ฉนวน

เทียบคุณสมบัติฉนวนกันความร้อน อะไรดีกว่ากัน

ฉนวน
ฉนวน

การติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน เป็นการลงทุนที่จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ในระยะยาว ไปทำความรู้จักฉนวนแต่ละชนิดก่อนเลือกใช้กัน

ดูเหมือนอุณหภูมิในฤดูร้อนของบ้านเราจะพุ่งสูงขึ้นทุกปี หลายคนจึงอาจกำลังหาวิธีทำให้บ้านเย็นสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้รอบบ้าน ติดตั้งกันสาดบังแดด หรือกระทั่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อีกวิธีหนึ่งที่เราอยากแนะนำคือการติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งในบ้านเก่าและบ้านใหม่ ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ดี จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว การติดตั้ง ฉนวนกันความร้อน ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งจะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ในระยะยาว บ้านและสวน ขอพาไปทำความรู้จักกับ ฉนวนกันความร้อน ชนิดต่างๆ กันให้มากยิ่งขึ้น ก่อนเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบ้านของคุณ

รูปแบบการติดตั้งฉนวนกันความร้อน

ส่วนใหญ่แล้วฉนวนกันความร้อนมักติดตั้งบริเวณหลังคา เพื่อป้องกันความร้อนโดยตรงจากแสงแดด แต่ก็สามารถติดตั้งตรงผนังบ้านได้เช่นกัน เพื่อช่วยกันความร้อนจากผนัง เก็บความเย็นภายในบ้าน รวมถึงช่วยดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอกด้วย ฉนวนมีทั้งแบบหน่วงให้ความร้อนผ่านไปช้าลง และแบบสะท้อนความร้อนออก โดยการติดตั้งบริเวณหลังคามีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับฉนวนแต่ละประเภท ดังนี้

  1. ติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน – ฉนวนที่ติดตั้งเหนือฝ้าจะช่วยหน่วงความร้อนเอาไว้ไม่ให้ลงมายังห้องด้านล่าง โดยพื้นที่ใต้หลังคาควรมีช่องระบายอากาศด้วย เพื่อถ่ายเทความร้อนออกสู่ด้านนอกไม่ให้สะสมใต้หลังคามากเกินไป ฉนวนที่ติดตั้งเหนือฝ้ามีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบแผ่นและแบบม้วนเพื่อให้ง่ายต่อการวางเหนือฝ้า และบางชนิดก็ติดมาพร้อมกับแผ่นฝ้าในตัว
  2. ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา – ฉนวนที่ติดตั้งใต้แผ่นหลังคาสามารถกันความร้อนได้ดีที่สุด เพราะช่วยป้องกันความร้อนจากด้านบนไม่ให้ลงมาสะสมอยู่บริเวณใต้หลังคาบ้าน ฉนวนบางชนิดที่ติดตั้งใต้แผ่นหลังคาจะมีข้อจำกัดคือ ต้องติดตั้งไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างหลังคา แต่ก็มีบางชนิดที่สามารถติดตั้งบริเวณช่องแป รวมทั้งมีแบบฉีดพ่น ซึ่งสามารถติดตั้งในภายหลังได้
  3. ติดตั้งบนผิวหลังคา – ฉนวนที่ติดตั้งบนผิวหลังคา ได้แก่ สีสะท้อนความร้อน ซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่บริเวณใต้หลังคาบ้าน แนะนำให้ใช้ควบคู่กับการติดตั้งฉนวนกันความร้อนประเภทอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติหน่วงความร้อน เพราะหากเกิดคราบสกปรกบนพื้นผิวหลังคาแล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนลดลงนั่นเอง

