คุยกับมืออาชีพ กับอนาคตของ กวักมรกตด่าง

คุณบิ๊ก – พลสิทธิ์ จิระพจชพร ผู้บริหารโรงแรมในเครือ The Fourwings Hotel Bangkok ผู้หลงใหลในความสวยงามของต้นไม้ยอดฮิตอย่างต้น กวักมรกต จากความชอบและใจรักจึงได้เริ่มศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง และเริ่มต้นด้วยการสั่งซื้อมาปลูก จากหนึ่งใบ สู่อาณาจักรกวักมรกตที่แสนล้ำค่าหลากหลายราคา

กวักมรกต

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆด้วยความชอบและตกหลุมรักในต้น กวักมรกต สู่ความเป็นมาของงานอดิเรกยามว่างที่ผลตอบแทนแสนงาม

          “ผมเริ่มต้นจากความชอบในต้นกวักมรกตตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่อก่อนถ้าได้ไปตามร้านขายต้นไม้เราก็จะเห็นกวักมรกตมีใบที่มันวาว สวย ซึ่งสมัยก่อนย้อนกลับไปประมาณสัก 20 ปีที่แล้วยังมีเพียงแค่ใบสีเขียว เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีพันธุ์ใบด่างเข้ามาจึงทำให้หลงใหลมากขึ้น นอกจากความมันเงาของใบแล้ว สีก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนใจเลือกที่จะปลูกกวักมรกตอย่างจริงจัง โดยเริ่มมาปลูกจริงจังในช่วงการระบาดของโควิด19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากสั่งซื้อทางเพจ และกลุ่มเฟสบุ๊ก ทดลองด้วยพันธุ์เขียวด่างก่อนแล้วค่อยๆขยับเป็นตัวแรร์เป็นขั้นๆไป เช่น ดำด่าง แคระด่าง และจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้กวักมรกตด่างราคายังขยับได้อยู่ คือ ค่อนข้างโตช้า และทำเนื้อเยื่อได้ยาก ไม่เหมือนกับกล้วยด่าง หรือบุษราคัม ที่ราคาค่อนข้างขยับขึ้นลงได้เร็วตามตลาด”

กวักมรกต
กวักมรกต

คุณบิ๊กเล่าว่าหากไม่คัดต้นแม่พันธุ์ที่มีความด่างอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้รุ่นลูกที่ได้เกิดความด่างที่ไม่เสมอ เช่น ชำกวักมรกต 10 ใบ อาจจะได้รุ่นลูกที่ด่างเพียงแค่ 1-2 ต้น แต่ถ้าหากได้คัดต้นแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์และความด่างที่สม่ำเสมอแล้วนั้น จะได้รุ่นลูกที่ด่างสูงถึง 5-6 ต้น จากการชำ 10 ใบ

          “สำหรับเกณฑ์การคัดต้นแม่พันธุ์ เราจะพิจารณาจาก ความด่างสวย ฟร์อมสวย ขนาดใบใหญ่ไหม สีสวยไหม ลายด่างกระจายหรือไม่ ต้นมีความสมบูรณ์ไหม และต้องเป็นต้นแม่พันธุ์ที่ไม่มีใบด่างเผือกเยอะมากเกินไป เพราะเนื่องจากการด่างแบบเผือกในทางธรรมชาติจะไม่มีคลอโรฟิล จึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ จะค่อยๆไหม้และแห้งกรอบไปในที่สุด”

กวักมรกต
กวักมรกต
กวักมรกต

เมื่อถามถึงขั้นตอนการขยายพันธุ์ คุณบิ๊กเล่าด้วยความชำนาญว่า “เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ เลือกกิ่ง ตัดกิ่ง และวางแผนการตัดซอยแยกใบอย่างไร เพื่อให้ได้ใช้ทุกส่วนของกิ่ง เมื่อตัดกิ่งเสร็จแล้วจะต้องทาปูนแดงที่ต้นแม่ และรอยตัดตามแต่ละใบด้วย ทิ้งไว้ให้แห้งสักพัก (ประมาณ 5-10 นาที) แล้วค่อยนำมาชำลงในกระถางประมาณ 3 นิ้วก็พอ ปักลงและกดดินให้แน่น สำหรับส่วนผสมวัสดุเพาะชำ ดินส่วนใหญ่จะเลือกเป็นดินที่รากสามารถยึดเกาะได้ดี เช่น ดินใบก้ามปูเป็นหลัก ผสมกับขุยมะพร้าวบ้างเล็กน้อย จากนั้นรดน้ำพอชุ่ม แล้วนำมาใส่ในภาชนะอบ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างจะดีกว่าการชำน้ำ หรือชำทราย เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยในเรื่องการควบคุมและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย เป็นวิธีที่ดูแลน้อย ประสิทธิภาพดี เพราะรดน้ำเพียงครั้งเดียว จึงอยากแนะนำวิธีนี้สำหรับการชำกวักมรกตหรือพืชต่างๆก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนใช้ได้”

กวักมรกต
เลือกกิ่งพันธุ์ที่ลายด่างสวย ขนาดใบใหญ่ และมีความสมบูรณ์
กวักมรกต
กวักมรกต
หลังจากตัดแล้วทาด้วยปูนแดง ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 10-15 นาที
ตัดแยกแต่ละข้อใบ
ตัดแยกแต่ละใบ เพื่อชำแบบใบเดียว เน้นการทำจำนวนเป็นหลัก
ทาปูนแดงตามรอยตัดในแต่ละใบ และทิ้งไว้ให้แห้ง
กวักมรกต
ชำในกระถางประมาณ 3 นิ้ว
กวักมรกต
อบด้วยภาชนะอบ

