O House เปิดคอร์ตให้เป็นหัวใจของบ้าน

บ้านที่ทำคอร์ตเพื่อเชื่อมมุมมอง แก้ปัญหาบ้านอับทึบเพราะมีห้องจำนวนมาก โดยนำแสงธรรมชาติและลมให้เข้าถึงได้ทุกห้อง

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Poetic space studio

จากที่เคยใช้ชีวิตในตึกแถวย่านสีลมมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อตึกนั้นหมดสัญญา ของ ครอบครัวตั้งฐานะตระกูล จึงต้องมองหาบ้านหลังใหม่ กอปรกับลูกทั้ง 5 ก็เติบโตเข้าวัยทำงานและต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถ้าซื้อบ้านใหม่ในย่านเดิมก็จะได้เพียงตึกแถว จึงหาที่ดินชานเมืองใกล้รถไฟฟ้า จนได้ที่ดินย่านตลิ่งชันสำหรับบ้านหลังใหม่ของครอบครัว โดยติดต่อให้ Poetic space studio โดย คุณณัฐ-ณัฐศาส จีนพันธ์ และคุณยุพ-ยุพยงค์ ชัยขจรภัทร์ เป็นผู้ออกแบบ

บ้านสีขาวที่มีเส้นสายเรียบง่ายของกรอบอาคารที่เอียงเข้าหากันตามรูปทรงหลังคา โดยออกแบบฝั่งซ้ายเป็น 2 ชั้นและฝั่งขวาเป็นชั้นเดียว
เน้นความเรียบคมของเส้นขอบและมุมอาคารด้วยผนังสีขาวตัดกับสีเทาดำของพื้นหินและผนังที่เป็นตู้เก็บของและรองเท้าที่ออกแบบให้ดูสูงถึงเพดาน
โถงทางเข้าหน้าบ้านเปิดสเปซสูงลาดเอียงตามโครงสร้างหลังคา ออกแบบให้มีองค์ประกอบคล้ายห้องคือ มีผนัง 3 ด้าน มีช่องผนังที่เปิดโล่งคล้ายหน้าต่าง และปลูกต้นไม้ซึ่งเมื่อสูงขึ้นจะเติมเต็มช่องว่างด้านหน้า ซึ่งเป็นเสมือนผนังด้านที่สี่

จากตึกแถวสู่บ้านแนวราบ

คุณอุ๊-สุนิสาและคุณอุ๋ม-ณัฐธิดา ตั้งฐานะตระกูล พี่คนโตและคนรองเล่าย้อนไปยังวันที่วางแผนสำหรับบ้านใหม่ “แต่เดิมอยู่ตึกแถวย่านสีลม ชั้นล่างเปิดเป็นออฟฟิศจิเวลรี ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยที่เราใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิด แต่เมื่อตึกหมดสัญญา คุณแม่ก็ได้ที่ดินย่านตลิ่งชันมา 500 ตารางวา ซึ่งก็ใหญ่เกินไปสำหรับเรา จึงแบ่งกับเพื่อนคนละครึ่งแปลงเพื่อสร้างบ้านคนละหลังจะได้เป็นเพื่อนบ้านกัน โดยปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด และทำประตูหลังบ้านเชื่อมถึงกันได้”   

ห้องนั่งเล่นตกแต่งเรียบง่าย ทำผนังเป็นประตูสูงถึงฝ้าเพดานให้เปิดโล่งได้ทั้งสองด้าน และสร้างความต่อเนื่องไปยังคอร์ตกลางบ้าน
แบบบ้านคอร์ต
คอร์ตที่เป็นเสมือนหัวใจของบ้านนี้ เป็นจุดรวมสายตาจากทุกพื้นที่ในบ้าน ออกแบบเป็นสระว่ายน้ำและสวนที่จะออกมาพักผ่อนหรือเพียงแค่นั่งมองก็ให้ความรู้สึกสดชื่น
แบบบ้านคอร์ต

การแชร์พื้นที่ร่วมกัน

เพราะเคยอยู่ตึกแถวมาตลอด ไม่มีประสบการณ์การอยู่บ้านที่มีบริเวณ สถาปนิกจึงเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุด “เราบอกความต้องการให้สถาปนิกค่อนข้างกว้างคือ เป็นบ้านสำหรับพี่น้อง 5 คน คุณแม่ และในอนาคตจะมีคุณยายมาอยู่ด้วย ใจจริงอยากได้บ้านชั้นเดียว แต่ดูพื้นที่ใช้สอยแล้วต้องเป็นสองชั้น และอยากได้สภาพแวดล้อมที่ดี”

บ้านสีขาวที่มีเส้นสายเรียบง่ายของกรอบอาคารที่เอียงเข้าหากันตามรูปทรงหลังคา คั่นด้วยระเบียงและคอร์ตกลางบ้าน ซึ่งเป็นการตีโจทย์ของสถาปนิก “จากที่ได้คุยกับเจ้าของบ้านทำให้เห็นว่าบ้านเดิมที่เขาอยู่จะมีการแชร์ทุกอย่างร่วมกันค่อนข้างมาก ซึ่งเรามองว่าเป็นวิถีชีวิตที่เขาคุ้นเคย และทำให้ทุกคนสนิทสนมใกล้ชิดกันมาก เป็นความรู้สึกที่ดีและมีเสน่ห์ที่ยังอยากรักษาไว้ จึงออกแบบบ้านเป็นตัวโอ (O) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 560 ตารางเมตร โดยให้คอร์ตที่เปิดโล่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของบ้าน เป็นการเปิดโล่งเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ให้มองเห็นกันได้จากทุกพื้นที่ในบ้าน”

