ต่อเติมบ้านใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรักรถ

บ้านต่อเติมใหม่ของคนรักรถ ที่ต่อขยายออกมาจากบ้านหลังเดิม เปิดพื้นที่โล่งด้านล่างสำหรับจอดรถ พร้อมลิฟต์จอดรถระบบไฮดรอลิกที่ทำให้สามารถจอดรถได้มากถึง 10 คัน

เมื่อมองจากด้านหน้า เราอาจไม่รู้เลยว่าบ้านสองชั้นหน้าตาเรียบเท่ที่เห็นนี้ไม่ใช่บ้านสร้างใหม่ทั้งหลัง แต่เป็น บ้านต่อเติมใหม่ของคนรักรถ ซึ่งต่อขยายออกมาจากบ้านหลังเดิมที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านใน กระทั่งประตูรั้วขนาดใหญ่ด้านหน้าเปิดออกเราจึงได้เห็นว่าชั้นบนของส่วนต่อเติมลอยอยู่เหนือพื้นที่เปิดโล่งด้านล่างสำหรับจอดรถ รวมถึงติดตั้งลิฟต์จอดรถระบบไฮดรอลิกที่ทำให้บริเวณนี้สามารถจอดรถได้มากถึง 10 คันด้วย

สถาปนิกออกแบบให้ประตูรั้วและตัวบ้านชิดด้านหน้า โดยเลือกใช้วัสดุตกแต่งให้มีความหลากหลาย
ส่วนบ้านที่ต่อเติมใหม่ออกแบบให้ลอยอยู่เหนือพื้นที่จอดรถด้านล่าง ซึ่งเมื่อติดตั้งลิฟต์จอดรถแล้วทำให้สามารถจอดรถได้มากถึง 10 คัน

เรื่องรถ เรื่องหลัก

ส่วนต่อเติมด้านหน้านี้เปรียบเสมือนกับบ้านหลังใหม่ของ คุณดาฟ – จิรภัทร สุจิตภารพิทยา ซึ่งขยายออกมาจากบ้านหลังเดิมที่เป็นพื้นที่ของสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว โดยยังคงฟังก์ชันของการอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียว แต่เพิ่มเติมความเป็นส่วนตัว และปรับปรุงสเปซให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักรถตัวยง โดยเฉพาะคุณดาฟและคุณพ่อ ด้วยการจัดสรรพื้นที่จอดรถให้เพียงพอสำหรับทั้งรถยนต์ที่ใช้เป็นประจำและรถยนต์สะสมของครอบครัวรวม 8 คัน รวมถึงเปลี่ยนห้องเก่าชั้นล่างของบ้านหลังเดิมให้กลายเป็นพื้นที่เวิร์คช็อปเกี่ยวกับรถด้วย

จัดสรรพื้นที่จอดรถให้มีความลึกพอดีสำหรับจอดรถซ้อนแถว และติดตั้งลิฟต์จอดรถไฮดรอลิกด้านในสุด
ลิฟต์จอดรถไฮดรอลิก อุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่จอดรถได้อีกเท่าตัว ด้านบนเหมาะสำหรับรถสะสมที่ใช้งานไม่บ่อยนัก
เลือกใช้วัสดุไม้ที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ผนังด้านข้าง ไปจนถึงประตูรั้วไม้ที่ตีทึบ แต่ดูบางเบาด้วยการดีไซน์โครงสร้างเหล็กให้ดูไม่หนาและหนักเกินไป
ระเบียงทางเข้าบ้านทำหน้าที่เป็นคอร์ตกลางบ้านไปในตัว ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและนำแสงธรรมชาติลงมาด้านล่าง

พื้นที่จอดรถอาจถือได้ว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญที่สุดในการรีโนเวตบ้านครั้งนี้ ตามที่คุณดาฟเล่าว่า “ให้โจทย์เรื่องที่จอดรถเป็นอันดับแรกเลยครับ ก่อนหน้านี้พื้นที่ด้านหน้าบ้านจอดรถได้ประมาณ 6-7 คันครับ แต่เข้า-ออกลำบากเพราะมีประตูรั้วแค่ด้านเดียว” ด้วยจำนวนรถที่เยอะเป็นพิเศษ สถาปนิกจาก Architecture’s Matter นำโดย คุณตั๋ง-ณัฏฐพล หงส์ทอง คุณมีน-พงศธร พิมพ์นวลศรี และ คุณไมเคิล – ณชาภณ รุจิราโสภณ จึงเริ่มออกแบบจากพื้นที่จอดรถก่อน โดยจัดสรรพื้นที่ว่างและวางตำแหน่งเสาที่รองรับโครงสร้างชั้น 2 ของอาคารให้สามารถจอดรถได้ 8 คัน ก่อนที่คุณดาฟจะตัดสินใจติดตั้งลิฟต์จอดรถระบบไฮดรอลิกเอาไว้ด้านในสุดของที่จอดรถด้านหนึ่ง เพื่อให้สามารถจอดรถยนต์วินเทจซึ่งเป็นของสะสมของคุณพ่อได้อีก 2 คัน

