ต้นไม้ประจำจังหวัด

ต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นไม้มงคลพระราชทาน ทั้ง 77 จังหวัด มาทำความรูจักแต่ละพรรณไปพร้อมๆกัน

  1. จังหวัดเชียงราย ต้นกาซะลองคำ ต้นไม้ประจำจังหวัด
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Radermachera ignea (Kurz) Steenis วงศ์ : BIGNONIACEAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นกาซะลองคำเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 6–20 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบรูปรีแกมรูปหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบสอบแหลม ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น สีเหลืองอมส้ม หรือสีส้ม กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกสั้นๆ 5 แฉก ผลเป็นฝัก เมื่อแก่แตกเป็นสองซีกเมล็ดมีปีก
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง และแยกหน่อ
  1. จังหวัดเชียงใหม่ ต้นทองกวาว
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma Kuntze. วงศ์ : LEGUMINOSAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูง 8–15 เมตร เปลือกสีเทาคล้ำแตกเป็นร่องตื้นๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบออกสลับกัน ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งก้านและที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองถึงแดงแสด ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแบน มีเมล็ดที่ปลายฝัก
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  1. จังหวัดน่าน ต้นกำลังเสือโคร่ง
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Betula alnoides Buch-Ham. วงศ์ : CUPULIFERAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นกำลังเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นสูง 20–35 เมตร เปลือกต้นมีกลิ่นคล้ายการบูร เวลาแก่จะลอกออกเป็นชั้นๆ คล้ายกระดาษ ยอดอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุม หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอก เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ด้านใต้ของใบมีตุ่ม โคนใบป้านเกือบเป็นเส้นตรง ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยสองชั้นหรือสามชั้น ซี่หยักแหลม ปลายใบเรียวแหลม ออกดอกเป็นช่อยาวแบบหางกระรอกตามง่ามใบ ดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้ยาว 5–8 ซม. กลีบรองดอกเป็นรูปโล่หรือเกือบกลม มีแกนอยู่ตรงกลาง ช่อดอกเพศเมียยาว 3–9 ซม. กลีบรอบดอกไม่มีก้านมี 3 หยัก ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่ยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ผลมีปัก 2 ข้างโปร่งบาง
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  1. จังหวัดพะเยา ต้นสารภี
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis T. Anders. วงศ์ : GUTTIFERAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นสารภีเป็นไม้ยืนต้นสูง 10–15 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ มียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่กลับแกมขอบขนาน เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน แต่เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทั้งสองข้าง ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่ง สีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย มีเกสรเพศผู้สีเหลือง
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  1. จังหวัดแพร่ ต้นยมหิน
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chukrasia velutina Roem. วงศ์ : MELIACEAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นยมหินเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มรูปกรวย เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ ใบเป็นใบประกอบออกเยื้องกันเล็กน้อย แผ่นใบรูปดาบ ท้องใบมีขนนุ่ม หลังใบเกลี้ยง ออกดอกขนาดเล็ก สีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ กลมรีแข็ง สีน้ำตาลอมม่วง
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

6.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้นกระพี้จั่น

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Millettia brandisiana Kurz วงศ์ : LEGUMINOSAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นกระพี้จั่นเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8–20 เมตร เปลือกสีเทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเวียนสลับ มีใบย่อย แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบทู่ โคนใบมนหรือสอบเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจางกว่า ใบแก่เกลี้ยง มีขนประปรายตามเส้นกลางใบด้านล่าง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวปนม่วง ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลเป็นฝักแบน โคนแคบกว่าปลาย เปลือกเกลี้ยงหนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบเป็นสัน เมล็ดสีน้ำตาลดำ
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำราก

7.จังหวัดลำปาง ต้นขะจาว

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch. วงศ์ : URTICACEAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นขะจาวเป็นไม้ยืนต้นสูง 25 เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรงเปลือกสีน้ำตาลปนเทา มีต่อมระบายอากาศเป็นจุดกลมเล็กๆ สีขาวมองเห็นได้ง่าย เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่กว้างค่อนข้างทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่นใบรูปรีป้อม โคนใบมนหรือป้าน ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบมีขน ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกขนาดเล็ก แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ผลเป็นรูปโล่แบน มีปีกบางล้อมรอบ มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อันติดอยู่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบ
  • ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

8.จังหวัดลำพูน ต้นจามจุรี

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Samanea saman (Jacq.) Merr.
  • วงศ์ : LEGUMINOSAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นจามจุรีเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง 10–20 เมตร แผ่พุ่มกว้างคล้ายร่ม เป็นแบบขนนกสองชั้นออกสลับ เปลือกต้นสีดำเป็นเกล็ดโตแข็งสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบแค ปลายใบมนแกนกลางใบประกอบและก้านใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน บนแขนงมีใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี หรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ออกดอกเป็นรวมเป็นกระจุก สีชมพูอ่อน โคนดอกสีขาวออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง วงนอกช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกวงใน ดอกวงนอกมีก้านสั้น ดอกวงใยไม่มีก้าน ส่วนบนมีขนหนาแน่น ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นฝักแบนยาว ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล เนื้อในนิ่มสีดำ รสหวาน เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม
  • ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด

9.จังหวัดอุตรดิตถ์ ต้นสัก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis Linn. วงศ์ : VERBENACEAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นสักเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 50 เมตร โตเร็ว ผลัดใบในฤดูร้อน ส่วนที่ยังอ่อนมีขน เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ สีเทา ใบเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่มาก เรียงตรงข้ามรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน เนื้อใบสากคาย สีเขียวเข้ม ท้องใบสีอ่อนกว่า มีต่อมเล็กๆ สีแดง ดอกเป็นช่อใหญ่ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ออกดอกเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ผลเป็นผลสดค่อนข้างกลม มีขนละเอียดหนาแน่น กลีบเลี้ยงขยายตัวหุ้มผลไว้ด้านใน
  • ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด.

10.จังหวัดกาฬสินธุ์ ต้นมะหาด

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lakoocha Roxb. วงศ์ : URTICACEAE
  • ลักษณะทั่วไปต้นมะหาดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง ผิวเปลือกนอกขรุขระแตกเป็นรอยสะเก็ดเล็กๆ มียางไหลซึม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้ามน ใบอ่อนมีขน ออกดอกเป็นช่อตามบริเวณง่ามใบ มีสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลกลมขนาดใหญ่เปลือกนอกมีผิวขรุขระ
  • ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง