บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น

บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น ที่ท้าทายวิศวกรรมโครงสร้างด้วยการออกแบบให้ไร้คาน

บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น
บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น

บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น ซึ่งโดดเด่นด้วยส่วนชายคาที่ยื่นออกจากตัวบ้าน ช่วยพรางหลังคาให้ดูแบนราบ ป้องกันแดดและฝนได้ ที่สำคัญเจ้าของบ้านต้องการบ้านที่ปราศจากคาน งานหนักจึงตกอยู่ที่การออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง ซึ่งต้องทำให้ทั้งภายนอกและภายในบ้านมองไม่เห็นคาน

บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น
ตัวบ้านออกแบบให้มีรูปทรงเรียบตรง เห็นแต่เส้นหนาของพื้นระเบียงกับชายคาเท่านั้น สังเกตว่ากรอบกระจกจะชนกับคอนกรีตพอดี และมองไม่เห็นแนวคานเลย
บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น
แนวชายคาที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านช่วยบังแสงแดดตั้งแต่ช่วงสายเป็นต้นไป โดยจะมีแสงแดดส่องตรงเข้าบ้านเฉพาะตอนเช้าเท่านั้น เส้นแนวชายคายังช่วยพรางหลังคาได้มิดชิดจนดูเหมือนหลังคานั้นแบนราบ

หากยืนมอง บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น หลังนี้จากภายนอก คงสันนิษฐานกันเอาเองว่าบ้านน่าจะมีขนาดใหญ่พอสมควร แต่เมื่อเข้าไปด้านในกลับพบบ้านที่สร้างบนที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเพียง 96 ตารางวา ซึ่งบังคับให้ต้องวางผังตัวบ้านในทิศทางดังที่ปรากฏ โชคดีที่ตั้งอยู่ในทิศที่แสงแดดไม่ส่องตรงจนเกินไป ปริมาณแสงจ้าที่เข้าสู่ตัวบ้านจึงไม่มากนัก ทำให้บ้านนี้มีภาวะน่าสบายและน่าอยู่

รูปทรงของ บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น สองชั้นหลังนี้ออกแบบให้ดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมาในรูปแบบโมเดิร์น ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน Dr. William L. Aldis และ คุณธารทิพย์ การุณศิริ ที่เด่นสะดุดตาก็คือส่วนชายคาที่ยื่นออกจากตัวบ้าน ช่วยพรางหลังคาให้ดูแบนราบ ทั้งยังป้องกันแดดและฝนได้ด้วย

บันไดคอนกรีต
บริเวณโถงบันได จะเห็นว่าขอบบนของประตูชิดกับชานพักกลางบันไดพอดี ไร้คานและเสามารับ
ผนังกั้นแสง (บางส่วน) ทำแผงคอนกรีตรูปตัวแอล (L) เป็นผนังกั้นแสงแดดบางส่วนในช่วงเช้า ขณะที่ช่วงสายแผงชายคาด้านบนจะช่วยบังแดดให้อีกทาง บริเวณนี้จึงได้รับแสงสว่างตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกร้อนมากนัก
พื้นชนผนัง บริเวณโถงบันไดซึ่งออกแบบให้พื้นชั้นบนชนกับขอบบนของผนังชั้นล่างแบบพอดิบพอดี เพื่อช่วยอำพรางคาน ทำให้บ้านดูโล่งสบายตา
บ้านปูนเปลือย
แนวแผงคอนกรีตที่ล้อมโถงบันไดเป็นรูปตัวแอล (L) ซึ่งชนกับผนังห้อง โดยเว้นช่องแสงทั้งด้านบนและล่าง ไร้เสาและคานมารับอีกเช่นกัน ใช้เป็นผนังทึบที่ช่วยกั้นแสงแดดบางส่วนได้ดี
ห้องรับแขกสไตล์จีน
ส่วนรับแขกจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์จีนที่มีลวดลายแต่พองาม ในช่วงเช้ามีแสงแดดส่องเข้าได้บางส่วน ถึงช่วงสายก็จะถูกแนวระเบียงชั้นบนบังแดดให้บริเวณนี้จึงได้รับแสงสว่างแต่ไม่ร้อน
ครัวสเตนเลส
ครัวนี้ทำหลังจากที่ตัวบ้านสร้างเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านเลือกใช้ชุดครัวสเตนเลส ซึ่งใช้งานหนักได้ดีและทำความสะอาดง่าย ต่อเนื่องกันเป็นมุมรับประทานอาหาร จัดวางโต๊ะเก่าที่ขยายความยาวได้ สำหรับรองรับแขกได้อย่างเพียงพอ

