้เศษฟางข้าวจะหมุนกลับมาเป็นอาหารของไส้เดือนอีกครั้ง

พันธุ์ข้าวอินทรีย์ในแปลงนาที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาล

ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีลมแรงและเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมแปลงนาเสมอ พันธุ์ข้าวที่ปลูกจึงหมุนเปลี่ยนในแต่ละปีเพื่อให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ในปี 2566 ที่นี่ปลูกข้าวด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม ข้าวเจ้ามาลัยแมน ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ทนน้ำท่วมสูง ทนโรคและแมลงได้ดี เก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม และข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะกับพื้นที่ลุ่มน้ำ เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน

การทำนาของที่นี่จะใช้วิธีทำนาโยน เป็นวิธีที่เหมาะกับพื้นที่มากที่สุด เนื่องมาจากปัญหาเรื่องหอยเชอร์รี่กัดกินต้นกล้า การทำนาโยนจะใช้ต้นกล้าข้าวอายุ 14 วัน ซึ่งเลยระยะอาหารของหอยเชอร์รี่ไปแล้ว จึงช่วยลดความเสียหายในนาข้าวได้ดี ตอซังข้าวที่เหลือจากการเกี่ยวข้าวถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยการไถกลบในแปลงนาเพื่อปรับปรุงดินก่อนเริ่มทำนารอบใหม่ ใช้เป็นอาหารไส้เดือน ใช้รองพื้นเล้าไก่  และใช้คลุมหน้าดินในแปลงผักเพื่อเก็บรักษาความชื้น

พืชผักปลูกสลับตามฤดู มีกินทั้งปี

โซนแปลงผักของที่นี่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เน้นปลูกผักที่ได้ใช้ประโยชน์ ปลูกง่าย เหมาะกับพื้นที่ ไปจนถึงทดลองปลูกพืชใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผักกินใบ ผักกินผล ไม้ผล ดอกไม้กินได้

การใช้ประโยชน์จากพืชผักให้คุ้มค่า ไม่ใช่แค่ปลูกเพื่อรับประทานเท่านั้น แต่หลายๆ ชนิดทำหน้าที่มากกว่า 1 บทบาท ไม่ว่าจะเป็นอัญชัน 4 สีที่นอกจากปลูกเพิ่มความสวยงาม ใช้ประโยชน์ในเมนูอาหาร แล้วยังเป็นอาหารเสริมให้กับแม่ไก่ในเล้าได้อีกด้วย

ดอกไม้ในแปลงปลูก นอกจากความสวยงามเพลิดเพลินตา ล่อแมลงมาผสมเกสรให้พืชผักต่างๆ ดอกไม้ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังเน้นเป็นดอกไม้กินได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในเมนูอาหาร เช่น บีโกเนีย เทียนญี่ปุ่น คุณนายตื่นสาย ดาวเรืองฝรั่งเศส รวมถึงดอกบัวที่เติบโตตามธรรมชาติในคลองน้ำ

เริ่มใช้พลังงานสะอาดเพื่อทำเกษตร

เครื่องเติมอากาศกังหันตีน้ำจากพลังงานโซลาเซลล์ เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นในการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดในการบริหารจัดการภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยติดตั้งในสระเก็บน้ำ หมุนเติมออกซิเจนให้น้ำสะอาดเพื่อใช้ในแปลงเกษตรและเป็นที่อยู่ของปลาที่เลี้ยงในสระด้วย

แมลงปอ ดัชนีชี้วัดคุณภาพของแหล่งน้ำ ซึ่งตัวอ่อนของแมลงปอจะอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดเท่านั้น ตัวเต็มวัยทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืช อย่าง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนชนิดต่างๆ ไปจนถึง ยุง ริ้น แมลงหวี่ แมลงวัน
ผีเสื้อเข้ามาดูดดื่มน้ำหวานจากดอกไม้ ช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ
นกกระจาบทอง นกประจำศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ ที่จะย้ายตำแหน่งสร้างรังไปตามจุดต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้
จั๊กจั่นงวง อีกหนึ่งแมลงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แปลงนา

สายสัมพันธ์และความผูกพันกับชาวบ้านรอบพื้นที่

ไม่ใช่แค่องค์ความรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ที่ส่งต่อไปยังชุมชนในพื้นที่รอบข้าง เช่น เปิดให้เข้ามาศึกษาดูงาน จัดอบรมเสริมทักษะ หรือเปิดให้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ในทางกลับกันกลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาสร้างสายสัมพันธ์อันดีเหล่านี้ก็ได้นำ ‘ธรรมเนียมประเพณีและวิถีชุมชน’ เข้ามาเสริมสร้างให้ศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ มีวัฒนธรรมอันงดงามเกิดขึ้น

พิธีทำขวัญข้าว เพื่อเป็นการบอกกล่าวพระแม่โพสพ ซึ่งถือเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าวในนา จัดพิธีในช่วงแรกของการทำนา โดยชาวนาจะนำตาแหลวไปปักไว้ที่หัวนา และขอบูชาพระแม่โพสพให้รับเครื่องสังเวย

พิธีเรียกขวัญพระแม่โพสพ เป็นพิธีระลึกถึงคุณของพระแม่โพสพ จัดพิธีในช่วงเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น โดยจะนำข้าวไปกองที่ลานเพื่อนวดข้าวและทำพิธีเชิญขวัญข้าวสู่ลาน

เทศกาลลงแขกเกี่ยวข้าว “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นำโดย คุณธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ความเกี่ยวพันเป็นวงกลมของมนุษย์ พืช สัตว์ ที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน ภายในศูนย์การเรียนรู้เกษตรฯ แห่งนี้ ได้เกิดเป็นนิเวศเกษตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงชุมชนชาวบ้านที่หยิบยื่นฉันทไมตรีและศาสตร์ความรู้มาแลกเปลี่ยน เกิดองค์ความรู้การทำเกษตรในหลากหลายมิติ และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำเกษตร ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-080-4325