“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะติดลิฟต์จอดรถครับ แต่ก็กลัวว่าที่จอดรถจะแน่นเกินไป โชคดีที่สามารถหาลิฟต์จอดรถที่ขนาดพอดีกับพื้นที่ นอกจากจะได้ที่จอดรถเพิ่มแล้ว ยังสามารถมองรถสะสมที่ถูกยกซ้อนกันได้จากในห้องเวิร์คช็อปด้วยครับ” คุณดาฟเล่า

ห้องเวิร์คช็อป พื้นที่ทำงานเกี่ยวกับรถที่สามารถมองเห็นรถสะสมที่จอดอยู่บนลิฟต์ด้านนอกได้
สามารถเปิดหน้าต่างเพื่อเชื่อมต่อห้องเวิร์คช็อปกับพื้นที่กับสวนด้านนอก

เชื่อมบ้านเก่าสู่บ้านใหม่

พื้นที่ด้านหลังลิฟต์จอดรถซึ่งแต่เดิมเป็นห้องเล็กๆ สองห้องในบ้านหลังเดิม ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นห้องเวิร์คช็อปสำหรับทำงานเกี่ยวกับรถและเก็บของสะสมมากมาย ทั้งโมเดลรถ หุ่นของเล่น และอุปกรณ์แต่งรถโกคาร์ทที่ทั้งสองพ่อลูกชื่นชอบ ขณะเดียวกันก็สามารถมองออกไปเห็นรถยนต์สะสมและสวนหย่อมด้านนอกผ่านผนังกระจกได้

ส่วนที่ลึกเข้าไปด้านในจากที่จอดรถอีกด้านหนึ่ง คือระเบียงทางเข้าบ้านซึ่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับทางเข้าบ้านหลังเดิม แต่ออกแบบใหม่ให้ดูสดชื่นยิ่งขึ้นด้วยพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ด้านข้าง พร้อมติดตั้งหลังคากันสาดโปร่งแสงด้านบนเพื่อกันฝน โดยบริเวณนี้นอกจากจะเป็นทางเข้าบ้านแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนคอร์ตกลางบ้านที่ช่วยนำแสงธรรมชาติจากด้านบนลงมา ทำให้พื้นที่ด้านล่างดูไม่มืดทึบและอึดอัด

โถงบันไดนำทางขึ้นมายังชั้น 2 รวมถึงทางเดินเชื่อมไปยังบ้านต่อเติมใหม่ด้านหน้า
ด้านหนึ่งของทางเดินเป็นผนังกระจกสำหรับรับแสงธรรมชาติ และเชื่อมต่อพื้นที่ออกไปยังระเบียงด้านนอก
ระเบียงด้านนอกดีไซน์เรียบง่าย แต่ดูเป็นธรรมชาติด้วยพื้นหินกรวด
มุมมองจากด้านนอกเห็นโครงสร้างหลังคาของทางเดินเชื่อมระหว่างบ้านเก่ากับบ้านใหม่
ภายในห้องฟิตเนส สามารถมองเห็นห้องนั่งเล่นได้ผ่านผนังกระจก

โถงบันไดเดิมของบ้านก็ปรับปรุงใหม่ให้มีดีไซน์กลมกลืนไปกับสเปซโดยรวมด้วยเช่นกัน โดยเป็นทางขึ้นไปยังพื้นที่ชั้น 2 รวมถึงทางเดินเชื่อมออกไปสู่โซนพักอาศัยของคุณดาฟในบ้านต่อเติมใหม่ ซึ่งถือเป็นจุดที่ท้าทายจุดหนึ่งในการออกแบบและก่อสร้าง

“บริเวณทางเชื่อมจากบ้านเก่าไปบ้านใหม่จำเป็นต้องกดระดับฝ้าเพดานให้ต่ำลง เพื่อสอดโครงสร้างหลังคาทางเชื่อมไว้ข้างใต้หลังคาเดิมครับ โดยเลือกใช้หลังคาคอนกรีตบนโครงสร้างคานเหล็กซึ่งมีความบางกว่าหลังคาแบบอื่น” คุณตั๋งอธิบาย ด้านหนึ่งของทางเดินที่เชื่อมไปยังบ้านใหม่เป็นผนังกระจกที่เปิดมุมมองสู่พื้นที่สีเขียวและรับแสงธรรมชาติจากคอร์ตกลางบ้าน รวมถึงมีประตูเปิดออกไปยังระเบียงที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยพื้นหินกรวด อีกด้านหนึ่งของทางเดินเป็นห้องฟิตเนสขนาดกะทัดรัดพร้อมวิวสวนด้านนอก

