บ้านปูนผสมไม้เก่า รูปทรงเรียบง่ายอยู่ริมทุ่งนา

บ้านปูนผสมไม้เก่า ในรูปทรงเรียบง่ายของคนรักไม้เก่า ที่ใช้วิธีการผสมผสานองค์ประกอบของไม้เข้าไปแทนที่จะเป็นบ้านไม้ทั้งหลัง เพื่อประหยัดงบประมาณ

บ้านปูนผสมไม้ บ้านปูนผสมไม้เก่า
ตัว บ้านปูนผสมไม้เก่า 2 ชั้นที่ออกแบบให้วางขวางลมไว้ รวมถึงเพื่อให้ได้เห็นวิวทุ่งนาด้านหลังซึ่งมองเห็นได้จากห้องนอนชั้นบน

บ้านปูนผสมไม้ บ้านปูนผสมไม้เก่า

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นเจ้าของบ้านไม้สักหลังในยุคนี้  เพราะวัสดุไม้กลายเป็นของหายากราคาแพง อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณมากในการดูแลรักษาบ้านไม้ให้คงความสวยงามไปนานๆ แต่ถึงอย่างนั้น บ้านไม้ก็ยังเป็นบ้านในฝันของใครหลายคน รวมถึงคุณเต้-ยุทธการ กันทยานภัทร  นักออกแบบจาก  Korpon Design   ที่หลงรักบ้านไม้เก่าๆ อายุ 60-70 ปี แบบบ้านพักข้าราชการชนิดที่พบเห็นตรงไหนก็ต้องขอถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยทุกครั้งไป จึงใช้วิธีสร้าง บ้านปูนผสมไม้  ขึนมาแทน

ถึงแม้จะรักในบ้านไม้มากเพียงใด  แต่เพื่อประหยัดงบประมาณในการสร้างและเพื่อสามารถออกแบบฟังก์ชันการใช้งานที่ทันสมัยตอบรับวิถีชีวิตปัจจุบันได้สะดวกมากขึ้น  เขาจึงเลือกที่จะสร้างบ้านของตัวเองซึ่งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นบ้านก่ออิฐฉาบปูนในรูปทรงเรียบง่าย และใช้วิธีการผสมผสานองค์ประกอบของไม้เข้าไปแทนที่จะเป็นบ้านไม้ทั้งหลัง บ้านปูนผสมไม้

พอดีผมมีที่ดินขนาดสองงานของคุณพ่อคุณแม่อยู่ท้ายซอยตรงนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผมเกิดและเติบโตมาแต่เด็ก  พอแต่งงานมีลูกสาวเลยมีความคิดอยากกลับมาสร้างบ้านอยู่ตรงที่ที่คุ้นเคย ก็คุยกับภรรยาว่าจะทำบ้านแบบเรียบ ๆ  ไม่หวือหวา   แต่มีฟังก์ชันสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อดูจากบริบทของบ้านรอบ ๆ บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านเล็กแบบชนบท  เราจึงไม่อยากสร้างบ้านของตัวเองให้ใหญ่โตหรือโดดเด่นแปลกแยกเกินไปจากชุมชน

บ้านปูนผสมไม้ naturehouse
ศาลาไม้โปร่งพร้อมทางเดินที่เชื่อมต่อไปถึงบริเวณอาคารหลักของบ้าน

บ้านปูนผสมไม้   บ้านปูนผสมไม้เก่า
คอร์ตยาร์ดซึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์หน้าบ้านและยังเป็นสวนสีเขียวซึ่งเน้นปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาและสร้างมุมมองธรรมชาติให้กับบ้าน

บ้านปูนผสมไม้

ประกอบกับการพิจารณาสภาพแวดล้อมในเรื่องทิศทางของแสง ลม และทัศนียภาพรอบ ๆ แล้ว  คุณเต้จึงเริ่มออกแบบบ้านขนาด  ชั้นขึ้นมาในรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายขนาดพื้นที่ใช้สอยเพียง 120 ตารางเมตร โดยให้หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนิด ๆ   เพื่อให้ขวางทางลมและให้เห็นวิวของทุ่งนาตรงหลังบ้านได้เต็มที่  ภายในประกอบด้วยก้อนฟังก์ชัน  ก้อนเรียงต่อกันอย่างตรงไปตรงมาคือส่วนรับประทานอาหาร  โถงนั่งเล่นตรงกลาง  และส่วนครัว   เช่นเดียวกับฟังก์ชันของชั้นบนที่เรียงต่อกันเป็นส่วนของห้องนอนหลัก  โถงนั่งเล่น  และห้องนอนลูกสาว   ส่ิงที่เน้นคือการวางตำแหน่งของประตูหน้าต่างบานคู่หลักของชั้นล่างไว้ที่หน้าและหลังบ้านเพื่อให้ลมธรรมชาติพัดผ่านได้อย่างสบาย

บ้านปูนผสมไม้เก่า
หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนิดๆ ทำให้ช่วงบ่ายตัวบ้านจะช่วยบังแดดและทำให้คอร์ตยาร์ดตรงนี้ได้ร่มเงาจึงสามารถออกมาใช้พื้นที่ได้สบาย

บ้านปูนผสมไม้ naturehouse
ส่วนนี้เป็นอาคารชั้นเดียวที่ออกแบบมาให้ใช้งานอเนกประสงค์ทั้งห้องเล่นดนตรีและห้องสังสรรค์ ตกแต่งด้วยประตูไม้บานเฟี้ยมเก่าที่สามารถเปิดได้กว้างเพื่อรับลมและใช้งานต่อเนื่องมาถึงสวนด้านนอกได้

บ้านปูนผสมไม้เก่า
ช่องประตูหน้าต่างของบ้านเป็นงานไม้เก่าทั้งหมด เพื่อมาช่วยลดทอนความแข็งของบ้านปูนสีขาวให้นุ่มนวลและดูอบอุ่นขึ้น

เพื่อให้ได้เป็น บ้านปูนผสมไม้เก่า แบบที่ต้องการ

ก่อนสร้างบ้านหลังนี้  เรารื้อบ้านไม้เก่าของคุณพ่อภรรยาผมเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่พอดี ก็เลยมีไม้เก่าที่เคยเป็นหลองข้าวและตัวบ้านเก็บไว้ ผมจึงนำไม้เก่าทั้งหมดนี้กลับมาใช้ตกแต่งส่วนประตูหน้าต่างบ้านนี้ทั้งหมด และยังไปซื้อหน้าต่างไม้เก่ามาเพิ่มอีกด้วย ผมกับภรรยาชอบวัสดุธรรมชาติที่ให้ผิวสัมผัสด้าน ๆ หน่อย เราเลยไม่ทาสีเคลือบไม้เก่าเลย แค่ขัดผิวออกนิดเดียวและทารักษาเนื้อไม้ไว้เท่านั้น  รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ในบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นแบบลอยตัวที่ออกแบบและทำขึ้นเองผสมไม้เก่าบ้างผสมวีว่าบอร์ดบ้าง  ไม่ได้เน้นดีไซน์โมเดิร์น แต่ให้มันดูลูกทุ่ง ๆ  มากกว่า และก็ยังง่ายต่อการยกย้ายเปลี่ยนมุมหรือปรับฟังก์ชันไปตามช่วงเวลาต่าง ๆ  ของชีวิตได้ด้วย

บ้านปูนผสมไม้ naturehouse
เฟอร์นิเจอร์ในบ้านส่วนใหญ่เป็นงานที่เจ้าของลงมือออกแบบและทำขึ้นใหม่จากไม้เก่าที่มี โดยเน้นใช้แบบลอยตัวเพื่อให้สามารถขยับย้ายเปลี่ยนมุมได้ง่าย

บ้านปูนผสมไม้เก่า
การวางผังภายในให้ต่อกันอย่างตรงไปตรงมาระหว่างมุมรับประทานอาหาร โถงนั่งเล่นตรงกลาง และห้องครัวด้านใน  เอื้อให้ลมธรรมชาติสามารถพัดผ่านหมุนเวียนได้ทั่วบ้าน

และเพราะแนวคิดที่ต้องการให้บ้านสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่ายนี่เอง ทำให้คุณเต้ออกแบบอาคารชั้นเดียวเพิ่มมาอีกหนึ่งหลังเพื่อใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ในขนาด  35  ตารางเมตร  ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องเล่นดนตรีกับลูกสาว   บางทีเราก็ใช้เป็นที่จัดเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนหรือญาติ แยกจากบ้านอยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวไปเลย และอนาคตก็ยังสามารถปรับเป็นห้องนอนของคุณแม่ได้ด้วยครับ

บ้านปูนผสมไม้ naturehouse
โถงนั่งเล่นกลางบ้านได้เพดานที่สูงโปร่งเพราะรวมฟังก์ชันของบันไดทางขึ้นชั้นบนเอาไว้ด้วย และบริเวณพื้นชั้นล่างนี้ยังเป็นหินขัดที่เคลือบผิวไว้ทั้งหมดเพื่อให้ดูแลได้ง่าย

บ้านปูนผสมไม้เก่า
ประตูหลักบริเวณโถงกลางบ้านออกแบบไว้ให้เป็นบานเปิดคู่ที่สามารถเปิดรับลมชมวิวได้กว้าง และเมื่อต้องการปิดประตูหลักนี้ด้านข้างก็ยังมีบานเกล็ดกระจกที่สามารถช่วยระบายอากาศทำให้บ้านไม่อับทึบ

บ้านปูนผสมไม้เก่า
ส่วนของห้องครัวที่ใช้เคาน์เตอร์ครัวไม้ซึ่งออกแบบเองโดยผสมไม้เก่ากับวีว่าบอร์ด รวมไปถึงบรรดาตู้ไม้ต่างๆ กับโต๊ะรับประทานอาหารก็เป็นงานไม้เก่าที่เน้นร่องรอยของไม้ธรรมชาติทั้งหมด

บ้านปูนผสมไม้เก่า
นอกจากประตูบานหลักแล้ว หน้าต่างของห้องครัวเองก็ออกแบบให้เป็นบานเฟี้ยมไม้ผสมกับช่องบานเกล็ดที่ช่วยระบายอากาศได้ในเวลาที่ต้องปิดหน้าต่างไว้

เพื่อให้องค์ประกอบของบ้านมีความร่มรื่นและอยู่สบาย ระหว่างสร้างบ้านคุณเต้ยังออกแบบและจัดวางพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ไปด้วย  จากพื้นที่ซึ่งเคยเรียบโล่งว่างเปล่าเมื่อกำหนดที่ตั้งของตัวบ้าน 2 ชั้น  อาคารอเนกประสงค์  และโรงจอดรถไว้แล้ว จึงเพิ่มเติมด้วยต้นไม้ใหญ่ที่คาดหวังถึงร่มเงาและมุมมองธรรมชาติที่สดชื่นจากภายในบ้านด้วย

naturehouse
จากบันไดขึ้นมาเป็นผนังกระจกโปร่งในกรอบไม้สวย ซึ่งมีทั้งส่วนที่ช่องปิดและช่องหน้าต่างเปิดติดมุ้งลวดกับประตูที่เปิดออกไปสู่ระเบียงด้านนอกได้

naturehouse
ผนังส่วนนี้ออกแบบให้เป็นกระจกโปร่งเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่กลางบ้านได้เต็มที่ เพิ่มความปลอดโปร่งให้กับโถงชั้นล่างและมุมนั่งเล่นชั้นบนไปพร้อมๆ กัน

ตอนแรกไม่มีต้นไม้เลย เราก็ค่อย ๆ ปลูกกันเองจากต้นน้อย ๆ  ส่วนใหญ่เป็นพวกไม้ท้องถิ่น  อย่าง  แคนา  ชมพู่  ชงโคง  กับต้นสารภี และมะม่วงหาวมะนาวโห่ ที่แม่กับยายให้มา และก็มีต้นที่ขอมาจากบ้านลุงด้วยผสมไปกับไม้ล้อมที่เป็นต้นหมาก  วาสนา  อินทนิล   จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มส่วนของบ่อน้ำขึ้นมาเพราะที่เราอยู่ใกล้กับคลองส่งน้ำทางการเกษตรก็ออกแบบบ่อผันน้ำให้ไหลตามธรรมชาติคล้ายน้ำตกเล็กๆ ของบ้าน  สร้างสุนทรียภาพให้กับบ้านไปด้วย  แล้วก็ยังเพิ่มส่วนของศาลาโปร่ง ๆ  สำหรับนั่งเล่นไว้อีกด้าน พื้นที่ว่างระหว่างบ้านกับศาลาจึงเป็นลานกิจกรรมของครอบครัวซึ่งมีทั้งสนามหญ้าและชิงช้าให้เด็กเล่นได้ หรือจะกางเต้นท์แคมปปิ้งก็ได้บรรยากาศดี ที่จริงเราให้ความสำคัญกับบริเวณรอบ ๆ  บ้านมากกว่าในบ้านด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ตรงโถงชั้นล่างและนอกบ้านกันมากที่สุด  หลังจากได้อยู่บ้านนี้ผ่านฤดูร้อนฤดูหนาวกันมาแล้ว  ก็รู้สึกว่าเป็นจังหวะชีวิตที่ลงตัวมาก  แม้บ้านจะไม่ได้ดูเนี้ยบหรือหวือหวา  แต่เราก็ชอบในร่องรอยตามธรรมชาติแบบนี้มากกว่า

บ้านปูนผสมไม้เก่า
ชายคาหน้าบ้านเป็นกระเบื้องลอนใสที่ช่วยป้องกันฝนสาดแต่ไม่ปิดกั้นแสงธรรมชาติ

บ้านปูนผสมไม้เก่า
ช่องประตูหน้าต่างของบ้านเป็นงานไม้เก่าทั้งหมด เพื่อมาช่วยลดทอนความแข็งของบ้านปูนสีขาวให้นุ่มนวลและดูอบอุ่นขึ้น

รูปทรงของบ้านปูนหลังนี้อาจจะดูเรียบง่าย  แต่คุณเต้ก็สามารถใช้การออกแบบสร้างฟังก์ชันให้บ้านอยู่ได้สบายโดยมีองค์ประกอบของไม้เก่ามาผสมผสานสร้างมุมมองของธรรมชาติได้ดี และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นงดงามไม่แพ้บ้านไม้แท้ ๆ  เลย

naturehouse
แนวคิดการเว้นสเปซระหว่างอาคารและการเปิดช่องประตูหน้าต่างเพื่อให้ลมหมุนเวียนถ่ายเทรอบๆ บ้านได้ดี

 naturehouse
พื้นที่สวนและสนามหญ้าสีเขียวใกล้กับศาลาเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ รวมถึงมุมชิงช้าที่ทำให้เด็กมีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตอยู่กลางธรรมชาติ

เจ้าของออกแบบ : คุณยุทธการและคุณพัชรินทร์ กันทยานภัทร

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : คุณจิณณะ ปาลี


บ้านไม้ผสมปูน ที่มีช่องเปิดรับลมธรรมชาติทุกฤดูกาล

ชีวิตธรรมดา ในบ้านไม้ใต้ถุนสูง