ลดความร้อนให้บ้านด้วยวิธีธรรมชาติ

ก่อนจะเข้าหน้าร้อนแบบเต็มตัว มารู้จักวิธีลดความร้อนเข้าบ้านด้วยวิธีธรรมชาติกัน โดย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) ได้ศึกษาวิธีการปรับบ้านให้เย็นสบาย แก้บ้านร้อน อย่างเข้าใจสภาพภูมิอากาศ

เพื่อให้เข้าใจที่มาของปัญหาการเกิดความร้อนจนอยู่ในบ้านแล้วรู้สึกไม่สบาย มีวิธี แก้บ้านร้อน โดยนำเสนอ  3 แนวทางปรับให้บ้านเย็นลง และมีการเปรียบเทียบผลกระทบของการทำพื้นที่ดาดแข็งและพื้นที่สีเขียว ทำให้เห็นว่ามีผลกับอุณหภูมิรอบบ้านอย่างไร แต่ก่อนอื่นมาเข้าใจสภาพภูมิอากาศของบ้านเรากัน

ประเทศไทยมีอุณหภูมิอากาศร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี และไม่อยู่ในช่วง “สภาวะน่าสบาย”

ประเทศไทยมีอุณหภูมิอากาศตอนกลางวันอยู่ระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 50-70%RH  อุณหภูมิอากาศตอนกลางคืนอยู่ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศ 70-90%RH แต่โดยทั่วไปคนเราจะรู้สึกสบาย หรือที่เรียกว่า “สภาวะน่าสบาย” เมื่ออุณหภูมิอากาศอยู่ที่ 22-27 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศ 20-75%RH ซึ่งสภาพอากาศบ้านเราไม่อยู่ในช่วงดังกล่าว ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่หากสามารถปรับสภาพแวดล้อมรอบบ้านด้วยร่มเงา ต้นไม้ และละอองน้ำ ก็จะช่วยให้อุณหภูมิรอบบ้านลดลงได้ และหากอยู่ในทิศที่ลมพัดผ่านเข้าบ้าน ก็จะพัดพาอากาศที่เย็นลงนั้นเข้าบ้าน ช่วยให้รู้สึกเย็นลงได้

ลมประจำถิ่น พัดมาทางทิศไหน

ความจริงแล้วลมจะมาจากทุกทิศทาง แต่จะมีทิศทางที่ลมพัดประจำอยู่ 2 ช่วงของปี คือ

  • ลมประจำพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน
  • ลมประจำพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่บ้านเราไปตั้งอยู่ด้วย เช่น ติดภูเขา แม่น้ำ หรืออาคารสูง ซึ่งจะทำให้ทิศทางของลมเปลี่ยนไปตามการกระทบและไหลของลม โดยช่วงเวลาที่เราต้องการลมเพื่อการสร้างความรู้สึกสบายจะเป็นช่วงฤดูร้อน หรือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งมีทิศลมประจำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ ดังนั้นช่องเปิดของบ้านควรหันมาทางทิศนี้ แต่ลมที่พัดมาจะมีอุณหภูมิสูง จึงควรมีการปรับสภาพแวดล้อมรอบบ้านเพื่อช่วยลดอุณหภูมิลง ด้วยการสร้างร่มเงา ปลูกหญ้า ต้นไม้ และมีการระเหยของน้ำ เพื่อให้ลมพัดพาอุณหภูมิที่เย็นลงแล้ว เข้ามาสร้างความสบายภายในบ้าน

แก้บ้านร้อน
การปรับปรุงพื้นที่รอบบ้านให้เป็นต้นไม้ หญ้า และมีการระเหยของน้ำจะช่วยลดอุณหภูมิให้สภาพแวดล้อมเย็นลงได้
แก้บ้านร้อน
แสดงลักษณะการเอียงของแสงแดดในช่วงเวลาต่างๆ ทิศเหนือจะโดนแดดน้อยที่สุด ทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันตกจะรับแสงแดดมาก โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดของวัน  

แสงแดดมาพร้อมความร้อน…จากทางทิศไหน

การขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์มีผลต่อความร้อนโดยตรง แสงแดดตอนเช้าเริ่มจากทางทิศตะวันออก อ้อมเอียงไปทางทิศใต้ (หรือเหนือ) และเอียงต่ำทางทิศตะวันตกในตอนเย็น

  • แดดเอียงอ้อมไปทางทิศเหนือ ช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม (4 เดือน)
  • แดดเอียงอ้อมไปทางทิศใต้ ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน และเดือนกันยายน – ธันวาคม (8 เดือน)

