หลากหลายรูปแบบการจัดสวนเพื่อบำบัดกายใจ

สถานการณ์ในช่วงนี้อาจส่งผลให้หลายคนเกิดความรู้สึกเครียดและกังวลกันบ้างไม่มากก็น้อย วิธีคลายเครียดง่ายๆ อีกวิธีหนึ่ง คือ การปล่อยตัวเองให้ได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งนอกจากช่วยให้เราเกิดสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมในพื้นที่สีเขียวแล้วการอยู่ในสวนยังช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของเราได้อีกด้วย

การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้ามีความเชื่อมโยงกับระบบการรับรู้ประมวลผล ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเรื่องความสามารถในการแสดงออกทางอารมณ์และการทำความเข้าใจผู้อื่น ระบบนี้จะทำงานผิดปกติเมื่อเราเกิดเจ็บป่วยหรืออ่อนล้า การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยสิ่งต่างๆ รอบตัวจึงช่วยให้เราเกิดศักยภาพที่จะเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ เข้าหากันได้ดีขึ้นซึ่งเมื่อระบบการรับรู้ดีขึ้นย่อมส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจดีตามมา นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ประสาทการรับรู้ทั้งห้าได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในสวนได้มากเท่าใด ย่อมเป็นการเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับโลกของธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น

สวนกระตุ้นสัมผัส หรือ “Sensory Garden” มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระตุ้นที่พอเหมาะไม่มากไปจนก่อให้เกิดความอึดอัดและไม่น้อยไป จนไม่รู้สึกอะไรสำหรับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพและได้รับการกระตุ้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้มีปัญหาเรื่องสมาธิถ้าเห็นสีสันและข้าวของมากมายพร้อมๆ กันอาจเกิดความเครียดหรือเกิดอาการควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ สำหรับผู้ที่อ่อนไหวต่อกลิ่นเมื่อได้รับกลิ่นบางกลิ่นรุนแรง หรือได้รับกลิ่นพร้อมกันหลายกลิ่นอาจเกิดอาการเวียนหัวคลื่นไส้ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อให้สวนบำบัดได้ทำหน้าที่กระตุ้นสัมผัสอย่างมีประสิทธิภาพ ลองมาดูกันสิว่ามีสิ่งใดที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเราต้องการออกแบบและจัดสวนบำบัดบ้าง

 

1.สวนกระตุ้นการมองเห็น

การกระตุ้นประสาทสัมผัสทางการมองเห็น อาจใช้พืชพรรณและวัสดุที่มีผิวสัมผัส รูปร่างใบ และ รูปทรงต้นที่แตกต่างกันมาปลูกร่วมกัน ทำให้เกิดความหลากหลายขององค์ประกอบที่เห็น นอกจากนี้ การนำพืชพรรณที่มีรูปทรงหรือสีสันแปลกตา มาปลูกในตำแหน่งที่น่าสนใจ ยังช่วยกระตุ้นการมองเห็นได้มากขึ้นการใช้สีที่เห็นได้ชัดเจนในจุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสีสันของวัสดุ เช่น ซุ้ม กรอบประตู หรือสีของดอกไม้ใบหญ้าก็ช่วยได้การสร้างความแตกต่างระหว่างเฉดสี เช่น เลือกปลูกไม้ดอกที่มีสีโทนอ่อนให้ตัดกับพุ่มใบสีเข้ม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเรื่องการมอง โดยเฉพาะผู้มีปัญหาทางสายตาที่สามารถเห็นอยู่ได้บ้าง ช่วยให้เห็นได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังในเรื่องการใช้สีที่หลากหลายเกินไปจนก่อให้ผู้ต้องการบำบัดเกิดความสับสนได้

