ถ้าหากฟองน้ำล้างจานยังไม่สะอาดเท่าที่ควร ก็ยิ่งทำให้ภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านไม่สะอาดตามไปด้วย ! และยิ่งเป็นไอเทมทำความสะอาดที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำทุกวันจนแทบไม่ได้พัก จึงยิ่งต้องดูแลรักษา และใส่ใจในการทำความสะอาด ทำยังไงให้ฟองน้ำล้างจานของเราสามารถใช้งานไปได้นาน ๆ แบบไร้คราบ ไร้กลิ่น คงความสะอาดปลอดภัย น่าใช้อยู่เสมอ วันนี้ บ้านและสวน ได้รวบรวมเอาวิธี ทำความสะอาด ฟองน้ำล้างจาน และเคล็ดลับการดูแลรักษาฟองน้ำล้างจานมาฝากกัน
1 . ล้างให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้
อย่างแรกที่ละเลยไม่ได้ก็คือ การทำความสะอาดฟองน้ำทุกครั้งหลังล้างจานเสร็จนั่นเอง แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่หลายคนก็อาจชอบปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้นำมาล้างให้สะอาด และบีบน้ำออก ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจวางใส่ภาชนะ แช่น้ำยาล้างจานเอาไว้ เพื่อล้างในครั้งต่อไปด้วย ซึ่งแบบนี้ก็ยิ่งจะทำให้เศษอาหาร และคราบต่าง ๆ ถูกสะสมเอาไว้ ทางที่ดีควรซักด้วยน้ำยาล้างจานซ้ำอีกครั้ง และล้างให้สะอาด พร้อมทั้งบีบน้ำออกให้แห้งที่สุด เพื่อที่จะใช้ล้างภาชนะในครั้งต่อไปได้อย่างสะอาดหมดจด
2 . ฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่น้ำส้มสายชู
วิธีการทำความสะอาดฟองน้ำล้างจานแบบง่าย ๆ ให้ล้ำลึกกว่าเดิม ก็คือการนำไปแช่ในน้ำส้มสายชู โดยให้ผสมน้ำเปล่าประมาณครึ่งลิตร เข้ากับน้ำส้มสายชู 4 ช้อนโต๊ะ ก็จะได้ส่วนผสมที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค และดับกลิ่นฟองน้ำล้างจาน จากนั้นให้นำฟองน้ำมาแช่ทิ้งไว้จนข้ามคืน พอเช้าวันถัดมา หลังจากล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ก็จะพร้อมนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
3 . ทำความสะอาด ฟองน้ำล้างจาน ด้วยความร้อน
ความร้อนเป็นอีกอย่างที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค และกำจัดคราบมันที่ฝังอยู่ในฟองน้ำล้างจานได้ เพราะฉะนั้นการนำไปเข้าไมโครเวฟ และแช่ด้วยน้ำร้อน จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยทำความสะอาดฟองน้ำได้เหมือนกัน แต่ต้องเป็นฟองน้ำชนิดที่ไม่มีใยอลูมิเนียมผสมอยู่ โดยอันดับแรกนั้น จะต้องล้างทำความสะอาดด้วยน้ำล้างจานให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยนำไปจุ่มน้ำให้เปียกทั่วทั้งแผ่น และเข้าไมโครเวฟ 2 นาที หรือแช่ด้วยน้ำร้อนทิ้งไว้ประมาณประมาณ 15 นาที เสร็จแล้วให้ปล่อยทิ้งไว้จนเย็น หรือล้างด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติอีกครั้ง เท่านี้ฟองน้ำก็จะสะอาดขึ้น
4 . นำไปตากแดดเพื่อกำจัดกลิ่น
ถ้าหากมีโอกาสก็สามารถล้างฟองน้ำให้สะอาด และนำออกไปตากแดดกันได้ เพราะฟองน้ำล้างจานนั้น เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดในบ้าน ที่ถูกใช้งานอยู่ตลอด จนแทบไม่มีโอกาสได้แห้งสนิทเหมือนอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ การตากแดดนั้นไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรค และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้ แต่ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของฟองน้ำอีกด้วย
5 . ไม่ควรใช้ฟองน้ำอันเดียวทำความสะอาดทุกอย่าง
การใช้ฟองน้ำเพียงชิ้นเดียว ทำความสะอาดภาชนะทุกอย่างชิ้น จะยิ่งทำให้ฟองน้ำเก่าเร็วขึ้น และมีสิ่งสกปรกสะสมมากเกินไป จนอาจทำให้ล้างภาชนะต่าง ๆ ได้ไม่สะอาดตามไปด้วย อย่างน้อยก็ควรแยกฟองน้ำล้างจานไว้สัก 2 ชิ้นสำหรับล้างแก้ว หรือภาชนะใส่ผักผลไม้ และเครื่องครัวที่เจอคราบหนักจากการปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้ฟองน้ำต้องเจอคราบทุกอย่างมากเกินไป และป้องกันไม่ให้คราบเลอะ รวมทั้งกลิ่นเศษอาหารไปติดแก้วหรือภาชนะชิ้นอื่น ๆ ด้วย
6 . ที่วางฟองน้ำต้องทำความสะอาดง่าย ระบายน้ำได้ดี
ภาชนะที่ใช้วางฟองน้ำล้างจานก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้จะล้างทำความสะอาดแค่ไหนแต่ถ้าวางไว้ในภาชนะที่ระบายน้ำออกได้ไม่ดีก็จะทำให้ฟองน้ำอับชื้นอยู่ตลอด จนกลายเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย และกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่สำคัญควรเลือกที่วางดีไซน์ง่าย ๆ ไม่มีซอกมุมเล็ก ๆ เยอะเกินไปเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายและบ่อยครั้ง อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่เป็นยางซิลิโคน เพราะสามารถเกิดเชื้อราได้ง่ายด้วย
7 . เลือกใช้ฟองน้ำให้ถูกประเภท
การเลือกใช้ฟองน้ำล้างจานแต่ละประเภทให้เหมาะสมนั้น ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยยืดอายุการใช้งานให้อยู่ได้นาน และคุ้มค่าที่สุด อย่างการทำความสะอาดคราบที่ติดหม้อ หรือกระทะ นั้นก็ควรจะใช้เป็นแผ่นใยขัดที่ยึดจับคราบต่าง ๆ ได้ดีและออกแรงขัดได้ แต่ถ้าหากใช้เป็นฟองน้ำหุ้มตาข่ายทั่วไป ก็จะทำให้เนื้อฟองน้ำถูกทำลายได้ง่าย และยังล้างคราบไม่ค่อยอีกต่างหาก หรือถ้านำใยอลูมิเนียมไปขัดภาชนะที่มีพื้นผิวเงาวาว ก็อาจทำให้เสียหายจนหมดสวยได้ การเลือกใช้ฟองน้ำ จึงเป็นทั้งการช่วยรักษาทั้งสภาพของฟองน้ำ และภาชนะ
8 . เปลี่ยนใหม่เมื่อถึงเวลา
โดยปกติแล้วฟองน้ำล้างนั้นจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือนก็ควรเปลี่ยนอันใหม่ แต่นอกจากนี้ก็ต้องสังเกตจากสภาพการใช้งานของฟองน้ำด้วยว่า ยังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ โดยดูได้จากสีที่เริ่มเปลี่ยนไปจนเห็นได้ชัด เนื้อฟองน้ำอาจเริ่มหลุดรุ่ยหรืออุ้มได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนอีกอย่างที่สำคัญเลยก็คือไม่ว่าจะทำความสะอาดอย่างไร คราบหรือกลิ่นที่ติดอยู่ก็ไม่ยอมหายไปสักที นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ฟองน้ำล้างจานของเราทำงานหนักมาจนถึงช่วงสุดท้าย และควรเปลี่ยนใหม่ได้แล้วนั่นเอง
เช็คก่อนใช้ ! งานบ้านแบบไหนห้ามใช้น้ำส้มสายชูบ้าง