9 ฉนวนกันร้อนยอดนิยม

1. ฉนวนใยแก้ว

ลักษณะเป็นแผ่นหนา ภายในประกอบด้วยใยแก้วเส้นเล็กที่ประสานกันจนเกิดเป็นโพรงอากาศ ซึ่งทำหน้าที่กักความร้อนเอาไว้ด้านใน เป็นวัสดุนำความร้อนต่ำ ไม่ลุกติดไฟ อีกทั้งยังช่วยดูดซับเสียงด้วย เป็นฉนวนยอดนิยมที่ติดตั้งง่าย หาซื้อง่าย มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ หลายรุ่น มีความหนาตั้งแต่ 2-6 นิ้ว มีทั้งแบบเปลือยและแบบปิดผิวด้วยอะลูมิเนียมที่ช่วยสะท้อนความร้อนได้ในตัว (ปิดผิว 1 หรือ 2 ด้าน หรือหุ้มรอบด้าน) มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่น สำหรับติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน ใต้หลังคา หรือบริเวณผนัง เมื่อเลือกใช้ ควรระมัดระวังเรื่องน้ำรั่วซึมในพื้นที่ติดตั้ง เพราะเส้นใยจะยุบตัวเป็นฝุ่นเมื่อโดนน้ำ ความชื้น หรือถูกกดทับ รวมถึงเมื่อติดตั้งอาจมีการฟุ้งกระจายของเส้นใยได้

การปูฉนวนใยแก้วแบบม้วนเหนือฝ้าเพดาน
การติดตั้งฉนวนใยแก้วแบบแผ่นระหว่างร่องแปหลังคา

2. ฉนวนพอลิยูรีเทนโฟม

เรียกสั้นๆ ว่า โฟมพียู (PU) หรือ โฟมเหลือง เกิดจากเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อน เป็นวัสดุนำความร้อนต่ำ มีคุณสมบัติป้องกันน้ำและความชื้น ทั้งยังช่วยกันเสียงได้ด้วย โฟมพียูมีทั้งแบบฉีดพ่นใต้หลังคาและแบบแผ่น รวมถึงมีแบบที่มาพร้อมกับแผ่นฝ้าในตัว ปัจจุบันมีการพัฒนาสารกันไฟลามเพื่อเพิ่มเข้าไปในตัววัสดุ ดังนั้น เมื่อเลือกใช้ฉนวนโฟมพียู จึงควรเลือกใช้แบบที่ผสมสารกันไฟลามเข้าไปด้วย

การฉีดพ่นฉนวนโฟมพียูใต้หลังคา
การติดตั้งแผ่นฝ้าพร้อมฉนวนโฟมพียูในตัว

3. ฉนวนเซลลูโลส

หรือ ฉนวนเยื่อกระดาษ เป็นฉนวนแบบฉีดพ่นใต้หลังคา ผลิตจากกระดาษใช้แล้ว ตัววัสดุสามารถป้องกันความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้ดี มีน้ำหนักเบา กันเสียงได้ มีสารป้องกันการลามไฟ ป้องกันเชื้อรา รวมทั้งไม่เป็นแหล่งอาหารของหนู ปลวก และแมลงสาบด้วย สามารถฉีดพ่นได้ในพื้นที่แคบ บนหลากหลายพื้นผิว ทั้งเหล็กและไม้ แต่มีข้อจำกัดคือ อาจควบคุมความหนาของฉนวนได้ไม่สม่ำเสมอ

การฉีดพ่นฉนวนเซลลูโลสใต้หลังคา

4. ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์

เป็นวัสดุที่ช่วยสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งมักติดตั้งใต้แผ่นหลังคาไปพร้อมๆ กับการสร้างหลังคา ลักษณะคล้ายแผ่นฟอยล์สำหรับห่ออาหาร แต่มีความหนา เหนียว และคงทนมากกว่า เป็นฉนวนที่มีราคาย่อมเยา ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบา ไม่ติดไฟ ไม่ขึ้นราเมื่อโดนความชื้น และป้องกันรังสียูวี แนะนำให้ใช้อะลูมิเนียมฟอยล์ควบคู่กับฉนวนประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อน เมื่อติดตั้งแล้ว หากมีฝุ่นเกาะหรือเป็นคราบ อาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันความร้อนลดลงได้