เจ้าของสถานที่ : คุณชานนท์ ศรีเพียร และคุณมะลิวัลย์ อัจฉริยะศิริกุล ศรีเพียร

การเลือกปลูกต้นไม้ที่ออกดอกตามฤดูกาลในสวนบ้าง จะช่วยกระตุ้นสายตาและดึงความสนใจได้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สวนได้เชื่อมโยงตนเองกับฤดูกาลที่เป็นวัฏจักรของธรรมชาติ

2.สวนกระตุ้นการรับรส

การเก็บพืชผักสวนครัว ไม้ผล และพืชสมุนไพรมาลองลิ้มชิมรสสดๆหรืออย่างน้อยได้นำพืชผลเหล่านั้นจากสวนมาสู่จาน นอกจากช่วยกระตุ้นการรับรสแล้วยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสวนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ลงมือปลูกพืชผักผลไม้เหล่านั้นเองยิ่งช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กับเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจการทำกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากได้ผ่อนคลายแล้วยังช่วยเติมความมุ่งหมายให้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จ ซึ่งแม้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็ทำให้ชีวิตประจำวันมีความหมายมากขึ้น การปลูกพืชผักผลไม้ไว้ทานเองยังมีข้อดีคือผู้ปลูกสามารถเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็นทำให้มีอาหารปลอดภัยทั้งยังสามารถเลือกปลูกพืชผักที่ชอบ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสวน ซึ่งพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ผักและผลไม้ยังเป็นพืชที่ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นผักที่ค่อยๆ งอกเติบโตจนเก็บกินได้ หรือไม้ผลที่ค่อยๆผลิดอกออกผลเปลี่ยนสีเปลี่ยนขนาดจนสุกพร้อมให้เก็บมารับประทาน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะช่วยสร้างความมีชีวิตชีวา อีกทั้งการงอกงามเติบโตก็ช่วยสร้างพลังใจที่ดีอีกด้วย

สถานที่ : ไร่กาลเวลา Organic Farm

3.สวนกระตุ้นการรับกลิ่น

กลิ่นดิน กลิ่นหญ้าที่เพิ่งตัด รวมทั้งกลิ่นหอมจากบรรดาพืชพรรณนอกจากช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความทรงจำที่สัมพันธ์กับกลิ่นนั้นได้อีกด้วย การปลูกไม้กลิ่นหอมในบางตำแหน่งของสวนยังช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาทางการมองเห็นจดจำเส้นทางเดินได้ง่ายขึ้น เราอาจออกแบบให้ผู้ใช้สวนได้รับรู้กลิ่นของพรรณไม้ต่างๆ ด้วยการจัดที่นั่งไว้ใกล้กับตำแหน่งที่ปลูกไม้เหล่านี้ รวมถึงอาจปลูกในกระบะยกสูงให้เอื้อมมือไปจับหรือเด็ดมาดมได้บ้าง เพื่อช่วยกระตุ้นทั้งการได้กลิ่นและการสัมผัสด้วยมือ แต่ไม่ควรปลูกต้นที่ให้กลิ่นแรงใกล้กับพื้นที่ใช้งานมากเกินไป และไม่ควรปลูกไม้หอมหลายชนิดรวมกัน นอกเสียจากเลือกต้นที่ส่งกลิ่นหอมคนละช่วงเวลา ที่สำคัญควรเข้าใจด้วยว่าแต่ละบุคคลย่อมมีความชอบที่ต่างกัน

นอกจากไม้ดอกหอมแล้ว ยังมีสมุนไพรทั้งไทยและเทศซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยบำบัดและสร้างบรรยากาศที่สดชื่น แถมยังนำมาใช้ประกอบอาหารได้ด้วย หลายคนมักทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัวแยกไว้เป็นสัดส่วนจากสวนสวย แต่สำหรับสมุนไพรที่มีทรงต้นสวยอย่าง โรสแมรี่ ลาเวนเดอร์ เราสามารถนำมาปลูกประดับร่วมกับไม้ประดับทั่วไป หรือแซมไปกับองค์ประกอบอื่นๆได้ ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้เราก็จะเข้าถึงกลิ่นหอมสดชื่นได้จากมุมต่างๆอย่างไรก็ดี ในสวนควรจัดให้มีพื้นที่ที่ไม่มีกลิ่นใดๆ ไว้ด้วย