ห้องนั่งเล่นของคุณดาฟ ตกแต่งด้วยของสะสมสีสันสดใส
สเปซภายในห้องนั่งเล่นดูโปร่งโล่ง ด้วยเพดานสูงและช่องแสงด้านบน
ภายในห้องนั่งเล่นตกแต่งในสไตล์โมเดิร์น เน้นโทนสีขาว-เทา-ดำ

พื้นที่พักผ่อนส่วนตัว

ประตูไม้ตรงสุดทางเดินเปิดเข้าไปยังห้องนั่งเล่นภายในโซนพักอาศัยของคุณดาฟ ซึ่งตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นด้วยโทนสีขาว-เทา-ดำ แต่เพิ่มความอบอุ่นด้วยพื้นไม้ รวมถึงแต่งเติมสีสันให้ดูสดใสขึ้นด้วยของสะสม แม้จะออกแบบให้ห้องมีช่องเปิดน้อยเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่สเปซภายในก็ดูสว่างและโปร่งโล่งด้วยเพดานสูงและช่องแสงด้านบน

ประตูอีกบานในห้องนั่งเล่นเปิดเข้าไปยังห้องนอน ซึ่งภายในกั้นสเปซเป็นสองส่วน โดยแบ่งออกเป็นห้องนอนหลักที่สามารถเปิดประตูกระจกบานใหญ่เพื่อออกไปยังระเบียงกลางบ้านได้ และห้องแต่งตัวแบบ Walk-through Closet ที่เป็นทั้งพื้นที่แต่งตัวและทางเดินไปยังห้องน้ำที่อยู่ด้านในสุด ภายในห้องน้ำยังคงตกแต่งในโทนสีเทาเข้ม แต่สว่างด้วยแสงธรรมชาติจากช่องเปิดด้านหน้าบ้านและช่องแสงสกายไลต์เหนือห้องอาบน้ำแบบเรนชาวเวอร์

กำแพงด้านหลังหัวเตียงกั้นพื้นที่ห้องออกเป็นส่วนห้องนอนหลัก และห้องแต่งตัวแบบ Walk-through Closet
ห้องนอนเปิดออกไปยังระเบียงด้านนอก
ห้องแต่งตัวแบบ Walk-through Closet ตกแต่งในโทนสีดำ เป็นทั้งห้องแต่งตัวและทางเดินไปยังห้องน้ำด้านใน
ห้องน้ำตกแต่งในโทนสีดำ-เทา แต่สว่างด้วยแสงจากช่องหน้าต่าง และช่องแสงสกายไลต์เหนือห้องอาบน้ำ

ทั้งโซนพักผ่อนที่เป็นส่วนตัว พื้นที่จอดรถที่จัดสรรใหม่ให้ใช้งานได้สะดวกสบายและจอดรถได้มากขึ้น และห้องเวิร์คช็อปสำหรับใช้เวลากับงานที่ชื่นชอบ การต่อเติมบ้านใหม่ในครั้งนี้จึงตอบทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรักรถอย่างคุณดาฟ ตามที่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “รู้สึกว่าบ้านใหม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเรามากขึ้นครับ สามารถถอยรถเข้า-ออกที่จอดได้ง่ายขึ้น และสเปซภายในบ้านทุกอย่างก็ตรงตามความคิดของเราตั้งแต่แรกที่ว่าอยากให้บ้านออกมาเป็นแบบไหนครับ”


เจ้าของ : คุณจิรภัทร สุจิตภารพิทยา

ออกแบบ : Architecture’s Matter โดยคุณณัฏฐพล หงส์ทอง คุณพงศธร พิมพ์นวลศรี และคุณณชาภณ รุจิราโสภณ

ออกแบบภายใน : คุณณัฐติกานต์ ขันตี

ผู้รับเหมา : บริษัท เฟอร์คอมเดคคอเรทีฟ จำกัด


คอลัมน์ บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมกราคม 2566

เรื่อง : Tinnakrit

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

สไตล์ : Sanook


บ้านโมเดิร์น Timeless House สเปซแห่งความงามไร้กาลเวลา

บ้านรีโนเวตครอบครัวขยาย เชื่อมต่อสเปซหลากหลายในหลังเดียว

บ้านสีขาวที่แก้ปัญหาบ้านแน่นให้กลายเป็นบ้านโล่ง

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag