7 สัญญาณ ความกลัวของกระต่าย พร้อมวิธีการรับมือ

ในธรรมชาติกระต่ายเป็นสัตว์ที่ถูกล่าโดยสัตว์ที่แข็งแแกร่งกว่า จึงมักมีอาการตื่นตัวกับสิ่งเร้าภายนอก อย่าง กลิ่น หรือเสียงได้ง่าย เพื่อให้สามารถป้องกันตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มโอกาศการรอดชีวิตที่สูงขึ้น

ซึ่งกระต่ายแต่ละตัวมักจะมีวิธีการแสดงท่าทาง ความกลัวของกระต่าย ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ สภาพแวดล้อม และประสบการณ์ในอดีต เพื่อเป็นการเรียนรู้และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น บ้านและสวน Pets จึงมี 7 สัญญาณ ความกลัวของกระต่าย พร้อมวิธีการรับมือมาฝากกันค่ะ

เมื่อสัตว์เลี้ยงมี อาการกลัว มากกว่าปกติ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

 

1.ท่าทางตื่นตัว (Alert Posture)

ความกลัวของกระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ใช้ร่างกายในการสื่อสารแทนการส่งเสียงที่อาจเป็นการเปิดเผยตัวตน เมื่อกระต่ายสามารถสัมผัสได้ถึงสิ่งผิดปกติบางอย่างใกล้ตัว กระต่ายจึงมักจะยืดตัวขึ้นสูง ยืนบนขาหลังหรือทั้งสี่ข้าง ตาเบิกกว้าง จมูกมีการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะส่วนหูจะหมุนไปรอบ ๆ เพื่อพยายามค้นหาว่าอันตรายมาจากทิศทางไหน ซึ่งกระต่ายจะทำท่าทางนี้ เพื่อประมวลผลสักครู่หนึ่งก่อนที่จะวิ่งหนีไปหากจำเป็น หรือผ่อนคลายลงเมื่อไม่พบสิ่งผิดปกติ

Tips กระต่ายมีหูที่ยาว ประกอบด้วยกระดูกอ่อนเป็นแกน มีหนังบาง ๆ หุ้มเส้นเลือด และเส้นประสาทที่มาหล่อเลี้ยง ทำให้กระต่ายสามารถฟังเสียงได้ชัดจากระยะไกล นอกจากนี้ยังมีกล้ามเนื้อที่โคนหู เพื่อคอยควบคุมการเคลื่อนไหวและทิศทางของการฟัง

 

2.ทำให้เกิดเสียงดัง (Thumping)

ความกลัวของกระต่าย

โดยปกติกระต่ายเป็นสัตว์สังคมที่จะอยู่กันแบบเงียบ ๆ แต่เมื่อไหร่ที่กระต่ายตัวหนึ่งพบสิ่งผิดปกติ กระต่ายตัวนั้นจะรีบส่งเสียงเพื่อเตือนกลุ่มหรือครอบครัวว่าอันตรายกำลังย่างกรายเข้ามา โดนการร้องหรือใช้เท้าตบลงไปบนพื้น ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถส่งเสียงได้ดังที่สุดสำหรับกระต่าย นอกจากนี้ยังเป็นการตบเพื่อเตือนศัตรูให้ถอยหนีได้อีกด้วย

 

3.วิ่งหนี และซ่อนตัว (Running and Hiding)

ความกลัวของกระต่าย

เนื่องจากกระต่ายมักจะถูกล่าและไม่สามารถป้องกันตัวเองจากนักล่าได้ กระต่ายจึงเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน และนอนในเวลากลางวัน โดยอาศัยอยู่ในซอกแคบ ๆ มืด ๆ อย่าง โพรงในดิน หรือโพรงไม้ จากสัญชาตญาณโดยธรรมชาติเมื่อกระต่ายพบสิ่งผิดปกติหรืออันตราย จึงมักจะวิ่งหนีและซ่อนตัว ซึ่งหากกระต่ายรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลในระยะยาวก็อาจทำให้ซ่อนตัวเป็นเวลานานในระหว่างวันได้

 

4.พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

ปกติแล้วกระต่ายจะอ่อนโยนสุภาพ แต่หากมีอาการกลัวมาก ๆ ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว อย่าง การกัด หรือถีบได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้พฤติกรรมที่ก้าวร้าวของกระต่ายอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น หวงของกิน แสดงอาณาเขตของตัวเอง ความเครียด หรือเป็นนิสัย เจ้าของจึงควรพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางฝึกหรือแก้ไข