สถานที่ : Rosemary House Homestay

4.สวนกระตุ้นการได้ยิน

เสียงของธรรมชาติ อย่างเสียงนก เสียงน้ำ เสียงของกิ่งไม้ที่เสียดสีกันเมื่อต้องลม ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเพิ่มพลังบวกได้มากขึ้นการออกแบบสวนเพื่อการได้ยิน สามารถทำได้โดยเลือกใช้พืชพรรณที่มีกิ่งก้านหรือใบยาวๆ อย่าง ไผ่ หลิว กก หญ้าเม็กซิกัน หรือแม้กระทั่งตะไคร้ ฯลฯ ไม้กลุ่มนี้เมื่อลมพัดผ่านจะเกิดเสียง หรือ การแขวนกระดิ่งลมเล็กๆ ไว้ตามกิ่งไม้หรือชายคาบ้านให้ได้ยินเสียงเบาๆเมื่อลมพัดผ่านก็เป็นการเพิ่มเสียงได้อีกทางเลือกหนึ่ง

การเปิดโอกาสให้นกตามธรรมชาติหรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้ามากินอาหารหรือวิ่งเล่นในสวนให้เราดูเพลินๆ ฟังเสียงเพราะๆยามเช้ายามเย็น หากอยากเรียกนกให้มาเพิ่ม นอกจากการมีแหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัยร่มเงาแล้ว ลองปลูกต้นไม้ที่มีลูกไม้เล็กๆ ที่นกชอบไว้สักต้นสองต้น อย่าง ต้นหว้า ตะขบ ไทร ฯลฯ แค่นี้ก็ได้ฟังเสียงนกเพลินกันทั้งวันแล้ว

การทำอ่างน้ำพุ บ่อปลา น้ำตก หรือแม้กระทั่งลำธารที่มีน้ำไหลรินๆ เป็นเสียงที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายได้ดี ทั้งยังสามารถใช้เพื่อกลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ใช้เสียงน้ำตกดึงดูดความสนใจจากเสียงรถราด้านนอก ช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการบำบัดได้มากขึ้นแต่ก็ต้องคำนึงในเรื่องความปลอดภัยและการดูแลรักษาไปพร้อมๆ กัน

5. สวนกระตุ้นทางผิวหนัง

การได้สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่าง ช่วยให้รับรู้ถึงความรู้สึกที่หลากหลาย แต่การเลือกใช้วัสดุในสวนก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย สิ่งสำคัญคือวัสดุปูพื้นต้องไม่ลื่นโดยเฉพาะเมื่อเปียกน้ำ การปล่อยให้เท้าได้สัมผัสพื้นผิวต่างๆ โดยตรงบ้างเป็นการช่วยนวดฝ่าเท้าไปในตัว แต่หากไม่สามารถออกแบบพื้นให้สามารถเดินเท้าเปล่าได้ตลอดทั้งเส้นทาง ลองกำหนดให้มีพื้นที่บางส่วนที่ใช้วัสดุธรรมชาติที่เป็นมิตรกับฝ่าเท้า อย่าง สนามหญ้า พื้นหินที่เรียบมน หรือแม้กระทั่งพื้นกรวดล้าง สำหรับพื้นผิวที่ไม่มั่นคงหรือไม่เรียบอย่าง พื้นทราย หรือพื้นที่โรยด้วยกรวดหินอาจออกแบบให้มีราวจับร่วมด้วยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้พื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับเดินเท้าเปล่า ควรมีร่มเงาเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นสะสมความร้อนมากเกินไปเพราะการเดินบนพื้นอุ่นๆ นั้นย่อมสบายดีแต่อาจไม่สนุกนักหากพื้นนั้นร้อนจัดจนเท้าพอง ข้อสำคัญคือจุดประสงค์ที่เราเข้ามาในสวนก็เพื่อให้ได้พลังบำบัดจากธรรมชาติ ดังนั้น วัสดุที่เลือกมาใช้อย่าลืมเน้นวัสดุธรรมชาติให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งของและสารสังเคราะห์ต่างๆ ที่อาจสร้างมลพิษก็ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาไว้ในสวน

การที่ได้จับต้อง แตะ ขยำ หรือเด็ดใบไม้พืชพรรณต่างๆ เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้การสัมผัสทางผิวหนังได้รับการกระตุ้น การตัดดอกไม้มาเสียบแจกัน หรือนำกลีบดอกไม้มาเรียงร้อยหรือวางเรียงต่อกันเป็นวงกลม หรือรูปต่างๆเพื่อให้เกิดสมาธิก็ช่วยกระตุ้นการสัมผัสที่ดี ที่สำคัญ คือ ในสวนที่มีเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ที่มีหนามแหลมคม หากชอบหรือต้องการปลูกก็ควรกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งที่เข้าไปสัมผัสไม่ถึง

เจ้าของสถานที่ : คุณราเชน กฤษราลัมณ์ และคุณอรวรรณ แก้วจินดา

มันดาลา (Mandala) หรือที่เรียกกันว่า วงล้อแห่งจักรวาล เป็นการสร้างสมดุลให้จิตใจ โดยเริ่มจากการกำหนดศูนย์กลางแล้วแผ่ขยายออกไปตามแนวแกนรัศมี การนำกลีบดอกไม้ ใบไม้มาวางเรียงต่อกันเชิงสัญลักษณ์นี้ เป็นการสร้างสมาธิและเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับธรรมชาติ ลองใช้เวลาช่วงหนึ่งทำจิตใจให้ว่าง ชักชวนลูกหลานและสมาชิกในบ้านลงสวนเก็บดอกไม้ ใบไม้ พืชผักสวนครัว และกิ่งไม้ แม้กระทั่งกรวดหิน มาลองวางเรียงกันเป็นวงดู จะพบว่าการจดจ่อและสัมผัสกับธรรมชาติเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและกระตุ้นประสาทสัมผัสได้อย่างดีเยี่ยม

สถานที่ : Whispering Cafe

การได้ใช้เวลาอยู่ในสวน ได้นั่งพักหรือทำกิจกรรม อย่าง เพาะเมล็ด ย้ายกล้า หรือดูแลสวน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช ทำปุ๋ยหมัก และตัดผลผลิต มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นประสาทสัมผัสแต่ละส่วน ซึ่งย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางบวก ที่สำคัญอย่าลืมจัดพื้นที่ทำงานเหล่านี้ให้มีระยะที่พอเหมาะ นอกจากได้ดูแลสวนให้สะอาดน่าเข้าไปใช้งานแล้วยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ช่วยบำบัดกายใจ และสร้างความสมดุลต่อจิตใจให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “สวนบำบัด Garden Therapy” ซึ่งเขียนโดย ผศ.ดร.ธนาศรี สัมพันธารักษ์ เพ็ชรยิ้ม เนื้อหาในเล่ม นำพาให้เราได้รู้จักกับสวนบำบัดในแง่มุมต่างๆ เข้าใจหลักพื้นฐานที่ควรมีในสวนบำบัดก่อนออกแบบ รวมทั้งสวนบำบัดสำหรับผู้ตกอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า เบิร์นเอาต์ สวนสำหรับผู้สูงอายุ เด็กทั่วไป เด็กสมาธิสั้น และออทิสติก ที่สำคัญมีแปลนสวนตัวอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สวนของคุณเป็นพื้นที่ประจำวันที่มีคุณภาพ

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

 

ข้อมูล: ธนาศรี สัมพันธารักษ์ เพ็ชรยิ้ม

เรียบเรียง: ทิพาพรรณ

ภาพ: อภิรักษ์, สิทธิศักดิ์, ธนกิตติ์