การปูอะลูมิเนียมฟอยล์บนโครงสร้างหลังคา

5. ฉนวนพอลิเอทิลีนโฟม

หรือ โฟมพีอี (PE) เป็นฉนวนอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในบ้าน ราคาย่อมเยากว่าฉนวนใยแก้ว รวมทั้งน้ำหนักเบาและเหนียว ประกอบด้วยชั้นโฟมหนานุ่มที่ช่วยหน่วงความร้อน หุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ที่ช่วยสะท้อนความร้อนในตัว โฟมพีอีมีรูปแบบให้เลือกหลายรุ่น หลายยี่ห้อ มีความหนาตั้งแต่ 3 – 25 มิลลิเมตร ติดตั้งได้ทั้งเหนือฝ้าเพดานและใต้แผ่นหลังคา มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่นที่มีขนาดพอดีฝ้าทีบาร์ หากติดตั้ง ควรเลือกใช้โฟมพีอีที่มีการผสมสารกันไฟลามเพื่อความปลอดภัย

การปูฉนวนโฟมพีอีแบบแผ่นเหนือฝ้าทีบาร์

6. ฉนวนแอร์บับเบิล

หรือ บับเบิลฟอยล์ ลักษณะเป็นม้วนคล้ายพลาสติกกันกระแทก โดยมีมวลอากาศอยู่ตรงกลางระหว่างแผ่นฟอยล์ที่ประกบสองด้าน ทำให้มีคุณสมบัติทั้งหน่วงและสะท้อนความร้อนได้ในตัว ฉนวนแอร์บับเบิลสามารถติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งปูติดเหนือฝ้าเพดาน และติดตั้งบริเวณโครงหลังคาแบบติดเหนือแปหรือใต้จันทัน โดยขึงลวดยึดไม่ให้ตกท้องช้าง เช่นเดียวกับโฟมพีอี เนื่องจากวัสดุด้านในผลิตจากพลาสติก (ชนิดพลาสติกขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย) เมื่อติดตั้งจึงควรเลือกใช้ชนิดที่ผสมสารกันไฟลามเท่านั้น

การติดตั้งฉนวนแอร์บับเบิลแบบม้วนบริเวณใต้หลังคา

7. ฉนวนพอลิสไตรีนโฟม

ชื่อย่อคือ โฟมพีเอส (PS) หรือ โฟมอีพีเอส (EPS) หรือเรียกง่ายๆ ว่า โฟมขาว มีคุณสมบัติกันได้ทั้งความร้อนและความเย็น น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ทนแรงกดทับได้ดี โฟมพีเอสมีขายทั้งแบบแผ่นโฟมเปล่า และแบบที่มาพร้อมกับแผ่นฝ้าหรือแผ่นผนังในตัว เช่น แผ่นหลังคาและแผ่นผนังแซนด์วิช (Sandwich Roof & Panel) ซึ่งขนย้ายง่ายและติดตั้งได้รวดเร็ว ลดขั้นตอนในการสร้างบ้าน ปัจจุบันมีการพัฒนาโฟมอีพีเอสแบบ F-Grade ซึ่งเพิ่มสารกันไฟลามเข้าไปในวัสดุ ทำให้มีความปลอดภัย เหมาะสำหรับงานก่อสร้างมากขึ้น

การติดตั้งแผ่นฝ้าพร้อมฉนวนโฟมขาวในตัว

8. ฉนวนใยหิน (Rockwool)

ผลิตจากการนำหินภูเขาไฟมาหลอมด้วยอุณหภูมิสูงและปั่นเป็นเส้นใย ทำให้มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนสูง ดูดซับเสียงได้ดี เป็นวัสดุกันไฟ และมีอายุการใช้งานยาวนาน ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายมีความหนา 5 เซนติเมตร นิยมใช้ติดตั้งสำหรับผนังกันเสียง แต่สามารถติดตั้งเป็นฉนวนบนฝ้าเพดานได้เช่นกัน ชื่อ “ฉนวนใยหิน” อาจฟังดูคล้ายกับ “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นสารอันตราย แต่ฉนวนใยหินไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินแต่อย่างใด จึงปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ฉนวนใยหินไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ชื้น เช่น การใช้เป็นผนังห้องเย็น