แรกทีเดียวเจ้าของบ้านต้องการบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก แต่จากประสบการณ์ที่มีบ้านไม้อยู่แล้วและตั้งอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกัน ทำให้ต้องเปลี่ยนใจในภายหลัง เพราะบ้านไม้ต้องดูแลค่อนข้างมาก เมื่อเจ้าของบ้านได้
พูดคุยกับสถาปนิก พร้อมอธิบายความต้องการเพิ่มเติมว่าบ้านใหม่ที่จะสร้างต้องเป็นที่อยู่ถาวร วัสดุที่ใช้ควรทนทานและอยู่ได้นาน ไม่ต้องปรับเปลี่ยนบ่อยๆ สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการอีกประการหนึ่งก็คือ บ้านต้องปราศจากคาน งานหนักจึงตกอยู่ที่การออกแบบวิศวกรรมโครงสร้าง ซึ่งต้องทำให้ทั้งภายนอกและภายในบ้านมองไม่เห็นคาน วัสดุหลักที่ใช้คือคอนกรีตเกือบทั้งหลัง เว้นเฉพาะประตู หน้าต่าง และช่องแสงที่กรุกระจกใส ส่วนไม้ใช้ปูพื้นและกรุเพดานโดยเลือกไม้เก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว

มุมทำงาน
มุมทำงานหน้าบันไดชั้นบนอยู่ในตำแหน่งที่แสงแดดไม่ส่องเข้ามาโดยตรง เพราะมีผนังคอนกรีตปิดกั้น แต่ยังได้ความปลอดโปร่งจากผนังกระจก จึงทำให้บริเวณนี้ดูไม่อึดอัด
ถัดจากมุมทำงานเข้าไปเป็นพื้นที่ว่าง แบ่งส่วนหนึ่งเป็นมุมนั่งชมโทรทัศน์ ผนังด้านหนึ่งเป็นแนวตู้หนังสือไม้เก่า เข้ากันได้ดีกับพื้นไม้จากบ้านเก่าและเพดานไม้ระแนงตีเว้นร่อง ซึ่งต่างก็มีร่องรอยที่ผ่านการใช้งานมานาน
ห้องนอนไม้
ห้องนอนใหญ่ชั้นบนมีไว้สำหรับนอนเท่านั้น จึงจัดวางเพียงเตียงไม้เสาประทุน ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่สะท้อนความเป็นบ้านเชียงใหม่ในอดีต รวมถึงตู้คอนโซลไม้
ทั้งหมดคุมโทนไม้สีเข้ม ให้บรรยากาศสงบนิ่งเหมาะแก่การพักผ่อน
ห้องน้ำปูนเปลือย
ห้องน้ำในห้องนอนใหญ่เน้นการตกแต่งแบบเรียบเช่นกัน เลือกใช้สุขภัณฑ์รูปทรงทันสมัยและเกลี้ยงเกลา ผนังกระจกใสด้านข้างเปิดรับแสงสว่างในช่วงกลางวันเพื่อไม่ให้ห้องเกิดความอับชื้น

