Crybaby Molly ผู้ให้กำเนิดอาร์ตทอยสุดฮิตอย่างเจ้าหนูขี้แย Crybaby

หากกล่าวถึงอาร์ตทอยตุ๊กตา Crybaby  เด็กร้องไห้ทว่าเต็มไปด้วยความน่ารักน่าเอ็นดู หลายคนคงจะพอนึกออกว่าหมายถึง “Crybaby” ตัวแทนของหยดน้ำตาที่มาในรูปแบบของความเศร้าเสียใจ ความปิติยินดี ความเหงา หรือความอ่อนแอ แล้วแต่ใครจะตีความ

            ซึ่ง Crybaby เคยถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2565 ในครั้งนั้นก็ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับอย่างท้วมท้นจนได้ฐานแฟนคลับกลับมาอย่างล้นหลาม ชนิดที่เรียกว่าผลงานขายหมดทุกชิ้น การกลับมาในครั้งนี้จึงบอกว่าต้องใหญ่กว่าเดิม หลากหลายกว่าเดิม ให้สมกับการรอคอยกับเวลาหนึ่งปีที่ศิลปินสาวได้ทุ่มเทอยู่กับน้อง Crybaby คนนี้ในการรังสรรค์ผลงานที่ลึกซึ้งมากขึ้น 

วันนี้บ้านและสวนเลยขอมาทำความรู้จักกับเจ้าของผลงาน ผู้ให้กำเนิด Crybaby อย่าง คุณมด-นิสา ศรีคำดี หรือที่เรารู้จักเธอในนาม Crybaby Molly ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีกับการจัดนิทรรศการที่กินพื้นที่การจัดงานกว่าพันตารางเมตร ว่าการกลับมาครั้งนี้มีความพิเศษอย่างไรแบบเอ็กซ์คลูซีฟ  ถึงขั้นที่คนยอมมาต่อคิวเข้างานตั้งแต่วันแรก และของที่ระลึกขายหมดทุกชิ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของงานนิทรรศการ

Crybaby

เพราะใครๆ ก็ “ร้องไห้” ได้

“นิทรรศการในครั้งนี้ เราใช้ชื่อว่า Everybody/Cries/Sometimes  อย่างครั้งแรกเราอยากบอกว่าฉันร้องไห้ แต่ครั้งนี้เราต้องการพูดถึงเรื่องที่มันใหญ่กว่านั้น คือไม่ใช่แค่ฉันร้องไห้นะ เธอก็ร้องไห้ แล้วก็พวกเราทุกคนก็เช่นกัน ก็คือใครๆ ก็เคยร้องไห้อยู่แล้ว

เราต้องการจะสื่อสาร จะส่งข้อความออกไปให้เห็นว่า เรื่องการร้องไห้มันเป็นอารมณ์ธรรมดาสามัญของมนุษย์ ที่ผ่านมากรอบสังคมถูกตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า เราไม่ควรจะแสดงความอ่อนแอหรือความอ่อนไหวของเราให้ใครเห็น เหมือนเราควรจะโชว์ด้านที่เรามีความสุขแล้ว เข้มแข็งเท่านั้น  เราก็เลยเหมือน มีคําถามอยู่ในใจตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วว่า  ทําไมเวลาที่เราร้องไห้  ผู้ใหญ่ถึงต้องบอกให้หยุด อย่าร้องไห้ ให้นิ่ง ให้เงียบอะไรอย่างนี้

แล้วก็ยิ่งโตขึ้นทุกวันน่ะค่ะ เรื่องอารมณ์ของเรามันเริ่มซับซ้อนกว่าตอนที่เราเป็นเด็ก คือตอนเป็นเด็ก เราร้องไห้เพราะเราแค่เสียใจ แต่พอโตขึ้น มันมีการร้องไห้ อารมณ์มันแบบท่วมท้นมากกว่านั้น มันซับซ้อนกว่านั้น  เราอาจจะร้องไห้เพราะเราเสียใจมากๆ เราอาจจะร้องไห้เพราะเรารู้สึกอึดอัด กังวลใจ หรือเราอาจจะร้องไห้ในวันที่เรารู้สึกปิติยินดีด้วย 

