แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

7 แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ หรือบ้านต่างจังหวัด พร้อมแปลน

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

ชม แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ หรือบ้านต่างจังหวัด พร้อมแปลน 7 แบบ 7 สไตล์ ที่คัดเลือกมาจากคอลัมน์ “บ้านในฝัน” นิตยสารบ้านและสวน และคอลัมน์พิเศษแจกแบบบ้าน นิตยสาร my home ชอบแบบไหนเลือกนำไปใช้เป็นไอเดียสร้างบ้านของคุณกันได้

1. แบบบ้านบ้าน

เรื่อง : หลักโล

ออกแบบ- ทัศนียภาพ : คุณอัครชัย พัดลม คุณนที ตรีฤกษ์ฤทธิ์ และคุณเคียงเกียรติ ชื่นธีระวงศ์

บ้านโมเดิร์นหลังนี้เป็นผลงานของ คุณอัครชัย พัดลม คุณนที ตรีฤกษ์ฤทธิ์ และ คุณเคียงเกียรติ ชื่น ธีระวงศ์ ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดแบบบ้านในงานบ้านและสวนแฟร์ 2009 ภายใต้แนวคิด “ออกแบบอย่างมีจิตสำนึก” ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่การเลือกใช้วัสดุมาเป็นส่วนประกอบของบ้าน

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
วัสดุไม้ตีซ้อนเกล็ดทำให้บ้านริมแม่น้ำหลังนี้ดูกลมกลืนและเข้ากับธรรมชาติได้ดี ระเบียงและหลังคาที่ยื่นยาว ทำให้ตัวบ้านดูเบาลอย ไม่อึดอัด

ตัวบ้านตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำอันร่มรื่นและร่มเย็น การออกแบบบ้านจึงเน้นให้รับลมได้ดี โดยส่วนของบ้านที่หันสู่แม่น้ำจะทำระเบียงล้อมรอบมากเป็นพิเศษ จึงสามารถมานั่งพักผ่อนได้สบายๆ ตัวบ้านสร้างเป็นชั้นเดียว ภายในมีพื้นที่รองรับการใช้งานเหมือนบ้านสมัยใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกใช้วัสดุ นอกจากราคาไม่แพงแล้ว บางส่วนก็รื้อจากบ้านหลังเก่า เช่น การนำอิฐบล็อกช่องลมมาทำเป็นบล็อกปูพื้น และปลูกหญ้าระหว่างช่องว่างนี้ก็จะได้เท็กซ์เจอร์แปลกใหม่ นอกจากนี้ก็นำลูกกรงไม้กลึงเก่ามาทำเป็นระแนงไม้บังแดด หรือเป็นผนังในส่วนที่ต้องการระบายอากาศ แม้แต่กระเบื้องลอนคู่ใสก็นำมาทำเป็นผนังได้เช่นกัน โดยผนังแบบนี้จะให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้บางส่วน

จะเห็นว่าแม้บ้านหลังนี้เลือกใช้วัสดุแบบบ้านๆที่เห็นกันบ่อย แต่เมื่อนำมาออกแบบเสียใหม่ ก็จะได้สถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบสวยงาม แปลกตา และไม่เหมือนใครดีด้วย  

ผนังอิฐบล็อก
ผนังอิฐบล็อกช่องลมต่อเนื่องขึ้นไปเป็นส่วนเปิดโล่ง บวกกับผนังไม้ซ้อนเกล็ด ทำให้โรงจอดรถธรรมดาดูมีลูกเล่นและสวยงาม
ศาลา
ศาลาที่อยู่ติดกับตัวบ้านอาจใช้ลูกกรงไม้กลึงเก่าๆมาทำเป็นระแนงบังแดดบังความร้อนได้ดี แถมยังประหยัดด้วยเงาที่ลอดผ่านลูกกรงไม้ให้ลวดลายสวยงามแปลกตา
ทัศนียภาพยามค่ำคืนของบ้าน แสงจากภายในส่องสว่างผ่านผนังที่ทำจากกระเบื้องลอนคู่ใส ทำให้บางส่วนของระเบียงไม่ต้องมีแสงไฟส่องสว่างโดยเฉพาะ ประหยัดและดูสวยงาม
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
ตัวบ้านแยกเป็นสองส่วน โดยใช้หลังคาแบบเพิงหมาแหงนลาดลงทั้งสองด้านเพื่อสร้างพื้นที่ใต้หลังคา ช่วยในการลดความร้อนของบ้านได้เป็นอย่างดี
 

แปลน

  1. ที่จอดรถ
  2. ห้องเก็บของ
  3. ครัว
  4. ห้องน้ำ
  5. ห้องซักผ้า
  6. ส่วนเตรียมอาหาร
  7. ส่วนรับประทานอาหาร
  8. ส่วนนั่งเล่น
  9. ห้องนอน
  10. ห้องทำงาน
  11. ศาลา
  12. ระเบียงไม้
  13. ส่วนแต่งตัว

2. ห้องเดียวอยู่- อยู่ห้องเดียว

เรื่อง : ดำรง  ลี้ไวโรจน์

ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีประชากรหนาแน่นขึ้น การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านออกเป็นห้องต่างๆ ที่มีการกำหนดขอบเขตผนังเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจนและเรียกชื่อตามลักษณะการใช้งาน เช่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องรับแขก อาจจะไม่สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนี้ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ใช้สอย
เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

บ้านหลังนี้จึงได้รับการออกแบบให้มีห้องขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งแบบ Open Plan เพียงห้องเดียว โดยใช้วิธีการจัดสรรพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตการใช้งานให้เป็นสัดเป็นส่วนโดยที่ไม่ต้องมีผนังกั้น ทำให้พื้นที่ภายในมีความคาบเกี่ยว ต่อเนื่อง และซ้อนทับกันอย่างกลมกลืนจนไม่สามารถแยกพื้นที่ออกเป็นห้องใดห้องหนึ่งได้อย่างชัดเจน

พื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 70 ตารางเมตร โดยสามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น มุมนั่งเล่นที่สามารถใช้เป็นพื้นที่รับแขกและมุมทำงาน นอกจากนั้นยังสามารถเปิดพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับสวนภายนอกได้ ถัดไปเป็นโถงโล่งที่รองรับการใช้งานแบบอเนกประสงค์ แบ่งมุมหนึ่งเป็นพื้นที่เตรียมอาหารที่ต่อเนื่องกับโต๊ะรับประทานอาหาร ส่วนด้านในสุดเป็นไพรเวตโซนประกอบด้วยห้องน้ำพร้อมวอล์คอินโคลเซต และเตียงนอนที่ยกระดับพื้นขึ้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว

3. One House Story

เรื่องและออกแบบ : Believe Studio

ทัศนียภาพ : ณัฐพล สถาปนิกกุล

บ้านที่เรียบง่ายและพอดีกับครอบครัวสมัยใหม่อย่างคู่สามีภรรยาที่ต้องการใช้ชีวิตแบบสบายๆ และยังไม่มีแผนจะมีเจ้าตัวเล็ก บ้านชั้นเดียวซึ่งมีการใช้งานตรงไปตรงมา ขนาดกะทัดรัด อาจเป็นทางออกของการมีบ้านสักหลัง

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
หลายคนฝันอยากมีบ้านชั้นเดียวซึ่งพร้อมจะรองรับทุกกิจกรรมเล็กๆภายในบ้าน  บ้านหลังนี้อาจเป็นบ้านในฝันของคุณ

บนที่ดินจัดสรรขนาดมาตรฐานประมาณ 80 -120 ตารางวา สามารถวางตัวบ้านลงไปได้อย่างหลวมๆ และยังพอมีพื้นที่เหลือสำหรับจัดสวนเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนในครอบครัว ผังบ้านเรียบง่ายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกำลังดี ไม่ใหญ่โตเกินไป เมื่อวางอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจึงไม่กดข่มสภาพแวดล้อมให้ดูด้อยกว่าและยังดูกลมกลืนไปกับสิ่งรอบข้างอีกด้วย บ้านมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 100 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยส่วนนั่งเล่น ส่วนเตรียมอาหาร ส่วนรับประทานอาหาร ห้องน้ำ 1 ห้อง ห้องนอน 2 ห้อง พร้อมกับมีชั้นลอยเล็กๆสำหรับเป็นมุมพักผ่อนในวันสบายๆ

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
บ้านชั้นเดียวในรูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น เรียบง่าย  และอยู่สบาย
สุดยอดของการมีบ้านชั้นเดียวคือการใช้พื้นที่รอบข้างได้อย่างคุ้มค่า จึงออกแบบให้ระเบียงหน้าบ้านเปรียบเสมือนห้องห้องหนึ่ง ใช้นั่งเล่นหรือทำกิจกรรมในระหว่างวันได้
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดถูกรวบให้อยู่ในชั้นเดียว มีความเป็นส่วนตัวและต่อเนื่องถึงกัน

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ชอบบ้านชั้นเดียวอาจเป็นเพราะความพอดีและไม่สิ้นเปลืองพื้นที่และงบประมาณ บ้านหลังนี้จึงนำเรื่องนี้มาทำให้เห็นชัดที่สุด โดยการจัดพื้นที่ให้กระชับ เชื่อมต่อโดยง่าย แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวอยู่ ตัวอาคารยังออกแบบให้มีความทันสมัย ทั้งในเรื่องของรูปทรงและวัสดุ เช่น ใช้ผนังคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นกรอบของอาคาร ด้านที่ติดกับระเบียงไม้ขนาดใหญ่ทำเป็นประตูบานเลื่อนกระจก ด้านบนก็เป็นกระจกเช่นกัน ใช้โครงสร้างเหล็กรูปตัวไอ (I) คาดเป็นคานรับน้ำหนักของวงกบที่ยาวตลอดแนว ช่องเปิดขนาดใหญ่ช่วยให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้เป็นอย่างดี ส่วนการจัดพื้นที่ภายในจะกั้นเป็นห้องเฉพาะส่วนห้องนอนเท่านั้น ที่เหลือเป็นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด สรุปแล้ว ไม่ว่าจะนำ “บ้านชั้นเดียว” ไปตั้งไว้ที่ไหนก็ดูลงตัว ลองนำไปปรับใช้กันได้

A. มีพื้นที่ชั้นลอยเล็กๆ ไว้นั่งอ่านหนังสือ หรือพักผ่อนตามสบาย

B. ออกแบบช่องเปิดให้พอดี อยู่ตรงกับตำแหน่งที่ลมพัดผ่านประจำ ผนังคอนกรีตหนา 30 เซนติเมตร ช่วยป้องกันความร้อน

C. ทางลาดเผื่อไว้สำหรับขนของและรถเข็นคนพิการ

 

แปลน

  1. ทางเข้าบ้าน
  2. โถงทางเข้า
  3. ส่วนนั่งเล่น
  4. ส่วนรับประทานอาหาร
  5. ครัว
  6. ห้องน้ำ
  7. ห้องนอน
  8. ระเบียง 

4. พื้นที่แห่งความสุข

เรื่อง – ออกแบบ : ลีฬภัทร กสานติกุล 

ภาพประกอบ : นภสร ศรีทอง

กลางสวน ใต้ต้นไม้ใหญ่ มองเห็นบ้านไม้ยกพื้นชั้นเดียวสีฟ้า – เทาตัดกับประตูสีเหลืองด้านนอกที่ระเบียงหรือชานหน้าบ้านมีชิงช้าโยกเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่หลังต้นเล็บมือนาง ม่านไม้เลื้อยดอกสีชมพูที่ปกคลุมเพื่อบังสายตาจากภายนอก อาจจะไม่หวือหวา ทว่าอบอุ่นเมื่อพบเจอ นี่คือ “บ้านในฝันของฉัน” พื้นที่เล็กๆ แต่อัดแน่นไปด้วยความสุข

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ


ขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในรวมประมาณ 100 ตารางเมตร สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ภายในออกแบบโดยเน้นพื้นที่โล่งโปร่งแบ่งสัดส่วนตามการใช้งาน เน้นโทนสีอ่อนเป็นธรรมชาติเพื่อให้ดูกว้างขวางสบายตา มีลูกเล่น

สะดุดตาด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เป็นของสะสม เริ่มจากห้องนั่งเล่น พื้นที่หลักของบ้านซึ่งใช้งานได้อเนกประสงค์ร่วมกันทั้งครอบครัว ออกแบบเป็นพื้นที่กว้างเดินเข้าได้จากประตูหน้าบ้านและข้างบ้าน เป็นที่สังสรรค์รวมตัวกันทำกิจกรรมได้หลากหลาย เชื่อมต่อกับส่วนครัวหรือพื้นที่เตรียมอาหารที่มีหน้าต่างเปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี มีห้องทำงาน เวิร์คสเปซขนาดย่อมสำหรับทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทั้งวาดรูป เย็บปักถักร้อยและอื่นๆ พูดได้ว่าเป็นเหมือนห้องทดลองเล็กๆที่มีชั้นเก็บของ เก็บอุปกรณ์งานดีไอวายได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยครบครัน ส่วนด้านในสุดเป็นไพรเวตโซน ห้องนอนใหญ่ห้องเดียวภายในบ้านประกอบด้วยวอล์คอินโคลเซตและห้องน้ำในตัว

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
มุมมองด้านหน้า
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
มุมมองด้านข้าง

แปลน

  1. ระเบียงหรือชานหน้าบ้าน
  2. ทางเข้า 1
  3. ห้องนั่งเล่น
  4. ทางเข้า 2
  5. ห้องนอนใหญ่
  6. พื้นที่แต่งตัว
  7. ห้องน้ำ
  8. ห้องครัว
  9. พื้นที่เตรียมอาหาร
  10. ห้องทำงาน

5. ต่อเติมบ้านให้บุพการี

ออกแบบ – ทัศนียภาพ   :  ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์

วัยชราเป็นวัยบั้นปลายของชีวิต และเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกหนีไม่พ้น หากเรายังดำเนินชีวิตไปตามครรลองของวัฏฏะ คงมีสักวันหนึ่งเป็นแน่ที่จะต้องมีผมหงอกขาว ร่างกายถดถอยอ่อนล้า สายตาฝ้าฟาง ปรารถนาการพักผ่อนอย่างเรียบง่ายและสงบสุขอยู่กับบ้าน เฝ้ามองการเจริญเติบโตของลูกหลาน และทบทวนเรื่องราวที่ได้ผ่านโลกมามากมายด้วยความรู้สึกอิ่มเอม

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

บ้านหลังนี้จึงเหมาะจะสร้างเป็นบ้านพักผ่อนสำหรับคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่พักผ่อนอยู่กับบ้าน โดยต่อเติมแยกต่างหากจากตัวบ้านเดิม เพื่อความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นกิจกรรมต่างๆของลูกหลาน และชมทิวทัศน์ในสวนรอบๆบ้านได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสามารถลงมาชมนกชมไม้ในสวนได้หากต้องการ

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

ตัวบ้านประกอบด้วยห้องนอนใหญ่ที่มีส่วนแต่งตัว และเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ส่วนห้องน้ำออกแบบให้มีระยะภายในกว้างเป็นพิเศษ คือกว้างอย่างน้อย 1.50 เมตร สำหรับกรณีที่บุพการีของคุณต้องนั่งรถเข็น ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวหรือพลิกหมุนทำได้สะดวก มีส่วนรับประทานอาหารและเตรียมอาหารอยู่ติดกัน และเป็นส่วนเชื่อมกับบ้านเดิมในกรณีที่ท่านต้องการไปรับประทานอาหารกับลูกหลาน หรือให้ลูกหลานใช้เป็นทางผ่านเข้ามาดูแล บริเวณหน้าบ้านทำเป็นชานใช้สำหรับนั่งพักผ่อนชมวิว ดูลูกหลานวิ่งเล่น ส่วนนี้ท่านน่าจะชอบนั่งเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบทางลาดสำหรับรถเข็น เพื่อให้ลูกหลานได้เข็นท่านลงจากบ้านไปชมสวนรอบบ้านได้  บ้านต่อเติมหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 115 ตารางเมตร ไม่รวมทางเดินชมสวน สามารถปลูกได้ในที่ดินขนาด 40 ตารางเมตรขึ้นไป (เฉพาะตัวบ้าน)

ทำทางลาดเข้าบ้านระหว่างขอบประตูกับเฉลียงกรณีใช้รถเข็น
ทำทางลาดกรณีนั่งรถเข็นจากตัวบ้าน เพื่อขึ้น-ลงชมสวนรอบบ้าน
มุมมองของชานระเบียงรอบๆบ้าน ซึ่งปูพื้นไม้ ให้ความรู้สึกอบอุ่น และน่าพักผ่อนสำหรับผู้สูงอายุ

แปลน                                                                

  1. ห้องนอนใหญ่                                                         
  2. ส่วนแต่งตัว                                                  
  3. ชานหน้าบ้าน                               
  4. ห้องน้ำ                                             
  5. ส่วนเตรียมอาหารและส่วนรับประทานอาหาร

6. บ้านสมาธิ

ออกแบบ – ทัศนียภาพ   :  ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์

ยุคปัจจุบันที่คนเราต่างมุ่งขวนขวายหาสิ่งที่เรียกว่าเป็นความมั่นคงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกทางกาย  หรือความมั่งคั่งทางด้านทรัพย์สินเงินทองกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนบางทีอาจหลงประเด็นคิดกันไปว่า ชีวิตคือการไขว่คว้าและดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้า และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเรื่องปัจจัยสี่และความพอเพียงต่างหากเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ

“บ้านแห่งสมาธิ” หลังนี้ออกแบบโดยสมมติให้เป็นบ้านของผู้ที่ชื่นชอบและศรัทธาในวิถีทางแห่งความเรียบง่ายและพอเพียง เน้นการดำเนินชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งความสงบและการปล่อยวางทั้งปวง พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย ห้องนอน มีห้องน้ำขนาดพอดี ห้องครัวและส่วนรับประทานอาหารที่อยู่รวมกัน พื้นที่อเนกประสงค์ตรงกลางเป็นลานยกพื้น เพื่อใช้นั่งสมาธิและสนทนาธรรม มีทางเดินจงกรมวนรอบ

รูปแบบอาคารเป็นลักษณะชั้นเดียว ผนังส่วนใหญ่เปิดโล่งให้สัมผัสกับธรรมชาติ (ธรรมะ) ตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ภาพลักษณ์อาคารเป็นแนวเรียบง่ายรูปแบบตะวันออก ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของนักคิดและนักปราชญ์ทางจิตวิญญาณมาแต่ครั้งโบราณกาล

บ้านสมาธิหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 50 ตารางเมตร สามารถปลูกสร้างได้ในที่ดินขนาด 50 ตารางวา หน้ากว้าง 18 เมตรขึ้นไป

ทำทางเดินจงกรมลดระดับ เพื่อแบ่งแยกพื้นที่ใช้สอยให้ชัดเจน
ออกแบบบันไดทางขึ้นให้ดูน่าสนใจ โดยให้มีมุขหลังคายื่นออกมาคลุม เป็นการเน้นให้เห็นทางเข้าบ้าน
บริเวณครัวทำผนังเตี้ยเปิดโล่ง เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีและเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ

แปลน              

  1. ลานอเนกประสงค์สำหรับนั่งสมาธิและสนทนาธรรม                                                        
  2. ห้องครัวและส่วนรับประทานอาหาร                                                   
  3. ห้องนอน                               
  4. ทางเดินจงกรม                                             
  5. ห้องน้ำ
  6. ห้องอาบน้ำ  

7. บ้านในสวนธรรม

เรื่อง : chermata

ออกแบบ : คุณสุนิสา แพนไธสง E-mail : [email protected]