บ้านหลังนี้จึงได้รับการออกแบบอย่างแยบยล โดยเฉพาะงานระบบโครงสร้าง รูปทรงที่ปรากฏผ่านการเตรียมการอย่างดี เนื่องจากต้องเลือกใช้ไม้ที่มีลวดลายสวยงามสำหรับใช้เป็นแม่แบบของการเทปูน ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้กับส่วนก่อสร้างอื่นได้ งบประมาณจึงค่อนข้างสูง ทว่าเมื่อแกะไม้แบบออกก็ได้งานตกแต่งทั้งภายนอกและภายในที่ดูสวยงาม ไม่ต้องแต่งพื้นผิวเพิ่มเติมในภายหลัง ดังนั้นขั้นตอนระหว่างการก่อสร้างจึงต้องประณีตเป็นพิเศษ

หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ บ้านก็พร้อมเข้าอยู่ได้เลย เพราะเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มีพร้อมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นชนิดลอยตัวที่เจ้าของบ้านมักนำไปด้วยยามที่ต้องย้ายไปทำงานในหลายประเทศ เฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้จึงแข็งแรงแต่เคลื่อนย้ายสะดวก และสะท้อนกลิ่นอายสไตล์ตะวันออกตามที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ

ชายคาปูนเปลือย
ผนังแนวตั้งที่ยื่นออกไปพร้อมกับแนวชายคา ใช้บังแสงแดดไม่ให้สาดเข้าสู่บริเวณด้านใน โดยช่องว่างที่เว้นไว้ระหว่างผนังแนวตั้งกับชายคาด้านล่างจะปล่อยให้แสงแดดลับเข้าไปอีกด้านของอาคาร จึงไม่จำเป็นต้องมีผนังกั้นแสงแดด ส่วนด้านข้างของห้องนอนทำผนังกระจกใสให้ลึกเข้าไปจากขอบที่เป็นเสมือนกล่องกันสาดซึ่งช่วยกั้นแสงแดดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ยื่นชายคาออกจากตัวบ้าน นอกจากช่วยป้องกันแสงแดดได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นกันสาดกันฝนอีกด้วย มีรูกลมที่ปลายหลังคาช่วยระบายน้ำฝน ใกล้ขอบหลังคาจะเห็นร่องเป็นแนวยาว ซึ่งใช้เป็นแนวกันไม่ให้น้ำฝนไหลย้อนเข้าไปยังส่วนใน
ระเบียง = กันสาด หล่อระเบียงคอนกรีตชั้นบนยื่นออกจากตัวบ้านโดยไม่มีคานรับ จึงทำหน้าที่เป็นกันสาดให้ห้องชั้นล่างได้ด้วย
คอนกรีตลายไม้ คัดเลือกไม้แม่แบบที่มีลายไม้สวยงาม เมื่อแกะไม้แบบออกแล้วจึงได้ผิวสัมผัสที่สวยงามและดูเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องตกแต่งอะไรเพิ่มเติมอีก

บ้านคอนกรีตสไตล์โมเดิร์น หลังนี้เน้นให้พื้นที่ภายในมีความโล่ง จัดวางเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นแต่ให้ประโยชน์เต็มที่ แต่สิ่งที่ได้รับแบบเต็มๆ ก็คือ ความสบายและการดูแลรักษาที่ไม่ยุ่งยากนั่นเอง

เจ้าของ : Dr. William L. Aldis และคุณธารทิพย์ การุณศิริ

ออกแบบ : บริษัทแผลงฤทธิ์ จำกัด โดยคุณเอกชัย กัลยาประสิทธิ์

ก่อสร้าง : บริษัทขบวนการก่อสร้าง จำกัด


เรื่อง : Atta Otto

ภาพ : สังวาล พระเทพ

บ้านคอนกรีต ที่ได้แรงบันดาลใจจาก “ต้นไม้”

บ้านคอนกรีตเปลือย Yellow House บ้านที่เชื่อมต่อพื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะ สะท้อนบริบทการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