เรารู้สึกว่ามีความหลงใหลกับเรื่องของน้ำตา เลยเอาประเด็นนี้มาเป็น message สื่อสารกับผู้คนว่า การร้องไห้มันโอเคนะ ที่ในบางครั้งเราอยากจะเหมือนหยุดใช้เวลาทําความรู้สึก ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองนะคะ แล้วก็ปล่อยให้ตัวเองได้ระบายมันออกมาบ้าง  ร้องไห้ได้บ้างก็ดี  เหมือนว่าเราจะได้ยกอะไรที่มันหนักอยู่ในใจเราออกไป

จากครั้งแรกที่จะพูดถึงตัวเราคนเดียว  แต่ครั้งนี้มันพูดถึงเรื่องของคนทุกคนแบบ So do I.So do you.So do we.  พูดถึงว่าใครๆ ต่างก็เคยร้องไห้เช่นกัน  เราอยากส่งพลังให้ทุกคนรู้ว่า คุณไม่ได้ร้องไห้คนเดียวนะ  คือใครๆ เขาก็ร้องไห้  มันควรจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ธรรมดา และใช้ความเข้าใจ  ให้กําลังใจซึ่งกันและกัน”

Crybaby

แบ่งอารมณ์ตามสี

“จากคราวที่แล้วที่มีแค่โซนสีขาว คราวนี้คือมีสีสันชัดเจนขึ้น  เพิ่มจากโซนแรกเมื่อเดินเข้ามาในงาน เลือกใช้สีที่เรียบง่ายที่สุดอย่างสีขาว  ข้อหนึ่งคือเราอยากให้รู้สึกว่าเห็นแล้วมันโอเค มันเบา มันนิ่งก่อน ถ้าสมมติคุณรู้สึกอะไรหนักๆ มา ก็พักตรงนี้ก่อน เหมือนหยุดตรงนี้ก่อน แล้วพอเดินเข้ามาในงานจะเป็นสีเหลืองส้มสดใส  เหมือนเราช่วยให้มันสดชื่นขึ้นนิดหนึ่ง ที่เราเลือกใช้สีเหลือง มันมาจากที่ว่าเราเคยได้ยินว่าสีเหลืองมันเป็นตัวแทนของความหวัง แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความหวังบางครั้งก็ทําให้คนเราเจ็บปวด คือเราก็พูดไปถึงด้านนั้นด้วย  แล้วพอจะจบจากนิทรรศการ เราก็เลยเหมือนดรอปด้วยสีเทาเข้ม  ปรับอารมณ์ให้นิ่งแล้ว ค่อยทิ้งอะไรที่ไม่ค่อยดี  ความเจ็บปวด ความรู้สึกลบต่างๆ ไว้ข้างหลัง อยากให้ทุกคนก้าวต่อไป”

หลายวัสดุ หลากเทคนิค

“สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ เราตั้งใจครั้งใหญ่มาก  อย่างที่บอกว่ามันพูดถึงคนทุกคน  เราก็เลยเตรียมรูปแบบนิทรรศการบนขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นหลายเท่ามากเลยค่ะ  ครั้งนี้จัดบนพื้นที่เกินหนึ่งพันตารางเมตร 

เรามี Painting เยอะขึ้น ประมาณยี่สิบกว่าชิ้นนะคะ มี Painting เป็นสีน้ำมัน นอกจากนี้เรายังมี Sculpture  คือรอบที่แล้วก็มี แต่คราวนี้ตัว Sculpture เราจะมีหลายวัสดุมากยิ่งขึ้น  มีทั้งตัวที่เป็นบรอนซ์แล้วมีตัวที่เป็นสเตนเลสสตีล  ตัวที่เป็นไม้  มีเรซิ่น คือมีทุกอย่างผสมกันเยอะเลย

Crybaby
Crybaby

นอกจากนั้นยังมีภาพพิมพ์ ส่วนของภาพพิมพ์เองก็มีอีกหลายเทคนิคด้วย  อย่างอันแรกๆ ก็เป็น Screen Print คือเป็นไดคัทด้วยนะคะ ไม่ได้เป็นแค่สี่เหลี่ยม แล้วก็มีตัวที่สกรีนหลายสีมากเลย มันก็สามสิบกว่าสี ซึ่งก็ยากเหมือนกัน แล้วก็มี  Mezzotint เป็นภาพพิมพ์ที่เหมือนการเขียนบนเพลทเหล็ก แล้วเราก็เอาไปขึ้นแท่นพิมพ์   ซึ่งน้อยคนมากเลยที่รู้จักวิธีการนี้   มีพรมด้วยนะคะ ก็คือเราพยายามทําอะไรหลายๆ อย่าง  คนจะได้เหมือนรู้สึกว่าเรื่องเล่ารอบนี้มันใหญ่  เพราะเราพูดถึงเรื่องที่มันใหญ่ขึ้นและหลากหลายมากขึ้น”

Crybaby

นิทรรศการที่เข้าถึงผู้คนอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเลือกวัสดุ

สำหรับไฮไลต์ในครั้งนี้ ที่ถ้าใครไม่ได้ถ่ายด้วยเหมือนมาไม่ถึงคือผลงานชิ้น  The Broken One หรือส่วนของหัว Crybaby ขนาดยักษ์ที่ตั้งเอียงอยู่กลางพื้นที่จัดงาน โดยชิ้นส่วนอวัยวะชิ้นอื่นๆ ถูกวางกระจัดกระจายอยู่ในงาน ราวกับร่างที่แหลกสลาย ซึ่งนอกจากขนาดที่ใหญ่กว่าปกติแล้ว การเลือกบุชิ้นส่วนเหล่านี้ด้วยขนเฟอร์ กลับทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้ชวนน่าสัมผัสหรือขอเดินชมไป ลูบไปสักหน่อย ราวกับถูกบำบัดไปโดยไม่รู้ตัว

 “สำหรับตัวหัวใหญ่บุขนเฟอร์ในงาน ถ้าเราสังเกตคือลูกตานี่หมุนได้  มีไฟให้คนมาถ่ายรูป  แล้วก็มีตัวน้องอีกตัวที่นอนข้างล่างในห้องพิเศษโซน The Imsomniac  ซึ่งที่เราทําเลือกทําเป็นขน  มันมาจากที่ตัวเราชอบงานคราฟท์  ชอบงานประดิษฐ์ ชอบทําตุ๊กตา  ทําของกระจุกกระจิก  เราก็อยากให้มีตัวใหญ่ๆ ให้คนรู้สึกว่ามันจับได้ กอดแล้วมันนุ่มนิ่ม  มันกอดได้อะไรอย่างนี้ค่ะ ให้คนรู้สึกเข้าถึงง่าย

เพราะว่าโดยปกติแล้วพวกงานชิ้นงานที่เป็นงานศิลปะอย่างงาน Painting หรือ Sculpture  มันไม่สามารถจับต้องได้  แต่นิทรรศการครั้งนี้คืออยากให้ข้อความ มันเข้าถึงคนที่มาในงานได้มากที่สุด  รู้สึกเป็นกันเอง พยายามแสดงออกง่ายๆ ว่าซื่อตรงและจริงใจ ก็เลยทําตัวพวกนี้มาสําหรับให้ทุกคนสามารถกอดจับ สัมผัสได้เต็มที่”

จุดฮีลกาย ฮีลใจของคนนอนไม่หลับ

“ในส่วนของโซนพิเศษของเทศกาลบริเวณชั้นหนึ่ง  เรียกว่า The Insomniac Zone สื่อสารถึงคนนอนไม่หลับ ทำให้เวลาในแต่ละคืนกว่าจะผ่านไปนั้นช่างยาวนาน หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เฝ้าคิดกังวลเวียนไปจนเวลากลางคืน พื้นที่โซนนี้เราเลยสร้างเตียงยักษ์ขนาดใหญ่ ขนาด 8×14 เมตร ที่มีน้อง Crybaby ขนาดความสูง 2.40 เมตร ความยาว 5 เมตรนอนอยู่ตรงกลาง

  แล้วก็บุผนังทุกอย่างด้วยขนเฟอร์ คือเป็นโซนที่นุ่มนิ่มทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลา เหมือนนอนบนเบาะนุ่มๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเรามีอะไรที่ซัพพอร์ต ฮีลใจ  เหมือนเราผ่านอะไรที่มันหนักๆ มา ได้มาเจออะไรที่มันเบาๆ นุ่มๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ ซึ่งแต่ละคนสามารถมีเวลาได้ถึงสี่สิบนาที ไม่ต้องเร่งรีบ ได้นอน ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ได้ทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น”

