แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน

“บ้านกงสี” จุดบรรจบของธรรมชาติและวัฒนธรรม

แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน
แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน

แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน ในจังหวัดตรัง ที่นำภูมิปัญญาของสถาปัตยกรรมแบบจีนมาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ ผนวกกับการวางผังที่ให้อารมณ์เหมือนบ้านไทยได้อย่างลงตัว 


DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts

แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน
เรือนสองชั้นซึ่งเป็นอาคารหลักของบ้าน ออกแบบประตูบานเปิดคู่ขนาดใหญ่ ช่วยในเรื่องการระบายอากาศ บ้านจึงเย็นสบายตลอดวันเพราะไม่สะสมความร้อน จนแทบไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย

แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน หลังนี้มีชื่อว่า “บ้านกงสี”  คุณเธียรไชยและคุณโนรี นิยม เจ้าของบ้านซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีแนวคิดที่จะสืบสานองค์ความรู้เกี่ยวกับการอยู่อาศัยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ รวมถึงวัฒนธรรมของคนจีนที่เน้นเรื่องครอบครัวที่อบอุ่นและเกื้อกูลกัน เพราะคุณเธียรไชยก็อยู่อาศัยร่วมกับพี่สาว 

คุณพงศกร ตุ้มปรึกษา และคุณณัฐนันท์ โภคินพิทักษ์ ผู้ออกแบบจาก บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัดได้นำพื้นที่โล่งกลางกลุ่มเรือนของบ้านแบบจีนที่เรียกว่า “Court House” มาช่วยในเรื่องการหมุนเวียนอากาศ สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา การวางผังของบ้านยังคล้ายกับกลุ่มเรือนไทยตามบ้านคหบดีในอดีต ซึ่งจะวางกลุ่มเรือนล้อมรอบคอร์ตกลางบ้าน ทำให้ห้องต่างๆ วางแผ่ในแนวราบ ส่งผลให้ลมตามฤดูกาลพัดผ่านอย่างทั่วถึง อีกทั้งผู้อยู่อาศัยยังได้สัมผัสแสงธรรมชาติในทุกช่วงเวลา ทั้งแสงอาทิตย์ยามเช้าและแสงจันทร์ยามค่ำ

หลังคาสไตล์จีน
มุมมองจากภายนอกบ้าน เห็นถึงความอ่อนช้อยของรูปทรงหลังคาสไตล์จีน
สระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำวางขนานไปกับตัวบ้าน นอกจากใช้สำหรับการออกกำลังกายแล้ว ลมยังพัดเอาไอเย็นของน้ำเข้าสู่บ้าน สร้างสภาวะน่าสบายอีกด้วย 
โครงหลังคาแบบจีน
รายละเอียดการเข้าไม้ของโครงหลังคาแบบจีน รวมถึงการติดตั้งหลังคาแบบเรียงซ้อนทับกันเป็นริ้วลายอ่อนช้อยสวยงาม
โครงหลังคาแบบจีน
รายละเอียดของงานไม้โครงหลังคาที่ดูน่าสนใจ เกิดจากการบากเสาเพื่อรับคานไม้กลมและเป็นตัวรับรายละเอียดการประดับประดาของหลังคาอีกด้วย
ตีนเสา
ตีนเสาเป็นฐานก่ออิฐฉาบปูนรับตัวเสา เพื่อป้องกันความชื้นจากพื้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้เสาไม้ผุพังได้ในระยะยาว
กระเบื้องว่าว
หลังคามุงกระเบื้องว่าวที่ออกแบบให้ยื่นยาวออกมาคลุมตัวบ้าน เพื่อป้องกันแสงแดดในยามบ่าย แต่ยังดูกลมกลืนกับเรือนหลังอื่น แม้จะใช้กระเบื้องมุงหลังคาคนละชนิดกันก็ตาม   

คอร์ตกลางบ้านจึงเป็นเสมือน “หัวใจของบ้าน” ที่ให้ความร่มรื่นและสดชื่นแก่พื้นที่ทุกส่วนภายในบ้าน บริเวณนี้ยังมีลานหินและศาลาบรรพบุรุษสำหรับการนั่งจิบชาในยามเช้า พร้อมมีสระว่ายน้ำเพื่อเป็นที่รวมกิจกรรมของทุกคนในบ้าน นี่จึงเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าความเป็นครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น 

บ้านกงสีมีการออกแบบสร้างลำดับของการเข้าถึงอย่างน่าสนใจ ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวและปลอดภัยมากขึ้นตามลำดับของการเปลี่ยนผ่านพื้นที่ต่างๆเริ่มจากการเดินผ่านซุ้มประตูไม้เข้าสู่ Welcome Court ซึ่งเปรียบเหมือนพื้นที่ต้อนรับ  โดยจัดเป็นมุมสวนเล็กๆ เป็นการปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของผู้มาเยือน จากนั้นก็จะมีซุ้มประตูพระจันทร์ที่ออกแบบให้มีรูปลักษณ์แบบสถาปัตยกรรมจีนประยุกต์นำเข้าสู่คอร์ตที่ถือเป็น “หัวใจของบ้าน” ก่อนจะแยกเข้าภายในแต่ละเรือนบริเวณคอร์ตนี้ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา สร้างสภาพแวดล้อมที่ดูร่มรื่นและสวยงาม เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านกลางเมืองของจังหวัดตรังไม่มีวิวสวยงามที่ดึงดูดมากนัก ทั้งยังช่วยป้องกันมลภาวะทางเสียงและควันรถจากถนนด้านหน้าได้ด้วย

ซุ้มประตูพระจันทร์
ซุ้มประตูพระจันทร์ที่สถาปนิกใช้เป็นประตูหลักของบ้าน โดยปรับรูปลักษณ์ให้ดูร่วมสมัยขึ้น เปรียบเหมือนงานศิลปสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อการรับรู้ถึงที่ว่างและการเข้าถึงของผู้ที่เดินผ่าน
แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน
ทางเดินในสวนทอดยาวไปยังสระว่ายน้ำซึ่งโอบล้อมด้วยเรือนจีนประยุกต์อันงดงาม การออกแบบสัดส่วนของหลังคาแบบจีนช่วยให้ตัวอาคารดูเบาลอย 
แบบบ้านคอร์ตสไตล์จีน
คอร์ตกลางบ้าน พื้นที่สีเขียวที่เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของบ้านกงสี
ภายในบ้านออกแบบให้โปร่งโล่ง โดยวางผังให้ส่วนรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องสมุดดูต่อเนื่องถึงกันไปจนถึงระเบียงนอกบ้าน การตกแต่งก็ใช้คู่สีเรียบง่าย ทาผนังสีขาวร่วมกับพื้นและฝ้าไม้จริงสีน้ำตาลแดง 
ห้องน้ำ
ห้องน้ำตกแต่งอย่างเรียบง่ายและร่วมสมัย เพิ่มพื้นที่อาบน้ำแบบเอ๊าต์ดอร์ ให้อารมณ์เหมือนบ้านไทยสมัยก่อน เพิ่มรายละเอียดการตกแต่งด้วยกระเบื้องลวดลายโบราณสีเรียบที่ดูรับกับตัวบ้าน 
บนระเบียงชั้น 2 จะมองเห็นพื้นที่ทั้งหมดของบ้านระเบียงนี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนชานบ้านของไทยด้วย
ห้องพระ
เรือนห้องพระที่แยกออกมาอีกหลัง คล้ายกับการออกแบบหอพระแยกออกจากบ้านคหบดีของไทยในสมัยก่อน

บ้านหลังนี้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะไม้จริง ที่โดดเด่นอีกอย่างเห็นจะเป็นโครงสร้างหลังคาแบบจีนที่แสดงให้เห็นความประณีตในการเข้าไม้การปูกระเบื้องหลังคาอย่างงดงามและดูอ่อนช้อย ถือเป็นการนำธรรมชาติและวัฒนธรรมมาหลอมรวมเป็นบ้านสวยที่อยู่สบายอีกหลังหนึ่ง

เจ้าของ : คุณเธียรไชย – คุณโนรี นิยม

สถาปัตยกรรม :  บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โดยคุณพงศกร ตุ้มปรึกษา และคุณณัฐนันท์ โภคินพิทักษ์


เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล,  บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด

บ้านจีนแฝด…บ้านปูนชั้นเดียวริมน้ำในบรรยากาศรีสอร์ต

ชมบ้านเฉินฝู่ บ้านจีนโมเดิร์นของทายาทตั้งเซ่งจั้ว