มะปราง กับ มะยงชิด เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?

ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้นานาชนิด หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาลตลอดทั้งปี เช่นเดียวกันกับในช่วงฤดูร้อนที่ต้องยกให้ มะปราง และมะยงชิด ผลไม้ที่นิยมนำมารับประทานกันทั้งแบบสด นำไปเชื่อม หรือนำไปใช้เป็นส่วนผสมของขนมต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ‘มะปราง’ กับ ‘มะยงชิด’ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง ? ตาม บ้านและสวน มาดูกันเลยค่ะ

‘มะปราง’ เป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีหลักฐานปรากฏให้เห็นตามแถบหัวเมืองที่อยู่รายล้อมเมืองสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็น กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิจิตร และ พิษณุโลก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ปัจจุบันต้นมะปรางเก่าแก่อายุหลายร้อยปีถูกตัดทิ้ง เพื่อก่อสร้างอาคารคอนกรีตไปจนเกือบหมด

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีการนำพันธุ์มะปรางจากทางเหนือลงไปปลูกในภาคกลาง และขยายไปในเขตปริมณฑล ที่ยังปรากฏให้เห็นในวันนี้คือ มะปรางพันธุ์เพชรคลองลานจากจังหวัดอ่างทอง ส่วน ‘มะยงชิด’ เริ่มปรากฏในบันทึกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นมะปรางพันธุ์ดีที่หลายคนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียกว่า มะปรางเสวย โดยมีแหล่งปลูกอยู่แถว ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี จัดว่าเป็นมะปรางที่มีรสหวาน ผลขนาดใหญ่ใกล้เคียงไข่ไก่หรือไข่เป็ด ต่อมาจึงมีการนำไปขยายพันธุ์ปลูกแถวย่านบางขุนนนท์ ฝั่งธนบุรี จนมีการตั้งชื่อเรียกขาน มะยงชิดบางขุนนนท์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นและเรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นค่อนข้างแหลม หรือรูปทรงกระบอก มีความสูงราวประมาณ 15 – 30 เมตร เปลือกไม้ค่อนข้างขรุขระ มีรากแก้วที่แข็งแรง และมีใบกิ่งก้านสาขาที่หนาทึบ ลักษณะของใบมะปรางจะคล้าย ๆ กับใบมะม่วง แต่มีขนาดเล็กและเรียวยาวกว่า สีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียว มีเส้นใบให้เห็นเด่นชัด ดอกของมะปรางเมื่อบานจะมีสีเหลืองเป็นดอกสมบูรณ์เพศ และมีช่อดอกยาวประมาณ 8 – 15 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ซึ่งขนาด สี และรสชาติ จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และการปลูกเลี้ยง

การปลูก : ต้นมะปรางทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง และติดผลในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ต้นมะปรางมีการพักตัวชั่วคราว ชะงักการเจริญเติบโตทางใบและกิ่ง ยิ่งถ้ามีอุณหภูมิต่ำหรืออากาศเย็นจะยิ่งช่วยให้มะปรางออกดอกติดผลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน

ประโยชน์ : อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสายตา บำรุงกระดูก บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง ช่วยบรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายและลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง  เบาหวาน  และความดันโลหิต

ความแตกต่างระหว่างมะปรางกับมะยงชิด

เนื่องจากทั้งมะปรางและมะยงชิด (ชื่อสามัญ Marian Plum, Plum Mango) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน (ANACARDIACEAE) ทำให้มีลักษณะทางพฤษศาสตร์ส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกัน แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยตามสายพันธุ์  เมื่อแยกมะปรางและมะยงชิดออกจากกันด้วยตาเปล่า จึงแทบจะไม่เห็นถึงความแตกต่าง แต่หากแบ่งด้วยรสชาติแล้ว จะสามารถจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ

มะม่วง อะไรปลูกปีเดียว ได้ผลกินแน่นอน

๐  มะปราง : ผลดิบสีเขียวซีด ผลสุกจะมีสีเหลืองอ่อน รสชาติเนื้อหวาน เปลือกหวาน
บางสายพันธุ์เมื่อทานแล้วอาจรู้สึกระคายเคืองในคอได้ เนื่องจากรสชาติที่หวานจัด

๐  มะยงชิด : ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกจะมีสีเหลืองแกมส้ม รสชาติเนื้อหวาน เปลือกเปรี้ยว
มะยงชิด เพี้ยนคำมาจากคำว่า ลำยงชิด หรือเต็ม ๆ ว่า มะปรางลำยงชิด 

๐  มะปรางเปรี้ยว มะยงห่าง หรือกาวาง : รสชาติเนื้อเปรี้ยว และเปลือกเปรี้ยว บางสายพันธุ์จะเปรี้ยวมาก จนขนาดที่ว่า แม้นกกาที่หิวโซบินมาเห็นผลไม้ชนิดนี้ แต่เมื่อลองจิกกินเพื่อลิ้มรสชาติก็ต้องรีบวางแล้วบินหนีไปทันที จึงไม่นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด แต่จะทำไปแปรรูป เช่น แช่อิ่ม หรือดอง

นอกจากนี้ บางตำราสามารถแบ่งมะปรางตามรสชาติความหวาน-เปรี้ยว ได้เป็น 5 สายพันธุ์
เรียงลำดับจากเปรี้ยวไปหาหวาน ได้แก่ กาวาง > มะปรางเปรี้ยว > มะยงห่าง > มะปรางหวาน > มะยงชิด

อ้างอิง
จาก: รองศาสตราจารย์ฉลองชัย แบบประเสริฐ
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
จาก: ไชยรัตน์ ส้มฉุน ๒๕๕๗. ค้นตานาน..มะปราง-มะยง ต้นไม่แตกต่าง..รู้ได้ที่รสชาติ
จาก: บทวิทยุรายการ รู้ รัก ภาษาไทย ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗

เรียบเรียง : Sarida_