เมื่อสัตว์เลี้ยงมี อาการกลัว มากกว่าปกติ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงต่างๆ นั้น มีอาการกลัวมากกว่าปกติด้วยหรือ “อาการกลัวมากกว่าปกติ” คืออะไร ต่างจากอาการกลัวทั่วๆ ไปอย่างไร

วันนี้ บ้านและสวน Pets มีคำแนะนำเรื่อง อาการกลัว และ อาการกลัวมากกว่าปกติ มาฝากกันค่ะ

 

อาการกลัว (fear)

คือการตอบสนองของร่างกายต่ออันตราย หรือ สิ่งกระตุ้นจากภายนอก (ภาพ, เสียง, กลิ่น, การขาดอากาศ และความเจ็บปวด) กระตุ้นให้สมองหลั่งสารที่เรียกว่า นออะดรีนาลีน (noradrenaline) และ อะดรีนาลีน (adrenaline) ขึ้นมา หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น หายใจแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายให้พร้อมต่อการ วิ่งสู้หรือวิ่งหนี (fight or flight) เพื่อเอาชีวิตรอด โดยสมองที่เป็นศูนย์กลางของความกลัวคือสมองส่วน อะมิกดะลา (amygdala) เจ้าสมองส่วนนี้มีขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วอัลมอนด์เท่านั้นเอง แต่ทำงานสัมพันธ์กับสมองส่วนต่างๆ เพื่อจัดการและแสดงออกของความกลัว

 

ความกลัวที่มากเกินไป หรือ ที่เรียกว่า โฟเบีย (phobia)

เป็นลักษณะของความกลัวที่มากผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ออกมา ไม่ได้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างโฟเบียในมนุษย์เช่น โรคกลัวที่แคบ โรคกลัวสัตว์ โรคกลัวความมืด โรคกลัวความสูง ความกลัวเหล่านี้จะรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป จนอาจพบว่ากลัวจนไม่สามารถเดินขึ้นสะพาน ไม่สามารถเข้าที่แคบๆอย่างลิฟท์ แสดงอาการกลัวจนคลื่นไส้ เป็นลม หายใจไม่ออก เป็นต้น ส่วนในสัตว์นั้นอาการโฟเบียที่พบได้บ่อยคือ กลัวเสียงดัง (noise phobia) กลัวฝนตกฟ้าร้อง (thunder storm phobia) กลัวสถานที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลัวโรงพยาบาลหรือคลินิกรักษาสัตว์ และแม้แต่กลัวการอยู่ตัวเดียว (separation anxiety)

ความกลัวที่มากเกินไปอาจเกิดจาก พันธุกรรม ประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กที่ไม่เพียงพอ การไม่ได้พบปะสิ่งต่างๆ ตั้งแต่วัยเริ่มเรียนรู้หรือระยะเข้าสังคม การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ที่ไม่อันตรายเข้ากับความกลัว การมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสมอง เป็นต้น อายุที่ส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ ความชอบและความกลัวสิ่งต่างๆ มากที่สุด คืออายุในช่วงวัยเด็กที่เรียกว่า ระยะเข้าสังคม “socialization period ในระยะนี้ ถ้าสัตว์ได้รู้จักกับสิ่งกระตุ้นที่ไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวด เช่น การได้เจอสุนัขตัวอื่นๆ ได้พบปะคนแปลกหน้า ได้พบกับสัตว์ต่างสปีชีส์ ได้นั่งรถไปเที่ยว พบกับคุณหมอและโรงพยาบาล และไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรืออันตรายใดๆ สัตว์เหล่านั้นจะเติบโตมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่กล้าหาญ ไม่หวาดกลัวง่ายๆ ไม่ก้าวร้าว และดุร้าย ในทางตรงข้าม ถ้าในวัยนี้สัตว์พบปะแต่สิ่งอันตรายรอบตัว เช่น ถูกทำร้ายโดยคนหรือสัตว์อื่นๆ การไม่ได้พบปะกับสัตว์ตัวอื่นๆเลย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตราย การถูกทำโทษ หรือเจ็บป่วยรุนแรงตั้งแต่เด็ก สัตว์จะเติบโตมามีนิสัยขี้หวาดกลัว หวาดระแวง เข้ากับสัตว์ตัวอื่นๆไม่ได้ ก้าวร้าวดุร้ายอันมีสาเหตุมาจากความกลัว โดยในสุนัขนั้น อายุที่อยู่ในช่วงระยะเข้าสังคมได้แก่อายุ 3-12 สัปดาห์ ส่วนในแมวได้แก่อายุ 2-7 สัปดาห์ เท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงสัตว์ช่วงวัยนี้ คือ การโอบอุ้มด้วยความรัก ทะนุถนอม ไม่เล่นด้วยความรุนแรง การจับหรือเล่นที่ทำให้สัตว์วัยนี้หวาดกลัว เช่นการโยนขึ้นไปในอากาศ การเหวี่ยง การทำให้ตกใจ จะส่งผลให้สัตว์จำฝังใจ ก่อให้เกิดความไม่เชื่อใจไปตลอดชีวิต

แล้วถ้าสัตว์เลี้ยงของเราเกิดอาการหวาดกลัวเข้าแล้วล่ะ จะทำอย่างไร วิธีการจัดการหลักๆมีดังนี้

  1. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดความกลัวนั้น
  2. ค่อยๆใส่สิ่งกระตุ้นที่เคยหวาดกลัวนั้นเข้าไปน้อยๆ ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดความกลัว ด้วยวิธีต่างๆอย่างเหมาะสม

 

อาการกลัว
ขอบคุณภาพจาก http://www.multipleexperiences.org

เรามายกตัวอย่างความกลัวที่พบได้ง่ายและการจัดการเบื้องต้นกัน

อาการกลัวเสียงดัง (noise phobia)

เสียงดังในระดับที่ทำให้เกิดอาการกลัวได้นั้นส่วนใหญ่เกิดจาก ดอกไม้ไฟ เครื่องยนต์ เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงประตูปิดดังๆ เป็นต้น ถ้าสัตว์เลี้ยงได้ยินเสียงเหล่านี้มาก่อนอายุ 6 เดือนและไม่ได้ก่ออันตราย มักจะไม่พบอาการกลัวเสียงดังในอนาคต อาการที่แสดงออกได้แก่ ตัวสั่น น้ำลายไหลยืด หลบซ่อน อยู่ห่างจากเจ้าของไม่ได้ หรือแม้แต่พยายามหลบหนี จนบางทีตามห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลสัตว์มักจะพบว่ามีสัตว์ป่วยที่หลบหนีออกจากบ้านจนได้รับอุบัติเหตุในคืนวันสิ้นปี หรือวันเทศกาลที่มีการจุดดอกไม้ไฟ หรือจุดปะทัด วิธีการจัดการทำได้ดังนี้

  • การจัดเตรียมสถานที่เฉพาะ ที่ได้รับเสียงน้อยที่สุด ให้เค้ารู้สึกปลอดภัย เพื่อเตรียมรับมือกับคืนที่จะมีเสียงดอกไม้ไฟ
  • เตรียมวางอุปกรณ์ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากเสียงไว้ในที่ๆเค้าอยู่ เช่น ขนมขบเคี้ยว หรือของเล่นที่ชื่นชอบ หรืออาจจะเปิดทีวีหรือวิทยุเป็นแบคกราวน์ นอกจากนี้เสียง white noise คือเสียงที่มีความถี่สม่ำเสมออาจเป็นเสียงที่ช่วยให้มีสมาธิได้มากขึ้น (ลองไปเปิดหาฟังดู ตัวอย่างเสียง white noise เช่น เสียงพัดลมเป่า เสียงไดร์เบาๆ หรือเสียงในห้องโดยสารบนเครื่องบิน เป็นต้น)
  • การแสดงออกของเจ้าของต่อสัตว์ที่แสดงอาการหวาดกลัวก็มีผลอย่างมาก โดยห้ามทำโทษใดๆ ห้ามดุด้วยเสียงหรือสิ่งของ และต้องระวังอย่างยิ่งคือ.. ห้ามสนับสนุนการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เช่นการโอ๋ การอุ้ม กอด หรือการกระทำใดๆที่ทำให้สัตว์เข้าใจผิดว่าการที่เค้ากำลังแสดงความกลัวนั้น ทำให้เจ้านายเอาใจเค้ามากขึ้น รักเค้ามากขึ้น ฉะนั้นเมื่อเค้าแสดงอาการตัวสั่น หวาดกลัวขึ้นมา ให้ลองทำสองอย่างคือ ลองใช้เกมที่เคยเล่นกันมาก่อน เช่นการวิ่งไล่จับ วิ่งไปซ่อนแอบ หรือการโยนของเล่นแล้วแข่งกันเก็บ เพื่อให้เค้าหันมาสนุกกับอย่างอื่นแทน แต่ถ้าไม่ได้ผลให้เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่โอ๋ ไม่กอด จนกว่าจะเข้าสู่อาการปกติ และแปลว่าความเข้มเสียงที่เค้าได้รับนั้น ยังสูงพอที่จะทำให้เค้ากลัวอยู่ ให้ลองปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันเสียงให้เบากว่าเดิม
  • ถ้าเค้าแสดงอาการรีแลกซ์ ไม่มีอาการหวาดกลัวต่อเสียงดังที่เกิดขึ้นเลย ควรให้รางวัลแก่เค้า
  • เมื่อหมดระยะเทศกาลแห่งเสียงดังแล้ว ให้เริ่มฝึกความคุ้นชิน (desensitize) พร้อมมอบรางวัลให้เค้า นั่นคือการหาเสียงที่เค้ากลัวมาเปิดแบบเบาๆ ระหว่างการทำกิจกรรมสนุกๆร่วมกัน หรือตามหนังสือคือ ระหว่างที่เรากำลังฝึกคำสั่ง นั่ง-ชิด-หมอบ-คอย และ มอบรางวัลเมื่อเค้าทำสำเร็จ ระหว่างนั้นค่อยๆเพิ่มความดังเสียงให้ดังขึ้นๆ ตามลำดับ
  • นอกจากนี้ถ้าอาการกลัวควบคุมไม่ได้เลยจริงๆ อาจต้องใช้ยาคลายเครียดหรือฟีโรโมน เพื่อให้การจัดการง่ายขึ้น

ตัวอย่างการจัดการกับโรคกลัวเสียงนี้ สามารถนำไปปรับใช้กับโรคกลัวอื่นๆได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามในกรณีโรคกลัวเหล่านี้ การป้องกันนั้นง่ายกว่าการแก้ไขมากๆ โดยการป้องกันและการเลี้ยงดูสัตว์ให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะเข้าสังคม ไม่ใช้การเล่นแรงๆ การเล่นผิดๆ การทำโทษแบบผิดๆ จนเค้าจำฝังใจ จะสร้างให้เค้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดูแลง่าย เวลาจะพาไปหาหมอ หรือพบปะใครก็ไม่มีปัญหา เห็นได้ว่าวัยเข้าสังคมของสุนัขและแมวนั้น แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ แต่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว

 

บทความโดย

สพ.ญ.แทนหทัย กระจ่างแจ้ง

Tanhatai Krajarngjang, DVM)

คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

Neurology Clinic, Thonglor International Pet Hospital


 

น้องหมา น้องแมว เป็นโรคเครียดได้ด้วยหรือ? เค้าเครียดเรื่องอะไรกันนะ?