แบบบ้านคอร์ต
ออกแบบหน้าต่างบานเลื่อนเข้ามุมที่เปิดมุมหน้าต่างได้ ทำให้ภายในและภายนอกบ้านเป็นเสมือนส่วนเดียวกัน
แบบบ้านคอร์ต
ส่วนรับประทานอาหารเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของครอบครัว ออกแบบให้ต่อเนื่องกับลานปาร์ตี้หลังบ้าน ที่มักตั้งเตาบาร์บีคิวสังสรรค์กัน
แพนทรี่แบบไอส์แลนด์เคาน์เตอร์ที่เดินได้รอบ เป็นอีกมุมโปรดของสมาชิกในครอบครัวที่มักทำอาหารและอบขนมกินกันหลายคน

พื้นที่ส่วนตัวเล็ก เพื่อพื้นที่ส่วนรวมใหญ๋

ด้านหน้าของชั้นล่างเป็นห้องนั่งเล่น ฝั่งซ้ายและขวาเป็นห้องนอนฝั่งละสองห้อง ส่วนด้านหลังเป็นห้องรับประทานอาหารและครัวที่ต่อเนื่องไปยังลานปาร์ตี้หลังบ้าน และแปลงผักสวนครัวที่คุณแม่ปลูก ส่วนชั้นบนมี 2 ห้องนอน ห้องออกกำลังกายและระเบียงดาดฟ้า “ภายในบ้านประกอบด้วย 6 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัวฟังก์ชันแบบคอนโดมิเนียม โดยออกแบบให้พื้นที่ส่วนตัวเล็กที่สุด เพื่อจะได้มีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกันมาก แม้ทุกคนจะอยู่แบบเป็นส่วนตัว แต่เมื่อเปิดประตูห้องนอนมาก็จะเจอพื้นที่ส่วนกลางเลย คือ ยังเห็นคนอื่นๆ ทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้าน และออกแบบองค์ประกอบอาคารเพื่อสร้างพฤติกรรมการใช้งานให้หันหน้าเข้าศูนย์กลางบ้าน เช่น ทำที่นั่งหน้าบ้านและหลังบ้านให้หันหน้าเข้าบ้าน ซึ่งเราหวังว่าสเปซเหล่านี้จะช่วยโน้มน้าวพฤติกรรมให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเช่นเดียวกับที่เคยเป็นมา แบบบ้านคอร์ต

โถงบันไดสีขาวดีไซน์เรียบสะอาดตา แต่สร้างมิติด้วยช่องเปิดด้านล่าง และทำรางซ่อนไฟยาวตลอดแนวผนัง
ห้องนอนแต่ละห้องมีลักษณะคล้ายกัน มีพื้นที่แค่พอใช้งานได้สะดวกแต่ก็ไม่อึดอัด ด้วยการทำช่องเปิดไปยังคอร์ตเล็ก เพื่อให้มีแสงและลมเข้ามาได้
แบบบ้านคอร์ต
คอร์ตขนาดเล็กฝั่งซ้ายและขวาที่นอกจากจะใช้เป็นมุมนั่งเล่นแล้ว ยังช่วยระบายอากาศภายในบ้านได้ดีขึ้น

ใช้คอร์ตสร้างความเป็นส่วนตัว

            “นอกจากคอร์ตกลางบ้านแล้วยังมีอีก 2 คอร์ตเล็กๆ ฝั่งซ้ายและขวาที่เป็นมุมนั่งเล่นแบบเป็นส่วนตัว แต่มีจุดประสงค์หลักคือ เป็นการเปิดพื้นที่ในการระบายอากาศให้ภายในบ้าน และเป็นที่ว่างที่คั่นระหว่างห้องนอน สร้างความสงบเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่วนพื้นที่หลังบ้านก็สำคัญไม่ต่างจากหน้าบ้าน เพราะจะเป็นบริเวณที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง มีห้องอาหารและครัวที่ต่อเนื่องไปยังลานปาร์ตี้ที่ตั้งโต๊ะ วางเตาบาร์บีคิวได้ และมีแปลงผักสวนครัวที่คุณแม่ปลูก ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้ทำตอนอยู่ตึกแถว”

การเว้นที่ว่างให้ความว่างเปล่าได้เคล้ามวลอากาศ และประกายแดด นอกจากจะทำให้บ้านรู้สึกน่าอยู่และสวยงามแล้ว ยังมีพื้นที่ให้ความรักของครอบครัวได้เติบโตและเติมเต็มที่ว่างนั้นให้เป็นบ้านที่อบอุ่น ซึ่งจะกลายเป็นหัวใจของบ้านที่แท้จริง

แบบบ้านคอร์ต
หลังบ้านหันทางทิศตะวันตก จึงทำประตูระแนงที่เลื่อนบังแดดได้ยาวตลอดแนวตัวบ้าน และเป็นมุมแปลงผักสวนครัวที่คุณแม่ปลูก
แบบบ้านคอร์ต
แบบบ้านคอร์ต

  • เจ้าของ: ครอบครัวตั้งฐานะตระกูล
  • ออกแบบ: Poetic space studio โดยคุณณัฐศาส จีนพันธ์ และคุณยุพยงค์ ชัยขจรภัทร์ โทรศัพท์ 08-5156-8876

  • คอลัมน์บ้านสวย ธ.ค. 62 นิตยสารบ้านและสวน
  • เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
  • ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ข้อควรรู้ในการออกแบบก่อนทำคอร์ตในบ้าน

บ้านไม้อบอุ่น ชวนห้อยขาล้อมคอร์ตสีเขียว

ติดตามบ้านและสวน