“เมื่ออบได้ประมาณ 20-25 วัน จะเริ่มเกิดรากเล็กๆและสร้างหัวสะสมอาหารใต้ดิน ในช่วงนี้ก็สามารถนำออกมาปลูกแบบปกติได้ แต่ถ้าหากยังไม่มีเวลาหรือยังไม่สะดวกก็สามารถอบต่อไปได้ถึง 1 เดือน ก็จะได้ขนาดหัวที่ใหญ่ขึ้น รากที่ยาวขึ้น จะมีความแข็งแรงมากขึ้น ค่อยย้ายมาปลูกแบบปกติก็สามารถทำได้ สำหรับการดูแลเบื้องต้นให้วางไว้ที่มีแสงแดดรำไร และมีอากาศถ่ายเท รดน้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ในปริมาณครั้งละน้อยๆ หากรดน้ำมากเกินไปจะเกิดอาการโรคราคเน่าโคนเน่าได้ นอกจากโรครากเน่าหัวเน่าแล้วยังมีโรคไวรัส ที่ทำให้ใบพืชมีความม้วนงอ แต่ในส่วนของเราไม่เจอเพราะเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด สำหรับการบำรุงด้วยปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยละลายช้า สูตร 13-13-13 หรือจะใช้สูตรอื่นก็ได้ตามแต่ความเหมาะสม คือเราจะผสมดินกับปุ๋ย ให้ได้ความโปร่งและมีสารอาหารที่ครบ ซึ่งจะเปลี่ยนดินหรือวัสดุปลูก ประมาณ 3-4 เดือน/ครั้ง หากไม่สะดวกอาจจะเป็น 4-6 เดือน/ครั้ง”

กวักมรกต

“ในส่วนของโรงเรือน ก็มีผลกับการเลี้ยงกวักมรกตเช่นกัน เพราะการปลูกต้นไม้ที่ดีต้องมีหลายปัจจัย นอกจากต้นไม้แล้วสถานที่ก็สำคัญ โรงเรือนมีลมถ่ายเทหรือไม่ และธรรมชาติของไม้ชนิดนั้นชอบแสงแดดประมาณไหน สำหรับกวักมรกตไม่ได้ชอบแดดจัด เราจึงใช้ซาแลนพลางแสง 70-80% สีเงิน คลุมด้วยพลาสติกใส ด้านนอกเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในฤดูฝน เนื่องจากกวักมากดไม่ชอบฝนอยู่แล้ว ส่วนตัวโรงเรือนก็ต้องหมั่นตรวจสภาพอยู่เรื่อยๆเป็นประจำหากมีจุดไหนที่เสียหาย ก็ต้องเปลี่ยนซ่อมหรือปรับปรุง ในส่วนของพื้นโรงเรือนเราปูด้วยทราย และโรยด้วยหินภูเขาไฟ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการดูดซับความชื้นได้อีกด้วย”

พื้นโรงเรือนปูด้วยทราย และโรยด้วยหินพูเขาไฟ
ใบด่างเผือกที่ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ จะค่อยๆแห้งไปในที่สุด

สำหรับอนาคตของวงการกวักมรกตด่างยังคงเป็นที่น่าจับตามองและน่าสนใจศึกษาเรียนรู้ “สำหรับผมมองว่า ราคาของไม้ด่างจะมีทั้งขึ้นและลงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วตามกระแสนิยม แต่สำหรับต้นกวักมรกต ค่อนข้างที่จะขึ้นและลงไม่มากนัก เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างโตช้า ได้ลายด่างสวยๆไม่มาก และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อค่อนข้างอยาก สำหรับในอนาคตคาดว่าจะไปได้มากกว่านี้แน่นอน บวกกับเปิดประเทศแล้วความต้องการจากต่างประเทศก็มากขึ้น หากเป็นต้นด่างสวยๆต่างชาติแย่งกันซื้อแน่นอน อนาคตราคาก็จะขึ้นไปอีกตลาดก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากที่ติดตามมาสี่ถึงห้าปีในกลุ่มดูราคาแล้วไม่ได้ร่วงจนถึงขั้นเทขาย ราคาจะอยู่ตามคุณภาพของต้นไม้มากกว่า เช่นความด่างสวย ขนาดใบ ขนาดของต้น ความสมบูรณ์ของฟร์อม จึงอยากแนะนำให้คนมาสนใจกันเยอะๆ เพราะการปลูกต้นไม้ทำเป็นงานอดิเรกได้ และนอกจากนั้นสามารถก่อให้เกิดรายได้เสริมได้อีกด้วย แต่เราต้องกล้าที่จะเริ่มต้นก่อน เพราะการที่เราจะทำอะไรสักอย่างการเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าหากเรากล้าที่จะเริ่ม และเดินหน้าต่อสักวันเราจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”

สนใจกวักมรกตด่างสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทาง BIG POL Garden


เรื่อง : อธิวัฒน์ ยั่วจิตร

ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง

บทความที่เกี่ยวข้อง

การขยายพันธุ์ กวักมรกต

7 ต้นไม้สวยอันตราย

กวักมรกต ต้นไม้ในบ้านที่มีอันตรายกว่าที่คิด

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com