สารพันปัญหา”สับปะรดสี” สีไม่สด ใบเป็นจุด แก้อย่างไร

สับปะรดสี ที่บ้านไม่ค่อยออกดอกเลย แถมตามใบมีจุดสีเหลือง สีสันของใบก็ดูไม่สวยงาม ไม่ทราบว่าเป็นเพราะรดน้ำมากเกินไปหรือเปล่า…”

น่าจะเป็นปัญหาของใครหลายคนที่ปลูกเลี้ยง สับปะรดสี เอาละ เราลองมาแก้ปัญหากันเป็นข้อๆ ละกันครับ

สับปะรดสี

“สับปะรดสี ไม่ยอมออกดอก”

ธรรมชาติของสับปะรดสีจะให้ดอกก็ต่อเมื่อต้นเติบโตจนสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งจะสังเกตได้จากส่วนยอดจะมีสีสดขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับแทงช่อดอกออกมา และหลังจากออกดอกแล้ว หน่อนั้นจะหยุดเจริญเติบโต แต่จะเริ่มแทงหน่อใหม่มาทดแทน สำหรับสับปะรดสีที่นิยมปลูกในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีสีสันบนใบสวยงาม เช่น สกุลนีโอเรเจลยา (Neoregelia) สกุลเอคเมีย (Aechmea) สกุลรีซี (Vriesea) เป็นต้น ซึ่งหากต้นไม่ออกดอก เราก็ยังชืนชมความงามกับสีสดๆ บนใบได้เช่นกัน แต่ถ้าหากต้องการให้ดอก ก็ทำได้ไม่ยาก

วิธีแก้ไข แนะนำให้ฉีดพ่นสารเคมีชื่อ เอทิฟอน (Ethephon) ในอัตราเจือจาง ทุก 3 เดือน พร้อมให้ธาตุอาหารเสริมที่มีสังกะสี (Zinc)เป็นส่วนผสมในช่วงเย็น รับรองว่าจะแตกหน่อใหม่ ออกดอกมาให้เชยชมกันจนเพลิน แต่ขอบอกว่า วิธีนี้มักใชักับสับปะรดที่เรากินผลกันซึ่งอยู่ในสกุลอะแนนัส (Ananus) กันหากเราจะนำมาใช้กับสับปะรดประดับ ควรคำนึงถึงปริมาณการใช้และความปลอดภัยกันด้วยครับ

สัปปะรดสี my home 01

“สีไม่สวย ดูไม่สดใสเหมือนคนอื่น”

สีสันของใบที่ดูจืดชืด มีสาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมหลักๆ ก็คือ ปริมาณแสงบริเวณที่เราปลูกเลี้ยง อาจร่มเกินไป ธรรมชาติของสับปะรดสี ต้องการแสงแดดประมาณ 50-60 เปอร์เซนต์ อาจอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือมีแสงส่องถึงในช่วงครึ่งวันเช้า นอกจากนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และการถ่ายเทอากาศก็เป็นสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโตเช่นกัน หากพื่้นที่ปลูกมีแสงแดดจัด ความชื้นสัมพันธ์น้อย ก็จะทำให้เกิดอาการใบเหลืองจากแดด และอาจทำให้ใบไหม้ได้ ขณะเดียวกัน หากปลูกในที่ร่มเกินใบ ความชื้นในอากาศน้อย อากาศถ่ายเทไม่ดี ก็อาจทำให้ใบยืดยาว สีสันไม่สดใสและอาจมีโรค-แมลงศัตรูเข้าทำลายได้

วิธีแก้ไข จัดวางต้นในตำแหน่งที่มีแสงแดดเพียงพอ หากมีใบเสีย หน่อเน่า ควรกำจัดออกนำไปเผาทำลาย และเก็บใบแห้งด้านล่างออกอยู่เสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก และหมั่นเปลี่ยนวัสดุปลูกเป็นประจำทุกปี ที่นิยมใช้กับสับปะรดสีก็คือ กาบมะพร้าวสับที่หาได้ง่ายในบ้านเรา

“จุดสีเหลืองบนใบ”
อาการใบมีจุดสีเหลือง ลองตรวจสอบดูที่ใต้ใบ หากพบจุดกลมนูนสีน้ำตาล แสดงว่าสาเหตุเกิดมาจาก “เพลี้ยหอย” หรือมีโรคเข้าทำลาย เช่น “โรคใบจุด” ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อรา สังเกตจากจุดจะมีสีเหลือง และมีวงแหวนสีน้ำตาลรอบๆ

หากเกิดจากเพลี้ยหอย วิธีแก้ไขง่ายคือ ถ้ามีจำนวนน้อยให้ใช้เล็บขูดตัวออกให้หมด ตัดใบแห้งและใบแก่ด้านล่างออก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของแมลงศัตรู หากระบาดมากควรโรยสตาร์เกิลจี (Starkle G: ชื่อการค้า) รอบโคนต้นตามอัตราระบุแล้วรดน้ำตาม ตัวเพลี้ยจะแห้งตา เขี่ยออกได้ง่าย หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน ควรโรยซ้ำอีกครั้งเพื่อกำจัดตัวอ่อนและไข่ที่เหลืออยู่

หากเกิดโรคใบจุด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดเชื้อราในอัตราเจือจางกว่าที่ระบุไว้ทุก 2-3 สัปดาห์ พร้อมกับปรับสภาพแวดล้อมให้มีการถ่ายเทอากาศและมีแสงแดดส่องถึงมากขึ้น เท่านี้ก็ช่วยให้สับปะรดสีของเราสวยงามขึ้นแล้วครับ

สัปปะรดสี my home 02

หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ทุกท่านเลี้ยงสับปะรดสีได้อย่างมีความสุข และสบายใจได้มากขึ้นนะครับ

สับปะรดสี

สั่งซื้อหนังสือสับปะรดสีได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน

สับปะรดสี
สับปะรดสี