“มากกว่าการพักคือการพักใจที่บ้าน” เป็นคำนิยามบ้านในฝันของ คุณฝ้าย – สุนิสา  แพนไธสง มัณฑนากรผู้ออกแบบแบบบ้านหลังนี้ จากความตั้งใจที่จะสร้างบ้านหลังหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบที่บ้านเกิด “บ้านที่มาก กว่าบ้านเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ ให้บ้านเป็นเสมือนที่พักผ่อนที่แท้จริง รูปทรงของตัวอาคารเป็นแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ภายในเน้นเป็นพื้นที่โล่งโปร่ง มีหลังคาเรียบสูง ใช้โทนสีขาวเทาเป็นหลัก และโทนสีไม้สีอ่อน เพื่อให้บ้านดูอบอุ่น”

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ


“ฟังก์ชันการใช้งานออกแบบให้เพียงพอและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามการใช้งาน เช่น มุมอเนกประสงค์ที่เปรียบเสมือนพื้นที่ใช้งานร่วมกันของครอบครัว โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่กว้าง ทำให้สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนั่งเล่น ทำกับข้าว รวมถึงยังมีลานระเบียงกว้างที่ใช้เป็นที่นั่งสมาธิได้อีกด้วย”

แบบสร้างบ้านวัยเกษียณ
พื้นที่สำหรับใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวออกแบบให้เป็นเทอร์เรซที่มีขนาดกว้าง หันออกสู่ทิศเหนือทำให้ได้รับแสงเพียงพอ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย ทั้งปูเสื่อนั่งเล่น เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรม และทำกิจกรรมร่วมกันกับพ่อแม่และพี่สาว
เหตุผลที่เลือกจัดวางมุมรับประทานอาหารไว้ในตำแหน่งกลางบ้าน เพราะต้องการให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารร่วมกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว
ครัวขนาดกะทัดรัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับแพนทรี่โดยออกแบบให้มีหน้าต่างกระจกเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นเข้ามารบกวนในบ้าน  พร้อมทั้งยังสะดวก
ในการรับ – ส่งและจัดเตรียมอาหารอีกด้วย

บ้านหลังนี้มีองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้รับการจัดวางมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน 2 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องนอนของลูกสาวทั้งสองที่ใช้ห้องแต่งตัวร่วมกัน ภายในห้องไม่มีทีวี รวมไปถึงห้องนอนของพ่อแม่ก็มีเพียงที่นอนนุ่มๆ และไม่มีทีวีเช่นกัน เพราะคุณฝ้ายตั้งใจให้เป็นห้องแห่งการพักผ่อนแบบส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แถมยังเป็นกุศโลบายให้ทุกคนออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน ในส่วนของห้องน้ำคุณฝ้ายออกแบบให้อยู่ทางทิศใต้เพื่อให้ได้รับความร้อนที่สะท้อนเข้าในช่วงบ่าย ช่วยฆ่าเชื้อโรคและทำให้ห้องไม่อับชื้น โดดเด่นที่ห้องน้ำใหญ่ซึ่งออกแบบให้ใช้งานร่วมกันได้ทั้ง 2 ห้อง 

เชื่อว่าหลายคนมีรูปแบบของบ้านในฝันไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีความชอบ มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เพราะบ้านที่สร้างขึ้นมาก็ล้วนบ่งบอกตัวตนของเจ้าของบ้านนั่นเอง

แปลน

  1. ทางเข้า
  2. ส่วนรับประทานอาหาร
  3. แพนทรี่
  4. ส่วนนั่งเล่น
  5. ครัว
  6. ห้องพระ
  7. ห้องนอนใหญ่
  8. ส่วนแต่งตัว
  9. ห้องน้ำใหญ่
  10. ห้องน้ำ
  11. ห้องนอน 2
  12. ห้องนอน 3
  13. ส่วนแต่งตัว
  14. ระเบียง

รวม บ้านวัยเกษียณ อยู่แล้วสุขใจสำหรับผู้สูงอายุ

7 แบบบ้านชั้นเดียวแจกฟรี! ในงบ 2.4 แสน – 2 ล้าน

แจกฟรี 4 แบบบ้านที่รองรับผู้สูงวัย ให้อยู่บ้านได้อย่างปลอดภัย