 

5.นอนราบไปกับพื้น (Flattening)

เมื่อหนีไม่ได้ ซ่อนตัวไม่ทัน ทางเดียวที่กระต่ายจะสามารถทำได้คือการพยายามหดตัวให้เล็กที่สุด โดยการนอนราบลงกับพื้นด้วยท่าทางที่แข็งทื่อ ต่างจากท่าทางการนอนที่ดูผ่อนคลายในยามปกติ เพื่อแสดงถึงการยอมจำนนต่อกระต่ายตัวที่เหนือกว่า สำหรับคู่หรือกลุ่มของกระต่ายเอง

 

6.ทำความสะอาดมากเกินไป (Overgrooming)

กระต่ายจะเลียขนตัวเอง เพื่อเป็นการแต่งตัวและทำความสะอาด นอกจากนี้การเลียขนยังเป็นวิธีที่กระต่ายสามารถปลอบตัวเองได้เมื่อรู้สึกกลัว เครียด เบื่อ หรือวิตกกังวลเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากกระต่ายมีการทำความสะอาดตัวเองที่มากจนเกินไป และเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาการขนร่วง โรคผิวหนัง หรือภาวะก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหารตามมาได้

Tips หากกระต่ายเพศเมียเลียทำความสะอาดตัวเอง และดึงขนตัวเองออกมาสะสมไว้ในปาก จากนั้นนำไปซุกไว้ตามที่ต่าง ๆ ก็อาจเป็นสัญญาณว่ากระต่ายเตรียมจะทำรังคลอดลูกแล้ว

Tips หากกระต่ายเลียที่มือของทาส นั่นแปลว่า กระต่ายตัวนั้นรัก และไว้ใจเจ้าของมาก เช่นเดียวกับการที่แม่กระต่ายเลียให้ลูกกระต่าย หรือการที่กระต่ายเลียขนให้กันและกัน

 

7.กินมาก หรือน้อยเกินไป (Over or Under Eating)

เมื่อกระต่ายมีอาการกลัวหรือวิตกกังวล บางตัวอาจจะแสดงอาการกินอาหารมากเกินไป หรือบางตัวอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะกระต่ายที่มีอาการเบื่ออาหาร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการกินยังรวมถึงการดื่มน้ำมากหรือน้อยด้วยเช่นกัน

 

วิธีการรับมือเมื่อกระต่ายเกิดอาการกลัว หรือวิตกกังวล

1.ทำความรู้จัก หรือทำความคุ้นชิน เพื่อให้กระต่ายเกิดความไว้ใจ แต่ไม่ควรอุ้มหรือลูบเล่นเมื่อกระต่ายรู้สึกไม่สบายตัว เพราะ อาจจะทำให้เกิดความกลัวมากยิ่งขึ้น

2.ตำแหน่งที่ใช้วางกรงเพื่อให้กระต่ายอยู่ ควรให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีสภาพแวดล้อมที่สงบ และปลอดภัย ปราศจากสิ่งเร้า หรือสิ่งรบกวนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังควรมีอาหารและน้ำวางไว้อยู่เสมอ

3.สร้างพื้นที่ปลอดภัย เช่น การหาโพรงไม้ กล่อง หรือลังกระดาษ ไว้ให้กระต่ายใช้หลบซ่อนตัวในยามคับขัน

4.เมื่อกระต่ายมีอาการหวาดกลัว ควรตรวจดูกรงหรือบริเวณเลี้ยงว่า มีสิ่งแปลกปลอม สัตว์อื่นบุกรุกอาณาเขต หรือสิ่งเร้าที่อาจทำให้กระต่ายรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่

5.ให้กระต่ายได้วิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย แทนการนอนอยู่ในกรงทั้งวัน เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย และลดความวิตกกังวล

6.กระต่ายเป็นสัตว์สังคม อาจหาคู่ หรือเพื่อนมาเลี้ยงร่วมกัน แต่ถ้าหากเลี้ยงไว้ตัวเดียวเจ้าของควรให้เวลา และความใส่ใจเป็นพิเศษ

7.กระต่ายเป็นสัตว์ที่ฉลาดสามารถฝึกได้เช่นเดียวกับสุนัขและแมว เจ้าของจึงอาจฝึกให้กระต่ายรู้สึกคุ้นชิน และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

 

Story : Sarida
illustrator : Rose m.t.