สวนป่า ร่มรื่นดูแลง่าย บนเนื้อที่ 245 ตารางเมตร

สวนป่า หลังส่งต่อกิจการให้ผู้อื่นดูแล ซึ่งพอดีกับช่วงวัยเกษียณ คุณเสี่ยว – ทินกร เทิดวิกรานต์ ตั้งใจจะออกท่องเที่ยวพักผ่อน แต่แผนการต้องมาหยุดชะงัก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นเหตุให้ต้องงดเดินทาง จึงหันมาปรับปรุงพื้นที่รอบบ้านให้เป็นสวนสวย ๆ เติมความร่มรื่นเพิ่มความอภิรมย์ในช่วงที่ต้องอยู่แต่ในบ้านแทน

ลานหินวงกลมมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นลานอเนกประสงค์ ใช้ปาร์ตี้สังสรรค์ หรือเป็นลานบาร์บีคิว นั่งชมสวนฟังเสียงน้ำตก ความพิเศษอยู่ที่ที่นั่งโค้งก่อจากหินกาบก้อนยาววางเรียงซ้อนกัน

“ผมเห็นผลงานของ คุณไห – ทินกร  ศรีวัฒนะธรรมา จากยูทูปรายการบ้านและสวนครับ โดยส่วนตัวชอบสวนป่าอยู่แล้ว ยิ่งเห็นสวนป่าสไตล์คุณไหยิ่งถูกใจเลยครับ เราอยู่บ้านหลังนี้กันมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ห้องริมสวนนี้สร้างขึ้นมาใหม่ รอบ ๆ มีแต่พื้นดินโล่ง ๆ กับต้นไม้ใหญ่ทั้งที่ซื้อมาปลูกและที่ขึ้นเอง อย่างลำไยและชมพูพันธุ์ทิพย์ เลยให้คุณไหเข้ามาช่วยดูแล บอกไปว่าอยากได้สวนแบบธรรมชาติ มีน้ำตก มีลำธาร มีบ่อปลา ได้ยินเสียงน้ำไหล ได้มีกิจกรรมทำในสวนตอนที่ต้องอยู่แต่ในบ้านทั้งวัน” คุณเสี่ยวที่กำลังง่วนกับการตักเศษใบไม้ในบ่อปลาหันมาเล่าเรื่องราวของสวนแห่งนี้ให้เราฟัง

คุณไห ผู้ออกแบบสวน กล่าวต่อว่า “ผมออกแบบให้สามารถเข้าถึงได้ทุกมุมในสวน จะเข้าไปเก็บใบไม้ที่ร่วงหล่น รดน้ำต้นไม้ หยิบโน่นจับนี่ได้ทุกที่ เป็นสวนป่าที่ใช้งานได้ง่ายและไม่รกจนเกินไป ตั้งใจให้มองเห็นน้ำตกได้จากตัวบ้านเลย จึงผลักให้น้ำตกออกไปอยู่ชิดริมรั้วหน้าบ้าน และเป็นจุดที่สูงที่สุดของสวน แต่น้ำตกจะสูงแค่ประมาณ 1.50 เมตร เพราะไม่อยากให้เกิดเสียงดังมาก ก่อน้ำตกด้วยหินทรายเหลือง ซึ่งดูเป็นธรรมชาติกลมกลืนกับสวน ด้านหลังน้ำตกมีพญาสัตบรรณอยู่ก่อนแล้ว ย้ายโมกมาปลูกรวมกันเป็นกลุ่ม ย้ายลำไยจากลานหินกาบด้านหน้ามาอยู่ด้วยกัน ปลูกจั๋งและเฮลิโคเนียเพิ่มเพื่อช่วยบังสายตาจากภายนอก เนื่องจากบ้านนี้เป็นบ้านหัวมุม มีปัญหาที่พญาสัตบรรณโดนปลวกกินทำท่าจะไม่รอด ผมตัดแต่งกิ่งด้านบนออก แล้วใส่สับปะรดสีกับเฟินเพิ่มเข้าไป ทำให้เหมือนเป็นพุ่มใบแทน  

ไทรตัดแต่งพุ่มใหญ่ด้านซ้ายและรกฟ้าด้านขวาเป็นต้นไม้เดิม ปลูกมั่งมีและไม้พุ่มเสริมให้ร่มรื่นยิ่งขึ้น ปูทางเดินด้วยแผ่นหินทรายแดงหนาประมาณ 2 นิ้ว เป็นจุดต้อนรับให้เดินเข้าไปชมสวนด้านใน

“เราใช้ดินที่ขุดจากบ่อปลาถมให้เป็นเนิน โดยให้ตรงกลางสวนเป็นจุดที่สูงที่สุด วางหินทรายก้อนใหญ่ลดหลั่นกันเป็นสเต็ปทางเดินเพื่อให้สวนดูมีมิติขึ้น โดยวางแทรกอยู่ระหว่างลำธารที่ไหลแยกเป็นสองทาง เกิดเป็นน้ำตกเล็ก ๆ ขนาบสองข้างของทางเดินสะพานหิน ปลายสุดเป็นบ่อปลาที่อยู่ริมระเบียงไม้ ซึ่งซ่อนระบบกรองอยู่ด้านล่างทั้งหมด ดินอีกส่วนนำมาผสมกับปุ๋ยคอก ใส่ปูนขาวเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคและปรับค่า pH ในดิน ใส่ดินสำเร็จรูปผสมลงไปเพื่อใช้เป็นดินสำหรับปลูกต้นไม้ในสวน ส่วนนี้ผมเลือกใช้หินทรายที่มีขนาดใหญ่กว่าสวนอื่นที่เคยทำ และใช้หินมากกว่า 20 ตัน โดยใช้หินทรายสีเหลืองเป็นหลักซึ่งดูเป็นธรรมชาติมากกว่าสีแดงครับ”

ถัดจากลานหินกาบเป็นทางเดินเข้าสวนน้ำตกด้านใน วางหินทรายแดงก้อนใหญ่ลดหลั่นเป็นสเต็ปทางเดิน รายล้อมด้วยไม้ใบต้นน้อยใหญ่หลากหลายชนิด
แม้ว่าน้ำตกจะมีความสูงไม่มากนักแต่ก็มีถึงสามระดับ ที่พิเศษคือเลือกใช้หินทรายเหลืองขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนหน้าเรียบ หนาประมาณ 20 เซนติเมตรวางลดหลั่นกันเป็นชั้นน้ำตก

บนเนื้อที่ 245 ตารางเมตร นอกจากจะมีน้ำตก ลำธาร บ่อปลา และหินก้อนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่แล้ว ยังมีไม้ใหญ่ซึ่งเป็นต้นไม้เดิมอยู่หลายต้น ไม่ว่าจะเป็นมะพลับ รกฟ้า เพกา สมอ ชมพูพันธุ์ทิพย์ ลำไย กระบก รวมไปถึงโมก สนใบพาย และพู่จอมพลที่กำลังออกดอกสีชมพูสะพรั่ง นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยไม้ใบสีสวยหลากหลายชนิด รวมไปถึงต้นไม้ที่เกาะอยู่ตามไม้ใหญ่  

พุ่มไม้ด้านซ้ายของภาพเดิมทีเป็นกระบกต้นใหญ่ แต่ภายหลังถูกปลวกทำลาย คุณไหตัดสินใจตัดแต่งกิ่งแทนการขุดล้อมออก ปลูกเฟินเพิ่มเข้าไปเสมือนเป็นพุ่มใบแทน อีกฝั่งปลูกพุดกังหันฟอร์มสวย ด้านล่างปลูกไม้ใบในร่ม เลือกชนิดที่มีใบใหญ่เด่นสะดุดตา เช่น ฟิโลเดนดรอน

“ไม้ใหญ่เดิมที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ก็ยังปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งเดิม และลงต้นไม้ใหม่เพิ่มบางส่วน จัดกลุ่มต้นไม้โดยใช้หลักการจัดสวนพื้นฐาน มีไม้ใหญ่ ไม้พุ่มระดับกลาง ไม้ระดับล่าง ไม้คลุมดิน เลือกใช้ต้นไม้ที่มีฟอร์มมากขึ้น เช่น เสม็ดแดง พุดกังหัน มั่งมี เฟินอ้ายหมี ปริกหางกระรอก ฟิโลเดนดรอน มอนสเตอรา หน้าวัวใบ และใช้ไม้ใบที่มีสีหลากหลาย เช่น หมากผู้หมากเมีย บีโกเนีย อโกลนีมา นาคบริพัตร บอนดำ เตยทอง หัวใจสีม่วง ผมยังใส่ไม้ดอก เช่น เอื้องหมายนา พรมญี่ปุ่น ต้อยติ่งฝรั่ง พ่วงคราม เฮลิโคเนีย เพื่อเพิ่มสีสันในสวน ใส่ดีเทลของต้นไม้เพิ่มขึ้นต่างไปจากที่เคยจัดสวนอื่นมาครับ

อีกจุดเด่นที่สังเกตได้คือการเลือกใช้พรรณไม้ที่มีความหลากหลายกว่าเดิม ทั้งต้นไม้ที่มีฟอร์มเด่นสะดุดตา และไม้ใบที่มีสีสันสวยงาม
ไม้หมอนรถไฟเทียมยังคงเป็นวัสดุที่คุณไหชอบเลือกใช้ ด้านในเป็นคอนกรีตผสมโฟมเสริมเหล็ก มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นทางเดิน ใช้กั้นขอบแปลง หรือใช้แบ่งพื้นที่เช่นในภาพ  

“พื้นที่โดยรวมของสวนค่อนข้างร่ม เนื่องจากมีกระบกต้นใหญ่อยู่กลางสวน พรรณไม้ด้านล่างจึงเป็นไม้ในร่มเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนหลังกระบกอาการไม่ค่อยดี ทิ้งใบ ทำให้ด้านล่างมีแสงแดดส่องลงมามากขึ้น แต่โชคดีที่ต้นไม้ด้านล่างไม่ได้รับผลกระทบนัก เนื่องจากเป็นไม้ในร่มที่สามารถปรับตัวได้ดี เช่น พวกฟิโลเดนดรอน ข้อดีของไม้ในร่มที่มีใบขนาดใหญ่คือมีความยั่งยืนกว่า สามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งในที่ร่มและแสงรำไร ต้นไม้ที่เลือกใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นต้นที่ใช้อยู่เป็นประจำ ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีและดูแลไม่ยากครับ  

“ส่วนพวกไม้แขวนที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น เฟินข้าหลวง เฟินปีกนก ผมสั่งซื้อผ่านร้านค้าออนไลน์ หากปลูกในสภาพที่เหมาะสม ได้รับความชื้นเพียงพอ ไม้รากอากาศพวกนี้ก็ดูแลไม่ยากนัก ประมาณหนึ่งอาทิตย์ต้นก็ฟื้นตัวเติบโตต่อไปได้แล้วครับ ปัจจุบันการซื้อต้นไม้แบบออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้นักจัดสวนหาต้นไม้ได้หลากหลายและช่วยประหยัดเวลามากขึ้นด้วยครับ”

ปลายสุดของลำธารยังคงเลือกใช้หินทรายแผ่นใหญ่หน้าเรียบทำเป็นหน้าน้ำตกให้น้ำไหลลงสู่บ่อปลาที่อยู่ติดกับระเบียง
ระเบียงไม้ริมบ่อปลา พื้นและเสาใช้ไม้เทียมที่ทนแดดทนฝน ไม่ต้องพะวงเรื่องความชื้น ด้านล่างซ่อนระบบกรองไว้ ที่นั่งที่เห็นยังใช้เป็นราวกันตกป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเด็กๆ ในบ้าน ส่วนด้านหน้าของภาพ จะเห็นว่าช่องว่างระหว่างแผ่นหินทางด้านนอกปลูกหนวดปลาดุกแคระแทนการโรยหินแกลบต่างจากด้านใน เนื่องจากพื้นที่เป็นสโลปหากโรยหินแกลบอาจไหลลงไปได้

ทั้งหินทราย ไม้หมอนรถไฟเทียม ระเบียงไม้ และชิงช้า รวมไปถึงงานโครงสร้างฐานรากใต้ดินของน้ำตก ลำธาร และบ่อปลาที่แข็งแรงมั่นคง ล้วนเป็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนสวย แลนด์สเคป ซึ่งคุณไหใส่ดีเทลเรื่องการใช้พรรณไม้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีความเป็นสวนป่ามากขึ้นกว่างานออกแบบในสมัยก่อน เรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างสวนป่าทรอปิคัลกับสวนหินได้อย่างงดงามลงตัว  

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมีนาคม 2566
เจ้าของ : คุณทินกร เทิดวิกรานต์
ออกแบบ : บริษัทสวนสวย แลนด์สเคป จำกัด
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์  จันทองสุข