นั่งเล่นไม่พึ่งแอร์ใน บ้านมินิมัลชั้นเดียว

ชีวิตมีอะไรให้เซอร์ไพรซ์เสมอ …จากแปลงที่ดินข้างบ้าน ซึ่งออกแบบไว้เป็นบ้านผู้สูงอายุให้คุณพ่อ กลายมาเป็น บ้านมินิมัลชั้นเดียว ของตัวเอง


DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Alkhemist Architects

บ้านมินิมัลชั้นเดียว
บ้านมินิมัลชั้นเดียว

เปลี่ยนแผน จากบ้านพ่อสู่บ้านของตัวเอง

เดิมทีบ้านของคุณดอน-ไกรพล ชัยเนตร และภรรยาคุณอุรัสสา ชัยเนตรนั้น มีจุดเริ่มต้นจากต้องการสร้างบ้านสำหรับคุณพ่อของคุณดอนซึ่งไม่ค่อยสบาย โดยใช่ที่แปลงสนามหญ้าด้านข้างของบ้านหลังเดิมเป็นทำเลที่ตั้ง บ้านจึงออกแบบให้เป็นบ้านชั้นเดียว มีทางลาด และพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ตรงกลางเพื่อพักผ่อน แต่เมื่อสร้างเทปูนไปได้สักพัก แผนการทั้งหมดก็เปลี่ยนไป เนื่องจากคุณพ่อคุ้นชินกับห้องเดิมในบ้านเก่าซึ่งใช้เป็นห้องพักแล้ว จึงไม่มีการย้ายมาแต่อย่างใด คุณดอนซึ่งเป็นสถาปนิกโดยอาชีพอยู่แล้ว จึงต้องปรับรูปแบบบ้านเสียใหม่เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานของตนตามโครงสร้างเดิม

ง่ายเหมือนเด็กวาด แต่มีรายละเอียด

แนวคิดที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้วคือ การออกแบบบ้านอย่างไรให้กลมกลืนไปกับบ้านหลังเก่า รูปแบบบ้านจั่ว สีขาว จึงเป็นความตั้งใจแรกในการออกแบบ และเพิ่มแนวคิดที่ต้องการให้อาคารดูง่ายๆ เหมือนภาพที่เด็กๆ วาด ก็เกิดขึ้นตามมา ส่วนหนึ่งเพื่อให้ดูไม่ขัดตากับบ้านหลังโดยรอบที่ยังบ้านของญาติๆ ในบริเวณใกล้ๆ กัน ซึ่งใช้สถาปนิกคนเดียวกันกับบ้านของคุณพ่อเมื่อ 40 ปีที่แล้วด้วย และส่วนหนึ่งเพรืคุณดอนเติบโตมาในบ้านหลังเดิมตั้งแต่เล็ก เป็นเสมือนตัวแทนบ้านในสมัยเด็กๆ ที่วาดเล่น ให้กลายมาเป็นบ้านจริงได้เมื่อโตขึ้น แต่การสร้างบ้านให้มีรูปทรงง่ายๆ เหมือนเด็กวาดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากต้องรับมือกับแดดฝนที่แรงเพราะจำเป็นต้องมีการระบายน้ำที่ดี การป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน การได้รับแสงที่พอเหมาะ วิวสวนที่ได้รับ

วางแปลนตามความสัมพันธ์

สิ่งแรกในการออกแบบคือ ต้องการเชื่อมบ้านเก่าและบ้านใหม่เข้ามาไว้ด้วยกัน อาคารจึงต้องวางติดกำแพงบ้านเก่าเดิมที่บริเวณนี้เป็นสวนหลังบ้าน มีการทุบกำแพงออก และจัดสวนใหม่ พื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์วางให้เชื่อมต่อกับทางเดินสวนที่เข้าถึงได้ง่าย อาคารจึงเป็นแนวยาวโดยมีด้านหนึ่งปะทะกับทิศใต้ตามความจำเป็น และนำไปสู่การใช้งานออกแบบในการแก้ปัญหา

ซ่อนรางน้ำ และผนังสองชั้น

รางน้ำซึ่งปกติจะยื่นออกมาจากหลังคาถูกซ่อนด้วยโครงสร้างปูน เพื่อให้บ้านดูมีรูปทรงที่เรียบง่าย หลังคาด้านบนเป็นเมทัลชีทแบบประกบฉนวนโฟมแซนวิชช่วยลดความร้อน ลงมาเป็นฝ้าเพดานที่ทำเป็นทรงจั่วลงมา ทำให้ภายในรับรู้ได้ถึงทรงจั่วอย่างเด่นชัด
บริเวณขอบทั้งเพดานและผนังที่จรดพื้นมีการเว้นร่องไว้เล็กน้อย เพื่อเป็น Shadow Line เน้นรูปทรงเพิ่มขึ้น หน้าต่างด้านทิศใต้จัดการให้เป็นช่องหลบเข้ามาในตัวบ้าน โดยผนังด้านนี้ส่วนที่ปะทะแดดวางแผนให้เป็นตู้เก็บของ เพื่อให้เสมือนเป็นผนังสองชั้นช่วยลดความร้อน ส่วนที่หลบเข้ามาทำหน้าที่เป็นกันสาดและสร้างเงาให้กับช่องหน้าต่าง นอกจากนี้ผนังบางส่วนยังใช้เป็นผนังที่ซ่อนประตูบานเลื่อนและมุ้งจีบด้วย

พื้นที่หัวใจของบ้าน ไม่ต้องเปิดแอร์

คุณดอนบอกเล่าถึงชีวิตประจำวันในบ้านหลังนี้ว่า ตอนเช้าจะตื่นมาทำกิจวัตร ช่วงสายๆ จะนั่งทำงานในห้องทำงาน ขณะที่ภรรยาจะมานั่งทำงานที่ห้องนั่งเล่นกึ่งเอาท์ดอร์นี้ โดยในช่วงบ่ายคุณดอนก็จะออกมาทำงานที่โซนกึ่งเอาท์ดอร์นี้เช่นกันโดยไม่ต้องเปิดแอร์ แค่มีพัดลมก็เพียงพอ
เนื่องจากแปลนของพื้นที่ส่วนนี้ใหญ่และเป็นศูนย์กลางของบ้านเลยทีเดียว เป็นช่องเปิดยาว 5.5 เมตร ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ทั้งยังรายล้อมไปด้วยสวนสีเขียว เทคนิกอีกอย่างคือการมีพัดลมเพดานช่วยให้ความร้อนด้านบนกระจายตัวออกไปไม่สะสมในอาคารซึ่งมีจุดสูงสุดที่ 5.5 เมตรเช่นกัน โดยบ้านทั้งหมดมีพื้นที่ใช้สอยอยู่ที่ 150 ตารางเมตร

รายล้อมด้วยสวนสวย

การจัดสวนรอบบ้านเป็นอีกจุดเด่นของบ้านหลังนี้ เริ่มต้นจากสวนที่เชื่อมบ้านเก่าและใหม่เข้าไว้ด้วยกัน เลือกไม้ประธานเป็นต้นตีนเป็ดแดงเพราะรากไม่ทำลายบ้านและดอกไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนการเลือกให้ห้องทำงานอยู่ด้านหลังและให้ห้องนอนไปอยู่ด้านหน้าแทน ก็เพราะว่าห้องนอนมีพื้นที่จัดส่วนด้านหน้าได้มากกว่า วิวสวนห้องนอนจะสวยกว่า โดยมีต้นเสม็ดแดงและต้นหว้าแม่น้ำโขงเป็นต้นประธานช่วยสร้างวิว บังสายตา และบังแดด
ส่วนทางเข้าบ้านทิศใต้ ช่วงแรกเลือกเป็นไม้ใบแต่เนื่องจากแดดแรงมาก จึงเปลี่ยนเป็นไม้ดอกที่ต้องการแดดแทนและให้มีอารมณ์แบบสวนอังกฤษนิดๆ เพื่อให้ให้แตกต่างจากส่วนทรอปิคอลในด้านอื่นๆ มีต้นมะขามเทศด่างมาเป็นพระเอกในจุดนี้ ปิดท้ายสวนใกล้กับห้องทำงาน พื้นที่เดิมมีปลูกต้นกล้วยและขนุนอยู่แล้วก็เก็บไว้ เสริมด้วยคนที่บ้านจะปลูกพืชสวนครัวก็จัดเป็นมุมไว้เป็นสัดส่วนไม่ดูขัดเขินแต่อย่างใด กลายเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว

บทสรุปของ “บ้านมินิมัลชั้นเดียว” ที่กลายร่างมาจาก “บ้านผู้สูงอายุ”

คุณดอนกล่าวว่า ได้ใช้ชีวิตอยู่สักพักใหญ่ๆ แล้ว มีความสุขมาก ยิ่งช่วงต้องทำงานอยู่กับบ้าน ที่นี่เป็นเสมือนที่พักพิงของเรา ได้กลับมาทำอาหารหลังจากที่ไม่ได้ทำมานาน แม้ครัวจะเล็กสักน้อยเนื่องจากไม่ได้อยู่ในแผนตั้งแต่ครั้งแรก บ้านก็ยังเชื่อมโยงกัน คุณแม่ก็ยังเห็นความเคลื่อนไหวเรา ผ่านสวนสวยๆ โดยที่เราเองก็ไม่รู้สึกว่าถูกจ้องมองจากหน้าต่างบนชั้นสองของบ้านหลังเก่า “จากเดิมที่เราไม่เคยมีบ้านของตัวเอง ไม่เคยมีพื้นที่ไพรเวทของตัวเองที่ต้องดูแล ก็เข้าใจในรายละเอียดของการใช้ชีวิตมากขึ้น” คุณดอนกล่าว

เจ้าของ: คุณไกรพล และคุณอุรัสสา ชัยเนตร
สถาปนิก: Alkhemist โดยไกรพล ชัยเนตร และ วินิจ ชิดไล้
ออกแบบสวน:เซเว่นตี้วัน แลนด์สเคป โดย กิตติพงษ์ ธงนันตา

เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

รวม 50 แบบบ้านชั้นเดียวสุดสวย

รีโนเวตบ้านชั้นเดียว ให้เป็นบ้านมินิมัล