detail

รวมการออกแบบ-ก่อสร้างที่มักพลาด

detail
detail

13.ไม่ใช้กระจกฝ้าในครัว

กระจกฝ้า คือ กระจกที่ด้านหนึ่งมีผิวสาก โปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใส จึงนิยมกรุหน้าบานตู้หรือกรุประตูหน้าต่างที่ต้องการพรางตา แต่ไม่ควรใช้ในห้องครัว เพราะเมื่อด้านที่มีผิวสากโดนน้ำมัน ผิวที่เห็นขุ่นๆ ก็จะดูใสขึ้นเป็นรอยดวงๆ ซึ่งเช็ดไม่ออก แนะนำให้ใช้กระจกลายผ้าหรือกระจกผิวส้ม ซึ่งมีผิวมันทั้งสองด้าน และช่วยพรางได้ใกล้เคียงกัน

14.พื้นซึม…เศร้า

เมื่อน้ำซึมลงพื้นจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งในระหว่างก่อสร้างสามารถป้องกันได้ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

  • ไม่ควรใช้พื้นสำเร็จรูป เพราะพื้นมีโอกาสขยับตัวได้ ทำให้เกิดการรั่วซึมง่าย
  • ใช้ผลิตภัณฑ์กันซึม ก่อนปูกระเบื้องควรป้องกันด้วยผลิตภัณฑ์กันซึม โดยทาให้ทั่วพื้น และทาที่ขอบผนังสูงประมาณ 10 เซนติเมตร คล้ายกระบะ
  • ปูกระเบื้องด้วยกาวซีเมนต์ ซึ่งจะไม่เกิดช่องว่างใต้กระเบื้อง แต่ถ้าช่างปูด้วยปูนทรายแบบ “ซาลาเปา” หรือ ปูด้วยปูน “ขี้หนู” จะเกิดโพรงซึ่งน้ำลงไปขังได้
  • ปูนยาแนวดีๆ ซึ่งเป็นด่านแรกในการป้องกันน้ำซึมลงไป และหากมีการหลุดล่อนควรรีบซ่อมแซม

15.ลูกบิดประตูห้องน้ำ

ลูกบิดประตูห้องน้ำจะแตกต่างกับลูกบิดประตูห้องทั่วไปที่ล็อกด้วยกุญแจ เพราะหากฉุกเฉินเรามักหากุญแจไม่เจอ จึงควรใช้รุ่นที่ปลดล็อกได้โดยไม่ใช้กุญแจ แต่จะมีร่องให้ใช้เหรียญหรือสันช้อนไขออกได้ง่าย และปกติประตูจะเปิดเข้าเพื่อป้องกันน้ำหยดลงพื้นนอกห้อง แต่ถ้าเป็นประตูห้องน้ำผู้สูงอายุควรเปิดออก เพื่อให้เปิดเข้าไปช่วยได้หากหกล้มนอนขวางประตู

16.ชักโครกมีกลิ่น

ต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีกลิ่นออกมาจากชักโครก คือ ช่างใส่อุปกรณ์ในขณะติดตั้งไม่ครบ บางรายไม่ใส่แหวนยางที่ฐานชักโครก ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการป้องกันกลิ่นย้อน จึงต้องกำชับช่างให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจต้องรื้อทำใหม่อีกรอบ

17.สายฉีดชำระและวาล์วน้ำ

  • สายฉีดชำระต้องอยู่ด้านที่ถนัดมือ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ด้านขวา
  • จุดต่ออุปกรณ์ทุกชิ้นควรติดตั้งวาล์วน้ำ เพื่อความสะดวกเมื่อต้องถอดเปลี่ยนอุปกรณ์
  • ไม่ใช้วาล์วน้ำของสายฉีดชำระและชักโครกร่วมกัน เพราะหากต้องการปรับลดความแรงของสายฉีดชำระลง น้ำก็จะไหลเข้าชักโครงน้อยช้าลงตามไปด้วย
  • ไม่ให้สายฉีดชำระกองกับพื้น ซึ่งมักเปื้อนง่าย โดยให้ทำวาล์วน้ำสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร

18.รูระบายน้ำมีกลิ่น

รูระบายน้ำสำหรับห้องน้ำควรใช้ชนิดดักกลิ่น ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยคว่ำป้องกันกลิ่นย้อนขึ้นมา แต่ขนาดรูระบายน้ำจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ จึงควรเลือกขนาดใหญ่ไว้เป็นการดี เพื่อให้น้ำไหลทันไม่ท่วมพื้น 

19.ซ่อมท่อนิดเดียว แต่ต้องรื้อผนังกระเบื้องทั้งผืน

เมื่อท่อน้ำที่ฝังในผนังเกิดเสียหาย จำเป็นต้องสกัดผนังเพื่อซ่อมแซม แม้จะสกัดกระเบื้องออกแค่บางแผ่น แต่ก็ต้องเปลี่ยนกระเบื้องผนังทั้งผืน เพราะไม่อาจหากระเบื้องแบบเดิมมาปูได้ ซึ่งสามารถเตรียมเผื่อการซ่อมแซมได้ ด้วยการออกแบบให้แนวท่อเดินฝั่งเดียวกัน แล้วก่อผนังสองชั้นสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งใช้เป็นแท่นวางของได้ด้วย เมื่อต้องซ่อมแซมก็จะสกัดแค่ผนังส่วนนี้ ไม่ลุกลามไปยังผนังส่วนอื่น 

20.นอนดูดาวน์ไลท์แสบตาแย่

การติดโคมดาวน์ไลท์ในห้องนอนไม่ควรติดให้ตรงตำแหน่งเตียงนอน เพราะเมื่อนอนมองขึ้นไปแล้วจะแสบตา จึงควรติดไว้ด้านข้างเตียงและปลายเตียง รวมถึงการใช้โคมชนิดมีกระจกกรองแสงก็ช่วยลดแสงจ้าได้

21.ติดแอร์แบบนี้ระวังป่วย

หลายบ้านติดแฟนคอยล์ตามที่ช่างแอร์แนะนำ ซึ่งช่างแอร์มักเลือกตำแหน่งที่เดินท่อสั้นและทำงานง่ายที่สุด ถ้าตำแหน่งแฟนคอยล์อยู่หัวหรือปลายเตียงจะทำให้ลมแอร์พัดเข้าหน้า ซึ่งอาจทำให้ป่วยได้ง่าย จึงต้องดูให้สัมพันธ์กับตำแหน่งเตียงนอนและรูปทรงห้อง โดยให้ตำแหน่งแฟนคอยล์อยู่ด้านข้างเตียง ค่อยไปทางปลายเตียงจะดีที่สุด และลมแอร์พัดไปตามความยาวของห้อง ความเย็นก็จะกระจายได้ทั่วห้อง

22.ผนังหัวเตียงทึบดีกว่าโปร่ง

ปกติผนังหัวเตียวควรเป็นผนังทึบ เพราะให้ความรู้สึกปลอดภัย แต่ถ้าใครชอบมีหน้าต่างที่หัวเตียงก็ไม่ผิด เพียงแต่จะมีแสงเข้ามามาก และการเปิด-ปิดหน้าต่างอาจต้องปีนเตียง แต่ตำแหน่งหัวเตียงที่ไม่ควรวางเลย คือ หัวเตียงติดผนังห้องน้ำ เพราะจะมีเสียงดัง อีกทั้งมีกลิ่นและความชื้นรบกวนอีกด้วย

23.วางเตียงชิดผนังดีไหม

การวางเตียงนอนชิดผนังสามารถทำได้เพื่อประหยัดพื้นที่ แต่ควรทำเฉพาะเตียงที่นอนคนเดียว เพราะหากเป็นเตียงนอนสองคน อีกคนจะขึ้นลงเตียงไม่สะดวก อีกทั้งการปูผ้าปูที่นอนฝั่งที่ติดผนังจะทำได้ลำบากกว่าปกติ

24.ไฟส่องกระจกหรือส่องหน้าดี

บางคนเข้าใจผิดว่าการติดไฟสำหรับแต่งหน้าต้องส่องไฟเข้ากระจก แต่ที่ถูกต้องคือการส่องไฟเข้าหน้า และถ้าจะให้ดีควรส่องด้านบน ด้านซ้ายและด้านขวาให้แสงสม่ำเสมอกันเพื่อไม่ให้เกิดเงา โดยใช้หลอดไฟแสงเดย์ไลท์ของยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด เพราะแต่ละยี่ห้อจะมีโทนสีต่างกันเล็กน้อย

25.ไม่ควรปูพื้นกระเบื้องหรือหินในห้องนอน

พื้นหินและกระเบื้องเซรามิกเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่ายก็จริง แต่ไม่เหมาะสำหรับปูในห้องนอนโดยเฉพาะห้องนอนผู้สูงอายุ เพราะเวลาเดินเท้าเปล่าจะรู้สึกเย็นเท้าเกินไป แนะนำให้ปูด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสน่าสบาย เช่น ไม้จริง ไม้ลามิเนต กระเบื้องยาง หรือพรม ซึ่งนอกจากสบายเท้าและไม่ลื่นแล้ว หากหกล้มหรือตกเตียงก็เจ็บน้อยกว่าด้วย


  • คอลัมน์ สถาปัตยกรรม พ.ค. 62 นิตยสารบ้านและสวน
  • เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล

สารพัดปัญหาก่อสร้าง-ต่อเติมบ้าน การแก้ไขและป้องกัน

แบบแปลนห้อง และการวางเฟอร์นิเจอร์ ทำเองได้

ติดตามบ้านและสวน