บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัยที่เกิดจากการ “ตกหลุมรัก” เมืองเหนือและวิถีธรรมชาติ

บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ทรงจั่ว ที่โอบล้อมด้วยป่าเขา หลังบ้านติดลำเหมือง มีศาลานั่งเล่น และเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติของลูกๆ

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

“การตกหลุมรัก” คือจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ เนื่องจาก คุณน้ำ – วริษฐ์ วรรละออ  ได้เดินทางมาเที่ยวภาคเหนืออยู่บ่อยครั้ง นอกจากได้พบกับภรรยาชาวเชียงราย คุณน้ำยังตกหลุมรักในบรรยากาศสบาย ๆ ของเมืองเหนือ จึงตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาสร้างบ้านไว้อยู่อาศัยกับครอบครัวที่นี่สักวัน เมื่อเห็นว่าถึงเวลาประจวบเหมาะ คุณน้ำเเละน้องสาว คุณนุ่น – มุกดา วรรละออ จึงตัดสินใจจะซื้อที่ดิน และพบกับที่ดินว่างเปล่าซึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเขาธรรมชาติแห่งนี้ ในตำบลน้ำแพร่ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสร้าง บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
“หลังจากพบกับภรรยา ผมมีโอกาสได้มาเที่ยวเชียงใหม่บ่อย ๆ และชื่นชอบบรรยากาศในช่วงหน้าหนาว เพราะอากาศดีมาก จึงตั้งใจไว้ว่าอยากมีบ้านสักหลัง และพอดีเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ตรงคอนเซ็ปต์หมดทุกอย่าง เป็นบ้านกลางป่า และอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก เหมาะสำหรับจะเป็นที่ให้ทุกคนในครอบครัวได้มาใช้เวลาพักผ่อนร่วมกัน”

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย

ที่ตั้งของบ้านหลังนี้โอบล้อมด้วยพื้นที่ธรรมชาติอันสวยงาม มีภูเขาเป็นฉากพื้นหลัง และเนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณร่องหุบเขา จึงมีลำเหมืองไหลผ่านอยู่ด้านหลังของผืนที่ดิน ริมขอบที่ดินมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นต้นไม้เดิมคอยให้ร่มเงากับตัวบ้าน ด้วยธรรมชาติที่สวยงามนอกจากจะมีพื้นที่ใช้สอยหลักในบ้านแล้ว คุณน้ำจึงตั้งใจอยากให้มีพื้นที่สำหรับนั่งเล่นภายนอก รองรับกิจกรรมนอกบ้านของครอบครัวท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นแห่งนี้
คุณน้ำเล่าว่าตัดสินใจให้ยางนาสตูดิโอมาออกแบบบ้านหลังนี้ให้ เพราะชื่นชอบในสไตล์การออกแบบที่เรียบง่ายของทางสตูดิโอ มีความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบของยางนาสตูดิโอ แต่ทำตัวกลมกลืนกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี โดยมีโจทย์ทำบ้านให้เรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม และอาจจะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเกสต์เฮาส์หรือคาเฟ่ได้ในอนาคตในวันที่ครอบครัวไม่ได้มาพักอาศัยเป็นประจำ ขอเพียงแต่อยู่ในงบประมาณที่ตั้งใจไว้  บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

