ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านอย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิต

เชื่อว่าหากพูดถึง “ โซลาร์เซลล์ ” ในทุกวันนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ถูกพัฒนาให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยในประเด็นของการลดค่าไฟแล้ว ยังตอบโจทย์สำหรับบ้านไหนที่ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานสะอาดของโลกอนาคตอีกด้วย 

เราเลยขอพาคุณไปดูภาพรวมของการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ ที่บ้านกันว่ามีหลักการหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งบอกเลยว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านไม่ยากอย่างที่คิด

ใช้ไฟฟ้าตอนไหนถึงจะเหมาะสมที่สุด

มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะคุ้มที่สุดคือตอนกลางวันที่มีแสงแดด กล่าวคือแสงอาทิตย์นั้นจะถูกนำมาใช้เป็นไฟฟ้าในบ้านได้ทันทีแบบไม่ต้องกักเก็บ ซึ่งทำให้คุณสามารถเปิดเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์สภาพภูมิอากาศของบ้านเราได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องกลัวเปลือง เหมาะกับบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยทั้งวัน บ้านที่เป็นโฮมออฟฟิศ อาคารสำนักงาน รวมไปถึงร้านค้าต่างๆ 

หากถามว่าใช้ตอนกลางคืนได้ไหม บอกเลยว่าได้แต่จะเป็นรูปแบบของการที่เก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในตัวแบตเตอรี่ แล้วค่อยแปลงออกมาใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์แทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ไฟฟ้าด้วย ว่าที่บ้านใช้ไฟกลางวันหรือกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเลือกระบบให้เหมาะกับการใช้งาน

ระบบโซลาร์เซลล์มีกี่แบบ

เพราะรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันระบบโซลาร์เซลล์จึงแบ่งออกเป็นหลายระบบ เพื่อให้รองรับกับการใช้งานแต่ละแบบ แต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด โดยแบ่งออกได้ 3 ระบบ ดังนี้

1. ระบบออนกริด (On Grid) สำหรับคนที่อยู่บ้านทั้งวันหรือเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา โดยระบบนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้เลย ไม่มีแบตเตอรี่ และสามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ ทำให้คืนทุนเร็วและเป็นที่นิยมมากที่สุด

2. ระบบออฟกริด (Off Grid) สำหรับพื้นที่ห่างไกล กล่าวคือเป็นระบบที่ไม่ต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า  จึงไม่ต้องขออนุญาต  ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่ไฟจากการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น พื้นที่บนดอยสูง พื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล

3. ระบบไฮบริด (Hybrid) สำหรับใช้ไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

ลูกผสมระหว่างระบบ Off Grid กับ On Grid  กล่าวคือเป็นการใช้ไฟทั้งจากการไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ในเวลากลางวัน แต่หากวันนั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าที่ใช้ไป ไฟที่เหลือก็จะถูกนำไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ แล้วค่อยดึงมาใช้ในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่ไฟตกได้ 

แผงโซลาร์เซลล์ทำมาจากอะไรบ้าง

โซลาร์เซลล์ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประเภทโซลาร์เซลล์ ราคาโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์เซลล์ก็เหมือนแม่เหล็กที่คอยดึงดูดแสงอาทิตย์ ซึ่งแผงนี้ก็ผลิตจากวัสดุที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แต่ละตัวที่คุณสมบัติในการดูดแสงที่แตกต่างกันไปด้วย ยิ่งมีจำนวนหลายๆ เซลล์มาต่อกันก็ยิ่งเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยองค์ประกอบหลักของแผงทำมาจากผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยในปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้งานมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

1.โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline Silicon Solar Cell) ชนิดนี้มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์สูงสุด ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น แม้อยู่ในภาวะแสงแดดน้อย สังเกตได้จากสีของแผงที่มีความเข้มและลักษณะของเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ลบมุมทั้งสี่ออก 2.พอลิคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline Silicon Solar Cell) เป็นชนิดที่มีปริมาณของซิลิคอนน้อยกว่า และกระบวนการผลิตเป็นการเทซิลิคอนเหลวลงในแม่พิมพ์สี่เหลี่ยมเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นค่อยตัดแบ่ง ตัวแผงจะเป็นสีน้ำเงินที่เข้มน้อยลงมา

3.โซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง หรือ อะมอร์ฟัสโซลาร์เซลล์ (Amorphous Solar Cell) เป็นการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้น จนเกิดเป็นเหมือนฟิล์มบาง ๆ ซึ่งชนิดนี้มีราคาถูกที่สุดแต่ก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยที่สุดด้วย

มีรถยนต์ไฟฟ้า EV ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ไหม

บอกเลยว่าได้ สามารถใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เช่นเดียวกัน แต่อยู่บนหลักการที่ว่าควรชาร์จเวลากลางวันที่มีแสงแดด เพราะหากจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่กักเก็บไว้สำหรับชาร์จตอนกลางคืนนั้น จะค่อนข้างใช้ไฟจำนวนมากซึ่งอาจจะไม่รองรับกับจำนวนของก้อนแบตเตอรี่ที่ต้องมีมากตามไปกด้วย เพราะต้องลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มอีก 

วิธีการเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสู่ไฟฟ้าพร้อมใช้

โซลาร์เซลล์ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประเภทโซลาร์เซลล์ ราคาโซลาร์เซลล์

จากที่กล่าวมาแล้วว่าหากคุณไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวัน แล้วต้องการเก็บไฟฟ้ามาใช้ในตอนกลางคืน จึงต้องอาศัยพระเอกอย่าง “อินเวอร์เตอร์” หรือ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แล้วส่งไปที่ตู้ไฟฟ้าหรือตู้เบรกเกอร์ สำหรับจ่ายไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างปลอดภัย โดยอินเวอร์เตอร์มีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ 

1.สตริงอินเวอร์เตอร์ (String Inverter) เป็นการติดตั้งแบบอนุกรม กล่าวคือทุกแผงจะต่อรวมแรงดันไฟฟ้ามาที่อินเวอร์เตอร์ตัวใหญ่ตัวเดียวควบคุมที่จุดเดียวทำให้ดูแลง่าย 

2.ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Inverter) เป็นการติดตั้งแยกย่อยติดอยู่ใต้แต่ละแผง โดยไมโครอินเวอร์เตอร์ 1 ตัวจะต่อกับแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง เป็นการแปลงกระแสไฟฟ้าแบบอิสระต่อกัน หากแผงหนึ่งเสียอีกแผงก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ 

ติดตั้งอย่างไรให้เหมาะสม

โซลาร์เซลล์ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประเภทโซลาร์เซลล์ ราคาโซลาร์เซลล์

เมื่อหลักการของโซลาร์เซลล์คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นทิศทางและตำแหน่งของบ้านจึงส่งผลต่ออัตรการการรับแดดในแต่ละวันด้วย โดยตามธรรมชาติดวงอาทิตย์จะเคลื่อนตัวจากตะวันออกอ้อมใต้ไปทางฝั่งตะวันตก ทำให้ทิศใต้และตะวันตกเป็นทิศที่ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด จึงควรติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับหลังคาฝั่งนั้น  โดยการติดตั้งแผงที่ดีควรเผื่อพื้นที่ว่างไว้ในพื้นที่ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 20 % ของพื้นที่ที่จะติดตั้งเพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

สำหรับใครที่กำลังมองหาทีมงานมืออาชีพ พร้อมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.asolar.co.thหรือ โทร. 02-0605355