การเอียงทำมุมกับอาคารนี้เองที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน หากเราเข้าใจจะสามารถหันทิศทางอาคารในทิศที่โดนแดดน้อยได้ หรือการบังแดดในทิศที่ได้รับแสงแดดโดยตรง โดยช่วงบ่ายที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดของวัน ประกอบกับทิศทางการเอียงของแสงแดด ทำให้ทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันตกจะได้รับแสงแดดเฉลี่ยมากที่สุดตลอดทั้งปี ดังนั้นอาคารต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการทำผนังที่โดนแสงแดดโดยตรงในทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันตก เพื่อลดการสะสมความร้อน

บ้านร้อนได้อย่างไร และความร้อนมาจากไหน?

ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารจนทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิและความชื้นในอากาศของประเทศไทยที่แทบจะไม่อยู่ในช่วง “สภาวะน่าสบาย” เลย และความร้อนจะเพิ่มมากขึ้นจากการสะสมความร้อนของวัสดุพื้น ผนัง หลังคา และกระจก ซึ่งเป็นส่วนเปลือกบ้านที่ช่วยบังแดดบังฝน และถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน ทำให้อากาศภายในบ้านร้อนกว่าอากาศในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักเกินจำเป็น เพราะความเย็นในการปรับอากาศส่วนหนึ่งใช้ในการลดอุณหภูมิของเนื้อวัสดุ อีกส่วนหนึ่งใช้ชดเชยความรู้สึกร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนของวัสดุเปลือกอาคารโดยรอบเข้ามาภายในบ้าน ทำให้ปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศลงเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกเย็น


3 แนวทางปรับให้บ้านเย็นลง

เมื่อเข้าใจต้นเหตุที่ทำให้บ้านร้อนแล้ว มาดู 3 แนวทางหลัก แก้บ้านร้อน เพื่อปรับให้บ้านเย็นลงกัน

สถานที่ บ้านครอบครัวธันยเกียรติ์ อ่านบ้านนี้ต่อ : บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง ของพี่น้องที่แชร์คอร์ตเพื่อขยายความสุข

1.สภาพแวดล้อมรอบตัวอาคาร

การปรับปรุงให้รอบบ้านของเรามีอุณหภูมิที่เย็นลง ด้วยการลดการสะสมความร้อนของพื้นโดยรอบบ้านไม่ให้มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิอากาศ และพยายามทำให้อุณหภูมิเย็นลงด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการเลือกทำพื้นลานคอนกรีตน้อยที่สุด เพื่อลดการดูดซับและสะสมความร้อนจากแสงแดด หลีกเลี่ยงการจัดวางพื้นที่ดาดแข็งที่มีขนาดใหญ่บริเวณทิศใต้และทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศที่ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์สูงสุด และมีพื้นที่ปลูกหญ้าและปลูกต้นไม้ใหญ่สร้างร่มเงาให้มากที่สุด มีการระเหยของน้ำด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิอากาศโดยรอบอาคาร เช่น น้ำพุ น้ำตก แหล่งน้ำ เพื่อทำให้ลมที่พัดผ่านสภาพแวดล้อมรอบอาคารเข้ามาภายในอาคารกลายเป็นลมเย็น

สถานที่ บ้านคุณเปรมจิตร ซาเนียร์ ฟอร์เซลล่า อ่านบ้านนี้ต่อ : บ้านในใจ…บ้านหน้าจั่วที่กลั่นความในใจสู่บ้านสุดอบอุ่น

2.การวางแนวอาคารและรูปทรงอาคาร

การทำให้บ้านมีร่มเงาบังแดดมากที่สุด ด้วยการออกแบบรูปทรงบ้านและพื้นที่ผิวผนัง หลังคา กระจก ให้สัมผัสกับแสงแดดน้อยที่สุด การหันแนวบ้านให้เอียงหลบแดด เช่น การออกแบบให้ผนังด้านทิศตะวันตกและตะวันออกมีพื้นที่น้อยที่สุด โดยเฉพาะทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านที่ได้รับอิทธิพลจากแสงแดดสูงสุด และเน้นการออกแบบให้มีพื้นที่ผนังและเปิดหน้าต่างในทิศเหนือและทิศใต้ให้มากที่สุด เพราะทิศเหนือได้รับอิทธิพลแดดน้อยที่สุด ส่วนทิศใต้เป็นทิศลมประจำ จะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อลมพัดผ่านสภาพแวดล้อมที่ปรับให้มีอุณหภูมิเย็นลงแล้ว 

ตัวอย่างวัสดุหลังคาและผนัง

3.การออกแบบและเลือกวัสดุเปลือกอาคาร

เปลือกอาคาร ได้แก่ ผนัง หลังคา และกระจก เป็นส่วนสำคัญในการทำให้บ้านร้อนหรือเย็น การเลือกวัสดุที่ดีต้องเป็นวัสดุที่ไม่มีการดูดซับความร้อนและความชื้น มีคุณสมบัติการป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงจะสามารถลดการสะสมความร้อนในเนื้อวัสดุ ลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคารได้ และลดการควบแน่นเป็นหยดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อราอีกด้วย เพื่อความสบายและสุขภาพที่ดีของคนในบ้าน


การเปรียบเทียบความร้อน-เย็น ของ พื้นที่ดาดแข็ง – พื้นที่สีเขียว

หากพื้นรอบบ้านเป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” เช่น พื้นคอนกรีต พื้นลาดยาง พื้นอิฐ พื้นหิน หรือพื้นไม้ ในปริมาณมาก คุณสมบัติของวัสดุนั้นๆ จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโดยรอบเพิ่มสูงขึ้น แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องจ้าเข้ามาก็จะแยงตาโดยตรง และเสียงสะท้อนจากกิจกรรมต่างๆก็จะตรงสู่อาคารมากเป็นพิเศษ โดยพื้นที่ดาดแข็งจะมีการสะท้อนความร้อน ดูดกลืนความร้อนเก็บไว้ และ แผ่ความร้อนออกมา จนพื้นที่นั้นกลายเป็นแหล่งสะสมความร้อน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณที่เป็นพื้นสีเขียวจะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลขการเปรียบเทียบอุณหภูมิพื้นผิวของพื้นคอนกรีต บล็อกคอนกรีตปูหญ้า บล็อกพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะมากถึง 42, 36, 30 และ 27 องศาเซลเซียสตามลำดับ

อีกทั้งพื้นที่ดาดแข็งมีสะท้อนแสงมาก ทำให้มีแสงจ้าและแยงตา เมื่อเทียบกับพื้นคอนกรีต บล็อกคอนกรีตปูหญ้า บล็อกพลาสติกปูหญ้า และสนามหญ้า จะสามารถลดการสะท้อนแสงได้ร้อยละ 31 , 62 และ 77 ตามลำดับ

พื้นที่ดาดแข็งยังมีผลกระทบต่อสภาวะน่าสบายทางเสียง เพราะเป็นวัสดุที่มีลักษณะทึบตัน มีค่าการดูดซับเสียงต่ำ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกแบบทางเดินเท้าเป็นรูปแบบโค้งอิสระ เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนการตกกระทบและสะท้อนเสียงก่อนเข้าสู่อาคาร หรือการแทรกพืชพรรณต่างๆ เพื่อช่วยดูดซับเสียง และลดความต่อเนื่องของเสียงสะท้อนก่อนเข้าสู่อาคาร

ตัวอย่างการออกแบบภูมิทัศน์ดาดแข็งให้ลดการสะสมความร้อน

โดยหลักเกณฑ์มาตรฐานการประเมินอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้แนะนำว่า

บ้านเดี่ยว  

  • ควรมีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ดิน
  • ควรมีพื้นที่พืชพรรณไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมด
  • ควรมีพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้ ร้อยละ 75 ขึ้นไปของพื้นที่ดาดแข็ง

บ้านแถวและอาคารอยู่อาศัยรวม

  • ควรมีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ดิน
  • ควรมีพื้นที่พืชพรรณไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมด
  • ควรมีพื้นที่ร้อยละ 75 ขึ้นไปของพื้นที่ดาดแข็ง เป็นพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้

เมื่อพื้นที่ดาดแข็งเป็นสาเหตุที่สร้างความรู้สึกไม่สบาย การลดปริมาณพื้นที่ดาดแข็งให้เหลือน้อยที่สุด หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมด้วยการแทรกพื้นที่สีเขียวจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ มีสนามหญ้า ใช้บล็อกปูหญ้า หรือการเติมต้นไม้กระถาง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรู้สึกสบายให้กับบริเวณโดยรอบและภายในบ้านได้


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน

ติดตาม FB : riscwellbeing


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : แฟ้มภาพบ้านและสวน, room

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


การเลือกวัสดุที่ปลอดภัยเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี ลดเสี่ยงเกิดโรค

การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

ติดตามบ้านและสวน