วางผังบ้านขนานไปกับภูเขา

คุณเท่ง – เดโชพล รัตนสัจธรรม สถาปนิกจากยางนาสตูดิโอ เริ่มต้นเล่าถึงการออกแบบว่า เนื่องจากที่ตั้งรายล้อมด้วยผืนป่าซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว ตัวที่ดินเองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านยาวขนานไปกับภูเขา จึงวางตัวบ้านเป็นแนวยาวให้ขนานไปกับที่ดิน และเว้นระยะห่างจากริมถนนเข้ามาพอสมควร เผื่อไว้ให้สำหรับพื้นที่สีเขียว สถาปนิกจัดวางด้านแคบของบ้านหันไปทางฝั่งถนน  และหันด้านแนวยาวของบ้านขนานไปกับผืนที่ดินและภูเขาซึ่งเป็นทิศเหนือ ทำให้ลมสามารถไหลเวียนเข้าภายในบ้านได้อย่างสะดวก              
“พื้นที่บริเวณบ้านจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งซ้ายหรือฝั่งถนนคือทิศตะวันออก ส่วนฝั่งขวาบริเวณด้านหลังคือฝั่งทิศตะวันตก จึงวางผังค่อนไปทางด้านหลังเพื่อเว้นพื้นที่ด้านหน้าไว้สำหรับปลูกต้นไม้ หรืออาจจะเผื่อไว้เป็นพื้นที่สำหรับมานั่งเล่นกางเต็นท์ได้ ดังนั้นเมื่อมองจากถนนเข้ามาจะเห็นเป็นต้นไม้ ที่ดูร่มรื่นก่อน ส่วนบริเวณด้านหลังฝั่งทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่สีเขียวหลังบ้าน และมีศาลาซึ่งอยู่ติดกับลำเหมือง ไว้สำหรับนั่งเล่นพักผ่อน”

ศาลาไม้สำหรับพักผ่อนหลังบ้านที่อยู่ติดกับลำเหมือง ฝั่งซ้ายของภาพคือห้องน้ำสำหรับภายนอก
ลำเหมืองซึ่งไหลผ่านบริเวณพื้นที่นั่งเล่นหลังบ้าน

ใช้โครงสร้างไม้ผสมคอนกรีตที่ไม่ซับซ้อน

พื้นที่ใช้สอยของบ้าน 188 ตารางเมตร ถูกแบ่งออกเป็นสามหลังหลักๆ ได้แก่ อาคารอยู่อาศัย ศาลาไม้ ซึ่งอยู่ติดกับลำเหมือง และห้องน้ำสำหรับใช้ภายนอก สถาปนิกอธิบายถึงแนวคิดหลักในการออกแบบว่า เป็นบ้านที่มีลักษณะเหมือนบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นและธรรมชาติแวดล้อม เพียงเเต่เลือกปิดพื้นที่ชั้นใต้ถุนด้วยผนังคอนกรีตทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายใน โดยออกแบบให้มีหน้าต่างหรือช่องเปิดให้ได้มากที่สุด บ้านจึงดูโปร่งและทำให้ลมธรรมชาติสามารถไหลเวียนผ่านเข้าตัวบ้านได้ วัสดุที่เลือกใช้ส่วนใหญ่จะมาจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ทั่วไปในท้องถิ่น

“การออกแบบเป็นการประยุกต์บ้านไม้พื้นถิ่น ผมจึงออกแบบตัวบ้านเป็นโครงสร้างไม้เก่าร่วมกับวัสดุที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่ เพราะช่วยประหยัดงบประมาณ แต่จะเลือกใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมดกับศาลานั่งเล่นและพื้นที่ภายนอก เพื่อให้บรรยากาศของศาลากลมกลืนกับบริบทธรรมชาติโดยรอบ” 

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
กรอบบานประตู หน้าต่างจะเน้นคุมโทนสีของไม้ จึงเลือกใช้เป็นไม้สักทั้งหมด
เฟอร์นิเจอร์ไม้ซึ่งเจ้าของบ้านนำมาเองจากหาดใหญ่ กลายมาเป็นโต๊ะสนามบริเวณพื้นที่นั่งเล่นหลังบ้าน
ภาพบรรยากาศยามเช้า จากมุมมองบริเวณชาน

เชื่อมพื้นที่ภายนอกและภายในบ้าน

ชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องน้ำ รวมถึงห้องนอนของคุณแม่ โดยมีชานเป็นตัวเชื่อมระหว่างหน้าบ้านกับหลังบ้าน และเชื่อมพื้นที่ภายในกับภายนอกบ้าน พื้นที่ชานออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน “ผมออกแบบให้พื้นที่ชานหันหน้ามาทางทิศเหนือ จึงทำให้ชานร่มทั้งวัน มีแดดเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้น จึงสามารถมานั่งทำกิจกรรมได้สบายๆ โดยเฉพาะในยามที่ฝนหยุดตก ไอเย็นจากลมฝนสามารถพัดผ่านจากชานเข้าไปในตัวบ้านได้เนื่องจากเลือกใช้เป็นประตูบานเฟี้ยม”

พื้นที่ชั้นบนประกอบด้วยห้องนอนทั้งหมดสามห้องและห้องน้ำ มีสะพานทำหน้าที่เชื่อมระหว่างห้องนอนทั้งสองฝั่ง หน้าต่างบริเวณสะพานซึ่งเดิมทีถูกออกแบบให้เป็นหน้าต่างบานกระจก แต่ทางสถาปนิกได้เปลี่ยนเป็นฝาไหลแทนในภายหลัง เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติเข้ามาสร้างชีวิตชีวาให้ภายในตัวบ้านชั้นบนได้ไม่ต่างจากชั้นล่าง

การออกแบบภายในบ้านทางสถาปนิกไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นอย่างไร หากแต่ถูกแต่งเติมด้วยไอเดียของคุณน้ำและคุณนุ่น ซึ่งชอบสะสมของเก่าหรือนำเฟอร์นิเจอร์เก่าที่มีอยู่แล้วนำมาประดับตกแต่งพื้นที่ภายในบ้านด้วยตนเอง บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
สะพานเชื่อม บริเวณโถงชั้นบน เดิมทีสีโครงสร้างเหล็กเลือกใช้เป็นสีดำ แต่คิดว่าทำให้บรรยากาศโดยรวมทึมจนเกินไป สุดท้ายจึงผสมสีกันเองออกมาเป็นสีออกโทนน้ำเงิน ซึ่งเข้ากันได้ดีกับตัวบ้าน
บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
ฝาไหลบริเวณสะพานเชื่อมชั้นบนซึ่งเดิมทีออกแบบให้เป็นกระจก
เมื่อกลายเป็นฝาไหลมุมมองจากสะพานชั้นบน จึงสามารถมองลงมาเห็นกิจกรรมบริเวณชานด้านล่างได้
บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
ออกแบบโถงบันไดโดยให้ช่องเปิดเป็นฝาไหลเพื่อรับแสงแดดในยามเช้า เนื่องจากตำแหน่งบันไดอยู่ทางด้านฝั่งทิศตะวันออกพอดี
ออกแบบห้องน้ำภายในบ้านให้ดูโปร่ง โดยมุงหลังคาด้วยกระเบื้องโปร่งแสง และใช้เทคนิคการก่ออิฐเว้นช่องเพื่อให้แสงแดดเข้าถึงได้ และลดความอับชื้น

สร้างจากไม้ที่ไม่ผ่านการตกแต่ง                

เสน่ห์ของบ้านม่อนอิงสุขหลังนี้คือรูปแบบสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับบริบทภูเขา ต้นไม้ และลำธารในทุกองค์ประกอบ ผ่านการออกแบบพื้นที่และการเลือกใช้วัสดุ บรรยากาศโดยรวมของบ้านจึงมีโทนสีที่ดูอบอุ่นของไม้ และสีของผนังปูนฉาบซึ่งเลือกใช้เป็นโทนสีน้ำตาล
“ตัวบ้านหลังนี้ใช้ไม้หลากหลายชนิดทั้งไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่แดง โดยไม้ที่นำมาใช้ ไม่ได้ผ่านการตกแต่ง หรือทำสีเพิ่มเติม แต่ใช้ตามสภาพไม้จริงเลย แม้แต่รั้วบ้านเองก็ออกแบบให้เข้ากับตัวบริบทบ้าน โดยใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุหาได้ในท้องถิ่น มาติดตั้งบนโครงคร่าวเหล็ก ซึ่งหากเกิดการชำรุดก็สามารถหาเปลี่ยนได้ง่าย
ส่วนศาลาสำหรับนั่งเล่นเลือกใช้เป็นโครงสร้างไม้ทั้งหมด และใช้เทคนิคการเข้าเดือยไม้แทนการใช้นอตและตะปูเพื่อโชว์ความสวยงามของเนื้อไม้ และได้โครงสร้างที่มีความแข็งแรงมากกว่า อีกทั้งยังสามารถถอดประกอบได้อีกด้วยการใช้ไม้ล้วนซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ ทำให้บรรยากาศโดยรวมดูอบอุ่น น่าอยู่ และตัววัสดุธรรมชาติก็ยังคงมีเสน่ห์ในตัวมันเองถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไป”

ศาลานั่งเล่นหลังบ้านออกแบบโดยใช้วิธีการเข้าเดือยไม้ทั้งหมด      
บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
รั้วบ้านไม้ไผ่ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง

ต้นไม้รอบบ้าน

คุณน้ำเล่าว่า “ผมกับคุณเท่งค่อนข้างคุยกันได้ง่าย สบายๆ ผมเพียงอธิบายให้ผู้ออกแบบฟังว่าอยากได้อะไร ตรงไหนบ้าง เช่น อยากมีพื้นที่นั่งเล่นภายนอก อยากมีศาลานั่งเล่นริมเหมือง และสนามหญ้าหน้าบ้านไว้สำหรับเล่นกีฬา ซึ่งคุณเท่งก็ขมวดความคิดและนำไปต่อยอดได้เป็นอย่างดี”

การออกแบบพื้นที่สีเขียวรอบตัวบ้านเน้นปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่เป็นต้นเดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ มีทั้งต้นจามจุรี โดยอาจจะมีปลูกไม้ป่าแซมไปด้วยบ้าง มีเพียงแต่ต้นพะยอมซึ่งทางเจ้าของบ้านนำมาปลูกไว้บริเวณลานหน้าบ้าน ที่ให้ความร่มรื่นส่งกลิ่นหอมของดอกในฤดูหนาว ส่วนต้นตะเคียนกับมะตาดไว้บริเวณริมลำเหมืองด้านหลังเพื่อให้รากช่วยยึดเกาะกับตลิ่งไว้

บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว
บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนทรงจั่ว

การบรรจบแนวคิดกันระหว่างผู้ออกแบบและเจ้าของบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้ออกมานอบน้อมต่อธรรมชาติและแสดงตัวตนที่เรียบง่ายของเจ้าของบ้านไว้ได้อย่างชัดเจน เมื่อถามถึงความประทับใจที่คุณน้ำมีต่อบ้านหลังนี้หลังจากสร้างเสร็จ คุณน้ำกล่าวด้วยความยินดีว่า“บ้านหลังนี้ออกแบบมาให้อยู่ได้อย่างสบาย แต่สิ่งที่เป็นกำไรมาจากการได้บ้านที่ดี คือการที่ผมเห็นความสุขของคนในครอบครัว เห็นรอยยิ้มทุกคนที่ได้มาใช้เวลาร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่เราได้หลบหลีกจากชีวิตในเมืองที่วุ่นวายมาหามุมสงบ และอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ พาลูกมาฟังเสียงจิ้งหรีด มาดูหิ่งห้อย และยังมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ทำใกล้บ้านอีกด้วย เนื่องจากบ้านหลังนี้อยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติออบขาน ผมว่าทุกอย่างในที่แห่งนี้ดูลงตัวหมดแล้ว ผมจึงมองว่าบ้านหลังนี้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี เป็นบ้านแห่งความสุขที่อิงกับภูเขาอย่างแนบชิด”

เจ้าของ : คุณวริษฐ์ วรรละออ, คุณมุกดา วรรละออ           
ออกแบบ : ยางนา สตูดิโอ โทรศัพท์ 08-8260-9598
สถาปนิกควบคุมงาน : คุณเดโชพล รัตนสัจธรรม


เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ยางนา สตูดิโอ


บ้านปูนผสมไม้เก่า เฮือนพื้นถิ่นร่วมสมัย

รวมบ้านสวย 4 ภาค ที่ออกแบบในสไตล์ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย

ติดตามบ้านและสวน