การปูฉนวนใยหินแบบม้วนเหนือฝ้าเพดาน

9. สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating)

มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์ม ซึ่งเกิดการผสมผสานอนุภาคของเซรามิกผสมกับอะคริลิกและส่วนผสมอื่นๆ ทำให้สามารถสะท้อนความร้อนได้ดี ยึดเกาะพื้นผิว และดูดความร้อนต่ำ นิยมใช้พ่นภายนอกอาคาร โดยเฉพาะพ่นเคลือบหลังคาและพื้นดาดฟ้า นอกจากนั้น กระเบื้องมุงหลังคาบางรุ่นยังมีการเคลือบสีสะท้อนความร้อนมาในตัว รวมไปถึงสีทาภายนอกบางประเภทที่มีการผสมวัสดุนี้เข้าไปในเนื้อสีด้วย สีสะท้อนความร้อนควรใช้ควบคู่กับฉนวนประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

การฉีดพ่นสีสะท้อนความร้อนบนหลังคา

 เลือกฉนวนกันร้อนต้องดูอะไรบ้าง

1. ประเภทฉนวนและตำแหน่งติดตั้ง

ฉนวนแต่ละชนิดมีคุณสมบัติซึ่งเหมาะสำหรับติดตั้งในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฉนวนใยแก้วเป็นวัสดุที่มีความหนา ดูดซับความร้อนได้ดี จึงมักใช้ติดตั้งบริเวณใต้หลังคาที่เป็นแหล่งสะสมความร้อนจุดหลักๆ ของบ้าน ขณะที่ฉนวนอะลูมิเนียมฟอยล์ซึ่งทำหน้าที่สะท้อนความร้อนอย่างเดียวนั้น อาจใช้ติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยเพื่อลดงบประมาณการก่อสร้างได้ ทั้งนี้หากต้องการป้องกันความร้อนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้ฉนวนทั้งแบบสะท้อนและหน่วงความร้อนควบคู่กันไป

2. ค่าต้านทานความร้อน

ฉนวนกันความร้อนแต่ละชนิดมักระบุค่าต้านทานความร้อน (Resistivity) หรือ ค่า R ไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ (มีหน่วยเป็น m2K/W หรือ ft2. F/Btu) ซึ่งบ่งบอกว่าฉนวนชนิดนั้นๆ สามารถป้องกันความร้อนที่ผ่านเข้ามาได้มากแค่ไหน ยิ่งค่า R สูง ยิ่งแปลว่าต้านทานความร้อนได้ดี โดยค่า R คิดคำนวณจาก ความหนาของฉนวนหารด้วยค่าการนำความร้อน (Conductivity) หรือ ค่า K ของวัสดุ ซึ่งตามปกติแล้ว ฉนวนยิ่งหนา ยิ่งกันความร้อนได้มาก ส่วนค่า K ยิ่งต่ำยิ่งแปลว่าดี

3. ราคา

เพื่อเลือกฉนวนให้เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณ ให้ลองเปรียบเทียบราคาต่อตารางเมตรและค่ากันความร้อนของฉนวนที่เลือกไว้ในใจกับฉนวนประเภทอื่นๆ เพื่อหาว่าฉนวนแบบไหนคุ้มค่าที่สุดสำหรับคุณ ยกตัวอย่างเช่น ฉนวนบางชนิดอาจมีราคาแพงกว่าฉนวนอื่นๆ ไม่มากนัก แต่สามารถกันความร้อนได้สูงกว่ามาก เมื่อเฉลี่ยราคาแล้วจึงถือว่าคุ้มค่ากว่านั่นเอง


เรื่อง – Tinnakrit

ภาพประกอบ – เอกรินทร์ พันธุนิล


จำเป็นต้องติดฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาเมทัลชีทหรือไม่

หลังคาฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป เลือกให้ถูก บ้านเย็นจริง!

แก้ปัญหาฉนวนกันความร้อน PE หลุดล่อน

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag