รถยนต์ไฟฟ้า

เช็กวิธีติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน (EV Charger)

รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้า

ติดตั้ง ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน (EV Charger) ที่บ้าน ต้องขอมิเตอร์ไฟใหม่หรือไม่ ขนาดมิเตอร์เท่าไรจึงปลอดภัย เครื่องชาร์จแบบไหนเหมาะกับบ้าน มาดูคำตอบกัน

การติดมิเตอร์ไฟฟ้ารองรับ ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน (EV Charger) ทำได้ 2 วิธี

มาตรฐานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ได้กำหนดการติดตั้งมิเตอร์เพื่อรองรับ ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน (EV Charger) เป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. เพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน บ้านทั่วไปจะมีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า คือ Sigle-Phase 5(15)A  หรือ Sigle-Phase 15(45)A โดยให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น Sigle-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 14(45)A
  2. ขอติดตั้งมิเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับEV Chargerโดยเฉพาะ เหมาะสำหรับบ้านที่ไม่สะดวกปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน โดยดำเนินการเช่นเดียวกับการติดตั้งมิเตอร์ใหม่ ทั้งนี้มิเตอร์เครื่องที่ 1 และมิเตอร์เครื่องที่ 2 จะต้องเป็นประเภทผู้ใช้ไฟเดียวกัน เช่น มิเตอร์เครื่องที่ 1 เป็นผู้ใช้ไฟประเภทกิจการขนาดเล็ก มิเตอร์เครื่องที่ 2 ต้องเป็นประเภทกิจการขนาดเล็กด้วย แต่สามารถเลือกใช้คนละอัตราค่าไฟได้ (อัตราปกติกับอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้: TOU) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อัตราค่าไฟฟ้า และการขอมิเตอร์ไฟ
EV Charger
ภาพ : การไฟฟ้านครหลวง

6 Checklist วิธีตรวจสอบความพร้อมของบ้านเบื้องต้น

มีวิธีตรวจสอบเบื้องต้น จากคำแนะนำของการไฟฟ้านครหลวง ดังนี้

  1. ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้าน โดยสำหรับไฟ 1 เฟส ต้องมีขนาดมิเตอร์ 30 แอมป์ขึ้นไป ส่วนไฟ 3 เฟส ต้องมีขนาดมิเตอร์ 15/45 แอมป์
  2. ขนาดสายไฟเมน ขนาดสายไฟที่ใช้เชื่อมมายังตู้ควบคุม ต้องมีขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร ขนาดที่ใหญ่ขึ้นเป็นขนาดของเส้นทองแดง รวมไปถึงสำรวจตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ควรใช้ตู้ที่รองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์
  3. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ภายในตู้จะต้องมีช่องว่างสำหรับติดตั้ง Miniature Circuit Breaker, 1P ขนาด 16 A ที่ต้องแยกช่องจ่ายไฟออกจากส่วนอื่น และต้องมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 100 A สำหรับมิเตอร์ขนาด 30(100)A เพื่อรองรับกระแสไฟของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้
  4. เครื่องตัดไฟรั่ว Earth-Leakage Circuit Breaker หรือ Residual Current Circuit Breaker (RCCB) เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้ติดตั้งเครื่องตัดวงจรเมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออก ไม่เท่ากัน เครื่องทำหน้าที่ตรวจจับไฟฟ้ารั่ว เกิดจากการใช้ไฟเกินความพอดี หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านมีสภาพเก่า เป็นสาเหตุการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูดผู้ใช้งานหรือไฟไหม้ได้ เครื่องตัดไฟรั่วจะตัดไฟที่ไหลผ่าน ในกรณีที่พบว่ามีกระแสไฟฟ้าบางส่วนรั่วหายไป เช่น รั่วไหลลงไปในดิน ผ่านร่างกายมนุษย์ หรือรั่วผ่านฉนวนที่ชำรุดของอุปกรณ์ไฟฟ้า มีทั้งแบบตรวจจับแรงดัน และแบบตรวจจับกระแส โดยการไฟฟ้าแนะนำให้ติดตั้ง RCCB Type B เข้าไปเพิ่มเพื่อความปลอดภัย แต่ถ้าหากภายในเครื่องชาร์จมีการติดตั้ง RCCB Type B หรือเทียบเท่าอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่ม
    • หมายเหตุ เครื่องตัดไฟรั่ว แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ TYPE A สามารถตัดไฟรั่ว AC ที่ ≤ 30 mA. ส่วน TYPE B สามารถตัดไฟรั่ว AC ที่ ≤30 mA. และมีฟังช์ชั่นการตรวจจับการรั่วไหลของ DC ที่ <6 mA.
  5. เต้ารับ (EV Socket-Outlet) สำหรับเสียบสายชาร์จเป็นชนิด 3 รู ต้องทนต่อกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 A ตาม มอก.166-2549 (หรืออาจเป็นเต้าสำหรับอุตสาหกรรม) และต้องมีหลักดิน(สายดิน) ซึ่งแนะนำให้แยกออกจากหลักดินของระบบไฟเดิมของบ้าน โดยใช้สายต่อหลักดินเป็นสายหุ้มฉนวนที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ตารางมิลลิเมตร ส่วนหลักดินควรมีขนาด 16 มิลลิเมตร ยาว 2.4 เมตร ตามมาตรฐาน และการต่อสายดินกับหลักดินควรเชื่อมต่อกันด้วยความร้อน
  6. ตำแหน่งติดตั้งเต้ารับ EV Charger มีระยะห่างที่เหมาะสมกับความยาวของการชาร์จ แนะนำที่ระยะความยาวไม่เกิน 5 เมตร แม้ว่าตัวเต้ารับจะระบุเป็นใช้ภายนอกบ้านก็ตาม แต่ควรติดตั้งในที่ร่ม และกันแดดกันฝนได้  

หากใครอยู่อาศัยในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ต้องสำรวจระบบไฟฟ้าของหมู่บ้านเราก่อน โดยสอบถามจากโครงการว่าสามารถรองรับการติดตั้งEV Chargerได้หรือไม่ กระแสไฟฟ้าในโครงการตอบโจทย์การติดตั้งEV Chargerที่บ้านหรือไม่ และเราต้องเตรียมระบบไฟในบ้านอย่างไรบ้าง

เครื่องชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าแบบไหนเร็วสุด ติดตั้งที่บ้านเหมาะกับแบบไหน

การชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการชาร์จ 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ Quick Charger, Normal Charger เครื่องชาร์จแบบ Wall Box และ Normal Charger ต่อจากเต้ารับในบ้าน ซึ่ง Normal Charger ทั้ง 2 รูปแบบเหมาะสำหรับชาร์จไฟในบ้าน

รถยนต์ไฟฟ้า
ภาพ : unsplash-michael-fousert

1. Quick Charge เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) จากสถานีชาร์จรถไฟฟ้าจ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง การชาร์จแบบนี้จะเร็วที่สุดใน 3 แบบ ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ ประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo (Charge de Move ใช้แพร่หลายในญี่ปุ่น), GB/T (พัฒนาโดยจีน) และ CCS (Combined Charging System ใช้ในยุโรปและอเมริกา) มีให้บริการตามสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งมีบริษัทเอกชนหลายรายกำลังลงทุนขยายเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง เช่น บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าต่างๆ  สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น และมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหา EV Charger ที่อยู่ใกล้เคียงได้ผ่าน Google Maps ด้วย

ภาพ : unsplash-dcbel

2. Normal Charger เครื่องชาร์จแบบ Wall Box เป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเห็นเครื่องชาร์จติดผนังตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม โดยชาร์จผ่านตัวแปลงไฟที่จะทำหน้าที่ในการแปลงไฟกระแสสลับไปเป็นไฟกระแสตรง ระยะเวลาในการชาร์จอาจมีได้ตั้งแต่ 4 – 9 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และสมรรถนะของรถ

3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง ซึ่งทำได้ก็ต่อเมื่อมิเตอร์ไฟของบ้านสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่เป็นเต้ารับเฉพาะสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ รถ EV จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงขณะทำการชาร์จ จึงควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านให้มีความเหมาะสมต่อปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า เช่น สะพานไฟ และขนาดของสายไฟว่าสามารถรองรับได้หรือไม่ อีกทั้งอุปกรณ์ชาร์จควรมีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ระยะเวลาการชาร์จของรูปแบบนี้จะนานสุด คือกว่า 12-15 ชั่วโมง

EV Charger
ภาพ : การไฟฟ้านครหลวง
EV Charger
ภาพ : การไฟฟ้านครหลวง

การติดตั้ง EV Charger ควรเลือกใช้บริการติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบไฟฟ้า ที่มีระบบทดสอบการติดตั้งด้วยเครื่องทดสอบที่ทันสมัย และเชื่อใจได้ อีกทั้งเรายังสามารถปรึกษาซักถามข้อสงสัยเรื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ด้วยทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง เพื่อให้เกิดความสบายใจ และความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยติดตั้งตาม “มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับบริภัณฑ์จ่ายไฟยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัย อาคารชุด อาคารสำนักงานและลักษณะที่คล้ายกัน” ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการภายใต้ชื่อ KEN by MEA (KEY ENERGY NOW) ของการไฟฟ้านครหลวง บริษัทเอกชนหลายแห่งที่ได้นำเข้าตัวชาร์จมาจำหน่าย พร้อมบริการติดตั้งตามบ้าน ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจรถ EV ได้ใช้บริการแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง


เรื่อง : Urawan Rukachaisirikul      


การ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย

ป้องกันบ้านร้อน ด้วยวิธี Passive & Active Cooling Design

ติดตามบ้านและสวน