เรือนยุ้งข้าว หลังงามกลางป่า

จาก ยุ้งข้าว เก่าของภาคเหนือนำมาออกแบบเป็นเรือนบ้านพักที่จัดวางพื้นที่ใช้งานเหมือนเรือนหมู่แบบไทย ท่ามกลางทำเลงามๆที่หลายคนต้องอิจฉา  เพราะสามารถมองลงไปเห็นนาขั้นบันได สระบัว โดยมีฉากหลังเป็นทิวเขาแมกไม้ที่โอบล้อมพื้นที่นี้ ในด้านการตกแต่งบ้านเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสไตล์จีนที่เจ้าของบ้านชอบ และใส่เอกลักษณ์ของล้านนาเข้าไปด้วย กลายเป็นสไตล์ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “จีนล้านนา” ที่สำคัญคือมีพื้นที่สีเขียวที่แทรกอยู่ทุกส่วนของบ้าน เพื่อให้ได้อารมณ์บ้านไม้กลางป่าที่แสนร่มเย็น

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณยิ่งยศ คชคง

 

คุณยศ-ยิ่งยศ คชคง เป็นผู้ที่ชื่นชอบเสน่ห์ของจีนโมเดิร์นเป็นชีวิตจิตใจ และเมื่อตัดสินใจหนีความวุ่นวายในเมืองไปอยู่ท่ามกลางป่าเขาที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่ลืมที่จะหยิบกสไตล์จีนที่ชอบไปผสมกับเรือนท้องถิ่นหรือ ยุ้งข้าว แบบล้านนาจนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ที่เจ้าตัวให้ชื่อว่า “จีน-ล้านนา”

“พอดีผมมีที่ของญาติอยู่ที่นี่แล้ว และขอบบรรยากาศที่เงียบสงบ เป็นธรรมชาติ จึงตัดสินใจทำบ้านหลังที่สองที่นี่เสียเลย”

ในพื้นที่ประมาณสองไร่ครึ่งท่ามกลางป่าเขา คุณยศได้วางผังให้ตัวบ้านเป็นเรือนหมู่ เชื่อมต่อกันให้ได้บรรยากาศแบบเรือนไทยในอดีตลดหลั่นกันไปตามแนวลาดเอียงของพื้นที่ที่สามารถมองลงไปเห็นนาขั้นบันได สระบัว โดยมีฉากหลังเป็นทิวเขาแมกไม้ที่โอบล้อมพื้นที่อันบริสุทธิ์แห่งนี้ไว้

ซุ้มประตูไม้
ก่อซุ้มทางเข้าด้วยปูนปั้นตกแต่งคิ้วบัวแบบเรียบง่าย เพื่อเน้นให้บานประตูไม้เก่าจากอินเดียดูสวยเด่นสะดุดตาในสวนเขียว
สระบัว
มุมโปรดที่เจ้าของบ้านมักมานั่งชมทิวเขาและสระบัวที่ไกลสุดสายตา ตกแต่งขอบกันสาดศาลาด้วยผ้าฉลุลายที่ได้ไอเดียมาจากลวดลายฉลุตามวัดต่างๆทางภาคเหนือ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เลือกงานไม้ไผ่ที่ทนแดดทนฝนได้ดี

 

พื้นที่ใช้งานประกอบด้วยเรือนหมู่ 4 เรือนกระจายตัวกัน เริ่มจากเรือนหลังแรกที่เป็นเรือนพระ ใช้สำหรับบูชาและทำสมาธิ ถัดไปเป็นเรือนบ้านพัก 2 หลังเชื่อมต่อกัน ซึ่งดัดแปลงมาจาก ยุ้งข้าว เก่ามาสร้างใหม่ โดยเทพื้นและก่อผนังให้เป็นห้องรับแขก ส่วนชั้นบนใช้เป็นห้องนอน และเนื่องจากเป็นเรือนที่ได้วิวมุมสูงที่สุด จึงกรุหน้าต่างรอบห้องเพื่อเปิดรับวิวและรับลมเย็นสบาย จากห้องนอนมีทางเชื่อมต่อไปยังระเบียงพักผ่อนที่ได้วิวรอบด้านแบบพานอรามา และเรือนหลังสุดท้ายใช้สำหรับรับประทานอาหารซึ่งแยกตัวออกไปที่ด้านล่างติดกับบ่อปลา และนาขั้นบันไดที่ค่อยๆลดหลั่นลงไปตามความลาดเอียงของพื้นที่ รายล้อมไปด้วยพรรณไม้ต่างๆ ที่สวยและมีจุดเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูที่ดูได้ไม่รู้เบื่อ

ยุ้งข้าว
เรือนนอนดัดแปลงมาจากยุ้งข้าวเก่า โดนตกแต่งส่วนใต้ถุนเรือนที่เคยโล่งให้เป็นส่วนรับแขก ด้วยการติดหน้างต่าง-ประตูไม้กรุกระจกใส ส่วนชั้นบนปิดบานหน้าต่างไม้ทึบเพื่อความเป็นส่วนตัว หลังคามุงกระเบื้องดินขอแบบบ้านโบราณ
หน้าต่างไม้
ตกแต่งหน้าต่างด้วยราวกันตกลูกกลึงและติดผ้าม่านสั้นๆที่นิยมใช้ในบ้านไม้เก่าในอดีต
ใต้ถุน
ใช้พื้นที่ว่างใต้ถุนเรือนก่อผนังปูนกั้นห้องเป็นเรือนพักผ่อน ส่วนด้านนอกจัดเป็นโต๊ะอาหารเปิดโล่ง เห็นวิวนานขั้นบันไดด้านล่าง พร้อมขึงผ้าใบเพื่อกันแดดหรือฝนสาด โดยใช้สีชมพูในโทนร้อนให้เข้าชุดกับโทนแดงของผ้าปูโต๊ะ
ซุ้มประตูจีน
ซุ้มทางเข้าแบบบ้านจีนนี้ชื่อ “ประตูเสี้ยวจันทร์” เพราะมีรูปทรงกลมเหมือนดวงจันทร์ แต่เพิ่มลูกเล่นด้วยช่องวางตะเกียงน้ำมันและรูปทรงให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น
ยุ้งข้าว
ยุ้งข้าวหลังนี้เจ้าของสร้างขึ้นมาเป็นหลังแรกเพื่อเป็นเรือนพระ โดยก่อฐานปูนมารองรับเสาไม้ไว้เพื่อกันความชื้นและปลวก ปูพื้นทางเดินด้วยอิฐมอญและภูเขาไฟที่มีเนื้อพรุนและอมความชื้น ทำให้เฟินและมอสส์เจริญได้ดี
ตกแต่งศาลาพักผ่อนแบบเรือนไทยประยุกต์ด้วยการใช้โครงสร้างเหล็กผสมปูพื้นด้วยแผ่นไม้อัดซีเมนต์กับผนังไม้ซ่อนเกล็ดแบบเดิมๆ เพิ่มความสดใสด้วยโคมไฟกระดาษสาทรงต่างๆกันและเดย์เบดหลุยส์สีแดงสดใส
ใต้ถุน
เทพื้นคอนกรีตและก่อผนังปูนกั้นเป็นพื้นที่รับแขกที่ใต้ถุนเรือน ภายในตกแต่งด้วยงานร่วมสมัยที่ผสผสานกลิ่นอายทางเหนือด้วยชุดหมอนและเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าต่างๆ ส่วนริมหน้าต่างเน้นความเย็นร่มรื่นจากบ่อปลาคาร์ฟและสวนไผ่
เตียงจีน
มุมพักผ่อนบนชั้น 2 เจ้าของบ้านเลือกใช้เตียงจีนโบราณที่มีขนาดใหญ่ จัดวางเบาะ แขวนมุ้งสีขาวและหมอนผ้าลายจีนสีสันสดใส ตัดกับงานไม้สีเข้ม ดเป็นสไตล์จีนที่เก๋ไปอีกแบบ
ห้องนอนสไตล์จีน
เจ้าของห้องชื่นชอบงานสไตล์จีนเป็นพิเศษ จึงตกแต่งหัวเตียงด้วยภาพงิ้ว ซึ่งคุณชุมพล รุ่งเรือง เพื่อนสนิทคุณยศวาดให้ ส่วนด้านข้างเตียงแขวนม่านเชือกเพื่อกรองแสงและเป็นการแบ่งสัดส่วนไปในตัว
ห้องน้ำ
ตกแต่งห้องน้ำด้วยการผสมผสานวัสดุท้องถิ่นเข้ากับงานสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์ท็อปไม้สักแผ่นใหญ่ ที่เจาะช่องฝังอ่างล้างหน้าเซรามิก และช่องลมด้านบนที่ตกแต่งด้วยราวไม้กลึง ส่วนโคมไฟก็ดัดแปลงมาจากส่วนหัวของไซดักปลา นำมาหุ้มกระดาษว่าว
อ่างล้างมือ
กรุผนังห้องนำด้วยไม้ฝาที่เหลือจากยุ้งข้าวเก่า ส่วนเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าก่อด้วยงานปูนขาวฉาบแบบดิบๆ หน้ากระจกเน้นให้ดูหรูหราด้วยกรอบไม้ลายหลุยส์สีทอง รวมทั้งกระจกสีที่ติดหน้าบานประตู
สร้างม่านบังตาด้วยพรรณไม้ต่างๆ ทั้งเฟินและไม้เลื้อย ช่วยสร้างร่มเงาให้บ้านดูชุ่มชื้นเย็นสบาย ส่วนบันไดขึ้นบ้านที่อยู่นอกชายคาก็ก่อปูนเพื่อให้ทนแดดทนฝน
นาข้าว
ทำแปลงนาข้าว โดยขุดดินกั้นแนวคันดินเพื่อกักเก็บน้ำและเสริมความแข็งแรงตลอดแนวตลิ่งด้วยไม้ไผ่เสียบลึกประมาณ 1 เมตร

“เราต้องการให้เป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสไตล์จีนที่ชอบ และใส่เอกลักษณ์ของล้านนาเข้าไปด้วย จึงตัดสินใจหาซื้อเรือนไม้และยุ้งข้าวเก่าในท้องถิ่นมาสร้างบ้าน โดยวางผังให้สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ ส่วนงานตกแต่งจะค่อนข้างหลากหลายทั้งเก่าและใหม่ปนกัน ตั้งแต่บานประตู หน้าต่างไม้และเฟอร์นิเจอร์เก่าของจีนผสมกับงานพื้นเมืองของล้านนา กลายเป็นสไตล์ที่เราเรียกกันเล่นๆว่า ‘จีนล้านนา’ และที่ขาดไม่ได้คือ พื้นที่สีเขียวที่แทรกอยู่ทุกส่วนของบ้าน ให้ได้อารมณ์บ้านไม้กลางป่าที่ร่มเย็นสบาย”


เรื่อง: HOOO…RO

ภาพ: จิระศักดิ์, ดำรง

สไตล์: ประไพวดี โภคสวัสดิ์

ใช้ชีวิตผ่อนคลายแบบพอดี ในเรือนพักหลองข้าว อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่

พักสบายในเรือนยุ้งข้าว ในเขตเมืองเก่าอายุกว่าพันปีของเวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่