Crybaby

ทุกคนไม่ได้อยู่คนเดียว ทุกคนยังมี Crybaby

“ในฐานะที่เป็นแบบศิลปินคนทําจริง ๆ เรื่องที่จะพูดก็คือเราสร้าง Crybaby ขึ้นมาเพราะว่าเรารู้สึกว่าการร้องไห้  มันเหมือนสัญลักษณ์ของความอ่อนแอใช่ไหมคะ  คือเราอยากจะให้มันมาช่วยทําการร้องไห้มันเป็นแง่บวกมากขึ้น  คือมองมาในเรื่องของการชําระล้างจิตใจ  ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก เราก็เลยเหมือนจะให้มันดูน่ารัก  สื่อสารกับคนได้อย่างซื่อตรงจริงใจ  สิ่งที่เราคาดหวังก็คือเราอยากให้มันเป็นจุดหนึ่งเล็กๆ  ที่เหมือนช่วยเปลี่ยนแปลงความรู้สึก

อนาคตเราไม่แน่ใจว่านิทรรศการมันจะใหญ่กว่านี้มั้ยนะ แต่เรามั่นใจว่าเราก็ยังคงจะพูดถึงเรื่องที่ จะพูดเหมือนย้ำซ้ำๆ ว่า เราร้องไห้แล้วมัน โอเค!  จะเป็นกําลังใจ  เป็นทางเลือกหนึ่งให้ทุกคนรู้สึกว่าเหมือนมีคนร้องไห้ข้างๆ  เวลาเขาเสียอกเสียใจ หรือแบบว่ามีเรื่องอึดอัดใจอะไรอย่าง แค่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างๆ  มันก็โอเค  ยังอยากทํานิทรรศการที่ให้คนที่ได้มารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่”

Crybaby

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ศิลปินสาวได้ใช้เวลาพูดคุยกับเราในระยะเวลาสั้นๆ แต่กลับให้ความรู้สึกเต็มเปี่ยม เปี่ยมที่ว่าคืออารมณ์ ความตั้งใจ แรงบันดาลใจ และความหลงใหลในสิ่งที่ทำ เราเลยเชื่อจริงๆ ว่า น้อง Crybaby คือตัวแทนของ Crybaby Molly ที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหา คนที่กำลังรู้สึกเศร้าเสียใจ ที่ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องที่หนักหนา เช่นเดียวกับเธอที่สร้าง Naked Brownหรือ Crybaby สีน้ำตาลตัวออริจินอล  ที่ร้องไห้เพราะเธอรู้สึกเจ็บจากการไปสัก  ซึ่งรอยสักนั้นเองที่เป็นสัญลักษณ์ของบาดแผลหรือความเจ็บปวดที่ผ่านมา  หรือจะเป็นตัวที่เหลือง หรือ  Naked Blondeที่แทนฝรั่งที่อาบแดดจนตัวแดง โดยแต่ละตัวก็มีเหตุผลในการร้องไห้ที่แตกต่างกันออกไป

“ระดับความ Deep ของแต่ละอารมณ์มันต่างกัน  แต่เราเคารพหมดเลย ไม่ว่าจะทุกความรู้สึกเล็กน้อยไปจนถึงแตกสลาย ทุกความรู้สึกว่ามันสําคัญหมด  มันเป็นความรู้สึกที่ควรพูดถึงทั้งหมด”

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ไปดูนิทรรศการ ยังสามารถไปกันได้  นิทรรศการจัดตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่ RCB  Galleria 1-3  ชั้น 2 (เข้าชมฟรี) และ RCB Artery ชั้น 1 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก  (The Insomniac Zone สุด Exclusive 450 บาท) แล้วมาร่วมกันปลดปล่อยความรู้สึกและอารมณ์ไปด้วยกันนะคะ

            ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://rivercitybangkok.com/th/everybody-cries-sometimes/ หรือดูได้ที่  Ticket Melon ตามลิ้งค์ด้านล่างได้เลยค่ะ https://www.ticketmelon.com/rivercitybangkok/everybodycriessometimes