ต้นไม้ประจำจังหวัด

21.จังหวัดเลย ต้นสนสามใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinus kesiya Royle ex Gordon วงศ์ : PINACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นสนสามใบเป็นไม้ยืนต้นสูง 10–30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลอมชมพูอ่อนล่อนเป็นสะเก็ด มียางสีเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก ใบเป็นใบเดี่ยว ติดกันเป็นกลุ่มละ 3 ใบ ออกเป็นกระจุกเวียนสลับถี่ตามปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อ แยกเพศ ช่อดอกเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็นกลุ่มใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ผลออกรวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า Cone (โคน) รูปไข่ สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

22.จังหวัดศรีสะเกษ ต้นลำดวน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melodorum fruticosum Lour. วงศ์ : ANNONACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 3–8 เมตร ลำต้นเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบยาวรี โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบสีอ่อนกว่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบและส่วนยอด สีเหลือง กลิ่นหอม กลีบดอกและกลีบรองดอกคล้ายกัน ดอกหนึ่งจะมีอยู่ 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้นชั้นละ 3 กลีบ กลีบแต่ละกลีบชั้นในจะมีขนาดเล็กกว่าและโค้งกว่าปลายกลีบแหลม ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม ผลสีเขียวอ่อน ยาว ปลายมน โคนผลแหลม ผิวเรียบเกลี้ยง

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

23.จังหวัดสกลนคร ต้นอินทนิลน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia speciosa Pers. วงศ์ : LYTHRACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นอินทนิลน้ำเป็นไม้ยืนต้นสูง 10–15 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ผิวเปลือกนอกสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบมน ดอกย่อยขนาดใหญ่ กลีบดอกสีชมพู สีม่วงแกมชมพู หรือสีม่วง ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ผลเป็นผลแห้ง มีขนาดใหญ่

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

24.จังหวัดสุรินทร์ ต้นมะค่าแต้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sindora siamensis Teijsm. Ex Miq. วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นมะค่าแต้เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 10–25 เมตร เปลือกสีเทาคล้ำแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ เรือนยอดแผ่รูปเจดีย์ต่ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรี ปลายใบและโคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนสั้น ดอกขนาดเล็ก สีเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลเป็นฝักรูปโล่ ผิวฝักมีหนามแหลมแข็งแตกเมื่อแห้ง

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

25.จังหวัดหนองคาย ต้นชิงชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia oliveri Gamble วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นชิงชันเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 15–25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอมเทาล่อนเป็นแว่น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อยเรียงสลับ แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ โคนใบและปลายใบมน ท้องใบสีจางกว่าหลังใบ ดอกขนาดเล็ก สีขาวแกมม่วง ผลเป็นฝักแบน รูปหอก หัวท้ายแหลม

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

26.จังหวัดหนองบัวลำภู ต้นพะยูง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre วงศ์ : LEGUMINOSAE

ลักษณะทั่วไปต้นพะยูงเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 15–20 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีแดงอมม่วงถึงสีเลือดหมูแก่ มีริ้วดำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ลักษณะคล้ายใบประดู่ ดอกขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อตามง่ามใบและตามปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแบบบาง ตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข้ม

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

27.จังหวัดอำนาจเจริญ ต้นตะเคียนหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea ferrea Heim. วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นตะเคียนหินเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15–30 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแก่แตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยแหลม กิ่งอ่อนมีขนประปราย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ ปลายเป็นติ่งทู่ โคนมน ดอกเล็ก สีขาวหรือขาวปนเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ออกดอกระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

28.จังหวัดอุดรธานี ต้นรัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea siamensis Miq. วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นรังเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 15–20 เมตร เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่องตามความยาวลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบหยักเว้า ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ กลิ่นหอมอ่อน ออกดอกเดือนมีนาคม-เมษายน ผลรูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

29.อุบลราชธานี ต้นยางนา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus alatus Roxb. วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นยางนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 40 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบหนาสีเทา โคนต้นมีพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่แกมรูปหอกกว้าง ปลายใบสอบเรียว เนื้อใบหนา ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อสั้น ๆ สีน้ำตาล กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบประสานเหลื่อมกัน ปลายกลีบบิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรเพศผู้มี 25 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ผลเป็นผลแห้งทรงกลม มีครีบตามยาว 5 ครีบ ปีกยาว 2 ปีก

ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

30.จังหวัดกรุงเทพมหานคร ต้นไทรย้อยใบแหลม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus benjamina Linn. วงศ์ : MORACEAE

ลักษณะทั่วไปต้นไทรย้อยใบแหลมเป็นไม้ยืนต้นสูง 5–10 เมตร มีรากอากาศ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ดอกขนาดเล็ก มีฐานรองดอก ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผลเป็นทรงกลม เมื่อสุกสีเหลือง

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง