มาออกแบบระบบรดน้ำด้วยตนเอง

หลายคนมีพื้นที่สวนในบ้าน ที่นอกจากจัดสวนหย่อมไว้พักผ่อนแล้ว ยังแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักกินเอง ทำโรงเรือนปลูกผัก หรือไม้ประดับ สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลรดน้ำ หรือมีภาระต้องจากบ้านไปหลายวัน ควรติดตั้งระบบรดน้ำขนาดเล็กไว้เพื่อทุ่นแรง และเพื่อความคุ้มค่า

ก่อนเริ่มลงมือติดตั้งด้วยตัวเอง ควรศึกษาข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า จะให้น้ำแก่พืชชนิดใดบ้าง
  • เลือกระบบและอุปกรณ์ให้น้ำพืชที่เหมาะสม
  • ศึกษาวิธีติดตั้งระบบให้น้ำที่ต้องการให้เข้าใจ
  • ลงมือออกแบบและติดตั้งระบบ
ติดตั้งระบบน้ำหยดสำหรับต้นฮอบส์ที่ปลูกในกระถาง หากโซนพื้นที่ให้น้ำมีขนาดเล็กระบบนี้สามารถต่อจากประปาได้โดยตรง
ระบบพ่นหมอกเพื่อเพิ่มความชื้นและลดความร้อนให้กับต้นบรอมมีเลียดหรือสับปะรดสีภายในโรงเรือน การติดตั้งระบบพ่นหมอกนี้ ควรแยกออกจากระบบรดน้ำรูปแบบอื่น (เจ้าของสถานที่ :พลอากาศเอก ธีระฉัตร ผลากุล )
ติดตั้งหัวจ่ายแบบสเปรย์ในแปลงบัวดิน หัวจ่ายลักษณะนี้เหมาะใช้กับไม้คลุมดิน หรือไม้ขนาดเล็ก
ติดตั้งหัวจ่ายสปริงเกลอร์แบบป๊อบอัพไว้บริเวณสวนสวย ในสวนประดับหรือสวนหย่อมมักปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดในตำแหน่งอิสระ มีซอกมุมจากสิ่งก่อสร้าง ในสวนเดียวกันจึงมีทั้งพื้นที่กว้าง พื้นที่แคบ และแปลงต้นไม้รูปต่างๆ บางกลุ่มก็ปลูกรวมกัน ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน ซึ่งบางครั้งต้องซ่อนระบบให้น้ำเหล่านี้ไว้อย่างแนบเนียนเพื่อความงาม

เมื่อได้ข้อมูลพืชที่ปลูก เลือกระบบและอุปกรณ์ที่เหมาะสมแล้ว ก่อนติดตั้ง ควรคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

1 ถ้าติดตั้งระบบรดน้ำจากประปาโดยตรง ให้ตรวจสอบแรงดันของน้ำและปริมาณน้ำก่อนเพื่อความแน่ใจ จากข้อมูลของการประปา ก๊อกน้ำขนาด ½ นิ้ว ถ้าเปิดสุดจะให้น้ำประมาณ 9 ลิตรต่อนาที มีแรงดันประมาณ 1-1.5 บาร์ แต่ค่านี้มักผันแปรได้ ดังนั้น การต่อจากประปาโดยตรงจะใช้ได้กับระบบน้ำหยดสำหรับไม้กระถางและระบบสเปรย์ สำหรับพื้นที่ขนาดเล็กๆเท่านั้น

2 ควรแยกระบบพ่นหมอกในโรงเรือนออกจากระบบรดน้ำแบบอื่นๆ เนื่องจากระบบพ่นหมอกจะทำงานบ่อย เช่น พ่นทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง การใช้ปั๊มหอยโข่งกับระบบนี้ จะใช้พลังงานไฟฟ้ามาก อาจไม่คุ้มค่า แต่ควรติดตั้งระบบพ่นหมอกแรงดันต่ำด้วยปั๊มแบบไดอะแฟรม ลงทุนน้อยและคุ้มค่ากว่า

3 ระบบรดน้ำให้กับพืชที่ปลูกไว้รอบบ้าน ไม่ควรใช้ปั๊มน้ำร่วมกับที่ใช้ในบ้าน เพราะขณะที่เราเปิดน้ำใช้ในบ้าน ในเวลานั้นหากเราตั้งเวลารดน้ำเอาไว้ให้กับพืชที่ปลูก ปริมาณน้ำและแรงดันน้ำทั้งในบ้านและนอกบ้านจะไม่พอ ซึ่งส่งผลเสียกับทั้งสองส่วน

4 เมื่อแยกระบบรดน้ำให้พืชออกจากระบบน้ำใช้ในบ้าน จะต้องมีถังเก็บน้ำและต่อท่อน้ำเข้าไปเก็บไว้ให้เต็มถังอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อระบบรดน้ำทำงานจะไม่ขาดน้ำ

5 ระบบไฟฟ้าที่ต้องใช้กับระบบรดน้ำ ก็ต้องแยกออกมาจากบ้าน อยู่ในตู้ควบคุมอีกจุดหนึ่ง เพื่อสะดวกในการตรวจสอบเมื่อเกิดไฟฟ้าขัดข้อง

6 ควรติดตั้งระบบที่ดี เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ แม้ตอนติดตั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่บ้าง แต่ย่อมคุ้มค่ากว่าในระยะยาว ทั้งในเรื่องของอายุการใช้งาน และการบำรุงรักษา

 

ออกแบบและคำนวณระบบ

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ช่วยให้เราเลือกประเภทและกะจำนวนของหัวจ่ายแต่ละองศาให้เหมาะกับพื้นที่ และสามารถคำนวณปริมาณน้ำที่พืชต้องการได้ทั้งหมด

แปลน 1 เขียนแปลนสวนอย่างละเอียด

โดยกำหนดขนาดและระยะตามจริง หากดูข้อมูลจากแปลน 1 สามารถแบ่งการให้น้ำพืชได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 -พืชจำพวกไม้ผล พืชผัก พืชสมุนไพร

กลุ่มที่ 2 -สวนหย่อม ประกอบด้วยไม้ใหญ่ ไม้ขนาดกลาง ไม้ดอกไม้ประดับและสนามหญ้า

กลุ่มที่ 3 -พืชที่ปลูกในโรงเรือน ทั้งที่เป็นไม้แขวน เช่น กล้วยไม้ และไม้ที่ปลูกในกระบะ หรือในแปลงภายในโรงเรือน

แปลน 2 เลือกหัวจ่ายน้ำที่เหมาะสม

การเลือกหัวจ่ายน้ำนี้ ควรมีแค็ตตาล็อกวัสดุอุปกรณ์ระบบน้ำไว้ประกอบ ซึ่งสามารถขอจากตัวแทนจำหน่ายหรือบริษัทผู้ผลิตได้ และเข้าไปดาวน์โหลดได้ ซึ่งเราควรเลือกให้เหมาะสม เช่น

-ข้อมูลระยะฉีดหรือรัศมีการจ่ายน้ำควรเลือกให้เหมาะกับขนาดความกว้าง-ยาวของพื้นที่  เช่น บริเวณมุมบ้านควรเลือกใช้หัวจ่ายน้ำรัศมี 90 องศา หรือ 270 องศา บริเวณริมขอบทางควรเลือกใช้หัวจ่ายรัศมี 180 องศา บริเวณสนามกว้างเลือกใช้หัวจ่ายรัศมี 360 องศา เป็นต้น

-ข้อมูลปริมาณน้ำว่าให้น้ำกี่ลิตรต่อนาทีหรือต่อชั่วโมง เพื่อจะได้เลือกใช้ท่อส่งน้ำได้ถูกต้อง

-ข้อมูลแรงดันน้ำของหัวจ่ายน้ำแต่ละชนิด

-ข้อมูลอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันกับหัวจ่ายน้ำแต่ละประเภท

-ข้อมูลเรื่องราคาวัสดุอุปกรณ์

ในบ้านหนึ่งหลัง จะมีพื้นที่แต่ละโซนไม่เท่ากัน การกำหนดหัวจ่ายลงในพื้นที่ ให้เลือกทำในพื้นที่ใหญ่สุดก่อน แล้วดูขนาดความกว้าง ความยาวว่า เหมาะกับหัวจ่ายที่มีแรงดัน และระยะรัศมีจ่ายน้ำเท่าไร  โดยพยายามเลือกใช้หัวจ่ายน้ำที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ได้ด้วย

tips

– ควรใช้หัวจ่ายน้ำชนิดเดียวกันให้มากที่สุดก่อน แล้วค่อยเสริมหัวจ่ายชนิดอื่นในจุดที่ไม่สามารถใช้หัวจ่ายนั้นได้

– ระยะห่างในการวางหัวจ่ายน้ำ เท่ากับรัศมีการฉีดน้ำของหัวจ่ายที่เราเลือกใช้ อย่าวางหัวจ่ายน้ำให้ฉีดเลยออกไปนอกตัวบ้านหรือถูกผนังบ้าน

– เมื่อวางหัวจ่ายน้ำครบถ้วนแล้ว ควรตรวจสอบดูรัศมีวงน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอีกครั้ง

แปลน 3 รวมปริมาณน้ำในพื้นที่เพื่อแบ่งโซน

เมื่อวงน้ำครอบคลุมพื้นที่เหมาะสมแล้ว ให้รวมปริมาณน้ำทั้งหมดในพื้นที่ แล้วลองแบ่งปริมาณน้ำออกเป็นส่วนๆละเท่าๆ กัน อาจจะ 2 หรือ 3 หรือ 4 โซน ตามความเหมาะสม วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ออกแบบแบ่งโซนการให้น้ำได้ง่ายขึ้น สำหรับโซนการให้น้ำที่เหมาะสมกับระบบให้น้ำขนาดเล็กไม่ควรเกิน 70 ลิตร/นาที หรือประมาณ 4 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

ตามตัวอย่างนี้ แบ่งโซนที่ให้ปริมาณน้ำใกล้เคียงกัน ออกเป็น 3 โซน โดยโซนที่ใกล้กับปั๊มน้ำอาจมีปริมาณน้ำได้มากกว่าโซนที่อยู่ไกลออกไป

ตัวอย่างการคิดปริมาณน้ำ (ดูภาพแปลนที่ 3 ประกอบ)

โซนที่ 1

ใช้หัวจ่ายน้ำ P รุ่น Y

– เปิดจ่าย 90 จำนวน 4 หัว

– เปิดจ่าย 180  จำนวน 11 หัว

– เปิดจ่าย 270  จำนวน 1 หัว

จากนั้นรวมปริมาณน้ำในโซนที่ 1  (ปริมาณน้ำของหัวจ่ายน้ำแต่ละองศาสามารถเช็คจากแคตตาล็อกรุ่นนั้นๆ )

โซนที่ 2

ใช้หัวจ่ายน้ำ P รุ่น Y

– เปิดจ่าย 90 จำนวน 3 หัว

– เปิดจ่าย 180  จำนวน 8 หัว

– เปิดจ่าย 270  จำนวน 1 หัว

– เปิดจ่าย 360  จำนวน 1 หัว

จากนั้นรวมปริมาณน้ำในโซนที่ 2

โซนที่ 3

ใช้หัวจ่ายน้ำ P 3 รุ่น คือ  รุ่น X  Z และ มินิสเปรย์ SP 360 องศา

หัวจ่ายน้ำ P รุ่น Z

– เปิดจ่าย 90 จำนวน 2 หัว

– เปิดจ่าย 180  จำนวน 2 หัว

– เปิดจ่าย 360  จำนวน 3 หัว

หัวจ่ายน้ำ P รุ่น X

– เปิดจ่าย 90 จำนวน 2 หัว

– เปิดจ่าย 180  จำนวน 1 หัว

มินิสเปรย์ SP 360 องศา สำหรับต้นไม้ในโรงเรือน จำนวน 6 หัว

จากนั้นรวมปริมาณน้ำในโซนที่ 3 เมื่อได้ปริมาณน้ำทั้ง 3 โซนแล้ว นำมารวมกัน จะได้เป็นปริมาณน้ำทั้งหมด

แปลน 4 เลือกท่อส่งน้ำ

ตามตัวอย่างนี้ เมื่อวัดระยะของท่อที่ต้องใช้ พบว่าใช้ท่อทั้งหมดรวม 125 เมตร (ดูระยะจากแปลน 1 ประกอบ) ในที่นี้จึงเลือกท่อพีอีขนาด 32 มม.ซึ่งมีอัตราการไหลของน้ำสูงถึง 4.5 ลบ.ม. เพื่อสามารถเพิ่มหัวจ่ายน้ำเข้าไปในโซนต่างๆ ได้อีกในกรณีที่มีการปลูกพืชเพิ่มต่อไปในอนาคต

หลังจากออกแบบระบบให้น้ำแล้ว ต่อไปต้องเลือกวาล์วไฟฟ้า เลือกปั๊มน้ำโดยพิจารณาจากปริมาณน้ำและแรงดันรวมของระบบ จากนั้นติดตั้งระบบควบคุมให้เหมาะสม ระบบให้น้ำจะให้ตามเวลาที่เรากำหนดได้ต่อไป

เรื่องระบบให้น้ำในสวนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่หากเข้าใจพื้นฐานการออกแบบระบบในเบื้องต้นแล้ว  การทำความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

และเพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ก่อนติดตั้งระบบให้น้ำควรศึกษาจากหนังสือเล่มนี้ให้เข้าใจ เมื่อลงมือปฏิบัติก็อ่านขั้นตอนนั้นซ้ำอีกครั้งไปพร้อมๆกับลงมือ

สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

 

หนังสือระบบให้น้ำในสวน เขียนโดย อาจารย์ขวัญชัย จิตสำรวย เป็นคู่มือให้น้ำพืชอย่างคุ้มค่าที่ช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ในเล่มได้ลำดับเนื้อหาสำคัญไว้ดังนี้

  1. ปูพื้นความเข้าใจเรื่อง ดิน น้ำ และการหาความต้องการใช้น้ำของพืช ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
  2. เรื่องวัสดุอุปกรณ์ของระบบให้น้ำในสวนและการเลือกใช้งาน
  3. ขั้นตอนการออกแบบระบบให้น้ำพืชในสวน
  4. ตัวอย่างการออกแบบระบบน้ำจากพื้นที่จริง
  5. ขั้นตอนการติดตั้งระบบให้น้ำในสวน
  6. การประมาณราคา

เสริมด้วยเรื่องสวนเกษตรในบ้านกับระบบรดน้ำขนาดเล็ก สำหรับผู้ต้องการแบ่งโซนปลูกไม้กินได้ส่วนหนึ่งไว้ในบ้าน  รวมถึงมีเรื่องของระบบพ่นหมอกเพื่อเพิ่มความชื้นให้พืชและสร้างบรรยากาศในสวน  เรียกว่าเล่มเดียวจบครบครันเลยทีเดียว

 

เรียบเรียง : ทิพาพรรณ

ภาพ : อภิรักษ์, สิทธิศักดิ์, ณัฐวัฒน์

ภาพวาดประกอบ :  วารุณี อนุรักษ์ชนะพล